โรงเรียนราชวิทยาลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบันคือโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ) เป็นโรงเรียนหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะจัดตั้งเพื่อผลิตบุคลากรรองรับการปฏิรูปการปกครองประเทศในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการใช้ภาษาอังกฤษและด้านกฎหมาย มีการฝึกและอบรมให้คุ้นเคยกับการเรียนและวัฒนธรรมแบบตะวันตกอันเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อต่างประเทศ และเข้ารับราชการในกระทรวงต่าง ๆ

โรงเรียนราชวิทยาลัย มีการโยกย้ายที่ตั้งสถานศึกษาถึง 4 สมัย

  • สมัยที่ 1 คือ สมัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พ.ศ. 2440 – 2446 มีอายุ 6 ปี มีชาวราชวิทย์ 6 รุ่น
  • สมัยที่ 2 คือ สมัยสายสวลี พ.ศ. 2447 – 2453 มีอายุ 7 ปี มีชาวราชวิทย์ 7 รุ่น
  • สมัยที่ 3 คือ สมัยบางขวาง พ.ศ. 2454- 2468 มีอายุ 15 ปี มีชาวราชวิทย์ 15 รุ่น
  • สมัยที่ 4 คือ สมัยสามพราน พ.ศ. 2507- ถึงปัจจุบัน มีอายุ 60 ปี(พ.ศ.2567)

รุ่นล่าสุดที่เข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 คือราชวิทย์62 รวม 3 สมัยแรกมีอายุตั้งแต่เปิดโรงเรียนจนปิดทำการรวม 28 ปี มีชาวราชวิทย์รวม 28 รุ่น และถูกโอนไปรวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นวชิราวุธวิทยาลัย เป็นเวลา 38 ปี มีการก่อตั้งสมาคม ชื่อ [1]สมาคมราชวิทยาลัยฯ เมื่อปี พ.ศ. 2474 เหตุที่ไม่ใช่คำว่าสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนราชวิทยาลัย เพราะตอนขอจดทะเบียนโรงเรียนราชวิทยาลัยถูกโอนไปรวมแล้ว(ได้รับโปรดเกล้าฯอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อปีพ.ศ. 2554)

จนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนตั้งแต่สมัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, สายสวลี, บางขวาง และสามพราน รวมแล้วทั้งสิ้น 90 รุ่น

(ในอดีตจะนับตามปีที่สำเร็จการศึกษา และในปัจจุบันจะนับตามปีที่เข้าศึกษาโดยรุ่นล่าสุดคือราชวิทย์รุ่นที่ 62 ได้แก่นักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 ที่เข้าเรียนในปีการศึกษา 2566)

ประวัติ[แก้]

เปิดกาลสมัยโรงเรียนราชวิทยาลัย ปฐมกำเนิดโรงเรียนราชวิทยาลัยนั้นเป็นผลสืบเนื่องจากลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งชาติมหาอำนาจตะวันตกอันประกอบด้วยฝรั่งเศส อังกฤษ ได้ใช้กำลังทหารเข้ารุกรานและแย่งชิงดินแดนของประเทศไทยไปเป็นลำดับ เหตุการณ์สำคัญที่สุดที่ประวัติศาสตร์ของสยามประเทศต้องจารึกไว้ คือ ในวันที่13 กรกฎาคม 2436 ฝรั่งเศสได้เคลื่อนเรือรบมาถึงปากอ่าวไทย ดังที่เป็นที่รู้จักกันดีในนาม วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

การสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติบ้านเมืองคือการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริที่จะจัดตั้งโรงเรียนเพื่อผลิตบุคลากรรองรับการปฏิรูปการปกครองประเทศในด้านต่างๆ และโดยที่คนไทยในสมัยนั้นยังด้อยทั้งในเรื่องใช้ภาษาอังกฤษและขาดความรู้ทางด้านกฎหมาย จึงมีพระบรมราโชบายให้จัดโรงเรียนนี้ในลักษณะพิเศษ เพื่อให้บุคลากรที่เป็นผลผลิตจากสถาบันนี้ สามารถนำพาประเทศชาติในรอดพ้นจากวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า


โรงเรียนไทย อังกฤษ สระบุรี[แก้]

ในชั้นต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงธรรมการจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับนักเรียนอยู่ประจำขึ้น ที่แขวงเมืองสระบุรี เรียกว่าโรงเรียนไทย อังกฤษ สระบุรี โดยมีพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ดังปรากฏรายละเอียดในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 13 หน้า 269 ลงวันที่ 5 เมษายน 2439 (รศ. 115) แต่ด้วยความไม่สะดวกในการคมนาคม จึงต้องย้ายมาหาที่ตั้งในกรุงเทพแทน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเอซิล การ์เตอร์ (เคยเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษร ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร) ชาวอังกฤษ ซึ่งสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน นายการ์เตอร์ได้เลือกที่จะจัดการศึกษาและปกครองในโรงเรียนนี้ตามแบบพับลิคสคูลของอังกฤษ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งหวังให้โรงเรียนนี้มีลักษณะพิเศษ ทำให้โรงเรียนราชวิทยาลัยแห่งนี้เป็น Public School แห่งแรกของประเทศไทย ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชวินิจฉัยเลือกเอาระบบ Public School มานั้น ทำให้นักเรียนเก่าของราชวิทยาลัยทุกพระองค์และทุกคนล้วนได้รับการปลูกฝังอบรมให้มีความจงรักภักดีต่อเบื้องพระยุคลบาท พร้อมที่จะอุทิศกายใจถวายเป็นราชพลีได้ทุกเวลา ประโยชน์อีกประการหนึ่งของการปกครองในลักษณะดังกล่าวได้ส่งผลให้นักเรียนเก่าราชวิทยาลัยแทบทุกคนได้มีส่วนอย่างสำคัญในการบริหารและนำพาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ที่สำคัญ ๆ มาโดยตลอด

โรงเรียนราชวิทยาลัย สมัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา[แก้]

เมื่อมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นแล้ว กระทรวงธรรมการจึงได้จัดหาที่ตั้งโรงเรียน สถานที่ตั้งของโรงเรียนในสมัยแรกนั้น ตั้งอยู่ระหว่างวัดประยุรวงศาวาส และโรงเรียนศึกษานารีในปัจจุบัน ซึ่งเรียกกันว่า บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพราะอาคารที่ใช้นั้นเป็นทำเนียบเดิมของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในขณะที่ซ่อมแซมจวนเก่าให้เป็นโรงเรียนนั้น ได้มีการออกนามชั่วคราวของโรงเรียน ตามนามสถานที่ตั้ง เช่น ในช่วงแรกเรียกว่าโรงเรียนไทยอังกฤษ สระบุรี และเมื่อมาอยู่ที่ตำบลบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจึงเรียกว่าโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดังนั้นในเอกสารและแผนที่ในกล่องเอกสารที่หอจดหมายเหตุในช่วงปี 2439 จึงมีการระบุชื่อเอกสารในบัญชีคุมเอกสาร (อย่างไม่เป็นทางการ) ว่า บัญชีค่าใช้จ่ายโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

จากการบันทึกบัญชีคุมเอกสารดังกล่าวทำให้สถาบันศึกษาแห่งหนึ่งเกิดความเข้าใจผิดในการตีความเอกสารหลักฐาน เมื่อพบเอกสารของโรงเรียนราชวิทยาลัยที่ใช้ชื่อว่า โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ไปปะปน (เรียกว่าเอกสารโดด) อยู่ในกล่องของโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2458 โดยใช้สถานที่เดิมของโรงเรียนราชวิทยาลัยเป็นที่ตั้ง และเมื่อผู้ค้นคว้ารุ่นหลังมาพบเอกสารของ โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในช่วงปี 2439 รวมอยู่กับเอกสารของโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงหลงประเด็นและเกิดความเข้าใจผิดได้เหมารวมไปว่า โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยานั้นเป็นโรงเรียนเดียวกับโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งโดยข้อเท็จจริงทั้งสองโรงเรียนนั้นหาได้มีประวัติเกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย และผลจากการตีความผิดพลาดดังกล่าวนอกจากจะทำให้ประวัติการก่อโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยาผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงแล้ว ยังส่งผลให้ประวัติของสถาบันการศึกษาอีก 2 แห่ง คือ โรงเรียนฝึดหัดครูฝั่งตะวันตกและโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา แม้ต่อมาสถาบันการศึกษาเหล่านั้นได้ย้ายออกไปแล้ว ประวัติก็ยังพลอยถูกบิดเบือนไปด้วย และทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีอ้างว่าพัฒนาการมาจากสถาบันทั้ง 3 แห่งนั้นได้อ้างอิงประวัติต้นกำเนิดผิดไปถึง 19 ปี

นอกจากนั้นรายงานการศึกษาค้นคว้าที่ผิดพลาดนี้เพิ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี2527 และยังถูกนำไปใช้อ้างอิงในวิทยานิพนธ์และเอกสารทางประวัติศาสตร์ไปแล้วจำนวนหนึ่ง เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวผู้เขียนจึงได้มีหนังสือชี้แจงไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเพื่อแก้ไขประวัติศาสตร์ของสถาบันนั้นให้ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว


ในขณะนั้นทางคณะกรรมการจัดตั้งโรงเรียน ประกอบด้วย พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ, เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ (ต่อมาได้เฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์) และ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (ต่อมาได้เฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ได้ร่วมกันคิดนามโรงเรียนขึ้น 6 นาม คือ รัชฏาภิเศก, สยามมินทร์วิทยาลัย, นรินทร์วิทยาลัย, ชนนารถวิทยาลัย, ประชานารถวิทยาลัย และ ราชวิทยาลัย ซึ่งได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย

เมื่อได้นำความกราบบังคมทูลแล้ว คณะกรรมการยังต้องรออยู่นานพอสมควร กว่าจะโปรดพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยให้ใช้นามว่า ราชวิทยาลัย และได้โปรดให้ออกนามเป็นภาษาอังกฤษว่า King's College ซึ่งเป็นนามที่มีความหมายตรงตัวกับนามในภาษาไทย (ราช มีความหมายว่า Great, Royal, Regal, Imperial, Kingly ส่วน College หมายถึง โรงเรียน, วิทยาลัย, ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย มีสถานที่ ครู นักเรียน และการที่โปรดให้เติม 's ลงหลังคำว่า King เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของ ซึ่งก็สามารถแปลได้ตรงตัวว่าโรงเรียนของพระราชาหรือพระมหากษัตริย์ นั้นเอง) การเล่าเรียนของนักเรียนในยุคนั้น เป็นไปตามหลักสูตรหลวงของกระทรวงธรรมการทั้งหลักสูตรภาษาไทย และภาษาอังกฤษ นักเรียนที่รับเข้าเรียนในโรงเรียนนั้น กำหนดอายุ 9 ขวบเป็นอย่างต่ำ และ 18 ปีเป็นอย่างสูง กำหนดจำนวนนักเรียนในขั้นแรก อัตรา เพียง 50 คน ต่อไปจะขยายจำนวนขึ้นถึง 200 คนเป็นอย่างมาก

เมื่อแรกเปิดโรงเรียนใหม่ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 (รศ.116) นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เพื่อทรงเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศในทวีปยุโรป สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเวลานั้นทรงเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนราชวิทยาลัย ที่ตำบลบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี และเมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินกลับได้มีพระเสาวนีย์ดำรัสแก่นักเรียนทั้งปวง ให้มีความอุตสาหะหมั่นตั้งใจเล่าเรียน ให้ระลึกถึงพระคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานโอกาสให้มีเวลาศึกษาศิลปวิทยาได้ถึงเพียงนี้ และทั้งได้มีพระราชดำรัสแสดงความพอพระราชหฤทัยในการที่ได้ทอดพระเนตรการทั้งปวงโดยเรียบร้อยเป็นอันดีนั้นด้วย ขณะที่เสด็จพระราชดำเนินมีรับสั่งกับเด็กนักเรียนไม่สู้จะเด็กนักว่า “เจ้าเป็นลูกใคร”* (ด้วยเหตุที่ว่าเด็กนักเรียนทั้ง 36 คนที่ถูกส่งมาเล่าเรียนนั้น ล้วนแต่เป็นเชื้อพระวงศ์และบุตรหลานข้าราชการระดับสูงทั้งสิ้น) เด็กผู้นั้นได้กราบบังคมทูลว่า “เป็นลูกแม่ครับ” หลังจากมีรับสั่งแล้ว จึงเสด็จกลับ

ตามในรายงานของมิสเตอร์การ์เตอร์ อาจารย์ใหญ่ ได้กล่าวรับรองไว้ว่าอีก 3 ปีข้างหน้า โรงเรียนราชวิทยาลัยคงจะสามารถจัดให้การศึกษาเจริญขึ้นเท่าเทียมกับโรงเรียนในประเทศยุโรป ในขณะนั้นมีนักเรียนออกไปศึกษาวิชา ณ ทวีปยุโรปและประเทศต่างๆ อนึ่ง โรงเรียนนี้ได้ส่งนักเรียนให้ไปสอบไล่ชิงทุนเล่าเรียนหลวง ณ ที่ประชุมข้าหลวง "คิงสกอลาชิบ" ถึง 3 ครั้ง ได้รับสกอลาชิบถึง 3ท่าน คือ พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด) ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ และ พระศรีบัญชา (ทวน ธรรมาชีวะ เป็นหนึ่งในนักเรียนที่ริเริ่มทำวารสาร สารเศวตในยุคแรก)

โรงเรียนราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนแห่งแรกที่มีการฝึกวิชาพลศึกษา ในสมัยนั้นเรียกว่า การหัดท่าทหาร กายกรรม และกีฬาแบบชาติตะวันตกเช่นยิมนาสติก, ลอนเทนนิส, คริกเก็ต,ขี่ม้าและฟุตบอล ที่สำคัญคือเป็นโรงเรียนแห่งแรกในประเทศไทยมีฝึกเล่นกีฬาฟุตบอล

การแข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการครั้งแรกของเมืองสยาม เกิดขึ้นเมื่อ ร.ศ.119 หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ (Bangkok Times) ประจำวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2443 ได้ลงคอลัมน์ความยาว 5 บรรทัดว่า "การแข่งขันฟุตบอลตามข้อบังคับของแอสโซซิเอชั่น จะถูกจัดให้มีขึ้นในเวลาบ่ายของวันเสาร์นี้ ระหว่างบางกอกกับศึกษาธิการและเล่นกันที่คิงส์คอลเลจ" (บริเวณสนามของโรงเรียนราชวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นเชิงสะพานพุทธฝั่งธนบุรี) แต่เมื่อถึงกำหนดวันแข่งขันจริงก็ได้ย้ายไปเล่นกันที่ ณ สนามหลวง เป็นการแข่งขันระหว่างทีมบางกอกและทีมศึกษาธิการ ชาวราชวิทย์ที่ลงทำการแข่งขันมีสองคนคือ Chamratt คือนาย จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา (พลตรีเจ้าคุณพระยาอานุภาพไตรภพ) 1ใน10 คนแรกของนักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัย บ้านสมเด็จฯ ต่อมาเป็นผู้บัญชาการทหารกองพลนครราชสีมา ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2504 Sodchi คือนายสุดใจ สันธิโยธิน (คุณพระภักดีบรมนาถ) อดีตผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย บางขวาง และหัวหน้ากองบัญชาการกรมไปรษณีย์โทรเลข นอกจากนี้ยังเป็นนักประพันธ์ในนามปากกา "ดินสอ"

เมื่อโรงเรียนเปิดดำเนินกิจการไปได้ระยะหนึ่ง โรงเรียนราชวิทยาลัยก็เริ่มประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสถานที่ของโรงเรียนอันคับแคบไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาได้โปรดพระราชทานที่ดินอำเภอสระปทุม ฝั่งพระนคร มีเนื้อที่ 115.442 ไร่ ให้เป็นที่ตั้งแห่งใหม่ของโรงเรียน ได้มีการออกแบบอาคารของโรงเรียนตามแบบของโรงเรียนอีตัน ที่อังกฤษ ในปีพ.ศ. 2446 ขณะที่เริ่มการออกแบบวางผังโรงเรียนราชวิทยาลัยแห่งใหม่นั้น ได้เกิดโรคระบาดแพร่ไปทั่วกรุงเทพ เป็นเหตุให้ครูผู้สอนชาวอังกฤษเสียชีวิตในวันเดียวกันถึง 2 คน โรงเรียนจึงจำต้องปิดการสอนลงชั่วคราว นักเรียนในยุคนั้นบางท่านก็ไปศึกษาต่อต่างประเทศ บางท่านก็ไปศึกษาต่อในโรงเรียนอื่น แต่เมื่อมีข่าวว่าโรงเรียนจะเปิดใหม่อีกครั้ง นักเรียนที่เคยเรียนที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงเตรียมกลับมาเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัยอีกครั้ง

โรงเรียนราชวิทยาลัย สมัยสายสวลี[แก้]

เมื่อเปิดปีการศึกษาใหม่ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นอีกคำรบหนึ่ง ณ สายสวลีสัณฐาคาร ของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา คือ โรงเลี้ยงเด็ก ตำบลโรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมือง จังหวัดพระนคร เรียกกันว่า "สมัยสายสวลี" ตามชื่ออาคารใหญ่ ซึ่งใช้เป็นที่เรียน คือ ตึกสายสวลีสัณฐาคาร มีเวลาสอนเทอมละ ๔ เดือน นักเรียนจะต้องเสียค่าเล่าเรียน เดือนละ ๔๐ บาทต่อคน การสอนจะสอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ในสมัยนี้ รับนักเรียนเป็น 2 ประเภท คือ อยู่ประจำ และไปเช้า เย็นกลับ อาจารย์ใหญ่ยังคงเป็นคนเดิม คือ นาย เอ ซี การ์เตอร์ ในสมัยนี้ มีที่ทำงานของ อาจารย์ใหญ่ และพนักงาน มีโรงอาหารหลังใหญ่ด้านหลังเกือบจรดคลองมหานาค และมีสนามฟุตบอลอยู่ติดริมถนนบำรุงเมือง (ปัจจุบันเหลือแต่เพียงชื่อตรอกโรงเลี้ยงเด็ก อยู่ก่อนถึงโรงพยาบาลหัวเฉียวประมาณ 200 เมตร)

โรงเรียนราชวิทยาลัยนั้นประสบปัญหาในเรื่องที่ตั้งโรงเรียนมาโดยตลอด ตั้งแต่มีการจัดสร้างโรงเรียนที่สระบุรีก็ต้องยกเลิก และย้ายมาใช้จวนเก่าของสมเด็จเจ้าพระยาฯ จากนั้นก็ต้องย้ายมาอาศัยที่ของโรงเลี้ยงเด็กแทน และด้วยผลพวงจากวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ทำให้สยามประเทศต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับฝรั่งเศสในงวดแรกถึง 2, 000,000 ฟรังค์ และอีก 3,000,000 ฟรังค์ ในเวลาต่อมา จึงส่งผลให้เงินพระคลังข้างที่ฝืดเคือง และส่งผลให้ต้องยกเลิกการก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ที่สระปทุม

โรงเรียนราชวิทยาลัย สมัยบางขวาง[แก้]

ขณะเดียวกันในเดือนกันยายน 2453 ที่ตำบลบางขวาง เมืองนนทบุรี อาคารไม้หลังใหญ่ทรงโคโลเนียลกำลังถูกสร้างขึ้นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงยุติธรรมได้จัดการก่อสร้างอาคารนี้ขึ้น เพื่อจะให้เป็นโรงเรียนกฎหมาย แต่ระหว่างนั้นยังหาครูและนักเรียนมาเรียนไม่ได้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในเวลานั้นจึงได้มีพระดำริว่า โรงเรียนราชวิทยาลัยนั้นยังอาศัยเช่าโรงเลี้ยงเด็กอยู่ อีกทั้งมีครูและนักเรียนที่ล้วนมีคุณสมบัติเหมาะสมสามารถเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกฎหมายได้อยู่แล้ว หากจะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยไปพลาง แล้วจึงจะต่อยอดเป็นโรงเรียนกฎหมายก็จะเป็นไปได้โดยง่าย เพราะนักเรียนราชวิทยาลัยล้วนมีพื้นความรู้ภาษาอังกฤษอันเป็นรากฐานของการเรียนกฎหมายได้เป็นอย่างดี

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานย้ายโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงธรรมการ มาอยู่ในการปกครองของ กระทรวงยุติธรรม เพื่อจัดการศึกษาให้เหมาะสม กับความมุ่งหมายที่จะให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาเข้าศึกษาวิชากฎหมายในขั้นอุดมศึกษาต่อไป และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โอนย้ายได้ ดังมีรายละเอียดในประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 11 มีนาคม 2454 (ขอพระราชทานตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 และได้รับพระบรมราชานุญาตในปีที่ 1 ของรัชกาลที่ 6)

ปี พ.ศ. 2453 อันเป็นปีแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น ได้ทรงตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 โปรดให้เป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับโรงเรียนราชวิทยาลัยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้โอนมากระทรวงยุติธรรมโดยใช้ตราข้อบัญญัติการจัดตั้งโรงเรียนในรูปใหม่รวม 19 ข้อ และโปรดให้มีสภากรรมการปกครองโรงเรียนเป็นเจ้าหน้าที่จัดการโรงเรียน

ในเดือนมกราคม 2454 เมื่อโรงเรียนราชวิทยาลัยก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จ จึงได้เปิดรับนักเรียน และในวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2454 จึงได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งอยู่ที่โรงเรียนใหม่(กล่าวกันว่าวันแรกที่ไปถึงที่โรงเรียนนั้นยังได้กลิ่นของสีที่ทาอาคาร กองไม้วัสดุก่อสร้างยังกองกันระเกะระกะ)เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีถนนจึงต้องเดินทางจากท่าช้าง วังหน้าไปยังโรงเรียนราชวิทยาลัยแห่งใหม่ ณ ตำบลบางขวาง จังหวัดนนทบุรี โดยเรือยนต์ของโรงเรียนที่ชื่อเรือจันทร และในวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2454 โรงเรียนราชวิทยาลัยสมัยบางขวางก็ได้เริ่มเปิดการสอนเป็นวันแรก มีครูใหญ่คนที่ 2 คือ นาย เอ. ไตร. มาร์ติน ซึ่งสำเร็จการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

อาคารโรงเรียนราชวิทยาลัยนี้ เป็นตึกแบบโคโลเนียล 2 ชั้น มุขหน้าหันไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารสร้างล้อมรอบสนามหญ้า 4 ด้าน มีความยาวรวมทั้งสิ้น 345.30 เมตร กว้าง 32.2 เมตร สิ้นค่าก่อสร้างในสมัยนั้น 559,868.69 บาท บริเวณที่ดินหน้าโรงเรียน หรือด้านทิศตะวันตก จรดแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศเหนือของที่ดิน มีคูหรือ คลองคั่น ทิศใต้มีคูคั่นระหว่างบริเวณโรงเรียน กับบริเวณวัดบางขวาง ด้านหลังโรงเรียน ทางทิศตะวันออกก็มีคูน้ำคั่น บริเวณโรงเรียน จึงมีลักษณะคล้ายที่ตั้งเมืองในสมัยเก่า มีแม่น้ำอยู่ด้านหน้า อีก 3 ด้าน มีคูหรือคลองล้อมรอบ ตัวโรงเรียนสร้างในลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า Quadrangleคือ ลานสี่เหลี่ยมมีตึกล้อมรอบ ลานคือสนามหญ้า (มีระเบียบโรงเรียนคือห้ามเดินลัดสนามเป็นอันขาด) ใช้เป็นสนามฟุตบอล และการกรีฑา

อาคารด้านหน้าริมแม่น้ำ ตัวอาคารนั้นถ้าเราหันหน้า เข้าอาคารจะมีการจัดผังการใช้งานดังนี้

อาคารด้านขวาส่วนหน้า ชั้นบนจะเป็นบ้าน A ชั้นล่างจะเป็นห้องเรียนของเด็กชั้นเล็ก ส่วนมุมจะเป็นห้องน้ำมีฝักบัวขนาดใหญ่ อาคารตรงกลางส่วนหน้าเป็นอาคารสำนักงาน (รูปภาพหมู่ของโรงเรียนจะถ่ายกันบริเวณนี้) ชั้นบนเป็นห้องทำงานของครูใหญ่ ชั้นล่างเป็นห้องธุรการ

อาคารด้านซ้ายส่วนหน้า ชั้นบนจะเป็นบ้าน B ชั้นล่างจะเป็นห้องเรียนของเด็กชั้นกลาง ส่วนมุมจะเป็นห้องน้ำเช่นกัน

อาคารด้านซ้ายส่วนหลัง ชั้นบนจะเป็นบ้าน C ชั้นล่างจะเป็นห้องเรียนของเด็กโต สำหรับอาคารตรงกลางซึ่งเป็นอาคารปูนเพียงหลังเดียวภายในหมู่อาคารนี้ อาคารนี้เรียกว่า Dining hall ในชั้นล่างใช้เป็นห้องอาหารและห้องประชุม ชั้นบนใช้เป็นห้องสมุด หน้าจั่วของอาคารจะมีป้ายไม้พื้นสีเขียวเข้มตัวหนังสือสีขาวเขียนชื่อ”โรงเรียนราชวิทยาลัย” ตรงกลางจั่วจะเป็นนาฬิกาให้นักเรียนฝึกดูเวลา*ภาพ11A (ภายหลังเมื่อโรงเรียนถูกยุบจึงนำนาฬิกาเรือนนี้ไปไว้ที่วชิราวุธวิทยาลัย ต่อมาได้มีการจัดสร้างหอนาฬิกาขึ้นจึงได้มีการจัดหาทุนซื้อนาฬิกาเพิ่มอีกสามด้าน ครบเป็นสี่ด้านดังที่เห็นเป็นหอนาฬิกาอยู่ในปัจจุบัน)

สำหรับบ้าน D ไม่ได้สร้างเพราะมีนักเรียนเพียงร้อยห้าสิบกว่าคน กำแพงของอาคาร Dining hall จึงถูกนำมาใช้เล่นSquash และ Five(กีฬาโบราณของอังกฤษใช้มือแทนไม้ ตีลูกกระทบกำแพงสลับกันไปมาคล้ายการเล่นสควอช)


ทางด้านวิชาการ ได้อำนวยการศึกษาให้วิชาความรู้อย่างถึงขนาดเป็นที่นิยมยกย่องในอารยประเทศ เฉพาะมหาวิทยาลัย ในยุโรปได้ยอมรับนับถือว่า ความรู้ของนักเรียนผู้จบหลักสูตรโรงเรียนราชวิทยาลัยอยู่ในชั้นมาตรฐาน อนุญาตให้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของเขาได้โดยไม่ต้องสอบ "แมตริกคิวเลชั่น" (matriculation exam) ซึ่งไม่มีโรงเรียนใดในประเทศไทย ได้รับเกียรติเช่นนี้เลย เพียงแค่รู้ว่ามาจาก King's College, Siam แล้ว นักเรียนคนนั้นจะได้รับเกียรติจากสถาบันและเพื่อนร่วมสถาบันนั้นอย่างดียิ่ง

เมื่อเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง การได้ปรากฏว่า การโอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงธรรมการ มาขึ้นกับกระทรวงยุติธรรมนั้นหาได้บรรลุผลสมดังวัตถุประสงค์เดิม เพราะนักเรียนที่เรียนจบหลักสูตรแล้ว หาได้เข้าเรียนกฎหมายต่อไปไม่ บ้างก็ออกรับราชการเลย บ้างก็ไปศึกษาต่อต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมจึงจำต้องเปิดรับนักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆ เข้าเรียนด้วย ด้วยเหตุดังกล่าว เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร] (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานถวายโรงเรียนราชวิทยาลัยไปสังกัดกรมมหาดเล็กเช่นเดียวกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อได้ทรงพระราชดำริเห็นสมควรแล้วจึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโรงเรียนราชวิทยาลัย มาขึ้นกับสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ (โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้แก่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง, โรงเรียนราชวิทยาลัย, โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และโรงเรียนพรานหลวง) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2459 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 33 หน้า 1109

ในวันที่ 26 ธันวาคม 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนราชวิทยาลัย เวลาบ่ายประทับทอดพระเนตรลูกเสือฝึกหัดวิชาปัจจุบันพยาบาล แล้วประทับเสวยพระกระยาหารร่วมกับสภากรรมการและผู้บริการโรงเรียน เมื่อเสวยพระยาหารแล้วได้ประทับทอดพระเนตรนักเรียนแสดงละครจนจบจึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับในตอนดึก อนึ่ง ในโอกาสเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมอัญเชิญเหรียญเครื่องหมายทองคำรูปกระดานชนวนหรือเหรียญกระดานชนวน* (ผู้ออกแบบคือหลวงนัยวิจารณ์ หรือเปล่ง ดิษยบุตร) มาพระราชทานแก่ครูและนักเรียนเก่า

ในวันที่ 20 ตุลาคม 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนราชวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง (เสด็จฯ ถึงโรงเรียนเวลา 19.30 น.) เมื่อพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปีแล้ว ได้ประทับเสวยพระกระยาหารร่วมกับสภากรรมการและผู้บริหารโรงเรียน แล้วได้ประทับทอดพระเนตรละครพูดภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งนักเรียนเป็นผู้แสดง ละครพูดภาษาอังกฤษที่แสดงในคืนนั้นเป็นบทละครพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เรื่อง The Taming of Uncle Gideon

การกีฬาของราชวิทยาลัย กีฬาฟุตบอลยังคงเป็นกีฬาที่ขึ้นชื่อ โดยการแข่งขันฟุตบอลหน้าพระที่นั่งระหว่างชาติครั้งแรก ที่ราชกรีฑาสโมสรในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2458 ระหว่างคณะฟุตบอลสยามกับคณะฟุตบอลยุโรปชาวยุโรป ชิงถ้วยราชกรีฑาสโมสร มีนักเรียนราชวิทยาลัย4ท่านคือ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร (ท่านผู้นี้ได้เป็นกัปตันทีมชาติท่านแรกด้วย) 2.หลวงเดช นายเวร (ชอบ หังสสูต) 3.จรูญ รัตนโนดม 4.นายโชติ ยูปานนท์) ในการแข่งขันครั้งนั้นคณะฟุตบอลสยามเป็นฝ่ายชนะคณะฟุตบอลยุโรปชาวยุโรปไป 2ประตูต่อ1 โดย ม.จ. สิทธิพรขึ้นรับพระราชทานถ้วยรางวัลจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทีมฟุตบอลราชวิทยาลัยชนะเลิศถ้วยของกระทรวง ศึกษาธิการในปี2462 และ 2463 ในขณะนั้นมีนักเรียนติดทีมชาติอีกถึง 6 คน ในปี2462 — 2463 1.ชอบ หังสูต (หลวงเดช นายเวร), 2.โชติ ยูปานนท์, 3.จำรัส บูรณะดิษ, 4.จรูญ รัตนโนดม (นาย ไกรภาชี) 5. เอื้อน สถาปิตานนท์ (หลวงชาญภูเบศร์) และ 6.จรัญ บุญยรัตพันธุ์ (นายจำนงราชกิจ)

ยังมีการกรีฑาและกีฬาทางน้ำคือแข่งเรือพายแบบอังกฤษในแม่น้ำเจ้าพระยา คู่แข่งขันคือโรงเรียนนายเรือ ส่วนเรือนั้นต่อที่อู่หลวงรามัญนนทเขต โดยเฉพาะใบพายต้องสั่งมาจากอังกฤษ (ผู้ลงแข่งขันมีคือ จุล รัตนวราหะ (กัปตันทีม), ชัย เตชะเสน, ชาลี ยงสุนทร, อำพล ศิลปีกุล, ประกอบ บุณยัษฐิติ, เสกน บุณยัษฐิติ, สกล บุณยัษฐิติ)

ในช่วงระยะเวลา15ปีของราชวิทยาลัยในสมัยบางขวางนี้ ถือว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูอย่างที่สุด กล่าวได้ว่า เป็นโรงเรียนในตำนานที่กล่าวขานกันมาถึงทุกวันนี้ ทุก ๆ ปีจะมีการแข่งกีฬาหน้าพระที่นั่งกับโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อีกสามแห่ง ในวันแข่งขันกีฬาประจำปีนั้นทั้งครูและนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทุกคนจะต้องไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน ณ สนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ครูและนักเรียนราชวิทยาลัยต้องเดินทางไปโดยเรือยนต์หลวง 2 ลำ ชื่อ อัศวบวร และเขจรภาชี เรือจะล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยา แล้วจอดเทียบท่าที่ท่าวาสุกรี จากนั้นครูจะนำนักเรียนเดินเท้าไปยังโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ในระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร

ในช่วงฝึกเสือป่าเหล่านักเรียนราชวิทยาลัยก็จะต้องตามเสด็จไปเข้าค่ายที่พระราชวังสนามจันทร์ และไปร่วมซ่อมรบที่นครปฐม – ราชบุรี ทุกคนจะมีอาวุธประจำตัวคือ ปืนพระรามหก ครั้นมีละครที่โรงโขนหลวงมิสกวัน ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงร่วมแสดง ก็จะโปรดให้นักเรียนไปเฝ้าชมพระบารมีและที่สำคัญนักเรียนทุกคนจะต้องเข้าร่วมพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่วัดพระแก้วร่วมกับข้าราชสำนักทั้งหลายทุกปี ๆ ละ 2 ครั้ง อีกทั้งยังมีประเพณีสำคัญที่นักเรียนทุกคนจะต้องถวายตัวเป็นข้าในใต้เบื้องพระยุคลบาทด้วย

ชีวิตของนักเรียนต่างก็มีความสุขสบาย เพราะราชวิทยาลัยนั้นเปรียบได้กับเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่ง มีบ่อน้ำจืดอยู่ใต้อาคาร Dining Hall มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีสนามฟุตบอลอยู่กลางโรงเรียน และมีสนามซ้อมอยู่ด้านนอก* (บริเวณนั้นปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเรือนจำกลางบางขวาง) อีกจำนวนหนึ่ง เวลาว่างของนักเรียนต่างก็เล่นทโมนไปตามประสา มีทั้งไปตกกุ้งที่ริมแม่น้ำหน้าโรงเรียน แอบไปเก็บผลหมากรากไม้ริมสนามนอกโรงเรียน บางกลุ่ม* (ตระกูล วสุวัต Hollywood แห่งประเทศไทย) ก็ทำหนังแผ่นฉายกันหลังห้องเรียน เวลาเรียนก็มีแอบเตะฟุตบอลกันหลังห้องเรียนกันเสมอ* (ชื่อทีมกัญชากับยาฝิ่น) ทั้งอาหารก็แสนจะอุดมสมบูรณ์ โดยมี ม้วน แม่ครัวเอกทำอาหารเลี้ยงดูเหล่านักเรียนมาตั้งแต่สมัยสายสวลี เรื่องการใช้ชีวิตและกิจกรรมของนักเรียนในสามยุคแรกนี้จะขออนุญาตเล่าในรูปแบบหัสนิยายในโอกาสต่อไป

ในเช้าวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 เวลา 7 นาฬิกาเสียงระฆังสัญญาณดังก้องไปทั่วโรงเรียนราชวิทยาลัย ผู้ที่ตีสัญญาณคือ ครูหลวงนฤเบศมานิต (สงวน จูฑะเตมีย์) ท่านตีระฆังไปร้องไห้ไป ที่แขนเสื้อข้างซ้ายของท่านติดปลอกแขนทุกข์สีดำ ท่านสั่งให้นักเรียนไปรวมกันที่ Dining Hall ของโรงเรียน และประกาศว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตแล้ว โรงเรียนจะหยุดเรียนชั่วคราว และให้ผู้ปกครองมารับนักเรียนกลับบ้าน” จากวันนั้นเป็นต้นมาโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทุกโรงเรียนก็ถูกปิดลงโดยไม่มีกำหนด

สมาคมราชวิทยาลัย[แก้]

ราชวิทยาลัยยามสิ้นชื่อ ถือกำเนิดสมาคม เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับราชสมบัติสืบต่อมาเป็นรัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นยุคสมัยที่การเงินของประเทศอยู่ในภาวะคับขัน เศรษฐกิจตกต่ำ จึงได้ทรงตัดทอนรายจ่ายในพระราชสำนัก และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยไปรวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โปรดให้ย้ายนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ (ค้นว้าล่าสุดจากทะเบียนของวชิราวุธวิทยาลัยมีถึง 19 หรือ 20 คน) และ ครูชาวต่างประเทศบางคนที่ยังไม่หมดสัญญาจ้าง ไปสมทบกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งโปรดพระราชทานนามนามให้ใหม่ว่า วชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ 16 เมษายน พุทธศักราช 2469 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติแด่ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบไป

การที่โรงเรียนราชวิทยาลัยต้องสลายตัวไปด้วยประการนี้ หาใช่เพราะความเสื่อมทรามของโรงเรียนแต่ประการใดไม่ ฉะนั้น บรรดาครูและนักเรียนเก่าซึ่งได้ร่วมกันชุมนุมครั้งแรกที่สวนลุมพินีโดยมี ครูหลวงนฤเบศร์มานิต (สงวน จูฑะเตมีย์ บิดาของคุณปู่บรรจง จูฑะเตมีย์ ประธานราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา) และนักเรียนเก่าทั้งหลายได้รวมกำลังกาย กำลังทรัพย์ ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมราชวิทยาลัย ขึ้นในปี 2474 เพื่อให้เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ สมัครสมานสามัคคีระหว่างกัน เกิดเป็นปัจจัย ให้มีการปรึกษาหารือ เพื่อฟื้นฟูโรงเรียนราชวิทยาลัยให้กลับคืนสภาพขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิด โรงเรียนนี้ตลอดไป

การหาเงินในสมัยนั้นมีทั้งการจัดละครหาทุน มีเรื่อง เงาะป่า พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเรื่อง พระผู้เป็นเจ้า (บทประพันธ์ของ พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) เป็นต้น อีกทั้งยังมีการเรี่ยไรเงินจากการแต่งงาน งานบวช งานบุญ งานศพของนักเรียนเก่าทั้งหลายแต่ก็ยังไม่สามารถรวบรวมเงินมาสร้างโรงเรียนได้ จนถึงปี 2501 คณะกรรมการราชวิทยาลัยสมาคมได้มีมติให้จัดตั้ง ราชวิทยาลัยมูลนิธิ เพื่อการศึกษา เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนใหม่ให้เป็นผลสำเร็จให้ได้

ในช่วงนั้นประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 สงครามอินโดจีน ในปี พ.ศ. 2483 และสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2484 – 88 ปัญหาสำคัญอย่างยิ่งคือสถานที่ตั้งของโรงเรียนซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก อีกทั้งต้องสร้างอาคาร โรงอาหารและหอนอนอีกด้วย คณะนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย ได้พยายามจะฟื้นฟูโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ ตลอดมาในรัชกาลที่ 8 แต่ก็ประสบอุปสรรคเรื่อยมา

โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์[แก้]

ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ขั้นตอนการจัดตั้งโรงเรียนก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ที่โรงเรียนเตรียมอุดมสามพราน ที่ดินแปลงในขณะนั้นมีพื้นที่ 51 ไร่ 1 งาน 68 ตารางวา มีตึกทำเนียบพร้อมห้องครัวหนึ่งหลัง อาคารเรียนกึ่งถาวร 8 ห้องเรียนฝาไม้ พื้นเทปูน 1 หลัง หอนอนบรรจุนักเรียนหอละ 105 คน 2 หลัง โรงอาหารมีเวทีใช้เป็นห้องประชุม 1 หลัง โรงเก็บเรือ1หลัง บ้านพักริมน้ำ 5 หลัง บ้านพักคนงาน 2 แถว พร้อมบ่อน้ำบาดาล เครื่องสูบน้ำ ซึ่งได้ใช้สถานที่ทำเนียบสามพรานหรือบ้านพักต่างอากาศเดิมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น จะย้ายนักเรียนกลับไปเรียนต่อที่กรุงเทพ พื้นที่ของโรงเรียนจึงว่างลง ทางกองบังคับการกองการศึกษาของกรมตำรวจ (ซึ่งขณะนั้นอาศัยตึกกองอำนวยการของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ) จึงได้ติดต่อขอเข้ามาใช้ที่ตั้งของโรงเรียนเป็นกองบัญชาการแห่งใหม่

แต่ด้วย Esprit De Corps ของนักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯพณฯ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล (บุตรของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) ซึ่งเมื่อครั้งท่านยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ได้เคยเป็นผู้ตรวจการศึกษาและคอยควบคุมดูแลโรงเรียนราชวิทยาลัย และเป็นผู้กราบบังคมทูลรายงานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้น ได้ตระหนักถึงปณิธานอันแรงกล้าของชาวราชวิทย์ที่จักจัดตั้งโรงเรียนที่ตนเองรักและเทิดทูนกลับมาให้ได้ ม.ล.ปิ่น ท่านเลือกที่จะให้สมาคมราชวิทยาลัยเข้ามาใช้พื้นแผ่นดินแห่งนี้เพื่อเป็นโรงเรียนราชวิทยาลัย

ในที่สุดความปรารถนาอันแรงกล้าของบรรดาครู และนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย ก็บรรลุจุดหมายปลายทาง โดยได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงศึกษาธิการ (ม.ล.ปิ่น มาลากุล) และประธานกรรมการ ราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้ร่วมกันวางโครงการจัดตั้ง และดำเนินกิจการ โรงเรียนราชวิทยาลัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายกสมาคมราชวิทยาลัย นักเรียนเก่าราชวิทยาลัยสมัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยาและสายสวลี นำผู้แทนของสมาคมอันประกอบด้วย, พระยามานวราชเสวี (ปลอดวิเชียร ณ สงขลา) องคมนตรี นักเรียนเก่าราชวิทยาลัยสมัยสายสวลี และนายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา) นักเรียนเก่าราชวิทยาลัยสมัยบางขวาง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2505 เวลา 11.00 น. เพื่อกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอรับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เกี่ยวกับการจัดตั้ง โรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระมหากรุณารับโรงเรียนไว้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ประกอบกับในนามโรงเรียน นับแต่นั้นมาโรงเรียนราชวิทยาลัยสามพรานจึงได้ใช้นามอันเป็นมหามงคลยิ่งว่า โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย นับเป็นศุภนิมิตมิ่งมงคลอันมหัศจรรย์ โดยที่ได้ถือกำเนิด ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ แห่งสามมหาราชของชาติไทย คือ พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช พระผู้พระราชทานกำเนิด สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระผู้ทรงเสริมสร้างและพัฒนา และสมเด็จพระภัทรมหาราช พระพระราชทานกำเนิดใหม่ นับจากนั้นอีก 2 ปี สมาคมราชวิทยาลัยก็ได้ดำเนินขั้นตอนการตั้งโรงเรียนไปตามลำดับ

  • 16 มีนาคม 2507 ถึง 23 เมษายน 2507 โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ เปิดรับสมัครนักเรียนเป็นครั้งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ มีนักเรียนสมัครเข้าเรียน 79 คน ครั้งที่ 2 รับสมัครเพิ่มเติมจนถึงวันเปิดเรียนอีก 38 คน รวมนักเรียนทั้งหมด 117 คน
  • 18 มีนาคม 2507 ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีหนังสือถึงนายสนั่น สุมิตร อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา (บุตรของนาย เออร์เนสต์ สเปนซ์ สมิธ หนึ่งในนักฟุตบอลทีมศึกษาธิการที่ลงเล่นนัดเดียวกันในปี 2443 เป็นชาวยอร์กเชียร์ (Yorkshire) ประเทศอังกฤษ อดีตนักฟุตบอลทีม Aston villa XI จบการศึกษาจากวิทยาลัยเบอร์โรโรด เข้ามารับราชการกรมศึกษาธิการในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานนามสกุล "สุมิตร" และตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมศึกษาธิการ ถึงแก่กรรมวันที่ 21กรกฎาคม 2463) กำหนดให้ใช้สีประจำวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์ เป็นสีประจำบ้านของนักเรียนทั้ง 4 บ้าน
  • 18 พฤษภาคม 2507 โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ เปิดทำการสอนเป็นวันแรก
  • 1 มิถุนายน 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • 21 กุมภาพันธ์ 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนมัธยมศึกษา ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเข้าประจำกองลูกเสือสามัญ
  • 18 สิงหาคม 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานถ้วยรางวัลระเบียบแถวระหว่างบ้าน
  • 1 ธันวาคม 2517 กระทรวงศึกษาธิการรับมอบ โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ
  • 13 มกราคม 2518 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายเกรียง กีรติกร ) ได้มารับมอบโรงเรียน จาก ฯพณฯ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ประธานองคมนตรีและประธานราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา นับแต่นั้น โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้แปรสภาพจากโรงเรียนเอกชนมาเป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เช่นเดียวกับเมื่อแรกสถาปนา

อ้างอิง[แก้]

  • http://www.kcthai.com
  • วิญญูชนก แก้วนอก, ราชวิทย์16 นายทะเบียนสมาคมราชวิทยาลัย ผู้จัดทำหอประวัติโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ
  • แจ้งความกระทรวงธรรมการเปิดโรงเรียนราชวิทยาลัย,ราชกิจจานุเบกษา,เล่ม๒๑ หน้า๓๘,วันที่ ๒๔ เมษายน ร.ศ.๑๒๓