เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล

พิกัด: 19°10′08″N 99°02′28″E / 19.169°N 99.041°E / 19.169; 99.041
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล
ชื่อทางการเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล
ที่ตั้งตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มต้นการก่อสร้างพ.ศ. 2520
วันที่เปิด22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529
โครงสร้างและทางน้ำล้น
ความสูง59 เมตร
ความยาว1,950 เมตร
กั้นแม่น้ำแม่งัด
อ่างเก็บน้ำ
ความจุ264.7 ล้านลูกบาศก์เมตร
พื้นที่อ่าง16 ตารางกิโลเมตร

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เดิมชื่อว่า เขื่อนแม่งัด ตั้งอยู่บนลำน้ำแม่งัด สาขาแม่น้ำปิง ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และยังตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา สำหรับทางเข้าเขื่อนอยู่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 41 บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (สายเชียงใหม่-ฝาง) เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร[1]

การก่อสร้าง[แก้]

เขื่อนแม่งัดเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกรมชลประทาน การก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 ต่อมา กฟผ. ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในปี พ.ศ. 2528 แล้วเสร็จในปีเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2529 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529

ข้อมูลทั่วไป[แก้]

  • ประเภทเขื่อน: เขื่อนดิน
  • ตัวเขื่อน: สร้างปิดกั้นลำน้ำแม่งัด ที่บ้านใหม่ ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
  • ลักษณะเขื่อน: เป็นเขื่อนดินถม สูง 59 เมตร ยาว 1,950 เมตร อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 264.7 ล้านลูกบาศก์เมตร  มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 332 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 4,500 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 9,000 กิโลวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 24.5 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ประโยชน์[แก้]

  • ด้านการชลประทาน - สามารถส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการได้ประมาณ 30,000 ไร่ และช่วยส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ เพาะปลูกของฝายสินธุกิจปรีชา (ฝายแฝก) จังหวัดเชียงใหม่ โครงการแม่ปิงเก่า จังหวัดลำพูน และพื้นที่เพาะปลูกโดยฝายของราษฎรอีกด้วย รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 188,000 ไร่
  • ด้านพลังงานไฟฟ้า - เขื่อนสามารถผลิตกระไฟฟ้าได้ประมาณ 24.50 ล้านกิโลวัตต์
  • ด้านการประมง - เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ เป็นแหล่งผลิตอาหาร สร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น
  • การท่องเที่ยว - เขื่อนแม่งัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อน อ่างน้ำเหนือเขื่อนมีทัศนียภาพที่งดงาม มีบริการนั่งแพ ร้านอาหาร[2]
ป้ายเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล

อ้างอิง[แก้]

  1. การเดินทางสู่เขื่อนแม่งัด เก็บถาวร 2011-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก flash-mini.com, สืบค้นวันที่ 4 ตุลาคม 2552
  2. เขื่อนแม่งัด จากทัวร์ดอยดอตคอม, สืบค้นวันที่ 4 ตุลาคม 2552

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

19°10′08″N 99°02′28″E / 19.169°N 99.041°E / 19.169; 99.041