รอยเขียวช้ำหลังตาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รอยเขียวช้ำหลังตาย[1] หรือ รอยจ้ำโลหิตตกสู่ที่ต่ำ (อังกฤษ: postmortem lividity, livor mortis, hypostasis หรือ suggillation) เป็นรอยซึ่งเกิด ณ ร่างกายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงหลังการตาย โดยเป็นการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วง เมื่อหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิต เม็ดเลือดแดงภายในร่างกายจะค่อย ๆ ตกลงไปทางด้านล่างทางเส้นเลือด และเกิดการสะสมที่เส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังบริเวณนั้น ทำให้ปรากฏเป็นสีแดงคล้ำที่ผิวหนังทางด้านล่าง ซึ่งมักจะเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงถึงสองชั่วโมงหลังจากตาย

ในรายของผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคหัวใจวายระยะสุดท้าย และมีอาการหัวใจหยุดเต้นเป็นครั้งคราวนั้น อาจจะพบว่าเริ่มมีรอยเขียวช้ำหลังตายตั้งแต่ก่อนตายก็ได้ ส่วนของร่างกายที่ด้านล่างถ้ากดอยู่บนส่วนที่แข็ง จะมีสีซีดเนื่องจากเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังส่วนนั้นถูกกดทับ ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถตกไปสะสมอยู่ได้ และในทำนองเดียวกันแนวรัดของเสื้อผ้าหรือแม้กระทั่งรอยย่นและรอยยับของผ้าปูที่นอน ก็อาจเกิดการกดทับผิวหนังทำให้เกิดแนวสีซีดตามรอยย่น ซึ่งในกรณีนี้อาจจะช่วยชี้ชัดได้ว่าผู้ตายนั้นเสียชีวิตบนเตียงมานานแล้ว

ระยะเวลาการเกิด[แก้]

รอยเขียวช้ำหลังตายที่ปรากฏบนศพ

ระยะเวลาการเกิดรอยเขียวช้ำหลังตาย ในรายที่ผู้ตายตายจากการสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (อังกฤษ: Carbon Monoxide) เข้าไป สีของเม็ดเลือดแดงที่ตกตามแรงโน้มถ่วงอาจจะมีสีชมพูสดแทนที่จะเป็นสีแดงคล้ำ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน (อังกฤษ: Carboxy Haemoglobin) จำนวนมาก สีชมพูลักษณะนี้อาจพบในศพที่ตายจากสารพิษจำพวกไซยาไนด์ หรือการที่ศพอยู่ในอุณหภูมิที่เย็นจัดเช่นในห้องเย็นหรือตู้แช่ ซึ่งเกิดจากการมีออกซีฮีโมโกลบิน (อังกฤษ: Oxy Haemoglobin) จำนวนมากด้วยเช่นกัน

ระยะเวลาช่วงแรก[แก้]

การตกของเม็ดเลือดตามแรงโน้มถ่วงหลังตาย จะเกิดเต็มที่เมื่อระยะเวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง ภายหลังจากการตาย และจะเริ่มอยู่ตัว (อังกฤษ: Fixed) คือเมื่อมีการเคลื่อนย้ายศพหรือกลับท่าของศพจากเดิม เม็ดเลือดแดงที่ปรากฏตามผิวหนังก็จะไม่เคลื่อนหรือไหลไปอยู่ในที่ใหม่เช่น ในกรณีที่แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ ตรวจสภาพศพนอนตายอยู่ในห้องนอนในท่านอนหงาย รอยเขียวช้ำหลังตายจะตกลงไปอยู่ที่บริเวณทางด้านแผ่นหลังและท้องแขน

ถ้ารอยเขียวช้ำหลังตายยังไม่อยู่ตัว คือเกิดมาแล้วประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วศพถูกกลับให้ไปอยู่ในท่านอนคว่ำ รอยเขียวช้ำหลังตาย จะไหลย้อนกลับไปอยู่ในทิศทางด้านหน้าเพราะด้านหน้ากลายเป็นด้านล่าง ซึ่งถ้ารอยเขียวช้ำหลังตายอยู่ตัวแล้ว จะไม่สามารถไหลกลับไปได้อีก เนื่องจากการอยู่ตัวของเม็ดเลือดแดงเกิดเพราะเม็ดเลือดแดงแตกสลายตัว สีของฮีโมโกลบิน (อังกฤษ: Hemoglobin) จะซึมออกไปจากเส้นเลือดแล้ว จึงไม่สามารถไหลได้อีกต่อไป[2]

ระยะเวลาช่วงสุดท้าย[แก้]

ในรายที่มีการเสียเลือดออกไปนอกร่างกายเป็นจำนวนมากจากบาดแผล รอยเขียวช้ำหลังตายอาจพบได้น้อยมากหรือแทบไม่เหลือร่องรอยให้ค้นพบ การอยู่ตัวของรอยเขียวช้ำหลังตายอาจจะเกิดเร็วกว่าระยะเวลาปกติคือประมาณ 8-12 ชั่วโมง และในบางราย รอยเขียวช้ำหลังตายอาจจะเกิดได้ช้ามาก ประมาณ 24-36 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการเน่าสลายตัวของศพด้วย การประเมินเวลาตายโดยใช้รอยเขียวช้ำหลังตาย จึงเป็นเพียงการประมาณเวลาของการตายเท่านั้น

การตรวจสภาพศพ[แก้]

การตรวจรอยเขียวช้ำหลังตาย แพทย์นิติเวชสามารถตรวจได้โดยการใช้นิ้วมือกดลงไปที่ตำแหน่งของรอยเขียวช้ำหลังตาย ถ้าผิวหนังบริเวณที่กดนิ้วลงไปไม่มีการอยู่ตัวของรอยเขียวช้ำหลังตาย ผิวหนังบริเวณส่วนนั้นก็จะซีดขาวไปชั่วครู่ และเมื่อปล่อยมือจากศพ สีของรอยเขียวช้ำหลังตายก็จะปรากฏกลับมา ถ้ารอยเขียวช้ำหลังตายอยู่ตัวแล้ว ผิวหนังบริเวณส่วนนั้นจะไม่ปรากฏการซีด แต่ถ้าออกแรงกดมาก ๆ ก็อาจจะมีสีจางลงเล็กน้อยบริเวณขอบนิ้วที่กดลงไป[3]

การตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงหลังตายย่อมเกิดในอวัยวะภายในด้วยเช่นในปอด ตับ ไต ฯลฯ สีของอวัยวะที่ปรากฏรอยเขียวช้ำหลังตาย จะแลดูคล้ำและคั่งเลือดมากกว่าทางด้านบน โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนในปอด ปอดด้านหลังมักจะคั่งไปด้วยเลือดมากกว่าปอดทางด้านหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นพยาธิสภาพของปอด

ผลของการตกของเม็ดเลือดแดง[แก้]

ผลของการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วง อาจจะดูคล้ายพยาธิสภาพได้เช่น สีของผิวหนังที่คล้ำลงอาจจะมองคล้ายแผลฟกช้ำ แต่สามารถแยกกันได้โดยการใช้มีดกรีดไปบนผิวหนังที่มีความสงสัย ถ้าผิวหนังบริเวณที่กรีดมีดลงไปเป็นฟกช้ำ จะเห็นมีเลือดแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อชัดเจนกว่าในการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วง บางครั้งเลือดที่ไปคั่งอยู่บริเวณนั้นมาก ๆ อาจทำให้เกิดแรงดัน และอาจจะทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณนั้นแตก ทำให้เกิดเป็นจุดเลือดออก ซึ่งมักจะพบเมื่อเกิดการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงนาน ๆ เช่นเกิดรอยเขียวช้ำหลังตายมาเป็นระยะเวลาประมาณ 18-24 ชั่วโมง และเริ่มที่จะสลายตัวจากการเน่า จุดเลือดออกเหล่านี้เรียกว่า จุดทาร์ดู (อังกฤษ: Tardieu Spot) และถ้าพบศพหลังการเกิดทาร์ดูนาน ๆ จะทำให้การแยกยากว่าเป็นจุดเลือดออกที่เกิดก่อนหรือหลังตาย[4]

จุดทาร์ดู[แก้]

แต่ข้อสังเกตที่แน่นอนคือทาร์ดูจะเกิดเฉพาะบริเวณที่มีการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงเท่านั้น เช่นในกรณีของการแขวนคอตาย การตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงจะเกิดขึ้นที่บริเวณขาทั้งสองข้าง จะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนและอาจเกิดทาร์ดูที่ขาซึ่งพบได้บ่อยกว่ากรณีอื่น ๆ ถ้าศพที่แขวนคอตาย ไม่พบรอยเขียวช้ำหลังตายที่บริเวณขาทั้งสองข้าง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเกิดคดีฆาตกรรมขึ้น หรือในกรณีที่พบศพนอนคว่ำหน้า ทาร์ดูจะเกิดเฉพาะบริเวณหน้าท้องด้านหน้าของศพ มองดูคล้ายกับลายหินอ่อน ถ้ารอยเขียวช้ำหลังตายเกิดเต็มที่ ลายหินอ่อนที่ปรากฏบริเวณหน้าท้องจะคงอยู่และไม่มีการเคลื่อนที่เมื่อมีการเปลี่ยนท่าทางของศพในการอำพรางคดีฆาตกรรม

ในรายที่ศพเริ่มเน่า การตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงของหนังศีรษะบริเวณท้ายทอย อาจจะมองคล้ายแผลฟกช้ำได้ ซึ่งบางครั้งต้องอาศัยหลักเกณฑ์อื่นเข้ามาช่วยในการวินิฉัยเช่น บริเวณนั้นไม่มีผิวถลอกหรือไม่มีฉีกขาดร่วมด้วย แต่แพทย์ผู้ทำการชันสูตรต้องพึงนึกไว้เสมอด้วยว่า บางครั้งหนังศีรษะเมื่อถูกกระแทกจนเกิดช้ำ ก็อาจจะไม่มีถลอกหรือฉีกขาดบ่อย ๆ และในทำนองเดียวกัน สมองบริเวณส่วนท้ายทอยก็อาจเห็นคล้ายเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นในด้วย หรือถ้าศพเกิดจมน้ำตายและบังเอิญติดอยู่ในท่าหัวอยู่ต่ำแล้วศพเริ่มเน่า หนังศีรษะอาจจะมีลักษณะคล้ายถูกของแข็งรอบศีรษะได้

การเน่าสลายตัว[แก้]

ดังนั้นเมื่อศพเริ่มเน่า การตรวจบาดแผลต้องคำนึงถึงสภาพของการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงไว้เสมอ และเมื่อศพเริ่มเน่าจนมีก๊าซจากลำไส้ไหลไปตามเส้นเลือดแล้ว หรือเมื่อผู้ตายตายเกินระยะเวลาประมาณ 36-48 ชั่วโมง การสังเกตท่าทางของศพโดยอาศัยการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงจะเชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป เพราะสีของผิวหนังในช่วงเวลานี้จะเปลี่ยนแปลงไปมาก การแห้งของตาขาวทำให้เกิดสีคล้ำขึ้นในตาขาว เกิดจากการแห้ง (อังกฤษ: Tache Noire) เพราะตาปิดไม่สนิทหลังตายไม่ใช่พยาธิสภาพ รอยเขียวช้ำหลังตายจะเริ่มเกิดเมื่อระยะเวลาประมาณ 0.5 – 2 ชั่วโมง และเกิดเต็มที่ในระยะเวลาประมาณ 8 – 12 ชั่วโมง รวมทั้งอาจมีสีอื่นแทรกด้วยในระยะเวลาประมาณ 36 ชั่วโมง

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ปรับปรุงเมื่อ 6 ส.ค. 2544
  2. การตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วง, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 26
  3. การตรวจสภาพศพ, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 27
  4. Livor Mortis การเปลี่ยนแปลงหลังการตาย, นิติเวชศาสตร์, พันตำรวจเอกนายแพทย์ พรชัย สุธีรคุณ, สำนักงานแพทย์ใหญ่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ