นิติเวชศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นิติเวชศาสตร์ (อังกฤษ: Forensic Medicine) มาจากคำว่า "Forensic" ซึ่งเป็นภาษาละติน หมายความถึงข้อตกลงที่มีการพิพาทกันทางกฎหมาย และคำว่า "Medicine" หมายถึงวิชาทางด้านการแพทย์ ซึ่งหมายความรวมถึงแพทย์ศาสตร์หรือเวชศาสตร์อีกด้วย นิติเวชศาสตร์เริ่มมีการเรียนการสอนครั้งแรกในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2456 โดยถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการแพทย์ วุฒิประกาศนียบัตรของโรงเรียนแพทย์ สำหรับสอนนักศึกษาแพทย์ในชั้นปีที่ 4 ต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาของคณะแพทย์ศาสตร์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับการเรียนการสอนในชั้นปริญญาตรี

ประวัติ[แก้]

นิติเวชศาสตร์ในประเทศไทย

วิชานิติเวชวิทยา มีสอนครั้งแรก ในหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตรของโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย มีหลักฐานว่า มีการสอนในชั้นปีที่ ๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ เข้าใจว่า พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์ พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๙๖) เป็นอาจารย์ผู้สอนท่านแรก และท่านผู้นี้เป็นผู้บัญญัติศัพท์ "นิติเวชวิทยา" นี้ด้วย ส่วนวิชา "พิษวิทยา" (toxicology) (กล่าวถึงเรื่องการเกิดพิษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิติเวชศาสตร์) นั้นปรากฏว่า มีการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ต่อมา เมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาแพทยศาสตร์ เพื่อให้เข้ามาตรฐานขั้นปริญญา ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ ด้วยความช่วยเหลือ ของมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) วิชาทั้งสองดังกล่าว ไม่ปรากฏอยู่ในหลักสูตรปริญญาเวชบัณฑิต คงมีหลักฐานปรากฏเพียงว่า พระยาดำรงฯ สอนวิชานี้อยู่จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๐

นิติเวชวิทยา แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า forensic medicine (forensic มาจากภาษาละตินว่า forensis แปลว่า ที่ตกลงข้อพิพาททางกฎหมาย ส่วน medicine ในที่นี้หมายถึง วิชาแพทย์ แปลว่า แพทยศาสตร์ หรือเวชศาสตร์) แต่ตามกฎเกณฑ์การแปลนั้น คำว่า "วิทยา" จะแปลมาจากคำในภาษาอังกฤษ ที่ลงท้ายด้วย "logy" เสมอ เช่น ชีววิทยา แปลมาจาก biology สรีรวิทยา มาจาก physiology จิตวิทยา มาจาก psychology ปาราสิตวิทยา มาจาก parasitology และสังคมวิทยา มาจาก sociology เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าใช้ "นิติเวชวิทยา" ย่อมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น และปัจจุบันคำว่า "เวชศาสตร์" แปลมาจากคำว่า "medicine" ซึ่งมีที่ใช้อยู่หลายคำ ได้แก่ เวชศาสตร์การบิน มาจาก avitation medicine เวชศาสตร์อุตสาหกรรม มาจาก industrialmedicine เวชศาสตร์ป้องกันมาจาก preventive medicine กีฬาเวชศาสตร์ มาจาก sports medicine เป็นต้น ดังนั้นการแปล forensic medicine เป็นนิติเวชศาสตร์ จึงนับว่า เป็นศัพท์ที่เข้าชุดกันดี นอกจากนี้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ก็ยอมรับคำว่า "นิติเวชศาสตร์" นี้เข้าไว้ด้วยแล้ว

ยังมีศัพท์ภาษาอังกฤษอีกสองคำที่ใช้แทนคำว่า forensic medicine คือคำว่า medical jurisprudence (jurisprudence แปลว่า กฎหมาย) กับคำว่า legal medicine (legal ก็แปลว่า กฎหมาย) แต่อย่างไรก็ตามคำสุดท้ายดูจะตรงคำแปลที่ใช้ว่า "นิติศาสตร์" มากที่สุด

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน

บุคคลที่เป็นผู้บุกเบิกให้วิชานิติเวชศาสตร์ ได้เป็นผู้ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในประเทศไทย และสมควรที่จะได้รับเกียรติให้เป็น บิดาแห่งวิชานิติเวชศาสตร์ ในประเทศไทย ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์ นิยมแสน (พ.ศ. ๒๔๕๕-๒๕๑๓) อดีตหัวหน้าภาควิชานิติเวชวิทยา (ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นภาควิชานิติเวชศาสตร์) แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล) ท่านผู้นี้สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทย์ศาสตร์ และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ (แพทย์ปริญญารุ่น ๗) และเป็นแพทย์ประจำบ้าน ในแผนกสูติศาสตร์ และนรีเวชวิทยา อยู่หนึ่งปี ก็ออกไปสมัครเข้ารับราชการในกรมตำรวจ (แผนกแพทย์กองกลาง) และได้ลาออกจากกรมตำรวจ เนื่องจาก ได้รับทุนของมูลนิธิอะเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลดท์ (Alexander von Humboldt) ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ และได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Dr. med.) จากมหาวิทยาลัยฮัมเบอร์ก ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ต่อจากนั้นก็ได้ฝึกอบรม และดูงานทางนิติเวชศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบอร์ลิน อีกระยะหนึ่ง ก่อนกลับประเทศไทย เมื่อกลับมา ก็เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ในแผนกพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับมอบหมายให้สอนในวิชาปาราสิตวิทยา ขณะเดียวกัน อาจารย์สงกรานต์ได้พยายามชักจูง ให้คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล เห็นความสำคัญของวิชานิติศาสตร์ เพื่อให้มีการสอนวิชานี้ อยู่ในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๗ อาจารย์สงกรานต์ ก็ได้รับอนุญาตให้ทำการสอน "นิติเวชวิทยา" แก่นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ สัปดาห์ละ ๑ ชั่วโมง ในภาคเรียนที่ ๓ (แต่ไม่มีการสอบ เพราะเป็นการเรียนนอกหลักสูตร) นับได้ว่า รุ่นนี้เป็นแพทย์ปริญญารุ่นแรกที่ได้เรียน "นิติเวชวิทยา" และนับได้ว่า เป็นก้าวแรก ที่อาจารย์สงกรานต์ ได้ประสบความสำเร็จในการวางรากฐาน ของวิชานี้ ในคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เกิดเหตุการณ์ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ของชาติไทย และประวัติของนิติเวชศาสตร์ ในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และเมื่อมีการตั้งกรรมการแพทย์ชันสูตรพระบรมศพ อาจารย์สงกรานต์ก็เป็นผู้หนึ่ง ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ในฐานะพยาธิแพทย์ และผู้ชำนาญวิชานิติเวชศาสตร์ ร่วมกับนายแพทย์ผู้ใหญ่อื่นๆ อีกหลายท่าน และท่านได้ร่วมกับนายแพทย์สุด แสงวิเชียร หัวหน้าแผนกกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการเช่นเดียวกัน ทำการผ่าพิสูจน์พระบรมศพ และเพื่อให้มีการพิสูจน์ที่กระจ่างชัด อาจารย์สงกรานต์จึงได้เสนอ แผนการทดลองยิงศพ ต่อคณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพ และคณะกรรมการอนุมัติให้ทำการทดลอง ตามข้อเสนอแนะนั้น นับได้ว่า อาจารย์สงกรานต์ได้นำเอาการทดลองทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาสนับสนุนในการปฏิบัติงานทางนิติเวชศาสตร์เป็นครั้งแรก ในประเทศไทย ปัจจุบันนี้วัตถุพยาน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจพระบรมศพ ตลอดจนลักษณะของผิวหนังที่เป็นบาดแผล จากการทดลองยิงรวมทั้งกะโหลกศีรษะ ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ของภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัย จากผลงานของอาจารย์สงกรานต์ ในกรณีดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คงจะเห็นความสำคัญในวิชานิติศาสตร์ที่อาจารย์สอนศึกษาในชั้นปีที่ ๔ ขึ้นบ้างแล้ว จึงให้มีการสอบไล่วิชานี้ในปีการศึกษา ๒๔๘๙ แต่ก็มิได้มีการนำคะแนนสอบได้ ไปรวมในการสอบ เพื่อปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตแต่อย่างใด แม้จนกระทั่งในระยะต่อมา มีการสอนวิชานี้ให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๔ ในภาคเรียนสุดท้าย เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมง และมีการสอบไล่ โดยนำคะแนนไปรวมกับวิชารังสีวิทยา ต่อมา เมื่อมีการตั้งภาควิชานิติเวชศาสตร์ขึ้นแล้ว ในการสอบไล่ถือว่า วิชานี้เป็นวิชาย่อยวิชาหนึ่ง เช่นเดียวกับจักษุวิทยา และรังสีวิทยา โดยที่ถ้านักศึกษาสอบตกในวิชาย่อยเหล่านี้สองวิชา มีผลเท่ากับตกวิชาใหญ่หนึ่งวิชา และนักศึกษาอาจถูกให้ปฏิบัติงานเพิ่มเติม ในสาขาวิชาย่อยที่ตกนี้ด้วยก็ได้

สำหรับกรณีสวรรคตนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในภายหลัง และเมื่อได้มีการสอบสวน และดำเนินการฟ้องร้องมหาดเล็กห้องพระบรรทมเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว รัฐบาลยังได้สั่งให้อาจารย์สงกรานต์ ไปติดต่อกับศาสตราจาย์เคียท ซิมป์สัน (Keith Simpson) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางนิติเวชศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงแห่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลกาย มหาวิทยาลัยลอนดอนในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เพื่อขอเชิญศาสตราจารย์ผู้นี้ มาแสดงความเห็นในฐานะพยานผู้ชำนาญการพิเศษในศาลด้วย แต่เนื่องจากมีเหตุขัดข้องบางประการ ศาสตราจารย์เคียท ซิมป์สันจึงมิได้มาเป็นพยานในศาลไทย

ในด้านการสอน หลังจากกรณีสวรรคตเป็นต้นมา อาจารย์สงกรานต์ ได้รับเชิญไปสอนในสถาบันการศึกษา นอกจากคณะแพทยศาสตร์มากมายหลายแห่ง โดยเริ่มไปสอนนักเรียนนายร้อยตำรวจในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ และเมื่อมีการตั้งโรงเรียนสืบสวนสอบสวนกรมตำรวจขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ อาจารย์สงกรานต์ก็ได้รับเชิญไปสอนเช่นกัน

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ อาจารย์สงกรานต์ ได้รับเชิญไปสอนให้นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้การอบรมพนักงานอัยการ และผู้ช่วยผู้พิพากษา พ.ศ. ๒๔๙๙ สอนให้แก่นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๐๐ สอนนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษาปริญญาโทคณะสาธารณสุขศาสตร์ และต่อๆ มา ก็มีสถาบันต่างๆ เชิญอาจารย์สงกรานต์ไปให้การสอนและอบรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดมา แม้จนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของอาจารย์ อาจารย์ก็ยังได้รับเชิญไปให้การอบรมและสอนแก่นักศึกษา หรือผู้ประกอบวิชาชีพของสถาบันต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วหลายแห่ง และเนื่องจากงานสอนทางนิติเวชศาสตร์เพิ่มมากขึ้น อาจารย์สงกรานต์ได้เลิกสอนปาราสิตวิทยาในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ในด้านการปฏิบัติงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีควบคู่ไปกับการสอน เพื่อจะได้มีวัตถุดิบ มาประกอบการเรียนการสอน และมีการฝึกฝนหาความชำนาญ ตลอดจน ทำการค้นคว้าวิจัยควบคุมไปด้วยนั้น อาจารย์สงกรานต์ ได้เป็นผู้ริเริ่มในเรื่องนี้ โดยได้ทำบันทึกลงวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึงหัวหน้าแผนกพยาธิวิทยา เสนอให้โรงพยาบาลศิริราชรับศพที่มีคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งมา โดยที่ขณะนั้น โรงพยาบาลศิริราชไม่รับผู้ป่วยที่มีคดีไว้รักษาพยาบาล นอกจากรับเพียงบางราย เป็นครั้งคราว ฉะนั้น ผู้ป่วยที่ตายในโรงพยาบาลศิริราช ส่วนใหญ่จึงมิใช่ศพคดี ที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย (โรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยคดีและศพเป็นประจำ ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง) คณะกรรมการคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้อนุมัติในหลักการดังกล่าว นายแพทย์ชัชวาลย์ โอสถานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชในขณะนั้น จึงทำหนังสือลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึงอธิบดีกรมตำรวจแจ้งว่า ทางโรงพยาบาลศิริราชยินดีจะช่วยเหลือ กิจการด้านชันสูตรพลิกศพ ฯลฯ เกี่ยวกับคดีต่างๆ ของทางการ และทางกรมตำรวจ จึงได้ออกแจ้งความไปยังพนักงานสอบสวนให้ทราบทั่วกัน แจ้งความดังกล่าวลงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ พล.ต.ต. โชติ โชติชนาภิบาล รองอธิบดีเป็นผู้ลงนามแทนอธิบดี ในระยะแรกที่มีแจ้งความของกรมตำรวจออกไปแล้ว พนักงานสอบสวนยังส่งศพไปตรวจพิสูจน์ ที่โรงพยาบาลศิริราชเพียงเล็กน้อย อาจารย์สงกรานต์ จึงได้ทำบันทึกถึง ผู้บังคับการโรงเรียนสืบสวนสอบสวนกรมตำรวจ ในฐานะอาจารย์ที่สอนในโรงเรียนสืบสวนสอบสวนด้วย โดยขอให้ทางโรงเรียนหาวิธีการ ที่ให้มีการส่งศพไปตรวจ ที่โรงพยาบาลศิริราชมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาภาคปฏิบัติ ทั้งนักเรียนนายร้อยตำรวจ และนักเรียนสืบสวนด้วย บันทึกฉบับนี้ของอาจารย์ คงจะมีผลให้ทางโรงเรียนสืบสวนสอบสวนขอความร่วมมือ หรือบังคับกลายๆ ให้นักเรียนสืบสวน ซึ่งมาจากพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ ได้ให้ความร่วมมือในการส่งศพไปตรวจที่โรงพยาบาลศิริราช และตั้งแต่นั้นมา โรงพยาบาลก็ได้รับศพจากพนักงานสอบสวนส่งมาตรวจเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนทางโรงพยาบาลศิริราชเอง ก็คงจะเห็นความจำเป็น ที่ไม่อาจปฏิเสธที่จะรับผู้ป่วย ที่มีคดี ไว้รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลอีกต่อไปได้ จึงได้มีระเบียบการรับชันสูตรผู้ป่วยมีคดีออกใช้ ในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๙๖ จึงนับว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้บริการทางด้านนิติเวชศาสตร์โดยสมบูรณ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และในต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๖ นี้เอง แผนกวิชาพยาธิวิทยาก็ได้รับแพทย์ประจำบ้านทางสาขานิติเวชวิทยาไว้ ๑ คน นับว่า งานนิติเวชศาสตร์ในขณะนั้น ได้ถือกำเนิดเป็นสาขาหนึ่ง ในแผนกวิชาพยาธิวิทยาโดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกัน นายแพทย์ชัชวาลย์ โอสถานนท์ เนื่องจากอาจารย์สงกรานต์ เห็นว่า งานนิติเวชศาสตร์นั้นเกี่ยวข้องอยู่กับกฎหมาย จึงได้ไปสมัครเรียนกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย จนสำเร็จได้ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ และในปีเดียวกันนี้ ทางกรมตำรวจได้มีการก่อตั้งโรงพยาบาลตำรวจขึ้น อาจารย์สงกรานต์ได้รับแต่งตั้งจากกรมตำรวจ ให้เป็นที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญทางนิติเวชวิทยา และในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ทางกรมตำรวจได้รับโอนนายแพทย์ถวัลย์ อาศนะเสน ซึ่งขณะนั้น รับราชการเป็นอาจารย์โท แผนกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อทำหน้าที่ทางนิติเวชศาสตร์ โดยได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตำรวจเอก และนายแพทย์ ร.ต.อ. ถวัลย์ ได้ไปวางโครงการจัดตั้งแผนกนิติเวชวิทยาขึ้น ในโรงพยาบาลตำรวจ

แผนกนิติเวชวิทยาโรงพยาบาลตำรวจ ได้เริ่มทำการผ่าศพ เพื่อชันสูตรพลิกศพครั้งแรกในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ แผนกนิติเวชวิทยาโรงพยาบาลตำรวจนี้ อาจารย์สงกรานต์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญประจำกรมตำรวจ ได้ไปช่วยเหลือให้คำแนะนำปรึกษา ตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งอีกหลายปีต่อมา

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ อาจารย์สงกรานต์ ได้มีหนังสือ ถึงคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ให้พิจารณาการปฏิบัติงาน ทางนิติเวชศาสตร์ เป็นสาขาเฉพาะในการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเวชกรรม ซึ่งต่อมาคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ได้มีมติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ให้มีแพทย์ผู้มีความชำนาญเฉพาะทางสาขาต่างๆ ขึ้น และ "นิติเวชวิทยา" ก็เป็นสาขาของแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง และได้มีการตั้งอนุกรรมการพิจารณาการขอเป็นแพทย์เฉพาะทาง ในแต่ละสาขาขึ้น สำหรับอนุกรรมการฯ ในสาขานิติเวชวิทยาประกอบด้วย ๑. น.พ. สงกรานต์ นิยมเสน ๒. น.พ. ภิรมย์ สุวรรณเตมีย์ ๓. น.พ. ทิพย์ นาถสุภา ต่อมา เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑ และมีแพทยสภาขึ้น แพทยสภาได้มีหลักสูตรว่าด้วยการฝึกอบรม เพื่อเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ "นิติเวชศาสตร์" ก็เป็นสาขาหนึ่งที่มีการฝึกอบรมดังกล่าว จนปัจจุบันมีผู้ใดรับหนังสืออนุมัติและวุฒิบัตรของแพทยสภาในสาขานี้ หลายคนแล้ว

งานในสาขานิติเวชวิทยา ในแผนกวิชาพยาธิวิทยาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ค่อยๆ วิวัฒนาการเรื่อยมาเป็นลำดับ โดยขยายงานเพิ่มขึ้นทุกปี มีจำนวนอาจารย์เพิ่มขึ้นจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๘ จึงได้มีพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งแผนกวิชานิติเวชวิทยาขึ้นในคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน เป็นหัวหน้าแผนกวิชา และได้โอนอัตรากำลัง และเจ้าหน้าที่ในสาขานิติเวชวิทยาเดิมทั้งหมดไปเป็นของภาควิชาที่ตั้งใหม่ นับเป็นแผนกวิชานิติเวชวิทยาแห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล แผนกวิชานิติเวชวิทยาเปลี่ยนมาเป็น ภาควิชานิติเวชวิทยา และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ภาควิชานิติเวชศาสตร์ จนทุกวันนี้

ในปีเดียวกันกับปีที่มีการตั้งแผนกวิชานิติเวช วิทยา คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้ขอโอน นายแพทย์ พ.ต.อ. ถวัลย์ อาศนะเสน จากโรงพยาบาล ตำรวจกลับไปสังกัดในแผนกวิชาพยาธิวิทยา และมอบหมายให้เตรียมวางโครงการก่อตั้งแผนกวิชานิติเวชวิทยาขึ้น ซึ่งได้มีการก่อตั้งแผนกวิชานิติเวชวิทยาขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๐ นับว่าเป็นแห่งที่สอง และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น แผนกวิชานิติเวชศาสตร์ หลังจากนั้นภาควิชานิติเวชศาสตร์ ก็ได้เริ่มก่อตั้งในมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกในเวลาต่อมา

สำหรับงานนิติเวชศาสตร์ภายนอกมหาวิทยาลัย ในขณะที่กรมตำรวจมีชื่อว่า กรมกองตระเวน อยู่นั้น กระทรวงมหาดไทยได้จัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นหลังหนึ่ง ที่ตำบลพลับพลาไชยใน พ.ศ. ๒๔๔๑ แรกเริ่มทำการรักษาผู้ป่วย ที่เป็นกามโรคส่วนใหญ่ จึงเรียกกันว่า "โรงพยาบาลหญิงหาเงิน" ต่อมาโรงพยาบาลนี้ช่วยรักษาพยาบาลพลตระเวน (พลตำรวจ) พิสูจน์บาดแผล และชันสูตรพลิกศพเพื่อประกอบการสืบสวนสอบสวนคดีต่างๆ จึงมีผู้เรียกชื่อโรงพยาบาลนี้ว่า "โรงพยาบาลพล ตระเวน" และบางคนก็เรียกว่า "โรงพยาบาลวัดโคก" (วัดโคกคือวัดพลับพลาไชย) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๗ กรมสุขาภิบาลได้รับโอนโรงพยาบาลดัง กล่าว และเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลกลาง" และใช้ชื่อนี้มาจนทุกวันนี้ ปัจจุบัน สังกัดอยู่ในกรุงเทพมหานคร แม้จะโอนจากกรมกองตระเวนแล้ว และกรมกองตระเวนกับกรมตำรวจภูธรได้รวมกัน เป็นกรมตำรวจ ในปีเดียวกันนั้น โรงพยาบาลกลางก็ยังคงทำหน้าที่รับคนไข้ที่เป็นคดีที่ตำรวจส่ง ได้แก่ คนไข้อุบัติเหตุ บาดแผลต่างๆ เป็น ส่วนใหญ่ จึงนับว่าโรงพยาบาลกลางเป็นที่ให้บริการทาง นิติเวชศาสตร์ที่สำคัญก่อนโรงพยาบาลศิริราช สำหรับ ผู้ป่วยโรคจิตที่มีคดีนั้น จะถูกนำตัวเข้าไปตรวจรักษาที่ "โรงพยาบาลคนเสียจริต ปากคลองสาน" ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ โดยครั้งแรกได้นำคนเสียจริต ๓๐ คนมา ไว้รวมกัน ต่อมาได้รับการปรับปรุงเป็นโรงพยาบาลที่ ตรวจรักษาผู้ป่วยโรคจิต โรคประสาท และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ต่อมา กิจการของโรงพยาบาลแห่งนี้ ก้าวหน้าทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ และได้มีการตรวจรักษาทางโรคระบบประสาท และประสาทศัลยศาสตร์ด้วย เนื่องจากคนไข้โรคจิต ที่มีคดี มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้อง พิสูจน์ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะเป็นโรคจิตและรู้สึกผิด ชอบหรือไม่ ถ้าเป็นโรคจิต ก็ต้องรักษาจนกว่าผู้ป่วยจะ ต่อสู้คดีได้ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีสถานที่ตรวจรักษาคน ไข้ดังกล่าวให้พอเพียง จึงได้มีการก่อตั้ง "โรงพยาบาลนิติจิตเวช" ขึ้นโดยเฉพาะอีกแห่งหนึ่งที่พุทธมณฑล ตำบลทวีวัฒนา อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓

ในด้านที่เกี่ยวกับกฎหมาย ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติชันสูตรพลิกศพ พ.ศ. ๒๔๕๗ ในเดือน เมษายน ๒๔๕๗ และได้บัญญัติเกี่ยวกับการชันสูตร พลิกศพไว้ดังต่อไปนี้

"มาตรา ๓ ถ้ามีผู้ใดตายลงโดยฆ่าตัวเองก็ดี หรือผู้อื่นฆ่าให้ตายก็ดี กิริยาตายอย่างนี้เรียกว่า ฆาตกรรม ตามพระราชบัญญัตินี้ เหตุที่ตายจะปรากฏชัดก็ ตาม หรือจะเป็นแต่มีเหตุควรสงสัยว่าบุคคลจะตายโดย ฆาตกรรมก็ตาม ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ที่จะต้องกระทำการชันสูตรพลิกศพ ตามความที่กล่าวไว้ใน พระราชบัญญัตินี้

แต่ให้พึงเข้าใจว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่เกี่ยวถึง การที่เจ้าพนักงานประหารชีวิตนักโทษตามกฎหมาย

มาตรา ๗ การชันสูตรพลิกศพผู้ถูกฆาตกรรม กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้เป็น ๒ ชั้น คือสามัญชั้น ๑ วิสามัญชั้น ๑ ผิดกัน ดังอธิบายต่อไปนี้ คือ

ข้อ ๑ ฆาตกรรมอันเป็นวิสามัญนั้นคือ ผู้ตาย ตายด้วยเจ้าพนักงานฆ่าในเวลากระทำการตามหน้าที่ ยก ตัวอย่างเช่น เจ้าพนักงานไปจับผู้ต้องหาว่าเป็นโจรเป็นผู้ร้าย และฆ่าผู้ต้องหาว่าเป็นโจรเป็นผู้ร้ายนั้นตายในเวลาจับดังนี้ เป็นต้น เรียกว่า เป็นเหตุวิสามัญ

ข้อ ๒ ฆาตกรรมอันเป็นสามัญนั้น ผู้อื่นแม้เป็น ข้าราชการหรือเป็นเจ้าพนักงานกระทำให้ตาย โดยมิได้ เกี่ยวกับการกระทำตามหน้าที่ ให้ถือว่า เป็นฆาตกรรมอย่างสามัญ

มาตรา ๘ พนักงานที่จะทำการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งตายโดยฆาตกรรมอย่างสามัญนั้น โดยปกติให้ถือว่า เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอผู้ปกครองท้องที่อำเภอ ซึ่งพบศพนั้น จะเป็นประธาน ๑ กับกำนันคนใดคนหนึ่ง ในอำเภอนั้น และแพทย์ประจำตำบลหรือเจ้าบ้านคนใด คนหนึ่งในอำเภอนั้น ต้องนั่งพร้อมกัน ๓ คน จึงจะทำการชันสูตรพลิกศพถูกต้อง ตามพระราชบัญญัตินี้

แต่ถ้าเสนาบดีผู้บัญชาการปกครองท้องที่ หรือ สมุหเทศาภิบาลผู้สำเร็จราชการมณฑล หรือผู้ว่าราชการ เมืองเห็นว่า เหตุที่เกิดฆาตกรรมเป็นการซึ่งควรจะจัด การโดยพิเศษ จะตั้งผู้ทำการชันสูตรพลิกศพเฉพาะเรื่อง นั้นทั้ง ๓ คน ก็ได้ ถ้าหากว่า ศพนั้นตายโดยฆาตกรรมอย่างสามัญ พนักงาน ๓ คน ซึ่งจะนั่งทำการชันสูตร พลิกศพ ให้เป็นข้าราชการหัวหน้ากรมหรือกอง พนักงานซึ่งทำให้ตายคน ๑ ข้าราชการซึ่งเจ้ากระทรวงผู้ปกครองท้องที่เลือกแลตั้งคน ๑ แลข้าราชการซึ่งเป็นฝ่าย ตุลาการ ซึ่งเจ้ากระทรวงยุติธรรมเลือกแลตั้งคน ๑ ใน ๓ คนนี้ ผู้ใดมีบรรดาศักดิ์สูงกว่า คนผู้นั้นได้เป็น ประธาน ๑" ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้มีพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ใช้บังคับ โดยให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตั้งแต่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นไป พระราชบัญญัติ การชันสูตรพลิกศพจึงถูกยกเลิกไปเพราะการชันสูตร พลิกศพได้มีบัญญัติอยู่แล้วในประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา และในประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๐ กำหนดให้พนักงาน สอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ กับแพทย์ประจำตำบล หรือแพทย์อื่น เป็นผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้มีการแก้ไขประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องนี้ โดยให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ กับอนามัยจังหวัด หรือแพทย์ประจำสุขศาลา หรือแพทย์ประจำโรงพยาบาล เป็นผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ ถ้าไม่มีแพทย์ดังกล่าว ให้ใช้เจ้าหน้าที่ท้องที่หรือแพทย์ประจำตำบลแทนได้ ดังนั้น แพทย์ของโรงพยาบาลทั่วไปหรือแพทย์ของสุขศาลา จึงต้องทำหน้าที่ชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนปัจจุบัน