ข้ามไปเนื้อหา

ยุคโคฟุง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สมัยโคฟุน)

ยุคโคฟุง (ญี่ปุ่น: 古墳時代โรมาจิKofun-jidai) อยู่ในช่วง ค.ศ. 250 - ค.ศ. 538 เมื่อประมาณกลางศตวรรษที่ 4 ชนเผ่าอิสระกลุ่มต่าง ๆ ได้ถูกรวบรวมโดยชนเผ่ายามาโตะ (ญี่ปุ่น: 大和民族โรมาจิYamato-Minzoku) ขณะเดียวกันสุสานที่มีลักษณะพิเศษเป็นรูปกุญแจก็ถูกสร้างขึ้นทั่วไป ความรู้ และวิทยาการต่าง ๆ จากจีนได้หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากในสมัยนี้ ในศตวรรษที่ 4 ชนเผ่ายามาโตะได้ขึ้นไปคาบสมุทรเกาหลีและรับเอาวัฒนธรรมการผลิตเครื่องใช้ของภาคพื้นทวีปมา ต่อมาในสมัยศตวรรษที่ 5 ชาวเกาหลีได้นำวิทยาการต่าง ๆ เข้ามา เช่น การผลิตเครื่องโลหะ เครื่องปั้นดินเผา การทอผ้า การถลุงเหล็ก และวิศวกรรมโยธา รวมทั้งมีการเริ่มใช้อักษรคันจิซึ่งเป็นตัวอักษรของจีนด้วย และเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 6 ลัทธิขงจื๊อกับศาสนาพุทธก็ได้แพร่หลายเข้ามาในญี่ปุ่นเช่นกัน

ในศตวรรษที่ 7 เจ้าชายโชโตกุ (ญี่ปุ่น: 聖徳太子โรมาจิShōtoku-taishi) จัดวางระบบการปกครองโดยรวมอำนาจไว้ที่จักรพรรดิตามแบบราชวงศ์สุยกับราชวงศ์ถังของจีนได้สำเร็จเมื่อครั้งปฏิรูปการปกครองไทกะ (ญี่ปุ่น: 大化の改新โรมาจิTaika-no-kaishin) และมีการส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีจนถึงปลายศตวรรษที่ 9 ถึงสิบกว่าครั้ง

เหตุการณ์ที่สำคัญ

[แก้]
  • ราว ค.ศ. 300 เริ่มมีการสร้างสุสานโบราณขนาดใหญ่ เป็นเนินพระศพของจักรพรรดินินโตกุ มีลักษณะเป็นรูปกุญแจ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหลุมฝังพระศพของจักรพรรดิจีน แสดงให้เห็นว่า สังคมญี่ปุ่นได้มาถึงยุคที่มีความแตกต่างกันของชนชั้นภายในแผ่นดินญี่ปุ่นยังแบ่งออกเป็นรัฐหรือแคว้นต่าง ๆ
  • แต่ละแคว้นอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มชนตระกูลต่าง ๆ และตระกูลที่มีอำนาจทางทหารและการเมืองมากที่สุดคือ ตระกูลยามาโตะ ซึ่งมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เขตคันไซ
  • ราว ค.ศ. 360 แคว้นต่าง ๆ ค่อย ๆ รวมตัวกันอยู่ใต้อำนาจของราชสำนักยามาโตะ ซึ่งตระกูลยามาโตะได้อ้างว่าตนสืบเชื้อสายมาจากเทพีพระอาทิตย์ และได้รับมอบหมายจากพระนางให้เป็นผู้ปกครองญี่ปุ่น แต่ยังไม่มีการสถาปนาตระกูลยามาโตะขึ้นเป็นจักรพรรดิญี่ปุ่น (ตระกูลยามาโตะ จึงเป็นเหมือนรัฐบาลปกครองประเทศ)
  • ช่วงศตวรรษที่ 4 ญี่ปุ่นได้ช่วยเหลืออาณาจักรแพ็กเจของเกาหลีรบกับอีก 2 อาณาจักรในเกาหลีคืออาณาจักรโคกูรยอและอาณาจักรชิลลา ในเวลานั้นผู้คนจากอาณาจักรแพ็กเจก็ได้นำวัฒนธรรมจากภาคพื้นทวีปเข้าเผยแพร่สู่ญี่ปุ่น
  • ช่วงศตวรรษที่ 5 วิทยาการต่าง ๆ จากจีนเข้ามาสู่ญี่ปุ่น เช่น การผลิตเครื่องโลหะ เครื่องปั้นดินเผา การทอผ้า การถลุงเหล็ก วิศวกรรมโยธา การฟอกหนัง การต่อเรือ และเริ่มใช้อักษรคันจิ ซึ่งเป็นอักษรจีนด้วย และโดยผ่านทางสื่อตัวอักษรนี้เอง ชาวญี่ปุ่นจึงได้เรียนความรู้เบื้องต้นทางการแพทย์ การใช้ปฏิทินและดาราศาสตร์
  • ค.ศ. 507 จักรพรรดิเคไต ซึ่งเป็นทายาทตระกูลยามาโตะ ขึ้นครองราชย์
  • ค.ศ. 538 (หรือบางทฤษฎีบอกว่าเป็น ค.ศ. 552) ศาสนาพุทธแพร่เข้าสู่ญี่ปุ่น เมื่อกษัตริย์แห่งอาณาจักรแพ็กเจ (อาณาจักรทางตะวันตกของเกาหลี) ส่งทูตพร้อมกับพระคัมภีร์และพระพุทธรูปมามอบให้ โดยหวังที่จะขอความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นต่อต้านการรุกรานของอาณาจักรชิลลา (อาณาจักรทางตะวันออกของเกาหลี) ปรากฏว่าก่อน ค.ศ. 552 ญี่ปุ่นก็ได้รู้จักศาสนาพุทธมาบ้างแล้ว
  • ค.ศ. 539 จักรพรรดิคิมเม ขึ้นครองราชย์ มีตระกูลโซงะ ซึ่งเป็นตระกูลที่สนับสนุนศาสนาพุทธ มีอำนาจอิทธิพลสูงในราชสำนัก โดยได้มีโอกาสที่จะให้สตรีของครอบครัว สมรสกับเจ้านายในราชตระกูล ซึ่งทำให้ฐานะของครอบครัวสูงขึ้นเสมอระดับเดียวกับราชตระกูล
  • ค.ศ. 587 ตระกูลโซงะได้สนับสนุนให้หลานชายของตนขึ้นเป็นจักรพรรดิซูชุง ซึ่งเมื่อพระองค์ไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งอยู่ใต้อำนาจพวกโซงะ ก็ถูกปลงพระชนม์ และพวกโซงะก็หันไปสนับสนุนหลานสาว คือ พระนางซูอิโกะ ขึ้นนั่งบัลลังก์เป็นจักรพรรดินี เป็นจักรพรรดินีองค์แรกของญี่ปุ่น แต่ตระกูลโซงะก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือราชสำนักโดยสิ้นเชิง เพราะยังมีเจ้าชายแห่งราชตระกูลอีกมากที่มีอิทธิพลทางการเมือง โดยเจ้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในกลุ่มราชตระกูล คือ เจ้าชายโชโตกุ
  • ค.ศ. 593 เจ้าชายโชโตกุ สำเร็จราชกาลแทนจักรพรรดินีซูอิโกะ พระองค์เป็นผู้นำที่สำคัญในการปฏิรูปส่วนกลาง นอกจากนี้ยังเชื่อว่า พระองค์เป็นผู้สร้างวัดโฮรีวบริเวณขอบนอกของเมืองนาระในปัจจุบันด้วย ซึ่งจัดว่าเป็นอาคารไม้เก่าแก่ที่สุดของโลกที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
  • ค.ศ. 603 เจ้าชายโชโตกุ กำหนดให้มีระบบขุนนางราชการ 12 ตำแหน่ง
  • ค.ศ. 604 เจ้าชายโชโตกุ ตรารัฐธรรมนูญ 17 มาตรา กำหนดให้เมืองยามาโตะ (เมืองนาระ) เป็นศูนย์กลางการปกครอง และกำหนดให้จักรพรรดิมีอำนาจสูงสุด โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้อยู่ในรูปกฎหมายหรือข้อบังคับการบริหารที่แน่นอนเลย แต่เป็นเพียงการรวบรวมธรรมะในพุทธศาสนาและคติพจน์ต่าง ๆ ตามลัทธิขงจื้อในสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีน ซึ่งให้หลักเกณฑ์ที่จำเป็นสำหรับการเป็นข้าราชการที่มีคุณธรรม
  • ค.ศ. 645 เกิดการปฏิรูปไทกะ มีการปฏิรูปที่ดิน ทำลายระบบนายทุนที่ดิน ญี่ปุ่นได้เรียกชื่อประเทศของตนเป็นทางการว่า “นิฮง” ส่วนชื่อ “เจแปน” ที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นการเลียนเสียงภาษาจีนที่ใช้เรียกญี่ปุ่น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังแบ่งหน่วยการปกครองใหม่ตามอิทธิพลจากจีน รวมอำนาจสู่ศูนย์กลางไว้ที่จักรพรรดิ
  • ค.ศ. 672 ศึกจินชิน เป็นศึกชิงบัลลังก์จักรพรรดิ
  • ค.ศ. 701 เกิดประมวลกฎหมายไทโฮ ตรากฎหมายเพื่อใช้ร่วมกันทั้งประเทศ

อ้างอิง

[แก้]
  • Bogucki, Peter (1999). The Origins of Human Society. Blackwell Publishing. ISBN 1-5771-8112-3.
  • Farris, William Wayne (1998). Sacred texts and buried treasures : issues in the historical archaeology of ancient Japan. University of Hawai'i Press. ISBN 0-8248-1966-7.
  • Imamura, Keiji (1996). Prehistoric Japan: New Perspectives on Insular East Asia. University of Hawaii Press. ISBN 0-8248-1852-0.