พระวรวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระวรวงศ์ เป็นนิทานพื้นบ้านที่พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยอยุธยา โดยอาจมีจุดเริ่มจากการเป็น นิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ก่อน แล้วจึงปรับสถานภาพเป็นชาดก[1]

ประวัติ[แก้]

พระวรวงศ์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติเป็นเอกสารฉบับเก่าที่สุดที่พบเรื่อง พระวรวงศ์[1]

ใน ปุณโณวาทคําฉันท์ ของพระมหานาก วัดท่าทราย ซึ่งแต่งในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้พรรณนาถึงละครชาตรีเรื่อง วรวงศ์ ใน อุณรุทร้อยเรื่อง โดยคุณสุวรรณ พบว่ามีตัวละครใน พระวรวงศ์ กล่าวถึงอยู่ 3 ตัวละคร คือ วรวงศ์ นางกาไว และวงศ์สุริยามาตย์

นอกจากนั้นยังพบว่านิทานคำกาพย์เรื่อง ศรีสุทัศน์สังหัสไชย มีโครงเรื่องคล้าย พระวรวงศ์ น่าจะได้รับอิทธิพลจาก พระวรวงศ์[2]

ฉบับ[แก้]

ปกของ วรวงสชาดก ในปัญญาสชาดก ฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2474

พระวรวงศ์ ปรากฏอยู่ในปัญญาสชาดกฉบับหอสมุดแห่งชาติ เรียกว่า วรวงสชาดก เป็นชาดกลําดับที่ 45 นอกจากนั้นยังพบสํานวนเก่า 2 สํานวนซึ่งเป็นร้อยกรอง คือ วรวงศ์ คํากาพย์ และ ลิลิตวรวงศ์วงศ์สุริยามาตร พบในหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ส่วนอีกสองฉบับพบที่จังหวัดจันทบุรี คือ ตํานานเรื่องเมืองจันทบุรีโบราณ และ พระนางกาไว

ส่วนในแถบลานนา เรียก บัวระวงศ์หงส์อามาตย์ พบถึง 4 สํานวน คือ ฉบับร้านประเทืองวิทยา จังหวัดเชียงใหม่ ฉบับวัดบ้านโอ่งหลวง จังหวัดลำพูน ฉบับวัดดอยสารภี จังหวัดลําพูน ฉบับวัดนันทาราม จังหวัดเชียงใหม่ ในภาคตะวันออก เรียก วงยะมาด พบเพียง 1 สํานวน ที่วัดม่วงขาว จังหวัดปราจีนบุรี ส่วนในภาคใต้พบ 3 สํานวนคือ ฉบับนายนาค ท่าโพธิ์ อําเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฉบับอําเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และฉบับสถาบันทักษิณคดีศึกษา ฉบับภาคใต้มีการแปลงเป็นเพลงกล่อมเด็กเรียก เพลงร้องเรือหรือเพลงขาน้อง[3]

เนื้อเรื่อง[แก้]

พระเจ้าวงศาธิราชผู้ครองภูสานครมีมเหสีสององค์ อัครมเหสีนามว่า วงศ์สุริยาราชเทวี พระนางมีพระโอรส ได้แก่ วงศ์สุริยามาศกุมาร และวรวงศ์กุมารซึ่งคือพระโพธิสัตว์ ส่วนมเหสีอีกองค์นามว่า กาไวยเทวี มีโอรสคือ ไวยทัตกุมาร ไวยทัตกุมารมีนิสัยหยาบช้าทารุณ พระบิดาจึงมีดําริจะไม่ให้ครองราชย์

กาไวยเทวีออกอุบายว่าวงศ์สุริยามาศกุมารและวรวงศ์กุมารล่วงเกินพระนาง พระเจ้าวงศาธิราชหลงเชื่อจึงรับสั่งให้ประหารพระโอรสทั้งสองพระองค์ แต่วงศ์สุริยาราชเทวีติดสินบนเพชฌฆาตให้ปล่อยสองกุมาร ทั้งสองกุมารได้หนีไปในป่า เมื่อค่ำได้บรรทมใต้ต้นไทรใหญ่ ได้ยินไก่ขาวและไก่ทะเลาะวิวาทกัน ไก่ขาวว่าผู้ได้กินหัวใจของตนจะได้เป็นจักรพรรดิราช ฝ่ายไก่ดําก็ว่าผู้ได้กินหัวใจของตนจะสามารถยกหลักศิลา ฆ่ายักษ์ตายแล้วได้เป็นบรมกษัตริย์ พระวงศ์สุริยามาศจึงเสวยหัวใจไก่ขาว ส่วนพระวรวงศ์เสวยหัวใจไก่ดํา

นครอัยยมาศซึ่งว่างกษัตริย์ เหล่าข้าราชการจึงทําพิธีเสี่ยงบุศยราชรถ ปรากฏว่าเสี่ยงได้พระวงศ์สุริยามาศเป็นกษัตริย์ พระวรวงศ์จึงได้พลัดพรากจากพระเชษฐาออกผจญภัยจนได้นางคารวีและยกหลักศิลาสังหารยักษ์ ช่วยชีวิตพระเจ้าภุสาราชได้ ทําให้ได้นางมกุฏเทวีเป็นชายาอีกองค์ จากนั้นพระวรวงศ์พานางคารวรีออกตามหาพระวงศ์สุริยามาศ ต่อมาเกิดพลัดพรากกับนาง ภายหลังได้พบกับพระเชษฐาและและนางคารวี จนได้ประสูติพระโอรสนามว่าดาราวงศ์ จากนั้นได้เดิมทางกลับไปยังภูสานครบ้านเกิด รบชนะพระไวยทัตทำให้กาไวยเทวีดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย พระวรวงศ์ได้ครองเมือง ส่วนพระวงศ์สุริยามาศกลับไปครองนครอัยยมาศ

เมื่อพระวรวงศ์อยู่ในวัยชราได้เสด็จออกบําเพ็ญธรรม เมื่อสิ้นพระชนม์ได้เกิดในดุสิตเทวโลก ตอนท้ายเรื่องระบุว่า พระวรวงศ์ได้เกิดเป็นพระโคดมพุทธเจ้า ส่วนพระเชษฐา คือ พระวงศ์สุริยามาศ จะได้ตรัสรู้เป็นพระเมตไตรยพุทธเจ้า

สถานที่เกี่ยวข้องกับนิทาน[แก้]

วัดทองทั่ว

นิทาน พระนางกาไว ของจังหวัดจันทบุรี มีสถานที่อันเกี่ยวข้องกับนิทาน เช่น ที่พระนางกาไวหว่านทอง เรียกว่า ทองทั่ว หรือ โคกทองทั่ว เมื่อสร้างวัดจึงตั้งชื่อว่า "วัดทองทั่ว" เล่ากันมาแต่ก่อนว่าเคยมีผู้พบทองคําที่บริเวณวัดทองทั่วมาแล้ว[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. "พระวรวงศ์ : วรรณกรรมท้องถิ่นที่แสดงร่องรอยความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้". วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์.
  2. ค้ำชู ณ. (2019). นิทานคำกาพย์เรื่องศรีสุทัศน์สังหัสไชย: การศึกษาต้นฉบับ ลักษณะสหบท และคำสอน. วรรณวิทัศน์, 19(2), 1–28. https://doi.org/10.14456/vannavidas.2019.9
  3. ประพนธ เรืองณรงค์. "พระวรวงศ์ วรรณกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 9.
  4. พลอย นิสสัย. "เก็บบันทึกเรื่องเมืองจันทบุรีโบราณ". หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี.