หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ไชยันต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ไชยันต์
หม่อมเจ้า ชั้น 4
ประสูติ12 มิถุนายน พ.ศ. 2439
สิ้นชีพตักษัย12 มิถุนายน พ.ศ. 2473 (34 ปี)
ชายาหม่อมเจ้าประโลมจิตร ไชยันต์
พระบุตร7 คน
ราชวงศ์จักรี
ราชสกุลไชยันต์
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
พระมารดาหม่อมเฮียะ ไชยันต์ ณ อยุธยา

อำมาตย์เอก หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ไชยันต์ (12 มิถุนายน พ.ศ. 2439 – 12 มิถุนายน พ.ศ. 2473) เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ประสูติแต่หม่อมเฮียะ ไชยันต์ ณ อยุธยา

พระประวัติ[แก้]

ปฐมวัย[แก้]

หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ไชยันต์ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ประสูติแต่หม่อมเฮียะ ไชยันต์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม ยุกตะเสวี) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2439 ได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโสทรกนิษฐภคินีองค์เดียว คือ หม่อมเจ้าหญิงวิมลอรรถ ไชยันต์ (1 มีนาคม พ.ศ. 2441 – 9 กันยายน พ.ศ. 2518)

เมื่อมีชันษาได้ 6 เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระนามว่า "ตระนักนิธิผล" ดังพระราชหัตถเลขาพระราชทานนาม ความว่า

"ขอตั้งนามหม่อมเจ้าชาย ในกรมหมื่นมหิศรราชหฤไทย ให้มีนามว่า "หม่อมเจ้าชายตระนักนิธิผล" นาคนาม ขอจงเจริญอายุวรรณศุขพลปรฏิภาณ คุณสารสมบัติสรรพศิริสวัสดิมงคลทุกปรการเทีญ นามนี้ตั้งแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ ๚"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ประชวรหนักใกล้สิ้นพระชนม์ ทรงห่วงพระโอรส คือ หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ซึ่งยังมีชันษาเพียง 11 ปีเท่านั้น เกรงว่าจะไม่มีผู้ดูแลเกื้อหนุน จึงตรัสฝากฝังพระโอรสไว้กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงทรงรับหม่อมเจ้าตระนักนิธิผลไปทรงดูแลทีวังท่าพระ ประดุจพระโอรสอีกองค์หนึ่ง ประกอบกับพระโอรสของพระองค์คือหม่อมเจ้าเจริญใจ จิตรพงศ์ มีชันษาไล่เลี่ยกัน จึงเป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่นั้น

การศึกษา[แก้]

เมื่อเจริญชันษา ทรงเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนราชวิทยาลัย เมื่อทรงสำเร็จการศึกษา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงทรงส่งหม่อมเจ้าตระนักนิธิผล พระภาติยะ ไปทรงศึกษาในสาขากฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และประทับร่วมกับหม่อมเจ้าเจริญใจ จิตรพงศ์วิทยาลัยมอดจ์ลีน หลังจากทรงสำเร็จวิชากฎหมายแล้ว ทรงศึกษาต่อในระดับเนติบัณฑิต ครั้นสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษแล้ว จึงได้เสด็จกลับมารับราชการในกรมอัยการ[1] กระทรวงมหาดไทย ตามลำดับดังนี้[2]

ตำแหน่ง[แก้]

  • พ.ศ. 2462 ได้เข้ารับราชการเป็นพนักงานอัยการ ประจำกรมอัยการ รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก
  • พ.ศ. 2467 เป็นอำมาตย์ตรี
  • พ.ศ. 2468 เป็นอัยการมณฑลนครศรีธรรมราช
  • พ.ศ. 2469 เป็นพนักงานอัยการประจำกรมอัยการ แล้วรับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์โท
  • พ.ศ. 2471 รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์เอก พนักงานอัยการประจำกรมอัยการ

เสกสมรส[แก้]

หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล เสกสมรสกับหม่อมเจ้าประโลมจิตร ไชยันต์ (ราชสกุลเดิม จิตรพงศ์; พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์) มีโอรสและธิดาด้วยกัน 7 คน คือ

  1. หม่อมราชวงศ์เอก ไชยันต์ (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
  2. หม่อมราชวงศ์หญิงทวี พิชัยศรทัต (เกิด 8 สิงหาคม พ.ศ. 2464[3])
  3. หม่อมราชวงศ์สำพันธ์ ไชยันต์ (เกิด 28 ธันวาคม พ.ศ. 2465[3])
  4. หม่อมราชวงศ์หญิงวิสาขา ไชยันต์ (เกิด 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2468[3])
  5. หม่อมราชวงศ์เฉลิม ไชยันต์
  6. หม่อมราชวงศ์สาฎก ไชยันต์ (2470-2511) สมรสกับมนูญศิริ ไชยันต์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม ลักษณสุต) มีบุตร-ธิดา คือ
    1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หม่อมหลวงหญิงศิริพัสตร์ ไชยันต์
    2. หม่อมหลวงอนุวาต ไชยันต์
  7. หม่อมราชวงศ์หญิงยิ่งวัน ไชยันต์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จตา เป็นผู้ประทานนามให้พระนัดดาทั้ง 7 คนนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายทั้งสิ้น เช่น หม่อมราชวงศ์วิสาขา เนื่องจากเกิดในวันวิสาขบูชาปี พ.ศ. 2468 หรือหม่อมราชวงศ์สาฎก เนื่องจากเกิดในวันที่พระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ 4 ทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายผ้าวัสสาสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

สิ้นชีพิตักษัย[แก้]

หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ไชยันต์ ประชวรเป็นพระยอด (ฝี) เม็ดเล็ก สิ้นชีพตักษัยในวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2473 สิริชันษา 34 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สัสสุระ ทรงตั้งศพไว้ที่วังท่าพระ และนำไปฝังไว้ที่วัดนรนาถสุนทริการาม และพระราชทานเพลิงศพที่วัดนั้น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2479 โดยเมรุที่ใช้ในงานพระราชทานเพลิงศพนี้ สัสสุระทรงออกแบบประทานชามาดาเป็นครั้งสุดท้ายด้วยพระองค์เอง มีลักษณะเป็น 'ปะรำใบไม้' ใช้โครงสร้างไม้ไผ่เป็นหลัก ประดับด้วยพรรณไม้หลากชนิด[4]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. กฎมณเฑียรบาลพม่า[ลิงก์เสีย] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ไชยันต์
  2. ราชกิจจานุเบกษา,ข่าวถึงชีพิตักษัย อำมาตย์เอก หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ไชยันต์ กระทรวงมหาดไทย
  3. 3.0 3.1 3.2 นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ, 2404-2474, ผู้รวบรวม. บาญชีมหามกุฏราชสันตติวงศ์ พุทธศก 2468 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงรวบรวม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2468. 167 หน้า.
  4. กฎมณเฑียรบาลพะม่า นับเป็นลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ 26 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแปลจากภาษาอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ โปรดให้ตีพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ไชยันต์ ณ วัดนรนารถสุนทริการาม วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2479