มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ

พิกัด: 13°46′42″N 100°33′26″E / 13.778200°N 100.557130°E / 13.778200; 100.557130
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ
ชื่อย่อมทร.ตะวันออก วข.จักรพงษภูวนารถ / RMUTTO CPC
คติพจน์ราชมงคลสร้างคนสู่งานเชี่ยวชาญเทคโนโลยี
ราชมงคลทั้งเก้าแห่ง
ประเภทมหาวิทยาลัยรัฐ
สถาปนา13 มิถุนายนพ.ศ. 2517
ที่ตั้ง
เว็บไซต์http://www.cpc.ac.th
ดูบทความเกี่ยวกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ (อังกฤษ: Rajamangala University of Technology Tawan-Ok : Chakrabongse Bhuvanarth Campus)เป็นวิทยาเขตหนึ่งที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเน้นการจัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะที่มีทักษะด้านบริหารธุรกิจ การบริหารจัดการ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อย่างมีคุณภาพสามารถปฏิบัติงานได้จริง มีความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้สามารถประกอบอาชีพได้หลายอาชีพ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 122 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ก่อตั้งขึ้น เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนบุตรข้าราชการกองทัพบกส่วนกลาง" โดยจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นผู้ริเริ่ม

งบประมาณในการก่อสร้างได้มาจาก "เงินงบ ง.ส.ร.บ." ที่ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้ชักชวนให้ข้าราชการในสังกัดกองทัพบกทุกท่านเสียสละเงินรายได้ปีละ 1 วัน เพื่อสมทบทุนก่อสร้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการจัดการด้านศึกษาของชาติ และเป็นการตอบแทน ข้าราชการสังกัดกองทัพบก ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติด้วยความเสียสละ ไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องการจัดหาโรงเรียนให้บุตรหลาน ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 เป็นต้นมาแล้ว

โรงเรียนบุตรข้าราชการกองทัพบกส่วนกลาง แล้วเสร็จ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2511 บนเนื้อที่ประมาณ 28 ไร่ ริมถนนวิภาวดีรังสิต เปิดสอนเฉพาะสายสามัญอย่างเดียว โดยมี จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เป็นผู้อุปถัมภ์

โรงเรียนพณิชยการบุตรข้าราชการกองทัพบก[แก้]

จัดตั้งขึ้นโดยกองทัพบก เมื่อปี พ.ศ. 2515 เพื่อให้บุตรข้าราชการกองทัพบก และบุคคลอื่นได้ศึกษาสายอาชีพต่อจากสายสามัญ เป็นอาคารเรียน 2 หลัง บ้านพักอาจารย์ 1 หลังด้านหลังอาคารเรียน เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ เปิดสอนแผนกพณิชยการหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการรับสมัครเข้าเรียนปีแรกด้วยการสอบสัมภาษณ์ มีผู้สมัครและเข้าเรียนในปีแรกประมาณ 400 คน แบ่งเป็น 9 ห้องเรียนละประมาณ 40-50 คน โดยส่วนใหญ่เป็นบุตรของข้าราชการกองทัพบก โดยในปีการศึกษาแรก คือ ปีการศึกษา 2515 เป็นการเรียนรวม และแยกแผนกในปีการศึกษาที่สอง คือ ปีการศึกษา 2516 เป็น 3 แผนก คือ แผนกบัญชี แผนกเลขานุการ และแผนกการขาย

โรงเรียนอาชีวศึกษาบุตรข้าราชการกองทัพบก[แก้]

ภายหลังจากปีการศึกษา 2515 ที่ดำเนินการสอนแผนกพณิชยการมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี ในปีการศึกษา 2516 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  1. มีการเปิดสอนแผนกช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า และช่างวิทยุ เพิ่มขึ้น จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก โรงเรียนพณิชยการบุตรข้าราชการกองทัพบก เป็น "โรงเรียนอาชีวศึกษาบุตรข้าราชการกองทัพบก"
  2. มีการรับนักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกมาจากโรงเรียนพณิชยการพระนคร (ในขณะนั้น)เข้าศึกษาในปีที่หนึ่งแทนการเปิดรับสมัครสอบเองโดยตรง
  3. นักเรียนพณิชยการที่สอบผ่านในปีแรก ได้คัดเลือกออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกบัญชี แผนกการขาย และแผนกเลขานุการ แผนกละ 2 ห้องเรียน
  4. ได้มีการส่งนักเรียนพณิชยการส่วนหนึ่งเข้าสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญ แผนกทั่วไป ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรุ่นแรก ได้รับประกาศนียบัตร ฯ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2517

ภายหลังกองทัพบกได้ มอบให้เป็นหน้าที่ของ กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการต่อ เพราะพิจารณาเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนผู้ชำนาญในการจัดการ ตลอดจนอาคารเรียน อุปกรณ์ ที่ดิน และทรัพย์สิน

วิทยาลัยจักรพงษภูวนารถ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายร่วมกับจอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น มอบอาคารเรียน อุปกรณ์ ที่ดินและทรัพย์สินให้กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2517และให้โรงเรียนบุตรข้าราชการกองทัพบกส่วนกลางเข้าสังกัดกรมสามัญศึกษา และโรงเรียนอาชีวศึกษาบุตรข้าราชการกองทัพบกสังกัด กรมอาชีวศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ขอพระราชทานนาม "จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ" ซึ่งเป็นเสนาธิการกองทัพบกและเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นชื่อแทน "โรงเรียนอาชีวศึกษาบุตรข้าราชการกองทัพบก" โดยใช้ชื่อว่า "วิทยาลัยจักรพงษภูวนารถ" เพื่อเป็นเกียรติแก่กองทัพบก เช่นเดียวกันกับ โรงเรียนบุตรข้าราชการกองทัพบกส่วนกลางโดยได้นำชื่อจอมพล มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนแรก เป็นชื่อโรงเรียนเพื่อเป็นเกียรติแก่กองทัพบกเช่นเดียวกัน ก็คือโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรีในปัจจุบัน

ปีการศึกษา 2517 นักเรียนแผนกพณิชยการ (บัญชี เลขานุการ และการขาย)ได้สำเร็จการศึกษาเป็นรุ่นแรก รับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย สายอาชีพ แผนกพณิชยการ (หลักสูตร 3 ปี) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2518

และในปีการศึกษา 2517 นี้เอง นักเรียนแผนกช่างกล ได้ย้ายไปเรียนรวมกับโรงเรียนช่างฝีมือทหารในปีการศึกษาที่ 2 และไม่มีการเปิดรับสมัครนักเรียนช่างกลอีกต่อไป จึงทำให้มีนักเรียนช่างกลรุ่นเดียวของวิทยาลัย ฯ ที่ได้สำเร็จการศึกษา ในปี 2519 ตามโครงการของกรมอาชีวศึกษา

วิทยาลัยจักรพงษภูวนารถ ย้ายไปสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ตามพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้างและเงินงบประมาณของสถานศึกษาในสังกัดกรมอาชีวศึกษา 28 แห่ง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2520

เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สายวิชาบริหารธุรกิจ 3 สาขาวิชา คือ การบัญชี การตลาด และเลขานุการ ในปี พ.ศ. 2527

พ.ศ. 2528 เปิดสอนสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในภาคเวลาราชการปกติ

พ.ศ. 2529 เปิดสอนภาคนอกเวลาราชการปกติ (รอบบ่าย) ระดับปวส. สายวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการตลาด และ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ

สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ[แก้]

วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 วิทยาลัยจักรพงษภูวนารถ เปลี่ยนเป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ" ตามวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ให้ว่า "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล" และเปิดสอนภาคนอกเวลาราชการปกติ (รอบบ่าย) ระดับ ปวส. สายวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี

  • พ.ศ. 2537 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 2 ปี (ต่อเนื่อง) บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาเอก ระบบสารสนเทศ ภาคปกติ
  • เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สายวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการท่องเที่ยว ภาคปกติ และระดับปริญญาตรี หลักสูตร 2 ปี (ต่อเนื่อง) บริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกระบบสารสนเทศ ภาคสมทบ และวิชาเอกการจัดการทั่วไป ภาคปกติ ปีพ.ศ. 2540
  • พ.ศ. 2541 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 2 ปี (ต่อเนื่อง) บริหารธุรกิจบัณฑิต ภาคสมทบ สาขาวิชาเอก การจัดการทั่วไป
  • พ.ศ. 2542 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี บริหารธุรกิจบัณฑิต ภาคปกติ สาขาวิชาเอก การจัดการทั่วไป
  • พ.ศ. 2543 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี เศรษฐศาสตรบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ) ภาคปกติ สาขาวิชา เศรษฐศาสตร์ วิชาเอก เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ และงดรับนักศึกษาในระดับ ปวช. ตามนโยบายสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่มีจะผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 และงดรับนักศึกษาระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) สาขาวิชาการท่องเที่ยว
  • พ.ศ. 2544 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี บริหารธุรกิจบัณฑิต ภาคปกติ สาขาวิชาเอก การตลาด และภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล หลักสูตร 2 ปี (ต่อเนื่อง) บริหารธุรกิจบัณฑิต ภาคปกติ สาขาวิชาเอกการบัญชี และการตลาด
  • พ.ศ. 2547 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี วิทยาศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ สาขาวิชาเอก วิทยาการคอมพิวเตอร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ[แก้]

สาขาวิชาที่เปิดสอน[แก้]

ปัจจุบัน วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ เปิดสอนในระดับปริญญาตรี มีทั้งหลักสูตรปกติและสบทบ ต่อเนื่องทั้งหมด 2 คณะ ดังต่อไปนี้

  • คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ
    • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
      • สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ
      • สาขาการตลาด
      • สาขาการตลาด (2ปี ต่อเนื่อง)
      • สาขาการจัดการ
      • สาขาการจัดการ (2ปี ต่อเนื่อง)
      • สาขาเทคโนโลยีโลจิสติกส์และการจัดการระบบขนส่ง
      • สาขาเศรษฐศาสตร์
      • สาขาการโฆษณาและประชาสัมพันธ์
      • สาขาระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์-คอมพิวเตอร์ธุรกิจ
      • สาขาระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์-คอมพิวเตอร์ธุรกิจ (2ปี ต่อเนื่อง)
    • หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
      • สาขาการบัญชี
      • สาขาการบัญชี (2ปี ต่อเนื่อง)
    • หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
      • สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์
      • สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
    • หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต
      • สาขามัลติมีเดีย
  • คณะศิลปศาสตร์
    • หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
      • สาขาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล (ปริญญาตรี 4 ปี)
      • สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม (แขนงวิชาการท่องเที่ยว/แขนงวิชาการโรงแรม) (ปริญญาตรี 4 ปี / 2 ปี ต่อเนื่อง)
      • สาขาวิชาการจัดการธุรกิจและเทคโนโลยีการกีฬา (ปริญญาตรี 4 ปี)
    • สาขาที่กำลังจะเปิดสอนในอนาคต
      • สาขาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
      • สาขาวิชาภาษาไทย
      • สาขาวิชาภาษาจีน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°46′42″N 100°33′26″E / 13.778200°N 100.557130°E / 13.778200; 100.557130