นกปากกบปักษ์ใต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกปากกบปักษ์ใต้
นกปากกบปักษ์ใต้ในอุทยานแห่งชาติศรีพังงา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Caprimulgiformes
วงศ์: Podargidae
สกุล: Batrachostomus
สปีชีส์: B.  stellatus
ชื่อทวินาม
Batrachostomus stellatus
(Gould, 1837)
แหล่งกระจายพันธุ์ของนกปากกบปักษ์ใต้ (B. stellatus)

นกปากกบปักษ์ใต้ (อังกฤษ: Gould's frogmouth; ชื่อวิทยาศาสตร์: Batrachostomus stellatus) เป็นนกหากินกลางคืนในอันดับ Caprimulgiformes และในวงศ์ Podargidae เป็นหนึ่งใน 12 ชนิดในสกุลนกปากกบ (Batrahostomus)[2] หายาก อาศัยในป่าที่ราบลุ่มและเชิงเขาในบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และภาคใต้ของไทย ลักษณะเด่นคือ ปากที่กว้าง อวบใหญ่ คล้ายปากกบ และมีจุดขาวกระจัดกระจายบนปีกและส่วนใต้ท้องสีขาวหรือขาวหม่นมีดวงสีขาวขอบน้ำตาล องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ระบุสถานะเกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

อนุกรมวิธานและศัพทมูลวิทยา[แก้]

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ "Gould's frogmouth" เพื่อระลึกถึงนักปักษีวิทยาชาวอังกฤษและศิลปินภาพนก จอห์น โกลด์ (John Gould, 1804-1881)[3] ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก batracho (βατραχο) แปลว่า "กบ" และ stoma (στομα) "ปาก" (frogmouth)[4] ชื่อลักษณะ stella และ atus แปลว่า (เป็นดวง ๆ ) "ลายดาว"[5]

นกปากกบปักษ์ใต้ (B. stellatus) เป็นหนึ่งนกในสกุลนกปากกบ 4 ชนิดที่พบในประเทศไทย[6] คือ นกปากกบยักษ์, นกปากกบพันธุ์ชวา, นกปากกบลายดำ และนกปากกบปักษ์ใต้

ชื่ออื่น[แก้]

ภาษามลายู: Burung Segan Bintik Emas, Burung Segan Bintik Mas[7]

ภาษาอินโดนีเซีย: Burung Paruh-kodok Bintang, Paruhkodok Bintang, Paruh-kodok bintang[7]

ลักษณะทางกายวิภาค[แก้]

นกปากกบปักษ์ใต้ (B. stellatus) เป็นนกขนาดกลางที่มีน้ำหนักประมาณ 47 ถึง 48.5 กรัม และวัดความยาวได้ 21 ถึง 25 เซนติเมตร[8] สามารถแบ่งได้ในสองรูปแบบที่แตกต่างกัน คือ สีน้ำตาลอ่อนและสีน้ำตาลเข้ม ทั้งสองมีลวดลายเหมือนกัน[9] ลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาลและมีจุดสีขาวกระจายอยู่บนปีก เส้นรอบคอขาว ลำตัวด้านล่าง (อกส่วนล่างและท้องส่วนบน) สีขาวหม่นมีจุดขนาดใหญ่ (เป็นดวง) รูปไข่สีขาวขอบน้ำตาล[8][10] ลักษณะภาวะทวิสันฐานทางเพศที่ตรงข้ามกับนกปากกบชนิดอื่น ๆ นกปากกบปักษ์ใต้ตัวผู้และตัวเมียมีความคล้ายคลึงกันมาก ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยที่สามารถระบเพศตนได้คือ นกตัวเมียจะมีสีน้ำตาลแดงเข้ม ม่านตาสีน้ำตาล และขาสีเหลือง ในขณะที่ตัวผู้มีม่านตาสีเหลืองและขาสีชมพู[11]

พฤติกรรมและถิ่นอาศัย[แก้]

นกชนิดนี้พบได้เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนกประจำถิ่นของประเทศบรูไน บางภูมิภาคของอินโดนีเซีย พบมากในมาเลเซีย[2] และมีสถานะสูญพันธุ์แล้วในสิงคโปร์[12] และเป็นนกประจำถิ่นที่ถูกระบุว่าเป็นนกที่หายากในประเทศไทยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศ ถิ่นที่อยู่ของนกปากกบปักษ์ใต้คือป่าฝนเขตร้อน มักพบในป่าดงดิบ หรือป่าปฐมภูมิที่ไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์ หรือยังคงสภาพไม้พื้นเมืองที่หนาแน่น มักอาศัยอยู่ในป่าที่ราบลุ่มจนถึงระดับความสูงไม่เกิน 500 เมตร[11]

ในประเทศไทย นกปากกบปักษ์ใต้อาศัยค่อนข้างเบาบางโดยมีค่าความหนาแน่น 2.92 ตัว ต่อตารางกิโลเมตร[13] สามารถอาจพบได้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส อุทยานแห่งชาติศรีพังงา จังหวัดพังงา[6][14]

ร้องเสียงดัง “วี้ว - วี้" หรือร้องแบบต่อเนื่องยาว "วิ้ว" และเป็นช่วง "วุ๊ก ๆ ๆ" อย่างรวดเร็วซึ่งคล้ายเป็นเสียงเตือน[9]

อาหาร[แก้]

เป็นนกกินแมลงเหมือนกับนกปากกบอื่น ๆ ในภูมิภาค นกปากกบปักษ์ใต้กินผีเสื้อกลางคืนชนิดต่าง ๆ ด้วงบางชนิด และตั๊กแตน[11]

การผสมพันธุ์[แก้]

ฤดูผสมพันธุ์ของนกปากกบปักษ์ใต้อาจแตกต่างกันไปตามถิ่นอาศัย ในพื้นที่มาเลเซียเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง กันยายน และในเกาะบอร์เนียวเริ่มตั้งแต่ กุมภาพันธ์ ถึง กรกฎาคม[11] ระยะฟักไข่ประมาณ 30 วัน โดยทั้งพ่อและแม่จะทำการฟักไข่

การทำรัง[แก้]

รังทำด้วยรังของขนร่วงของพ่อแม่นกบางส่วนและมักมีขนาดเล็กและตื้น ผสมกับการใช้กิ่งไม้และไลเคนบางชนิด พ่อแม่นกมักซ่อนรังเพื่อป้องกันจากผู้ล่า[15] รังส่วนใหญ่สูงจากพื้น 1.3 เมตร และตัวเมียวางไข่ครั้งละ 1 ฟองต่อคลอก ไข่มีลักษณะเป็นวงรีและมีสีขาว[8]

สถานะการอนุรักษ์และภัยคุกคาม[แก้]

จากข้อมูลของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) นกปากกบปักษ์ใต้ถูกจัดสถานะใกล้ถูกคุกคาม (NT) ประชากรนกลดลงอย่างต่อเนื่อง[12][16] เนื่องจากภัยคุกคามต่อถิ่นที่อยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย จำนวนนกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มลดลงอย่างมากจากกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่าในที่ราบลุ่ม[12] ซึ่งทำลายถิ่นที่อยู่ของสัตว์หลายชนิด[17] แม้นกปากกบปักษ์ใต้กำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ในประเทศไทย แต่นกชนิดนี้แพร่กระจายโดยกว้างในหลายภูมิภาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ลงได้บ้าง[8]

นกปากกบปักษ์ใต้ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ลำดับที่ 598[18]

อ้างอิง[แก้]

  1. BirdLife International (2012). "Batrachostomus stellatus". IUCN Red List of Threatened Species. 2012. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  2. 2.0 2.1 Avibase (n.d.). "Podarge étoilé".{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. Beolens, Bo; Watkins, Michael (2003). Whose Bird? Men and Women Commemorated in the Common Names of Birds. London: Christopher Helm. pp. 145–146.
  4. Liddell, Henry George (1871). A lexicon. Robert Scott. Oxford. ISBN 0-19-910207-4. OCLC 4060180.
  5. "stellatus - Wiktionary". en.wiktionary.org (ภาษาอังกฤษ).
  6. 6.0 6.1 Parks, Creative Commons Attribution-ShareAlike 4 0 International Thai National. "Batrachostomus stellatus, Gould's frogmouth". Thai National Parks (ภาษาอังกฤษ).
  7. 7.0 7.1 "Batrachostomus stellatus (Gould's Frogmouth) - Avibase". avibase.bsc-eoc.org.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Holyoak (2016). "Gould's Frogmouth". Birds of the World.{{cite journal}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. 9.0 9.1 Ebird (n.d.). "Podarge étoilé". Merlin.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "นกปากกบปักษ์ใต้ - eBird". ebird.org.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 Le-Dantec (2010). "Podarge étoilé". oiseaux.net.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. 12.0 12.1 12.2 International), BirdLife International (BirdLife (2016-10-01). "IUCN Red List of Threatened Species: Batrachostomus stellatus". IUCN Red List of Threatened Species.
  13. ศิริพร ทองอารีย์ สุวิทย์ สุวรรณพงศ์ สมชัย อาแว. 2555. ชนิดและประชากรของนกหากินกลางคืนในป่าบาลา จังหวัดนราธิวาส. หน้า 79-86. ใน ผลงานวิจัย และรายงานความก้าวหน้างานวิจัย ประจำปี 2554. กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพฯ.
  14. โครงการประเมินและติดตามตรวจสอบพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นกและความหลากหลายทางชีวภาพ (IBAs) ในประเทศไทย (CEPF Project). สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย.
  15. Schwartz (2008). "Caprimulgiform". Encyclopedia Britannica.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  16. Encyclopedia of Life (2018). "Gould's Frogmouth". National museum of natural history.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  17. Treesucon and Round (1989). "Report on threatened birds in Thailand". Tiger Paper.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. "สัตว์ป่าคุ้มครอง - โลกสีเขียว". www.verdantplanet.org.