ข้ามไปเนื้อหา

มัคส์ เวเบอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มักซ์ เวเบอร์)
มัคส์ เวเบอร์ ในปี ค.ศ. 1918

คาร์ล เอมีล มัคซีมีลีอาน "มัคส์" เวเบอร์ (เยอรมัน: Karl Emil Maximilian "Max" Weber; 21 เมษายน ค.ศ. 1864 – 14 มิถุนายน ค.ศ. 1920) เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ถือกันว่าเวเบอร์เป็นผู้ก่อตั้งวิชาสังคมวิทยาสมัยใหม่และรัฐประศาสนศาสตร์ งานชิ้นหลัก ๆ ของเขาเกี่ยวข้องกับสังคมวิทยาศาสนาและสังคมวิทยาการปกครอง นอกจากนี้เขายังมีงานเขียนอีกหลายชิ้นในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ งานที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุดของเวเบอร์คือ ความเรียงเรื่อง จริยธรรมโปรเตสแตนต์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม ซึ่งเป็นงานชิ้นแรกของเขาในสาขาสังคมวิทยาศาสนา ในงานชิ้นดังกล่าว เวเบอร์เสนอว่าศาสนาเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ๆ ที่นำไปสู่เส้นทางการพัฒนาทางวัฒนธรรมที่ต่างกันระหว่างโลกประจิม (the Occident) กับโลกบูรพา (the Orient) ในงานที่มีชื่อเสียงอีกชิ้นหนึ่งของเขาที่ชื่อ การเมืองในฐานะวิชาชีพ (Politik als Beruf) เวเบอร์นิยามรัฐว่ารัฐคือหน่วยองค์ (entity) ซึ่งผูกขาดการใช้กำลังทางกายภาพที่ถูกกฎหมาย ซึ่งนิยามนี้ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่ในเวลาต่อมา

ประวัติ

[แก้]

เวเบอร์เกิดที่แอร์ฟวร์ท ราชอาณาจักรปรัสเซีย เขาเป็นลูกชายคนโตในครอบครัวที่มีบุตรเจ็ดคนของมัคส์ เวเบอร์ (ผู้พ่อ) นักการเมืองและข้าราชการท้องถิ่นคนสำคัญ และเฮ็ลเลเนอ ฟัลเลินชไตน์ น้องชายของเขาอัลเฟรท เวเบอร์ ก็เป็นนักสังคมวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกัน การที่พ่อของเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณะมากมาย ทำให้เวเบอร์เติบโตขึ้นในครอบครัวที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของการเมือง นอกจากนี้ครอบครัวของเขาเองยังได้ต้อนรับนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและบุคคลสาธารณะมากมาย เวเบอร์เองก็ยังได้แสดงความโดดเด่นและสนใจในด้านวิชาการ ของขวัญวันคริสต์มาสที่เขามอบให้กับผู้ปกครอง เมื่อเขายังมีอายุ 13 ปี คือ ความเรียงแนวประวัติศาสตร์ชื่อว่า "ทิศทางของประวัติศาสตร์เยอรมัน พร้อมกับการอ้างอิงพิเศษถึงจุดยืนของจักรพรรติและสันตะปาปา" และ "อาณาจักรโรมัน ตั้งแต่ช่วงของคอนสแตนตินที่หนึ่ง จนถึงช่วงของการอพยพของประเทศ" ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเวเบอร์จะเข้าศึกษาในด้านสังคมวิทยา

มัคส์ เวเบอร์ และน้องชาย (อัลเฟรทและคาร์ล) ในปี ค.ศ. 1879

เมื่ออายุได้สิบสี่ปี เขาเขียนจดหมายที่อ้างอิงถึงโฮเมอร์, เวอร์จิล, กิแกโร และลิวี นอกจากนี้เขายังมีความรู้เกี่ยวกับเกอเทอ, บารุค สปิโนซา, อิมมานูเอิล คานท์ และอาร์ทัวร์ โชเพินเฮาเออร์ ก่อนที่เขาจะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

ในปี ค.ศ. 1882 เขาเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์คในสาขากฎหมาย เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มดวลมีด และเรียนในสาขากฎหมายเช่นเดียวกับพ่อของเขา นอกจากการเรียนในด้านกฎหมายแล้ว เวเบอร์ยังได้เข้าฟังการบรรยายในวิชาเศรษฐศาสตร์ และศึกษาประวัติศาสตร์ยุคกลาง เขายังได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนวิทยาเป็นจำนวนมาก เขายังได้เข้ารับราชการเป็นทหารเป็นระยะ ๆ ที่สทราซบูร์ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1884 เวเบอร์ย้ายกลับบ้านและเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ตลอดช่วงเวลา 8 ปีหลังจากนั้น ยกเว้นแค่ในบางช่วง เวเบอร์ได้พักอาศัยอยู่กับบิดามารดา ตั้งแต่ดำรงฐานะเป็นนักเรียน เป็นทนายในศาล และเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ในปี ค.ศ. 1886 เวเบอร์ได้สอบเนติบัญญัติผ่าน ในช่วงท้ายคริสต์ทศวรรษ 1880 เวเบอร์ยังคงหมั่นศึกษาด้านประวัติศาสตร์ และได้รับปริญญาเอกในสาขากฎหมายในปี ค.ศ. 1889 ด้วยวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของระบบยุติธรรมชื่อว่า ประวัติศาสตร์องค์กรธุรกิจยุคกลาง สองปีถัดจากนั้นเขาได้เขียนผลงาน ประวัติศาสตร์การเกษตรแบบโรมันและความสำคัญต่อกฎหมายบุคคลและกฎหมายมหาชน ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ระดับสูงกว่าปริญญาเอก ที่จำเป็นสำหรับการเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

ในระหว่างที่เขาทำผลงานวิทยานิพนธ์ระดับสูงกว่าปริญญาเอก เขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับนโยบายทางสังคม ในปี ค.ศ. 1888 เขาได้เข้าร่วมกลุ่ม Verein für Socialpolitik ซึ่งเป็นกลุ่มของนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันผู้อยู่ในสายประวัติศาสตร์ ที่เชื่อว่าหน้าที่ของเศรษฐศาสตร์คือการแก้ปัญหาทางสังคมต่าง ๆ ของยุคสมัย และได้ริเริ่มการศึกษาทางสถิติของปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ในระดับมหภาค. ในปี ค.ศ. 1890 กลุ่มดังกล่าวได้เริ่มโครงการวิจัยเพื่อศึกษา "ปัญหาชาวโปแลนด์" ซึ่งหมายถึงปัญหาของการทะลักล้นเข้ามาของคนงานในสวนจากต่างประเทศ เมื่อคนงานภายในประเทศต่างย้ายเข้ามาในเมืองในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เวเบอร์ได้รับดูแลโครงการนี้ และเป็นผู้เขียนหลักของรายงานผลที่ได้ รายงานดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของการทำวิจัยเชิงประจักษ์ และยืนยันตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตรของเวเบอร์

มัคส์ เวเบอร์ และมารีอันเนอ ภรรยา ในปี ค.ศ. 1894

ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1890 จัดว่าเป็นช่วงที่เวเบอร์ประสบผลสำเร็จในอาชีพการงาน ในปี ค.ศ. 1893 เขาแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องห่าง ๆ มารีอันเนอ ชนิทเกอร์ ผู้ที่เป็นปัญญาชนและนักนิยมสิทธิสตรีที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วในฐานะที่เป็นนักเขียน ปีถัดมาเขาเข้ารับตำแหน่งในช่วงสั้น ๆ เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไฟรบวร์ค จากนั้นก็ย้ายไปรับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค ในปี ค.ศ. 1896 แต่เนื่องจากอาการป่วย เขาจำต้องลดและถึงขั้นต้องหยุดงานวิชาการลงในปีถัดมา และต้องรักษาตัวอยู่จนถึงปี ค.ศ. 1901 อาการป่วยดังกล่าวเชื่อกันว่าเป็นอาการเจ็บป่วยจิตใจ เนื่องมาจากการเสียชีวิตของบิดาซึ่งเขาเพิ่งจะได้มีปากเสียงก่อนหน้านั้น และยังไม่ทันได้มีโอกาสจะพูดคุยปรับความเข้าใจ

ในปี ค.ศ. 1903 เขาได้รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการของวารสารวิชาการ Archives for Social Science and Social Welfare อย่างไรก็ตามเขารู้สึกว่ายังไม่พร้อมที่จะกลับไปสอนอีกครั้ง และคงทำงานเป็นเพียงนักวิชาการอิสระโดยใช้ทุนจากมรดกที่ได้รับมา ในปี ค.ศ. 1904 เขาได้เดินทางไปที่สหรัฐ และเข้าร่วมการประชุมใหญ่ด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่จัดขึ้นร่วมกับงานแสดงสินค้านานาชาติที่เซนต์หลุยส์ ในปี ค.ศ. 1905 เขาได้ตีพิมพ์ความเรียง จริยธรรมโปรเตสแตนต์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม งานชิ้นนี้กลายเป็นงานที่โด่งดังที่สุดของเขา และเป็นงานที่วางรากฐานให้กับงานวิจัยถัด ๆ ไปของเขาที่เกี่ยวข้องกับผลของวัฒนธรรมและศาสนากับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ

มัคส์ เวเบอร์ ในปี ค.ศ. 1917

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เวเบอร์รับทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลของทหารที่ไฮเดิลแบร์ค ในปี ค.ศ. 1918 เวเบอร์เป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการสงบศึกของฝ่ายเยอรมันในการทำสนธิสัญญาแวร์ซาย และเป็นคณะกรรมการที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ เวเบอร์เองไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติเยอรมันเป็นอย่างยิ่ง เขาจึงพยายามให้มีการเพิ่มมาตราที่ 48 ซึ่งในเวลาถัดมาอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ใช้มาตรานี้ในการประกาศกฎอัยการศึกและเข้ายึดอำนาจได้ในที่สุด

จากปี ค.ศ. 1918 เวเบอร์ได้กลับมาสอน เริ่มที่มหาวิทยาลัยเวียนนา ต่อมาในปี ค.ศ. 1919 ที่มหาวิทยาลัยมิวนิก ที่มิวนิกนี่เองที่เขาได้เป็นหัวหน้าสถาบันด้านสังคมวิทยาแห่งแรกในมหาวิทยาลัยเยอรมัน อย่างไรก็ตามเขาไม่เคยได้รับตำแหน่งด้านสังคมวิทยาโดยตรงเลย

เวเบอร์เสียชีวิตจากโรคปอดบวมที่มิวนิกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1920 งานหลายชิ้นของเขาได้ถูกรวบรวม เรียบเรียง และจัดพิมพ์หลังจากที่เขาได้เสียชีวิตแล้ว ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการตีความผลงานของเวเบอร์นั้นรวมไปถึงนักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียง เช่น ทาลคอตต์ พาร์สันส์, ซี. ไรต์ มิลส์

ผลงาน

[แก้]

มัคส์ เวเบอร์ ได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในบิดาของสังคมวิทยา เคียงคู่ไปกับคาร์ล มากซ์, เอมีล ดูร์กายม์ และวิลเฟรโด ปาเรโต อย่างไรก็ตามในขณะที่ปาเรโตและดูร์กายม์ใช้แนวทางปฏิฐานนิยมตามโอกุสต์ กงต์ เวเบอร์ได้ใช้วิธีการศึกษาสังคมวิทยาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ในรูปแบบที่อยู่ในแนวต่อต้านปฏิฐานนิยม (antipositivism) แนวจิตนิยม (idealism) และแนวอรรถปริวรรตศาสตร์ (hermeneutics) ซึ่งทิศทางนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับของแวร์เนอร์ ซ็อมบาร์ท ผู้เป็นเพื่อนของเขาและเป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดเมื่อกล่าวถึงสังคมวิทยาแนวเยอรมัน งานในสมัยแรกของเวเบอร์เกี่ยวข้องกับสังคมวิทยาของสังคมอุตสาหกรรมแต่เขามีชื่อเสียงในงานถัด ๆ ไป ที่เกี่ยวกับสังคมวิทยาศาสนาและสังคมวิทยาการปกครอง

ประเด็นหลักของการศึกษาค้นคว้าของเวเบอร์ก็คือคำถามที่ว่า "อะไรคือลักษณะเฉพาะที่ทำให้สังคมตะวันตกแตกต่างจากที่อื่น?" ความแตกต่างที่สำคัญที่เขาสนใจเช่น การเกิดขึ้นของระบบทุนนิยม หรือความแตกต่างในการจัดระดับชนชั้นภายในสังคม ในขณะที่คาร์ล มากซ์ วิเคราะห์โดยเริ่มจาก ฐาน หรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่เวเบอร์มุ่งประเด็นไปที่ โครงสร้างส่วนบน ซึ่งเกี่ยวกับอุดมการณ์และความเชื่อ

ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสังคม เวเบอร์พยายามหาจุดเปลี่ยนของความเชื่อพื้นฐานและ "ปัจจัย" ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ปัจจัยดังกล่าวอาจไม่เหลือร่องรอยใด ๆ หรืออาจดูไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิงกับความเชื่อที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะว่าหน้าที่ของมันมีเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนกลุ่มใหญ่เท่านั้น หลังจากที่ความเชื่อพื้นฐานได้เปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างจะถูกทำให้ดูสมเหตุสมผลอย่างสมบูรณ์ในตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงกับปัจจัยหรือสาเหตุเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนั้นอีกต่อไป

สังคมวิทยาศาสนา

[แก้]

งานชิ้นแรกของเวเบอร์เกี่ยวกับสังคมวิทยาศาสนาคือความเรียงชื่อ จริยธรรมโปรเตสแตนต์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม ต่อด้วยงานวิเคราะห์ ศาสนาของจีน: ลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋า, ศาสนาของอินเดีย: สังคมวิทยาของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ และ ศาสนายูดาห์โบราณ งานเกี่ยวกับศาสนาอื่น ๆ ต้องชะงักลงเนื่องจากเวเบอร์ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันในปี ค.ศ. 1920 ซึ่งทำให้แผนที่จะวิเคราะห์ศาสนาอื่น ๆ ต่อเนื่องจากศาสนายูดาห์โบราณ (รวมถึงศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม) ต้องหยุดลง

เรื่องหลัก ๆ ที่เวเบอร์สนใจก็คือผลกระทบของแนวคิดทางศาสนาต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างการแบ่งระดับชั้นทางสังคมกับแนวคิดทางศาสนา และลักษณะเฉพาะบางอย่างของอารยธรรมตะวันตก

เป้าหมายของเวเบอร์ก็คือการหาเหตุผลของความแตกต่างในเส้นทางการพัฒนาระหว่างโลกประจิมและโลกบูรพา เขาวิเคราะห์ว่าแนวคิดจากศาสนาคริสต์นิกายพิวริตันมีผลอย่างมาก กับทิศทางการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปและสหรัฐ และเขาได้พบอีกว่ายังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่ผลต่อการพัฒนานี้ ปัจจัยที่สำคัญที่เวเบอร์กล่าวถึงมีตัวอย่างเช่น แนวคิดแบบเหตุผลนิยมจากการศึกษาวิทยาศาสตร์ ที่นำผลการสังเกตมารวมกันกับคณิตศาสตร์, การพัฒนาของแนวคิดแบบวิชาการและการเกิดขึ้นของระบบการยุติธรรม, การทำให้การบริหารการปกครองเป็นระบบที่มีเหตุผล และการเกิดขึ้นของบรรษัทขนาดใหญ่ โดยสรุปก็คือการศึกษาสังคมวิทยาศาสนาของเวเบอร์นั้น เป็นแค่การศึกษาเข้าไปในช่วงเวลาช่วงหนึ่งของการปลดปล่อยสังคมจากยุคเวทมนตร์ หรือที่เวเบอร์เรียกว่าขั้นตอน "การถอดปีกเทพนิยายออกจากโลก" (disenchantment of the world) ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่เป็นจุดแตกต่างเฉพาะของวัฒนธรรมตะวันตก

จริยธรรมโปรเตสแตนต์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม

[แก้]
ปกหนึ่งจากหลาย ๆ รุ่นของหนังสือ จริยธรรมโปรเตสแตนต์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม

ความเรียงเรื่อง จริยธรรมโปรเตสแตนต์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม นั้น นับว่าเป็นงานที่โด่งดังที่สุดของเวเบอร์ อย่างไรก็ตาม มีผู้กล่าวว่างานชิ้นนี้ไม่ควรจะถูกพิจารณาว่าเป็นการศึกษานิกายโปรเตสแตนต์ หากแต่เป็นบทนำให้กับงานชิ้นถัด ๆ มาของเวเบอร์ โดยเฉพาะในเรื่องที่เขาศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างแนวคิดของศาสนาต่าง ๆ กับพฤติกรรมทางด้านเศรษฐศาสตร์

ในความเรียงนี้ เวเบอร์ยกประเด็นที่ว่าจริยธรรมและแนวคิดของนิกายพิวริตัน (ที่จัดว่าเป็นนิกายโปรเตสแตนต์แขนงหนึ่ง) มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยม โดยทั่วไปแล้ว การอุทิศตนให้กับศาสนามักทำให้เกิดการละเลิกในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทางโลก ซึ่งรวมถึงการดิ้นรนทางเศรษฐกิจ ปัญหาก็คือทำไมลักษณะเช่นนี้จึงไม่เกิดขึ้นในกรณีของนิกายโปรเตสแตนต์? เวเบอร์พิจารณาปัญหาดังกล่าวในความเรียงนี้

เขานิยาม "จิตวิญญาณแห่งทุนนิยม" ว่าเป็นแนวคิดและอุปนิสัยที่เอื้อต่อการมุ่งเป้าหากำไรทางเศรษฐกิจอย่างเหตุผลนิยม เวเบอร์ชี้ให้เห็นว่า ถ้าพิจารณาเป็นรายบุคคลแล้ว การมีจิตวิญญาณดังกล่าวนั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในวัฒนธรรมตะวันตก แต่ปัจเจก —ที่เวเบอร์เรียกว่านักเริ่มกิจการ (entrepreneurs) ระดับยอด— ไม่สามารถจะเริ่มระบบระเบียบทางเศรษฐกิจใหม่ (ซึ่งคือระบบทุนนิยม) เพียงคนเดียวได้ ตัวอย่างของอุปนิสัยและแนวโน้มต่าง ๆ ที่เวเบอร์เสนอมาก็เช่น ความต้องการกำไรโดยลงแรงน้อยที่สุด, แนวคิดที่ว่าการทำงานคือคำสาปและความลำบากที่ควรจะต้องหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในกรณีที่งานนั้นหนักหนาเกินกว่าการจะมีชีวิตที่สุขสบาย เวเบอร์เขียนไว้ว่า: "การที่วิถีชีวิตที่ปรับเข้าอย่างดีกับหนทางของทุนนิยมจะกลายเป็นวิถีชีวิตหลักเหนือแนวทางอื่น ๆ ได้นั้น จะมีที่มาจากแนวคิดของปัจเจกใดคนหนึ่งเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่จะต้องเกิดขึ้นมาจากวิถีชีวิตที่เหมือน ๆ กันของคนทุกคนในกลุ่ม"

หลังจากที่เขาได้นิยามจิตวิญญาณของทุนนิยมแล้ว เวเบอร์ได้ชี้ให้เห็นว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้ควรศึกษาต้นตอของจิตวิญญาณนี้ จากแนวคิดทางศาสนาของกลุ่มปฏิรูปของนิกายโปรเตสแตนต์ ผู้สังเกตการณ์หลายคนเช่น วิลเลียม เพตตี, มงแต็สกีเยอ, เฮนรี โทมัส บักเคิล, จอห์น คีตส์ และอีกหลาย ๆ คน ได้ให้ความเห็นในลักษณะเดียวกันนี้

เวเบอร์ได้แสดงว่าแนวคิดของบางกลุ่มผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ทำให้การแสวงหาผลกำไรและสะสมทุนนั้น มีความเกี่ยวข้องในด้านบวกกับความเชื่อด้านจิตวิญญาณและศีลธรรม อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงความเชื่อนั้น แต่จัดว่าเป็นแค่ผลพลอยได้ ซึ่งมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการวางแผนและการปฏิเสธตนเองในการแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ

เวเบอร์กล่าวว่าเขาหยุดการค้นคว้าเกี่ยวกับนิกายโปรเตสแตนต์เนื่องจากเพื่อนร่วมงานของเขา แอ็นสท์ เทริลทช์ นักศาสนวิทยา ได้เริ่มงานของหนังสือ คำสอนด้านสังคมของโบสถ์คริสต์และสาขาย่อย อีกสาเหตุหนึ่งก็คือบทความนี้ได้เปิดแนวทางคร่าว ๆ ให้กับเขา ในการศึกษาเปรียบเทียบศาสนากับสังคมอื่น ๆ ซึ่งเวเบอร์ได้กระทำในงานชิ้นถัด ๆ ไป

สังคมวิทยาการเมืองและการปกครอง

[แก้]

ในสังคมวิทยาการเมืองและการปกครอง ความเรียงที่มีบทบาทที่สุดของเวเบอร์น่าจะเป็น การเมืองในฐานะที่เป็นอาชีวะ ในความเรียงนี้ เวเบอร์ได้นิยามความหมายของรัฐที่กลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษาต่อมาในกระแสความคิดตะวันตก กล่าวคือ รัฐคือหน่วยองค์ที่ผูกขาดการใช้กำลังทางกายภาพที่ถูกกฎหมาย ซึ่งรัฐสามารถเลือกที่จะแบ่งปันอำนาจนี้ไปอย่างใดก็ได้ กิจกรรมทางการเมืองจึงสามารถมองได้ว่าเป็นกิจกรรมที่รัฐเข้าไปมีบทบาทบางอย่าง เพื่อส่งผลให้เกิดการจัดสรรกำลังนี้ การเมืองจึงเป็นเรื่องของอำนาจ นักการเมืองจะต้องไม่เป็นคนที่ถือ "จริยธรรมชาวคริสต์อย่างแท้จริง" ซึ่งในความหมายของเวเบอร์นั้นคือผู้ที่ยึดตามคำสอนอย่างเคร่งครัด ถึงขนาดที่ยอมยื่นแก้มอีกข้างให้คนอื่นทำร้าย ผู้ที่ทำได้ดั่งว่า เวเบอร์จัดว่าเป็นนักบุญ ดังนั้นโลกการเมืองจึงไม่ใช่โลกของนักบุญ นักการเมืองจะต้องร่วมหัวจมท้ายกับจริยธรรมของเป้าหมายสุดท้ายและจริยธรรมของความรับผิดชอบ และจะต้องมีทั้งความรักในอาชีพพิเศษของตน พร้อมด้วยความสามารถที่จะทิ้งช่วงห่างระหว่างตนเองกับผู้ที่ถูกปกครอง

อ้างอิง

[แก้]

งานของเวเบอร์มักได้รับการอ้างถึงจาก Gesamtausgabe (ฉบับรวมผลงาน), ที่พิมพ์โดยมอร์ ซีเบ็ค ในทือบิงเงิน ประเทศเยอรมนี

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]