เขื่อนภูมิพล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขื่อนภูมิพล
ชื่อทางการเขื่อนภูมิพล
ที่ตั้งเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก
พิกัดภูมิศาสตร์17°15′54″N 98°54′00″E / 17.265°N 98.9°E / 17.265; 98.9พิกัดภูมิศาสตร์: 17°15′54″N 98°54′00″E / 17.265°N 98.9°E / 17.265; 98.9
เริ่มต้นการก่อสร้างพ.ศ. 2500
วันที่เปิด17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507
งบประมาณ2,250 ล้านบาท
โครงสร้างและทางน้ำล้น
ความสูง154 เมตร
ความยาว486 เมตร
ความกว้าง (ที่ฐาน)56 เมตร
กั้นแม่น้ำปิง
อ่างเก็บน้ำ
ความจุ13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนภูมิพล เดิมชื่อ เขื่อนยันฮี เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ในประเทศไทย ลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง ตั้งอยู่บนแม่น้ำปิงที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก

ประวัติ[แก้]

แนวคิดสร้างเขื่อนแห่งนี้เกิดจากการที่ ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน เดินทางไปดูงานชลประทานที่สหรัฐ และเห็นความเป็นไปได้ที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำปิง หม่อมหลวงชูชาติเสนอความเป็นไปได้ต่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปีพ.ศ. 2492 คณะรัฐมนตรีอนุมัติการสำรวจศึกษาโครงการ จนได้ข้อสรุปว่าที่เหมาะสมคือบริเวณตำบลยันฮี จังหวัดตาก เมื่อหน่วยงานของสหรัฐรับรองว่าสภาพพื้นที่ดังสามารถสร้างเขื่อนได้ รัฐบาลเริ่มทุ่มงบประมาณตัดถนนจากถนนพหลโยธินเข้ามาถึงบริเวณที่ก่อสร้าง และเริ่มกระบวนการเจรจากู้เงินจากธนาคารโลก

คณะรัฐมนตรีอนุมัติการก่อสร้างเมื่อปีพ.ศ. 2496 แรกเริ่มใช้ชื่อว่า เขื่อนยันฮี การเวนคืนเริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2499 การก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อพ.ศ. 2500 โดยว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาจากสหรัฐ และมีบริษัทอื่นจาก 14 ประเทศร่วมเป็นที่ปรึกษา ต่อมารัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นชื่อเขื่อนว่า เขื่อนภูมิพล เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2501 วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำรัฐพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507

เขื่อนสร้างปิดกั้นแม่น้ำปิง ที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อแรกก่อสร้างเสร็จถือเป็นเขื่อนรูปโค้งที่ใหญ่เป็นอันดับเจ็ดของโลก ใช้เงินในการก่อสร้างทั้งสิ้นราว 2,250 ล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งกู้จากธนาคารโลกเป็นเงิน 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[1][2]

รัฐบาลจอมพล ป. ตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดูแลการก่อสร้างและบริหารโครงการชื่อว่า "การไฟฟ้ายันฮี" เมื่อ พ.ศ. 2500 ในระยะแรก เขื่อนแห่งนี้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง (รวม 70,000 กิโลวัตต์) จากที่สามารถติดตั้งได้ 8 เครื่อง และหลังเปิดดำเนินงานในปี พ.ศ. 2507 ได้เพียงสามปี การไฟฟ้ายันฮีมีกำไรสะสมถึงปี พ.ศ. 2510 มากถึง 397.41 ล้านบาท[3] การไฟฟ้ายันฮีได้ควบรวมกับรัฐวิสาหกิจ "การลิกไนต์" และ "การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ" เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อพ.ศ. 2511

การเดินทาง[แก้]

ระยะทางจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดตาก 425 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ ประมาณ 7 ชั่วโมง ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แยกซ้ายที่วังน้อย เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 สายบางปะอิน-นครสวรรค์ ผ่านจังหวัดกำแพงเพชร แล้วตรงเข้าจังหวัดตาก และจากตัวเมืองไปยังเขื่อนภูมิพลเป็นระยะทางอีก 61 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่สะดวกและนิยมใช้กันคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถึงหลักกิโลเมตร ที่ 566 - 567 จะมีทางแยกซ้ายเข้าเขื่อนภูมิพล ประมาณ 17 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางหมายเลข 1107 ผ่านทางแยกไปเจดีย์ยุทธหัตถี อีก 25 กิโลเมตร

สนามบินเขื่อนภูมิพล[แก้]

ภายในเขื่อนภูมิพล มีสนามบินอนุญาต คือ สนามบินเขื่อนภูมิพล ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2520[4] โดยสนามบินดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งในช่วงการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินจากสนามบินกองทัพอากาศดอนเมือง และประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จฯ ยังสนามบินเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ในการทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เขื่อนภูมิพล เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. สัญญากู้เงินที่ 175 ลงวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1957
  2. แถลงการณ์สำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง การตั้งการไฟฟ้ายันฮีเพื่อสร้างเขื่อนภูมิพล. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๗๔ ตอนที่ ๗๓ หน้า ๒๑๙๙ วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๐๐
  3. การไฟฟ้ายันฮี งบดุลงวด 30 กันยายน 2510 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 85 ตอนที่ 25 วันที่ 19 มีนาคม 2511
  4. ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดสนามบินอนุญาต
  5. การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพื้นที่จังหวัดตาก

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]