ครักเดเชอวาลีเย
ครักเดเชอวาลีเย | |
---|---|
ครักเดเชอวาลีเย | |
พิกัด | 34°45′25″N 36°17′40″E / 34.75694°N 36.29444°E |
พื้นที่ | ซีเรีย |
ประวัติศาสตร์ | |
สร้าง | ค.ศ. 1031 |
มรดกโลก (ค.ศ. 2006) |
ครักเดเชอวาลีเย (ฝรั่งเศส: Krak des Chevaliers, Crac des Chevaliers) หรือ ก็อลอะฮ์อัลฮิศน์ (อาหรับ: قلعة الحصن) เป็นปราสาทครูเสดที่ตั้งอยู่ในประเทศซีเรีย ครักเดเชอวาลีเยเป็นปราสาทที่มีความสำคัญในการเป็นปราสาททางการทหารจากยุคกลางที่อยู่ในสภาพที่ดีที่สุดในโลก คำว่า "Krak" ในชื่อมาจากภาษาซีรีแอก "karak" ที่แปลว่าป้อมปราการ ปราสาทอยู่ห่างจากเมืองฮอมส์ไปทางตะวันตกราว 65 ใกล้กับพรมแดนเลบานอน
ที่มาของความหมาย
[แก้]ครักเดเชอวาลีเยรู้จักกันในภาษาอาหรับสมัยใหม่ว่า "ก็อลอะฮ์อัลฮิศน์" ซึ่งแผลงมาจากชื่อป้อมที่มีอยู่เดิมบนสถานที่เดียวกันว่า "ฮิศน์อัลอักรอด" (حصن الأکراد) หรือ "ฐานที่มั่นของชาวเคิร์ด" ชนแฟรงก์เรียกปราสาทว่า "Le Crat" และต่อมาสับสนกับคำว่า "Krak" และ "karak" (ป้อมปราการ) กลายมาเป็นคำว่า "Le Crac"[1]
ที่ตั้ง
[แก้]ปราสาทตั้งอยู่ทางตะวันออกของตริโปลี (Tripoli) เลบานอน ในช่องเขาฮอมส์ บนเนินสูง 650 เมตรบนเส้นทางสายเดียวระหว่างแอนติออก ไปยังเบรุต และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ครักเดเชอวาลีเยเป็นหนึ่งในแนวปราสาทตามพรมแดนของอาณาจักรครูเสด (Crusader states) ปราสาทควบคุมเส้นทางไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและจากปราสาทนี้ ฮอสพิทัลเลอร์สามารถแผ่อำนาจไปได้บ้างในบริเวณทะเลสาบฮอมส์ (Lake Homs) ทางตะวันออกเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมการประมงและเฝ้าดูกองทัพฝ่ายมุสลิมที่รวมตัวกันในซีเรีย
ประวัติ
[แก้]ประวัติโบราณ
[แก้]ตะวันออกกลางมักจะเป็นจุดพบปะระหว่างวัฒนธรรมจากหลายบริเวณโดยเฉพาะบาบิโลเนีย, อียิปต์, ฮิตไทต์, ฮีบรู, โรมัน, เปอร์เซีย, ไบแซนไทน์, อาหรับ, เคิร์ด, ออตโตมัน, เซลจุค และแฟรงก์ เพราะความแตกต่างของวัฒนธรรมต่าง ๆ ทำให้สถาปัตยกรรมของการก่อสร้างปราสาทมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์กว่าการก่อสร้างปราสาทใด ๆ
ความขัดแย้งต่างลงเอยด้วยการต่อสู้ระหว่างชาติต่าง ๆ ในบริเวณที่ก่อตั้งปราสาทรวมทั้งยุทธการสำคัญ--ยุทธการกาเดช (Battle of Kadesh) โรมัน ต่อมาจักรวรรดิไบแซนไทน์หลังจากศาสนเภทตะวันออก-ตะวันตก (East-West Schism) สร้างป้อมปราการแบบกรีกเพื่อต่อต้านการรุกรานทางทหารของเปอร์เซียที่นำไปสู่การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้โดยกองทัพอาหรับหลังจากที่ได้รับชัยชนะต่อบริเวณนั้นในระหว่าง ค.ศ. 634 ถึง ค.ศ. 639
ชัยชนะของอิสลาม
[แก้]ภายใต้การนำของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyad) ช่างก่อสร้างใช้ประโยชน์จากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของไบแซนไทน์ของค่ายทหารและสะพานส่งน้ำ (aqueduct) ของแม่น้ำออรอนตีส (Orontes River) ในการก่อสร้างวังอันงดงามที่ประกอบด้วยสวนกลางทะเลทราย การก่อสร้างดำเนิต่อมาจนถึงสมัยการปกครองของอับบาซียะฮ์ (Abbasid) ในปี ค.ศ. 750 แต่ก็เสื่อมโทรมลงเมื่อตกไปอยู่ภายใต้การดูแลของทหาร กองกำลังตุรกีมิได้ใช้ประโยชน์กับป้อมเท่าใดนัก
สงครามครูเสด
[แก้]ป้อมปราการเดิมสร้างในปี ค.ศ. 1031 สำหรับเอมีร์แห่งอะเลปโป (Aleppo)
ระหว่างสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1099 ป้อมก็ถูกยึดโดยแรมงที่ 4 เคานต์แห่งตูลูซ (Raymond IV of Toulouse) แต่ก็ถูกละทิ้งเมื่อกองทัพครูเสดเดินทางต่อไปยังเยรูซาเลม แต่ปราสาทก็มาถูกยึดอีกครั้งโดยแท็งคริด เจ้าชายแห่งแกลิลี (Tancred, Prince of Galilee) ในปี ค.ศ. 1110 ในปี ค.ศ. 1142 แรมงที่ 2 แห่งตริโปลี (Raymond II of Tripoli) ก็ยกปราสาทให้ลัทธิเซนต์จอห์น
ครักเดเชอวาลีเยจึงกลายเป็นศูนย์กลางของลัทธิเซนต์จอห์นระหว่างสงครามครูเสด ระหว่างปี ค.ศ. 1150 ถึงปี ค.ศ. 1250 ปราสาทก็ได้รับการต่อเติมและขยายเพิ่มเติมจนสามารถเป็นที่ประจำการสำหรับทหารได้จำนวน 2,000 คน กำแพงด้านในมีความหนาถึง 100 ฟุตทีฐานทางด้านไต้[2] โดยมีหอยามเจ็ดหอที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 ฟุต[3]
อัศวินแห่งลัทธิเซนต์จอห์นขยายปราสาทจนกลายเป็นปราสาทครูเสดที่ใหญ่ที่สุดในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ โดยการเพิ่มกำแพงด้านนอกที่หนาสามเมตรและมีหอยามเจ็ดหอที่แต่ละหอมีความหนาระหว่างแปดถึงสิบเมตรเพื่อให้เป็นปราสาทซ้อน ปราสาทอาจจะเป็นที่พำนักของอัศวินแห่งลัทธิเซนต์จอห์นราว 50-60 คนพร้อมกับทหารราบอีกราวสองพันคน ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ปราสาทมีคูที่มีสะพานชัก (drawbridge) ไปยังประตูปราสาท (Postern)
ระหว่างประตูในและประตูนอกเป็นลานที่นำไปสู่สิ่งก่อสร้างภายในปราสาทที่สร้างใหม่โดยอัศวินแห่งลัทธิเซนต์จอห์นเป็นแบบกอทิก สิ่งก่อสร้างเหล่านี้รวมทั้งห้องประชุม, ชาเปล, โรงเก็บเสบียงที่ยาว 120 เมตร และโรงม้าที่ทำด้วยหินที่เป็นที่เลี้ยงม้าได้ราวหนึ่งพันตัว ที่เก็บเสบียงอื่น ๆ ขุดเข้าไปในโพรงหินด้านล่างของปราสาท เชื่อกันว่าอัศวินแห่งลัทธิเซนต์จอห์นที่อยู่ในปราสาทนี้สามารถทนการถูกล้อมได้ถึงห้าปี
ในปี ค.ศ. 1163 นูร อัดดีน (Nur ad-Din) ล้อมเพื่อพยายามจะยึดปราสาทแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งทำให้อัศวินแห่งลัทธิเซนต์จอห์นกลายเป็นกองกำลังอิสระที่สำคัญในบริเวณพรมแดนกับตริโปลี ภาในปี ค.ศ. 1170 การขยายต่อเติมปราสาทก็เสร็จลง ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ก็เกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งที่สร้างความเสียหายให้แก่ปราสาทที่ทำให้ต้องมีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่
เศาะลาฮุดดีนล้อมปราสาทในปี ค.ศ. 1188 เพื่อพยายามจะยึดปราสาทแต่ไม่สำเร็จ ระหว่างการล้อมเศาะลาฮุดดีนจับตัวผู้ดูแลปราสาท (castellan) ได้และถูกนำตัวไปที่หน้าประตูปราสาท และถูกบังคับให้บอกให้ผู้อยู่ข้างในเปิดประตู ผู้ดูแลปราสาทก็ตะโกนเป็นภาษาอาหรับให้ยอมแพ้และเปิดประตู แต่ประโยคต่อมาเป็นภาษาฝรั่งเศสในรักษาปราสาทไว้จนลมหายใจสุดท้าย
ในปี ค.ศ. 1217 ระหว่างสงครามครูเสดครั้งที่ 5 พระเจ้าแอนดรูว์ที่ 2 แห่งฮังการีก็ทรงเสริมสร้างกำแพงรอบนอกและพระราชทานทุนทรัพย์ในการจ้างกองทหารผู้ดูแลปราสาท
ในปี ค.ศ. 1271 ปราสาทถูกยึดโดยไบบาร์ส สุลต่านมัมลุกเมื่อวันที่ 8 เมษายน โดยการใช้เครื่องยิงหิน (catapult) ขนาดใหญ่ที่ต่อมานำไปใช้ในการโจมตีเอเคอร์ในปี ค.ศ. 1291 ไบบาร์สสร้างเสริมปราสาทและใช้เป็นฐานในการต่อต้านตริโปลี และเปลี่ยนโบสถ์น้อยเป็นสุเหร่า
เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษเสด็จไปในสงครามครูเสดครั้งที่ 9 ในปี ค.ศ. 1272 พระองค์ก็ทรงนำลักษณะสถาปัตยกรรมการก่อสร้างมาใช้ในการก่อสร้างปราสาทในราชอาณาจักรอังกฤษและเวลส์ ครักเดเชอวาลีเยได้รับการบรรยายว่าเป็น "อาจจะเป็นปราสาทที่ได้รับการรักษาไว้อย่างดีที่สุดที่เป็นที่น่าชื่นชมที่สุดในโลก" โดยที. อี. ลอว์เรนซ์ (T. E. Lawrence)[3][4] ปราสาทแห่งนี้ได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกพร้อมกับปราสาทเศาะลาฮุดดีน (Citadel of Salah Ed-Din) ในปี ค.ศ. 2006[5] ปราสาทนี้เป็นของรัฐบาลประเทศซีเรีย และเป็นปราสาทเพียงไม่กี่แห่งที่ศิลปะครูเสดในรูปของจิตรกรรมฝาผนังได้รับการอนุรักษ์ไว้
อ้างอิง
[แก้]- ↑ A History of the Crusades: The Art And Architecture of the Crusader, page 152, Kenneth M. Setton, Harry W. Hazard, Published 1977, University of Wisconsin Press, 448 pages, ISBN 0-299-06824-2
- ↑ "Howstuffworks "Krak des Chevaliers"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-13. สืบค้นเมื่อ 2009-05-16.
- ↑ 3.0 3.1 Knights Templar: Lost Worlds, July 10, 2006 video documentary on The History Channel
- ↑ Krak des Chevaliers - Crusader Castle in Syria
- ↑ UNESCO list
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ครักเดเชอวาลีเย
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ผังปราสาท ค.ศ. 1170- ค.ศ. 1190
-
ผังปราสาท (ค.ศ. 1871)
-
ช่องว่างระหว่างกำแพงนอกและกำแพงใน
-
ช่องว่างระหว่างกำแพงนอกและกำแพงใน
-
ช่องว่างระหว่างกำแพงนอกและกำแพงใน
-
ปราสาทบนแสดงให้เห็นถึงความหนาของกำแพง
-
ภายในปราสาท
-
คำจารึกบนผนัง