นิติเวชกีฏวิทยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นิติเวชกีฏวิทยา (อังกฤษ: Forensic Entomology) เป็นสาขาหนึ่งของการทำงานทางด้านกีฏวิทยา ที่เพิ่งจะได้รับความสนใจจากนักกีฏวิทยาและนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านนิติอาชญากรรม หรือผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านพิสูจน์ศพที่พบ หรือหลังจากถึงแก่ความตายในระยะเวลาหนึ่ง สาขานิติเวชกีฏวิทยาจึงได้เข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับคดีความทางกฎหมายด้วยเช่นกัน งานศึกษาทางนิติเวชกีฏวิทยาเป็นการศึกษาถึงชนิดของแมลงที่ตรวจพบในซากศพ ซึ่งชนิดของแมลงที่พบจากซากศพนั้นจะเป็นข้อบ่งชี้กับระยะเวลาที่เกิดการตายของศพนั้น ๆ[1]

นิติเวชกีฏวิทยาในไทย[แก้]

สำหรับงานการศึกษาทางด้านนิติเวชกีฏวิทยาในประเทศไทยนี้ ยังไม่มีการศึกษาวิจัยมากนัก อย่างไรก็ตามในขณะนี้หน่วยงานบางแห่งเช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เข้ามามีบทบาท และมีนักกีฏวิทยารุ่นใหม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จึงนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าในอนาคตสาขานิติเวชกีฏวิทยาในประเทศไทย จะได้รับการสนใจและเข้าไปมีบทบาทในงานด้านนิติอาชญากรรมมากขึ้น

สำหรับรายงานการใช้แมลงในการพิสูจน์ศพในประเทศไทยรายแรกได้ใช้วิเคราะห์ศพที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้มีการตีพิมพ์ ใน The First Documented Forensic Entomology Case in Thailand และมีการทดลองนิติเวชกีฏวิทยาระดับการวิจัย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นครั้งแรก เมื่อ กรกฎาคม พ.ศ. 2546 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรวรรณ อมรศักดิ์ อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ ยุกตนันท์ จำปาเทศ [2] [3] นิสิตภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การใช้แมลงในการสืบสวน[แก้]

การใช้แมลงในการสืบสวนคดีอาชญากรรม อาจเรียกอย่างหนึ่งว่า "อาชญานิติเวชกีฏวิทยา (Medicrocriminal Forensic Entomology) " การสืบหาระยะเวลาหลังการตาย (Post Mortem Interval หรือ PMI) หรือข้อมูลต่าง ๆ นั้น ต้องเก็บหลักฐานจากสถานที่เกิดเหตุซึ่งอาจเป็นไข่ของแมลง ตัวอ่อน หนอน ดักแด้ หรือตัวเต็มวัยของแมลงก็ได้ จากนั้นนำมาแบ่งเป็น 3 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 นำมาใช้ประมาณ PMI โดยดูจากอายุของแมลงที่พบบริเวณศพที่มีอายุมากที่สุด
  • ส่วนที่ 2 นำไปเลี้ยงจนเป็นตัวเต็มวัยเพื่อให้แน่ใจว่าจำแนกชนิดถูกต้อง
  • ส่วนที่ 3 นำไปตรวจวิเคราะห์ DNA เพื่อให้มั่นใจยิ่งขึ้น

การสำรวจ[แก้]

การสำรวจศพ[4] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณรอยเปิดของบาดแผลบนผิวหนัง หรือ ทางเปิดของอวัยวะ เช่น ตา ปาก จมูก ซึ่งเป็นจุดแรก ๆ ที่แมลงจะเข้าไป ทั้งนี้การเก็บตัวอย่างแมลงจากที่เกิดเหตุนั้นจำเป็นต้องอาศัยความชำนาญ รอบคอบและช่างสังเกต ไม่มองข้ามจุดเล็ก ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อรูปคดีมากที่สุด หากพบตัวอ่อนแมลง (ตัวหนอน) ที่อยู่บนซากศพ ให้เลือกดูตัวหนอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แล้วคาดคะเนว่าน่าจะเป็นตัวหนอนที่มีอายุมากที่สุด แล้วนำไปเปรียบเทียบกับวงจรชีวิตของแมลงวันว่าขนาดของตัวอ่อนเท่านี้จะมีอายุมาแล้วกี่วัน เมื่อทราบอายุของตัวหนอนแล้วจะทำให้คาดคะเนได้ว่าศพที่เจอนั้นเสียชีวิตมาแล้วกี่วัน ซึ่งเป็นการหาระยะเวลาหลังการตายของสิ่งมีชีวิต (PMI) ถึงอย่างไรก็ตาม การคาดคะเนระยะเวลาหลังการตายด้วยอายุของแมลงต้องทำควบคู่ไปกับลักษณะของการย่อยซากศพที่เจอด้วย ซึ่งการย่อยสลายของซากศพจะมีอยู่ 5 ระยะด้วยกัน สำหรับระยะเวลาหลังการตายกับความสัมพันธ์ของแมลงในประเทศไทยมีดังนี้[5]

  1. Initial stage เริ่มจาก 0 - 1 วัน ลักษณะของซากศพยังใหม่และสดอยู่ แมลงที่พบได้ในระยะนี้จะเป็นพวกมด และพวกแมลงวันหลังลายและแมลงวันบ้าน
  2. Bloated phast เริ่มจากวันที่ 2 - 6 หลังจากที่เสียชีวิตแล้ว ศพจะมีการบวมจากการผลิตก๊าซของแบคทีเรียและมีกลิ่นเน่าเหม็น แมลงที่พบได้จะเป็นแมลงวันหัวเขียว
  3. Black putrefaction เริ่มจากวันที่ 7-12 หลังจากที่เสียชีวิตแล้ว เป็นระยะที่มีการสลายของเนื้อเยื่อ กลิ่นของศพมีความรุนแรงมากขึ้น เริ่มพบระยะไข่และตัวอ่อนของแมลงวันหัวเขียว
  4. Butyric fermentation เริ่มจากวันที่ 13 - 51 หลังจากที่เสียชีวิตแล้ว ภายนอกของศพเริ่มแห้งแต่บางส่วนภายในศพยังไม่แห้ง ผิวที่อยู่ด้านล่างของศพเริ่มเน่าเละ จากกระบวนการ fermentation สามารถพบแมลงในกลุ่ม Muscidae, Piophilidae, Scarabaeidae, Cleridae, Dermestidae, Histeridae, Silphidae และ Staphylinidae
  5. Dry phast เริ่มจากวันที่ 52 หลังจากที่เสียชีวิตแล้ว เป็นระยะที่ซากศพเกือบแห้งทั้งหมด

อัตราการย่อยสลายช้าลง แมลงที่พบมากได้ในระยะนี้คือ แมลงในกลุ่ม Dermestidae, Forficulidae, Sarcophagidae และ Cleridae ดังนั้นงานนิติเวชกีฏวิทยาเป็นงานที่น่าสนใจที่ควรจะมีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว กล่าวได้ว่าเป็นงานที่ค่อนข้างลำบากและละเอียดอ่อนในการที่จะศึกษาแมลงที่เกี่ยวข้องกับศพมนุษย์โดยตรง เพราะอาจเกิดความขลาดกลัว ขยะแขยง ต่อสิ่งที่พบเห็นและโอกาสในการที่จะได้ศพมนุษย์จริง ๆ มาศึกษาก็คงเป็นไปไม่ได้[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. ยุกตนันท์ จำปาเทศ. เอกสารข้อเสนอการทำปัญหาพิเศษระดับปริญญาตรี เรื่อง"ชนิดของแมลงที่ตรวจพบจากซากลูกสุกร".ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. จังหวัดนครปฐม. 2546
  2. http://www.polyplus.co.th/webboard/post.detail.php?postId=3097[ลิงก์เสีย] VIP หนอนพิสูจน์ศพ
  3. http://www.submit.in.th/สุขภาพการแพทย์/วันนี้ดูรายการ-vip-เขาว่า-หนอนพิสูจน์ศพ-ได้ด้วย/[ลิงก์เสีย] วันนี้ดูรายการ vip เขาว่าหนอนพิสูจน์ศพได้ด้วย]
  4. ยุกตนันท์ จำปาเทศ. ปัญหาพิเศษระดับปริญญาตรี เรื่อง"ชนิดของแมลงที่ตรวจพบจากซากลูกสุกร".ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. จังหวัดนครปฐม. 2547
  5. ยุกตนันท์ จำปาเทศ. ปัญหาพิเศษระดับปริญญาตรี เรื่อง"ชนิดของแมลงที่ตรวจพบจากซากลูกสุกร".ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. จังหวัดนครปฐม. 2547
  6. ยุกตนันท์ จำปาเทศ. ปัญหาพิเศษระดับปริญญาตรี เรื่อง"ชนิดของแมลงที่ตรวจพบจากซากลูกสุกร".ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. จังหวัดนครปฐม. 2547