มงกุฎพระเจ้าจอร์จที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มงกุฎพระเจ้าจอร์จที่ 1
State Crown of George I

มงกุฎเปล่าที่จัดแสดงอยู่ที่หอคอยลอนดอน
รายละเอียด
สำหรับ สหราชอาณาจักร
ผลิตเมื่อค.ศ. 1714
จำนวนโค้ง2 โค้ง
วัตถุดิบหลักทองคำ
วัสดุซับในกำมะหยี่สีม่วง กรุขอบด้วยขนเออร์มิน
อัญมณีสำคัญไข่มุก เพชร มรกต แซฟไฟร์
องค์ก่อนหน้ามงกุฎพระเจ้าชาลส์ที่ 2
องค์ถัดไปมงกุฎราชาภิเษกพระเจ้าจอร์จที่ 4

มงกุฎพระเจ้าจอร์จที่ 1 (อังกฤษ: State Crown of George I) เป็นมงกุฎแห่งรัฐ (state crown) ที่จัดทำสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 1

เมื่อคราที่พระเจ้าจอร์จที่ 1 เสวยราชย์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และ พระมหากษัตริย์แห่งไอร์แลนด์ในปีค.ศ. 1714 ได้มีความคิดที่จะจัดถวายมงกุฎองค์ใหม่สำหรับใช้ในรัฐพิธีต่างๆ (เช่น รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา) เพื่อใช้แทนมงกุฎองค์เก่าที่สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ในปีค.ศ. 1661 ซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมและเกินกว่าการบูรณะซ่อมแซมคืนสภาพเดิมได้ โดยรัตนชาติและแก้วต่างๆที่ประดับนั้นได้ถูกย้ายมาอยู่บนมงกุฎองค์ใหม่แทน มงกุฎองค์นี้ในปัจจุบันเหลือแต่โครงเปล่าที่ทำจากทองคำ และลูกโลกประดับบนยอดที่ทำจากอะความารีน ทั้งสองอย่างนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร[1]

สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งบริเตนใหญ่
และมงกุฎองค์นี้อยู่บริเวณเบื้องขวาของพระองค์

รูปแบบ[แก้]

มงกุฎองค์นี้จัดสร้างโดยซามูเอล สมิธิน ช่างเพชรประจำราชสำนัก โดยมีจุดประสงค์คือเพื่อใช้แทนองค์เดิมที่สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 2 และมงกุฎองค์นี้ยังได้ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ โดยใช้รัตนชาติ และไข่มุกบางส่วนจากมงกุฎองค์เดิม พร้อมทั้งเพิ่มไข่มุกจำนวน 265 เม็ด เพชร 160 เม็ด มรกต 6 เม็ด และแซฟไฟร์ 2 เม็ด โดยมีมูลค่ารวมกว่า 1,440 ปอนด์[2] โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงและตำแหน่งของรัตนชาติจากเดิมเพียงเล็กน้อย[3] โครงมงกุฎที่ทำจากทองคำนั้นมีความสูง 20.4 ซม. และลูกโลกกับกางเขนปิดยอดมงกุฎมีความสูง 8.5 ซม.[1]

ตัวเรือนมงกุฎประกอบด้วยส่วนโค้งจำนวน 2 โค้ง (สี่ก้าน) ตัวเรือนมงกุฎทำจากทองคำ เหนือจากตัวเรือนเป็นกางเขนแพตตี และสัญลักษณ์ดอกลิลลี ลูกโลกด้านบนนั้นทำจากอความารีน กับยอดกางเขนซึ่งนำมาจากของที่ถูกเติมเข้าไปในมงกุฎพระเจ้าชาส์ลในปีค.ศ. 1685 ด้านบนเป็นกางเขนแพตตีตามหลัก

ต่อมาในปีค.ศ. 1727 แก้วสีและรัตนชาติต่างๆได้ถูกถอดออกและประดับแทนด้วยเพชรที่เช่ามาซึ่งมีมูลค่าถึง 109,200 ปอนด์ และได้นำมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 แต่ปรับแต่งด้วยการดึงส่วนโค้งด้านบนซึ่งเคยหุบลงไปอยู่ตรงกลางมงกุฎ ให้ยืดขึ้นมาเหมือนมงกุฎในสมัยนั้น ดังที่เห็นในปัจจุบัน โดยลูกโลกที่ทำจากอความารีน และกางเขนยังคงอยู่ครบ

ภาพเขียนสีน้ำจากของมงกุฎองค์จริง วาดโดยจิตรกรเบอร์นาร์ด เลนส์ที่ 3 ในปีค.ศ. 1731

การใช้งาน[แก้]

ต่อมาได้ใช้งานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 และอีกครั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4

ต่อมาในปีค.ศ. 1820 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่อีกหน เนื่องจากพบว่ามงกุฎนั้นไม่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน และอยู่ในสภาพย่ำแย่ รวมถึงการเปลี่ยนลูกโลกที่ทำจากอความารีน ซึ่งได้พบว่าเป็นเพียงแก้วย้อมสีน้ำเงินเท่านั้น และหลังจากเสร็จการบูรณะแล้ว ได้นำขึ้นถวายเพื่อให้ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แต่ทรงเลือกที่จะทรงมงกุฎเพชรของพระองค์เองในพระราชพิธี และในที่สุดก็ได้ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ในปีค.ศ. 1831

พระราชพิธีที่เป็นครั้งสุดท้ายที่มีการใช้งานมงกุฎองค์นี้ คือในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งถือนำหน้าพระองค์ในรัฐพิธีเปิดประชุมสภาในช่วงต้นรัชกาล (ซึ่งในครั้งหนึ่งเคยตกพื้นและได้บุบลง) แต่ช่วงก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์นั้นได้ถูกแทนที่โดย "มงกุฎอิมพีเรียลสเตต" องค์ใหม่ซึ่งประดับอัญมณีส่วนใหญ่ของมงกุฎองค์เดิม ซึ่งถูกทิ้งเหลืออยู่เพียงแต่โครง ซึ่งต่อมาโครงของมงกุฎองค์นี้ และโครงของมงกุฎราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 และโครงของมงกุฎพระราชินีอเดลเลด ได้ถูกขายให้กับช่างเพชรประจำราชสำนักในขณะนั้น

ต่อมาโครงที่เหลืออยู่ของมงกุฎองค์นี้ได้ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ในปีค.ศ. 1995 และจัดแสดงอยู่ที่หอมาร์ติน ภายในบริเวณหอคอยแห่งลอนดอน

อ้างอิง[แก้]

  • The Crown Jewels - booklet published by the Tower of London.
  1. 1.0 1.1 Anna Keay (2011). The Crown Jewels: The Official Illustrated History. Thames & Hudson. p. 195. ISBN 978-0-500-51575-4.
  2. Edward Alfred Jones (1908). The Old Royal Plate in the Tower of London. Oxford, Fox, Jones & Co. p. 69.
  3. The Burlington Magazine for Connoisseurs. Vol. 19. Southwood, Smith & Co. 1911. pp. 239–241.

ดูเพิ่ม[แก้]