เครื่องราชกกุธภัณฑ์สกอตแลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มงกุฎแห่งสกอตแลนด์ในรัฐพิธีการเปิดประชุมสภาของสกอตแลนด์ ในปีค.ศ. 2011

เครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสกอตแลนด์ (อังกฤษ: The Honours of Scotland, Scottish Regalia, Scottish Crown Jewels) เป็นกกุธภัณฑ์ที่มีอายุตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15-16 โดยถือเป็นกกุธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดบนเกาะอังกฤษที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 (ค.ศ. 1543) จนถึงพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ตั้งแต่ในอดีตได้ถูกใช้เพื่อแสดงถึงพระราชอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการตรากฏหมายผ่านทางรัฐสภาสกอตแลนด์ และยังใช้ในงานรัฐพิธีต่างๆ รวมถึงในคราที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสกอตแลนด์เป็นครั้งแรกในฐานะของพระมหากษัตริย์โดยพระเจ้าจอร์จที่ 4 ในปีค.ศ. 1822 และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปีค.ศ. 1953

เครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสกอตแลนด์ประกอบด้วยองค์ประกอบสามส่วน ได้แก่ มงกุฎ คทา และพระแสง โดยกกุธภัณฑ์เหล่านี้ปรากฎอยู่บนตราแผ่นดินของสกอตแลนด์ และบนตราแผ่นดินของสหราชอาณาจักรที่ใช้สำหรับสกอตแลนด์ โดยมีสัญลักษณ์สิงโตสีแดงของพระมหากษัตริย์แห่งชาวสก็อตช์สวมมงกุฎ และแขนทั้งสองข้างถือคทา และพระแสง


มงกุฎแห่งสกอตแลนด์[แก้]

มงกุฎแห่งสกอตแลนด์ (อังกฤษ: Crown of Scotland) องค์ปัจจุบันพบประวัติตั้งแต่ปีค.ศ. 1540 เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 5 มีพระราชกระแสรับสั่งให้จอห์น มอสแมน ช่างทองในเอดินบะระ ทำการปรับปรุงมงกุฎองค์เดิมให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งพระองค์ได้ทรงสวมมงกุฎให้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสำหรับพระอัครมเหสีในปีเดียวกันนั้นที่แอบบีย์โฮลีรูด

บริเวณฐานของมงกุฎทำจากทองคำสก็อตช์ และประดับด้วยรัตนชาติจำนวน 22 ชิ้น และหินต่างๆ กว่า 20 ชิ้นซึ่งนำมาจากมงกุฎองค์เดิม ไข่มุกน้ำจืดของสกอตแลนด์ก็ถูกนำมาใช้ด้วย มงกุฎองค์ใหม่มีน้ำหนักถึง 1.64 กิโลกรัม (3 ปอนด์ 10 ออนซ์) และได้มีการปรับแต่งโดยเพิ่มส่วนซับในทำจากกำมะหยี่กรุขอบด้วยขนเออร์มินซึ่งยังคงสภาพแบบนี้จนถึงปัจจุบัน โดยประวัติที่แน่นอนเกี่ยวกับวันที่ในการจัดสร้างนั้นยังหาไม่พบ พบแต่เพียงมงกุฎองค์ที่ใช้ก่อนปีค.ศ. 1540 ซึ่งถูกรวมอยู่ในพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 4 ซึ่งอยู่ในหนังสือกำหนดเทศกาล ซึ่งถูกเขียนขึ้นเพื่อเป็นของขวัญในพระราชพิธีอภิเสกสมรสของพระองค์กับมาร์กาเร็ต ทิวดอร์ ในปีค.ศ. 1503

บริเวณส่วนโค้งทั้งสี่ของมงกุฎทำจากทองคำและมีลายลงยาสีแดงเป็นลวดลายใบโอ้ค โดยคาดว่าเป็นงานช่างศิลป์แบบฝรั่งเศส บริเวณกึ่งกลางของจุดตัดมีลูกโลกทำจากทองคำลงยาสีน้ำเงิน ตกแต่งด้วยดวงดาวที่เป็นประกายโดยรอบ ด้านบนสุดเป็นไม้กางเขนขนาดใหญ่ประดับด้วยทองคำ และทองคำลงยาสีดำ โดยมีแอเมทิสต์เจียระไนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าประดับอยู่ตรงกลาง บริเวณด้านข้างของกางเขนโดยรอบประดับด้วยไข่มุก

คทาแห่งสกอตแลนด์[แก้]

คทาแห่งสกอตแลนด์ (อังกฤษ: Sceptre of Scotland) เป็นของขวัญพระราชทานจากสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 แก่พระเจ้าเจมส์ที่ 4 ในปีค.ศ. 1494 และได้ถูกปรับปรุงและเพิ่มความยาวในปีค.ศ. 1536 โดยมีลักษณะเป็นด้ามทำด้วยเงินปิดทอง และปิดยอดด้วยหินเจียระไน (คาดว่าเป็น Cairngorm) และไข่มุกสกอตแลนด์ บริเวณคทานั้นประดับด้วยสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับคริสต์ศาสนาหลายแห่ง เช่น โลมาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศาสนจักรปรากฎอยู่บริเวณด้าม และยังปรากฏรูปแกะสลักของพระนางมารีย์พรหมจารีอุ้มพระเยซู นักบุญยากอบองค์ใหญ่ และนักบุญอันดรูว์ถือกางเขน

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]