อนันตริยกรรม
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
อนันตริยกรรม หมายถึง กรรมหนักที่สุด (ครุกรรม) ฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลทันที มี 5 อย่าง คือ
- มาตุฆาต - ฆ่ามารดา
- ปิตุฆาต - ฆ่าบิดา
- อรหันตฆาต - ฆ่าพระอรหันต์
- โลหิตุปบาท - ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อ ขึ้นไป เช่น พระเทวทัตได้ทำร้ายพระพุทธองค์ ในสมัยพุทธกาล
- สังฆเภท - ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน ทำลายสงฆ์
อนันตริยกรรม 4 ประการแรก คือ มาตุฆาต ปิตุฆาต อรหันตฆาต และโลหิตตุปบาท จัดเป็นสาธารณอนันตริยกรรม คือ เป็นอนันตริยกรรมที่ทั่วไปแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ทั้งหลาย หมายความว่า บรรพชิตก็ทำได้ คฤหัสถ์ก็ทำได้
ในส่วนของโทษหนักเบา และลำดับการให้ผลก่อนหลัง ของอนันตริยกรรม เรียงลำดับจากแรงที่สุดลงไป ได้ดังนี้
- สังฆเภทอนันตริยกรรม (หนักที่สุด เพราะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสีย)
- โลหิตุปบาทอนันตริยกรรม (สำคัญมากแต่ปัจจุบันทำไม่ได้เพราะพระพุทธองค์ทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว)
- อรหันตฆาตอนันตริยกรรม (สำคัญปานกลาง เพราะพระอรหันต์ผู้ซึ่งไม่เบียดเบียนใครเลยและยังเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน)
- มาตุฆาตปิตุฆาตอนันตริยกรรม (สำคัญน้อยกว่าอนันตริยกรรมอื่น ๆ เพราะถือว่าอยู่ในเพศฆราวาส)
โทษแห่งอนันตริยกรรม
[แก้]ด้วยกรรมแห่งอนันตริยกรรมทั้ง 5 ประการนี้จัดเป็นกรรมหนักหรือครุกรรม ผู้ใดทำกรรมอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นจะได้รับโทษทั้งทางโลกและทางธรรม โทษของทางโลกคือจะถูกผู้คนประณามและสาปแช่ง ไม่คบค้าสมาคมใด ๆ เลย และยังถูกกฎหมายบ้านเมืองลงโทษอีก (โดยเฉพาะมาตุฆาต ปิตุฆาต และอรหันตฆาตเท่านั้น ยกเว้นสังฆเภทและโลหิตตุปบาทที่กฎหมายไม่สามารถลงโทษได้) ส่วนโทษของทางธรรมคือจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนบาปหนักบาปหนาที่สุด ฟ้าไม่อาจจะยกโทษให้เลยแม้แต่น้อย พระพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใดทำกรรมอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะไม่สามารถบวชเข้ามาเป็นภิกษุได้เลยเพราะถือว่าเป็นผู้ต้องปาราชิกสำหรับฆราวาสแล้วและจะไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานใด ๆ เลยตลอดชีวิตในชาติที่ยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อตายจากโลกไปจะต้องตกนรกเพียงสถานเดียว ไม่สามารถขึ้นสวรรค์ได้ ต่อให้ทำกรรมดีมากมายเพียงใดก็ไม่อาจหนีพ้นจากนรกไปได้
ผู้ทำอนันตริยกรรมจะต้องตกนรกลงไปยังขุมนรกที่ลึกที่สุดคือ มหาขุมนรกอเวจี ซึ่งอยู่ชั้นที่ 8 เป็นขุมนรกขุมใหญ่ที่มีการลงโทษหนักโดยไม่มีผ่อนผันหรือหยุดพักแต่ใดๆเลยแม้แต่วินาทีเดียว สัตว์นรกที่ตกขุมนรกนี้จะได้รับความทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสและเป็นเวลายาวนานที่ไม่อาจจะนับได้เลยหรือเรียกว่า กัลป์
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ทำอนันตริยกรรมเพียงข้อใดเพียงข้อเดียว มีจิตสำนึกผิดที่ได้กระทำลงไปและได้ทำกรรมดีมากมายขณะยังมีชีวิต เมื่อตายจากโลก บุญกุศลที่ทำไว้จะนำมาหักกับบาปแห่งอนันตริยกรรมก็จะได้รับการลดโทษด้วยการไม่ไปบังเกิดไปยังมหาขุมนรกอเวจี แต่จะให้ไปเกิดขุมนรกอื่นแทนแต่ต้องได้รับโทษยาวนานเช่นกัน ตัวอย่างเช่น พระเจ้าอชาตศัตรูได้ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา ต่อมาสำนึกผิดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตลอดชีวิตจนถูกพระราชโอรสลอบปลงพระชนม์ บุญกุศลที่ได้ทำไว้ทำให้พระองค์ไม่ไปบังเกิดมหาขุมนรกอเวจี แต่ให้ไปเกิดขุมนรกที่ชื่อว่า โลหกุมภีนรก เสวยทุกขเวทนาเป็นเวลา 60,000 ปีนรก
ส่วนถ้าใครทำอนันตริยกรรมไว้หลายข้อ ก็จะต้องไปบังเกิดมหาขุมนรกอเวจีสถานเดียวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ทำกรรมดีเท่าใดก็ไม่พ้นและได้รับการลงโทษเป็นเวลายาวนานมากหรือหลายกัลป์ แต่บางครั้งอาจได้รับการลดโทษด้วยการลดเวลาการลงโทษเหลือเพียง 1 กัลป์ ตัวอย่างเช่น พระเทวทัตทำกรรมหนักไว้ 2 ประการคือโลหิตุปบาทและสังฆเภท พระเทวทัตสำนึกผิดจึงให้บรรดาพระลูกศิษย์พาตนไปหาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่วัดเชตวันมหาวิหารเพื่อขอขมา แต่เมื่อไปถึงสระโบกขรณีหน้าวัดเชตวันมหาวิหาร บรรดาพระลูกศิษย์ได้หยุดพักแวะอาบน้ำชำระร่างกายก่อนเข้าเฝ้า พระเทวทัตต้องการจะอาบน้ำชำระเช่นกัน เมื่อเท้าของท่านสัมผัสกับแผ่นดิน ด้วยบาปกรรมที่หนักมากจนแผ่นดินไม่อาจรองรับไว้ได้จึงสูบเอาพระเทวทัตลงไปสู่มหาขุมนรกอเวจี ไม่มีใครช่วยได้เลย แต่ก่อนที่จะจมลงธรณี พระเทวทัตซึ่งเหลือแต่เศียรได้มองไปยังวัดเชตวันมหาวิหารที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณและถวายกระดูกคางเป็นพุทธบูชาและยึดเอาพระพุทธองค์เป็นที่พึ่งตลอดกาล เมื่อลงสู่มหาขุมนรกอเวจีแล้ว บุญกุศลจากการถวายกระดูกคางก็ทำให้ถูกลงโทษในนรกอเวจีเพียง 1 กัลป์เท่านั้น
ข้อถกเถียงเกี่ยวกับอนันตริยกรรม
[แก้]มีคนบางกลุ่มบอกว่า ในปัจจุบันนี้ควรลดอนันตริยกรรมเหลือเพียง 3 ข้อเท่านั้น คือปิตุฆาต มาตุฆาต และอรหันตฆาต เนื่องจากอนันตริยกรรมอีก 2 ข้อที่เหลือ คือ โลหิตุปบาท และสังฆเภท โลหิตุปบาทในปัจจุบันไม่สามารถทำได้เนื่องจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้ว ส่วนสังฆเภทนั้น ก็ถูกจัดอยู่ในอาบัติสังฆาทิเสสของพระสงฆ์ เป็นอาบัติหนักแต่ไม่ถึงปาราชิก สามารถปลงอาบัติได้โดยอาศัยพระสงฆ์ในการปลงอาบัติ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องให้อีก 2 ข้อที่เหลืออยู่ในอนันตริยกรรม
อ้างอิง
[แก้]- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม". เก็บถาวร 2015-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร). "กรรมทีปนี".
- พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์