นักเศรษฐศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นักเศรษฐศาสตร์ (อังกฤษ: economist) คือผู้ที่ศึกษาในวิชาด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เดิมนั้นคำว่าเศรษฐศาสตร์ยังไม่ปรากฏขึ้นในโลก จนกระทั่ง อดัม สมิธ ได้เขียนหนังสือชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations (พิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ. 1776) หรือที่ภายหลังเรียกอย่างสั้นๆ ว่า the Wealth of Nations ซึ่งโดยทั่วไปได้รับการยอมรับว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของโลก เหตุผลสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ได้มีการย้ำถึงแนวคิดด้านการเปิดให้กลไกตลาดดำเนินงานอย่างเสรีโดยเชื่อว่า กลไกตลาดนั้นจะเป็นเครื่องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกอย่างโดยตัวมันเอง การแบ่งงานกันทำโดยใช้หลักที่ว่าใครถนัดอะไรก็ให้ทำสิ่งนั้น และการลดการแทรกแซงของรัฐ

หลักการเศรษฐศาสตร์ได้มีการเติบโตขึ้นพร้อมกับการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศ หลักเศรษฐศาสตร์ในยุคนี้จะเน้นเรื่องการค้าระหว่างประเทศ และการสะสมทุน เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น หลักการค้าเสรีก็ยิ่งทำให้หลักเศรษฐศาสตร์ได้รับการยอมรับจนถึงขึ้นเป็นศาสตร์ขึ้น

หลักแนวคิดเช่นนี้จะได้รับการเรียกว่าแนวคิดแบบคลาสสิก และมีการเรียกนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ว่านักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก (และคำนี้ยังคงถูกใช้เรียกนักเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวความเชื่อในการเปิดเสรีการค้า และหลักประสิทธิภาพอันเกิดจากกลไกตลาด)

เศรษฐศาสตร์จะได้รับการพลิกโฉมหน้าอีกครั้งหนึ่งในยุคภาวะถดถอยอันยิ่งใหญ่ (The Great Depression)

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ และนักเศรษฐศาสตร์เคนเซียน[แก้]

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ และนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์เซี่ยน ได้กล่าวถึงภาวะถดถอยอันยิ่งใหญ่ที่เกิดช่วง ค.ศ. 1929 ในสหรัฐ มีสาเหตุที่ไม่แน่ชัดนัก แต่การถดถอยของตลาดหุ้น หรือภาวะฟองสบู่แตก เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดภาวะถดถอยดังกล่าว

ในช่วงนี้เองแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์ได้พบกับมรสุมครั้งใหญ่ เนื่องจากระบบกลไกตลาด และการค้าเสรีนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในครั้งนี้ได้ และในขณะนั้นเองนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้เสนอแนวคิดให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

เคนส์นั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากผู้อื่น เพราะโดยพื้นฐานเขาไม่ใช่นักวิชาการ แต่เขาเป็นพ่อค้าและนักเล่นหุ้นที่ประสบความสำเร็จ และอาจจะโดยลักษณะนี้เองที่ทำให้ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์นั้นให้ความเชื่อถือ และได้ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นให้รัฐบาลมีการใช้จ่ายให้มากขึ้น เช่น การสร้างถนนสาย 66 ซึ่งเชื่อมต่อฝั่งตะวันออกและตะวันตกของสหรัฐ ผลของนโยบายเหล่านี้ รวมทั้งผลกระทบจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจเฟื่องฟูในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950-1960 และได้ทำให้เศรษฐศาสตร์สาขานี้ได้รับการยอมรับ

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้จะเรียกตัวเองว่า เคนเซียน ตามเคนส์ผู้สร้างแนวคิดนี้ โดยพื้นฐานความเชื่อคือ แม้ระบบเศรษฐกิจจะมีการเคลื่อนไหวได้โดยเสรี แต่รัฐบาลควรเป็นปัจจัยที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้มีการเติบโตมากหรือน้อยเกินไป รวมทั้งควบคุมภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และอื่น ๆ

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]