ทศวรรษที่สาบสูญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่น

ทศวรรษที่สาบสูญ (ญี่ปุ่น: 失われた10年โรมาจิUshinawareta Jūnen) เป็นความซบเซาทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นจากการล้มลงของภาวะฟองสบู่ขึ้นในตลาดสินทรัพย์ในช่วงท้าย ค.ศ. 1991 นักวิจารณ์ใช้ถ้อยคำว่า "ทศวรรษที่สาบสูญ" เมื่อกล่าวถึงภาวะทางเศรษฐกิจในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990[1] ขณะที่ "20 ปีที่สาบสูญ" (失われた20年) และ "30 ปีที่สาบสูญ" (失われた30年) จะใช้เมื่อกล่าวถึงภาวะทางเศรษฐกิจในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2000 และ คริสต์ทศวรรษ 2010 ตามลำดับ[2][3][4]

ตั้งแต่ ค.ศ. 1991 ถึง ค.ศ. 2003 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเมื่อวัดด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นั้นเติบโตเพียง 1.14% ทุกปี ขณะที่อัตราการเติบโตจริงเฉลี่ยระหว่าง ค.ศ. 2000 ถึง 2010 อยู่เพียงที่ 1% ซึ่งถือว่าอยู่ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ[5][4] หนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเกิดมาจากวิกฤตการณ์การเงินในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ค.ศ. 2008 ประกอบกับแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ ใน ค.ศ. 2011 และ การระบาดทั่วของโควิด-19 ใน ค.ศ. 2020 ซึ่งทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและก่อความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ตลอดช่วง ค.ศ. 1995 ถึง ค.ศ. 2007 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ของประเทศญี่ปุ่นจาก 5.33 ล้านล้าน ตกลงมาอยู่ที่ 4.36 ล้านล้าน[6] ค่าจ้างแท้จริงตกลงมาที่ประมาณ 5%[7] ขณะที่ประเทศในภาพรวมประสบกับปัญหาระดับราคาหยุดนิ่ง[8] ในปี 2024 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค จากการที่ GDP หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สูญเสียตำแหน่งประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลกให้เยอรมันนี[9]

ในปัจจุบันมีการถกเถียงกันในประเด็นเกี่ยวกับขอบข่ายและเกณฑ์วัดการถดถอยของญี่ปุ่น[10][11] ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากทศวรรษที่สาบสูญถูกยอมรับอย่างดี และผู้กำหนดนโยบายของญี่ปุ่นยังต้องต่อสู้กับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา

สาเหตุ[แก้]

จากปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ได้ยุติลงอย่างกะทันหันในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เนื่องจากปลายทศวรรษ 1980 เศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่เกิดจากนโยบายการเติบโตของสินเชื่อที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นผ่านกลไกนโยบายที่เรียกว่า "Window guidance" [12][13] ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ชื่อพอล ครุกแมนอธิบายว่า "ธนาคารของญี่ปุ่นนั้นปล่อยสินเชื่อมากกว่าธนาคารอื่น ๆ และยังมีการคำนึงถึงเครดิตผู้กู้น้อยกว่าธนาคารอื่น ๆ ด้วย การทำเช่นนั้นทำให้ธนาคารเหล่านี้เป็นตัวการขยายเศรษฐกิจฟองสบู่จนมีสัดส่วนที่แปลกประหลาด" [14] นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ริชาร์ด เวอร์เนอร์ กล่าวว่าแรงกดดันจากภายนอก เช่น ข้อตกลงพลาซา รวมถึงนโยบายของกระทรวงการคลัง (ญี่ปุ่น)ในการลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไม่เพียงพอที่จะอธิบายการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น [12][13]

จากความพยายามที่จะลดการเก็งกำไรและควบคุมอัตราเงินเฟ้อธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นจึงขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อย่างรวดเร็วในปลายปี 1989 [15]นโยบายที่เฉียบขาดนี้ทำให้เกิดฟองสบู่แตกและเกิดสภาวะตลาดหุ้นล้มในญี่ปุ่นดัชนีราคาหุ้นและสินทรัพย์ลดลง ส่งผลให้ธนาคารและบริษัทประกันภัยของญี่ปุ่นเกิดหนี้เสียค้างจำนวนมากส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อธนาคารซบเซา[16] สถาบันการเงินได้รับการช่วยเหลือผ่านการระดมทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นและได้รับเงินกู้ยืมสินเชื่อราคาถูกจากธนาคารกลาง แต่ก็ทำให้เสียความตระหนักจากการบริหารงานที่เสี่ยงต่อการขาดทุนเพราะหากขาดทุนธนาคารเหล่านั้นก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลและในที่สุดก็กลายเป็นธนาคารซอมบี้ (ธนาคารซอมบี้ หมายถึง บริษัทที่มีหนี้สินจำนวนมาก และไม่มีความสามารถที่จะสร้างกำไรเพื่อนำมาชำระหนี้ได้ แต่ยังสามารถทำธุรกิจต่อได้ด้วยความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากรัฐบาลหรือธนาคารกลาง) [17] บทความจากบลูมเบิร์ก นิวส์ที่เขียนโดยยัลมาน โอนารานซึ่งเป็นนักข่าวการเงินระบุว่าธนาคารซอมบี้นั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของความซบเซาทางเศรษฐกิจที่ยาวนานของญี่ปุ่น[18] ไมเคิล ชูแมนจากนิตยสารไทม์เขียนว่า "ธนาคารเหล่านี้ทำการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่บริษัทซอมบี้โดยที่ไม่ได้สร้างผลตอบแทนอะไรเลย โดยให้เหตุผลว่าบริษัทใหญ่เกินกว่าจะล้มละลาย" บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่มีหนี้สินจำนวนหมาศาลไม่สามารถอยู่รอดได้หากไม่มีเงินสนับสนุน ไมเคิล ชูแมนเชื่อว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาจนกว่ารัฐบาลจะหยุดให้เงินช่วยเหลือแก่บริษัทซอมบี้เหล่านี้[19]

ในที่สุดบริษัทที่ล้มเหลวหลายแห่งก็อยู่ไม่ยั่งยืนทำให้เกิดการควบรวมกิจการตามมา ส่งผลให้เกิดธนาคารระดับชาติสี่แห่งในญี่ปุ่น บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งมีภาระหนี้สินจำนวนมากการขอสินเชื่อจากธนาคารปกติจึงทำได้ยากลำบากผู้ต้องการกู้ยืมจึงใช้บริการซาราคิน (บริษัทเงินทุนให้กู้ไมโครไฟแนนซ) สำหรับอัตราดอกเบี้ยในญี่ปุ่นก็อยู่ในระดับต่ำในปี 2012 อัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 0.1%[20] อัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มต่ำกว่า 1% ตั้งแต่ปี 1994[21]

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ[แก้]

แม้ภาคเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงทศวรรษปี 2000 แต่ภาคการบริโภคเพื่อแสดงสถานะ (การบริโภคสินค้าที่มีความหรูหรา)[22] ก็ยังไม่กลับไปเท่าช่วงทศวรรษปี 1980 บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า โซนี่ พานาโซนิค ชาร์ป และโตชิบาที่เคยครองอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1990 ในภาคการผลิตของตน ต้องต่อสู้กับการแข่งขันจากบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะกับเกาหลีใต้และจีนที่ขึ้นมาแข่งขันได้อย่างดีในทศวรรษที่ 2000 จากสถิติในปี 1989 บริษัทที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ 50 อันดับแรกของโลกมีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นถึง 32 แห่ง แต่ใน ค.ศ. 2018 เหลือเพียงบริษัทโตโยต้าบริษัทเดียวที่ยังคงอยู่ใน 50 อันดับแรก[23]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Hayashi Prescott" (PDF).
  2. Leika Kihara (August 17, 2012). "Japan eyes end to decades long deflation". Reuters. สืบค้นเมื่อ September 7, 2012.
  3. "円は一段と上昇か、日本は次の失われた10年に直面-ムーディーズ". Bloomberg.com (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2020-10-18.
  4. 4.0 4.1 "「失われた30年」に向かう日本". Newsweek日本版 (ภาษาญี่ปุ่น). 2010-12-23. สืบค้นเมื่อ 2020-10-18.
  5. Nielsen, Barry. "The Lost Decade: Lessons From Japan's Real Estate Crisis". Investopedia (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-05-26.
  6. "Japanese GDP, nominal".
  7. "Waging a New War". March 9, 2013.
  8. "Inflation Japan - CPI inflation".
  9. "ญี่ปุ่นสูญตำแหน่งอันดับ Top 3 เศรษฐกิจโลก หลัง GDP หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส เข้าสู่ภาวะถดถอย". THE STANDARD. 16 February 2024.
  10. Fingleton, Eamonn (January 6, 2012). "The Myth of Japan's Failure". The New York Times.
  11. Fingleton, Eamonn (January 12, 2012). "Video interview on BBC News with Eamonn Fingleton". BBC News, 5 min. 26 sec.
  12. 12.0 12.1 Werner, Richard (2005). New Paradigm in Macroeconomics. doi:10.1057/9780230506077. ISBN 978-1-4039-2074-4.
  13. 13.0 13.1 Werner, Richard A. (2002). "Monetary Policy Implementation in Japan: What They Say versus What They Do". Asian Economic Journal. 16 (2): 111–151. doi:10.1111/1467-8381.00145.
  14. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Krugman 2009
  15. "Japan Raised Interest Rates". Reuters via The New York Times. December 25, 1989.
  16. Princes of the Yen. Japan's Central Bankers and the Transformation of the Economy. quantumpublishers.com. 2003.
  17. "รู้จัก "Zombie Company" บริษัทผีดิบ ในโลกของธุรกิจ". www.longtunman.com. 27 October 2022. สืบค้นเมื่อ 2 March 2024.
  18. Onaran, Yalman (2011-11-25). "Kill the zombie banks!". Salon Media Group. สืบค้นเมื่อ 2013-01-16.
  19. Schuman, Michael (2008-12-19). "Why Detroit Is Not Too Big to Fail". Time Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-23. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  20. Ohno, Kenichi. "Economic Development of Japan". National Graduate Institute for Policy Studies. สืบค้นเมื่อ 3 April 2011.
  21. "Bank of Japan Interest Rates".
  22. "เมื่อมือถือเป็นมากกว่ามือถือ: รู้จักกับตลาดมือถือหรู | Blognone". www.blognone.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 4 March 2024.
  23. "昭和という「レガシー」を引きずった平成30年間の経済停滞を振り返る". ダイヤモンド・オンライン (ภาษาญี่ปุ่น). 20 August 2018. สืบค้นเมื่อ 2020-10-18.