ธงชาติฟิลิปปินส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธงชาติฟิลิปปินส์
การใช้ ธงชาติและธงชาติประจำเรือ Small vexillological symbol or pictogram in black and white showing the different uses of the flag Small vexillological symbol or pictogram in black and white showing the different uses of the flag
สัดส่วนธง 1:2
ประกาศใช้ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1898 (125 ปี)
ลักษณะ ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบ่งตามยาว ครึ่งบนสีน้ำเงิน ครึ่งล่างสีแดง ที่ด้านคันธงเป็นรูปสามเหลี่ยมสีขาว ภายในมีรูปดวงอาทิตย์มีรัศมี 8 แฉก ล้อมด้วยดาวห้าแฉกสีทอง 3 ดวง
ออกแบบโดย เอเมลิโอ อากีนาลโด
ธงชาติฯในรูปแบบอื่น
การใช้ ธงชาติและธงชาติประจำเรือ Small vexillological symbol or pictogram in black and white showing the different uses of the flag Small vexillological symbol or pictogram in black and white showing the different uses of the flag
สัดส่วนธง 1:2
ลักษณะ ลักษณะคล้ายธงข้างต้น แต่สลับเอาสีแดงขึ้นมาไว้ข้างบน ส่วนสีน้ำเงินอยู่ข้างล่าง เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าประเทศอยู่ในภาวะสงคราม
ออกแบบโดย คำสั่งฝ่ายบริหารเลขที่ 321 ลงนามโดย ประธานาธิบดีเอลปิดิโอ กีริโน

ธงชาติฟิลิปปินส์ (ตากาล็อก: Pambansang Watawat ng Pilipinas) มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1 ส่วน ยาว 2 ส่วน ตอนต้นธงเป็นรูปสามเหลี่ยมสีขาว ภายในมีรูปดวงอาทิตย์รัศมี 8 แฉก ล้อมด้วยดาวห้าแฉก 3 ดวง ตามมุมของรูปสามเหลี่ยม รูปเหล่านี้เป็นสีทอง ส่วนทีเหลือของธงนั้นเป็นแถบแบ่งครึ่งตามด้านยาวของธง ครึ่งบนพื้นสีน้ำเงิน ครึ่งล่างพื้นสีแดง หากแถบทั้งสองสีนี้สลับตำแหน่งกัน คือ แถบสีแดงอยู่บน แถบสีน้ำเงินอยู่ตอนล่าง แสดงว่าประเทศฟิลิปปินส์อยู่ในภาวะสงคราม

การออกแบบ[แก้]

สัดส่วน[แก้]

ธงชาติฟิลิปปินส์มีความยาวเป็นสองเท่าของความกว้างธง ซึ่งเมื่อแปลงเป็นอัตราส่วนจะเท่ากับ 1:2 ส่วนความยาวของรูปสามเหลี่ยมสีขาวแต่ละด้านเท่ากับความยาวของด้านกว้างของธง รูปดาวแต่ละดวงนั้นอยู่ในตำแหน่งมุมของรูปสามเหลี่ยม โดยที่จุดยอดของรูปดาวนั้นชี้เข้าหาจุดยอดมุมของรูปสามเหลี่ยมแต่ละมุมนั้น[1]

แบบการสร้างธงชาติฟิลิปปินส์

สำหรับสีของธงชาติ ได้มีการระบุไว้ในรัฐบัญญัติแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์เลขที่ 8491 โดยใช้ตัวเลขระบุชนิดสีตามระบบที่พัฒนาขึ้นโดย Color Association of the United States [1][2] ทั้งนี้ แบบสีธงอย่างเป็นทางการเมื่อเทียบกับระบบสีอื่นๆ ได้แสดงไว้ในตารางเบื้องล่างต่อไปนี้[3]

ระบบสี สีน้ำเงิน สีแดง สีขาว สีทอง
Cable No. 80173 80108 80001 80068
Pantone 286 186 n.a. 116
RGB 0-56-168 206-17-38 255-255-255 252-209-22
CMYK C100-M60-Y0-K5 C0-M90-Y65-K10 n.a. C0-M18-Y85-K0
HEX #0038A8 #CE1126 #FFFFFF #FCD116

การใช้เป็นธงสงคราม[แก้]

ประเทศฟิลิปปินส์มิได้มีการกำหนดธงชัยหรือธงสงคราม (war flag) แยกเป็นการเฉพาะอย่างที่นิยมกันในหลายประเทศ โดยใช้ธงชาติเพียงอย่างเดียวในวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย โดยธงชาติฟิลิปปินส์จะเป็นเครื่องหมายแสดงออกถึงภาวะสงครามของประเทศเมื่อมีการแสดงธงโดยให้แถบสีแดงอยู่ทางด้านบน หรือแถบสีแดงอยู่ทางด้านซ้ายของสายตาผู้มองธงเมื่อแสดงธงแบบแขวนแนวตั้ง[1] ส่วนในยามปกตินั้นจะให้แถบสีน้ำเงินอยู่ทางด้านบนของธง ตัวอย่างของการแสดงธงกลับด้านเช่นนี้ปรากฏในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ช่วงแห่งการปฏิวัติฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1896 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และธงบางส่วนที่ผู้ประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ที่รุมล้อมวังมาลากันญังชูขึ้นเป็นสัญลักษณ์ในการปฏิวัติเอ็ดซา เมื่อ ค.ศ. 1986[1]

ความหมาย[แก้]

รายละเอียดของดวงอาทิตย์ในธงชาติฟิลิปปินส์

จากเอกสารของทางราชการฟิลิปปินส์ ได้ระบุความหมายของสัญลักษณ์ในธงชาติไว้ว่า สามเหลี่ยมสีขาวเป็นเครื่องหมายแทนความเสมอภาคและภราดรภาพ พื้นสีน้ำเงินหมายถึงสันติภาพ สัจจะ และความยุติธรรม และพื้นสีแดงหมายถึงความรักชาติและความมีคุณค่า[4] รูปดวงอาทิตย์มีรัศมีแปดแฉกหมายถึงแปดจังหวัดแรกของประเทศ อันได้แก่ จังหวัดบาตังกาส, จังหวัดบูลาคัน, จังหวัดคาวิเต, จังหวัดลากูนา, จังหวัดมะนิลา, จังหวัดนูเอวา เอคิยา, จังหวัดปัมปังกา และจังหวัดตาร์ลัค ซึ่งพยายามเรียกร้องเอกราชจากสเปนและฝ่ายสเปนได้บังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่เหล่านั้นเมื่อเริ่มเหตุการณ์การปฏิวัติฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1896[5] ดาวสามดวงหมายถึงการแบ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของประเทศออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ เกาะลูซอน เกาะมินดาเนา และหมู่เกาะวิสายัน [5]

อย่างไรก็ตาม ในคำประกาศเอกราชของฟิลิปปินส์ ค.ศ. 1898 ได้นิยามความหมายของธงชาติต่างไปจากปัจจุบัน โดยระบุว่าสีขาวเป็นสัญลักษณ์แทนสมาคมคาติปูนัน (Katipunan) ซึ่งเป็นสมาคมลับที่ต่อต้านการปกครองของจักรวรรดินิยมสเปน สำหรับสีแดงและสีน้ำเงินกำหนดขึ้นจากสีของธงชาติสหรัฐอเมริกาเพื่อแสดงออกถึงความซาบซึ้งที่สหรัฐอเมริกาให้ความคุ้มครองชาวฟิลิปปินส์ในการต่อต้านสเปนในช่วงการปฏิวัติฟิลิปปินส์ ส่วนดาวสามดวงในธง ในคำประกาศเอกราชได้กล่าวว่าดาวดวงหนึ่งในสามดวงนั้นหมายถึงเกาะปานาย ไม่ใช่หมู่เกาะวิสายัน[6]

ประวัติ[แก้]

ธงขบวนการปฏิวัติ[แก้]

นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 ได้เริ่มมีการเชื่อมโยงโดยทั่วไปว่าพัฒนาการของธงชาติฟิลิปปินส์มีต้นกำเนิดมาจากธงประจำกองกำลังของผู้นำแต่ละคนในสมาคมคาติปูนัน ซึ่งเป็นองค์กรปฏิวัติลักษณะคล้ายคลึงกับองค์กรฟรีเมสัน มีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านอำนาจการปกครองของสเปนและชี้นำการปฏิวัติฟิลิปปินส์[7] อย่างไรก็ตาม แม้สัญลักษณ์บางอย่างจะถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติก็ตาม แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าธงประจำกองกำลังเหล่านี้สมควรถือเป็นต้นกำเนิดของธงชาติฟิลิปปินส์หรือไม่[7]

ธงแบบแรกของสมาคมคาติปูนันเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง มีอักษร "K" สีขาว 3 ตัว เรียงกันตามแนวนอน อักษรดังกล่าวนี้เป็นอักษรย่อจากชื่อเต็มของสมาคมคาติปูนันในภาษาตากาล็อก Kataas-taasang Kagalang-galangang Katipunan ng mga Anak ng Bayan ("คาตาอัส-ตาอาซัง คากาลัง-กาลันกัง คาติปูนัน นัง มกา อานัก นัง บายัน" แปลว่า สมาคมสูงสุดและอันเป็นที่นับถือแห่งบุตรของชาติ) พื้นสีแดงของธงหมายถึงเลือด เนื่องจากสมาชิกของคาติปูนันได้ลงนามในเอกสารยืนยันความเป็นสมาชิกกลุ่มด้วยเลือดของตนเอง[7]

ผู้นำหลายคนในคาติปูนันต่างมีธงประจำกองกำลังของตนเองใช้ เช่น อันเดรส โบนีฟาซีโอ, มารีอาโน ลาเนรา, ปีโอ เดล ปีลาร์ เป็นต้น องค์การคาติปูนันในจังหวัดคาวิเต 2 กลุ่มคือกลุ่มมักดิวัง ("Magdiwang") และกลุ่มมักดาโล ("Magdalo") ต่างก็กำหนดแบบธงของกลุ่มตนเองใช้ โดยทั้งสองกลุ่มใช้ธงพื้นสีแดงรูปตะวันสีขาวเช่นกัน แต่แทนที่ทั้งสองกลุ่มจะใช้อักษรย่อ "K" ที่ใจกลางดวงตะวันตามชื่อสมาคมในอักษรโรมัน สมาคมเหล่านั้นกลับใช้อักษรที่ออกเสียง "คา" ในระบบการเขียนบายบายอิน (baybayin) ซึ่งเป็นระบบการเขียนก่อนยุคสเปนปกครอง

สมาคมคาติปูนันได้กำหนดธงแบบใหม่ขึ้นในปี ค.ศ. 1897 ระหว่างการประชุมสมาชิกครั้งหนึ่งในเมืองนาอิก จังหวัดคาวิเต (Naic, Cavite) ธงแบบใหม่นี้เป็นธงพื้นสีแดง มีรูปดวงอาทิตย์ปรากฏใบหน้ามนุษย์สีขาว รูปดังกล่าวนั้นมีรัศมี 8 แฉก หมายถึงจังหวัดทั้งแปดซึ่งสเปนได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อปราบปรามผู้ที่ก่อการกบฏต่อสเปน

แบบธงปัจจุบัน[แก้]

(ซ้าย) เอมีลีโอ อากีนัลโด ผู้ออกแบบธงชาติฟิลิปปินส์แบบปัจจุบัน (ขวา) มาร์เซลา มารีโญ เด อากอนซีญา ผู้เย็บธงชาติฟิลิปปินส์ผืนแรก
หนึ่งในธงชาติฟิลิปปินส์ยุคร่วมสมัยการปฏิวัติฟิลิปปินส์ที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ที่พื้นสีฟ้ามีการเติมข้อความปลุกใจด้วยภาษาสเปน "¡¡¡VIVA LA REPUBLICA FILIPINA VIVA!!!" ("สาธารณรัฐฟิลิปปินส์จงเจริญ!")

แบบธงชาติฟิลิปปินส์ในสมัยใหม่ได้ถูกกำหนดแนวคิดในการออกแบบโดย เอมีลีโอ อากีนัลโด (ผู้ซึ่งต่อมาจะได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ 1) ในระหว่างลี้ภัยทางการเมืองที่เกาะฮ่องกงเมื่อ ค.ศ. 1897 ต่อมาธงผืนแรกตามแบบของอากีนัลโดได้ถูกเย็บขึ้นโดย มาร์เซลา มารีโญ เด อากอนซีญา โดยมีลอเรนซา ผู้เป็นลูกสาวของเธอ และเดลฟีนา เอร์โบซา เด นาตีวีดัด หลานสาวของ โฮเซ รีซัล เป็นผู้ช่วยเย็บธง

ธงชาติฟิลิปปินส์ได้โบกสะบัดอย่างเป็นทางการระหว่างพิธีประกาศเอกราชฟิลิปปินส์ในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1898 ที่เมืองคาวิต จังหวัดคาวีเต (Kawit, Cavite)[8] อย่างไรก็ดี บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์มะนิลาไทมส์ ซึ่งเขียนโดยออกุสโต เด วีอานา (Augusto de Viana) หัวหน้านักวิจัยแผนกประวัติศาสตร์ สถาบันประวัติศาสตร์แห่งชาติฟิลิปปินส์ ได้กล่าวถึงการยืนยันในตำราประวัติศาสตร์หลายฉบับและการจัดพิธีรำลึกในหลายคราว ซึ่งระบุว่าธงชาติได้โบกสะบัดครั้งแรกในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1898 ที่อาลาปัน เมืองอีมุส จังหวัดคาวิเต (lapan, Imus, Cavite) ทั้งนี้ โดยอ้างถึงคำสั่งประธานาธิบดีเลขที่ 374 (Presidential Proclamation No. 374) ซึ่งตราโดยประธานาธิบดี ดิออสดาโด มากาปากัล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1965[9] เนื้อความในบทความดังกล่าวได้พยายามอ้างว่าบันทึกทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ถึงการแสดงธงชาติฟิลิปปินส์ครั้งแรกว่าเกิดขึ้นในเมืองคาวิเต ซิตี เมื่อนายพลอากีนัลโดได้แสดงธงนี้ขึ้นระหว่างการสู้รบครั้งแรกในการปฏิวัติฟิลิปปินส์

ความหมายดั้งเดิมของธงชาติได้ถูกแจกแจงไว้โดยละเอียดในเนื้อความของคำประกาศอิสรภาพ ซึ่งได้อ้างอิงจากแบบภาพร่างที่ได้แนบไว้ด้วยกัน แม้จะไม่ปรากฏบันทึกว่ามีแบบร่างดังกล่าวปรากฏอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม[7] ทั่งนี้ ในแบบดั้งเดิมของธงชาติ ได้ยอมรับการใช้รูปดวงอาทิตย์มีรูปใบหน้ามนุษย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ในเชิงเทววิทยา ให้ปรากฏบนธงชาติ เนื่องจากรูปดังกล่าวถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีการใช้ทั่วไปในบรรดาอดีตอาณานิคมของสเปน สำหรับโทนสีฟ้า/น้ำเงินที่แท้จริงของธงแบบดั้งเดิมนั้น แหล่งข้อมูลต่างๆ มีการกล่าวถึงในทำนองที่ขัดแย้งกัน นักประวัติศาสตร์ได้กล่าวค้านว่าสีธงที่แท้จริงของแบบธงดั้งเดิมควรเป็นสีแดงและสีน้ำเงินแบบเดียวกับที่ใช้ในธงชาติคิวบา โดยอ้างอิงจากหลักฐานในเชิงเกร็ดประวัติศาสตร์และผืนธงในช่วงเวลาร่วมสมัยที่เหลือรอดมาจำนวนน้อยนิด[7]

แบบของธงชาติคิวบาได้ส่งอิทธิพลมายังการออกแบบธงชาติฟิลิปปินส์ เนื่องจากการก่อการปฏิวัติต่อต้านสเปนในคิวบาได้เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่จุดประกายให้เกิดการปฏิวัติฟิลิปปินส์ขึ้น

ธงชาติฟิลิปปินส์ ตามแบบดั้งเดิมของเอมีลีโอ อากีนัลโด
อนุสาวรีย์สามสตรีผู้เย็บธงชาติฟิลิปปินส์ผืนแรก ที่มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ เมืองเกซอนซิตี้
ธงชาติฟิลิปปินส์ในที่ประชุมคองเกรสแห่งมาโลโลส ค.ศ. 1898

เมื่อความเป็นอมิตรระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกาได้ก้าวสู่จุดแตกหักในปี ค.ศ. 1899 ธงชาติฟิลิปปินส์จึงได้ถูกชักขึ้นในลักษณะที่กลับเอาสีแดงขึ้นด้านบนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1899 เพื่อประกาศว่าประเทศได้เข้าสู่ภาวะสงคราม ผลสงครามจบลงด้วยการที่ประธานาธิบดีเอมีลีโอ อากีนัลโด ถูกฝ่ายสหรัฐอเมริกาจับเป็นเชลยและถูกบังคับให้สาบานว่าจะภักดีต่อสหรัฐอเมริกาในอีกสองปีต่อมา

จากการที่สาธารณรัฐฟิลิปปินส์จบลงด้วยความพ่ายแฟ้ต่อสหรัฐอเมริกา ประเทศฟิลิปปินส์จึงถูกปกครองด้วยระบบอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา และการแสดงธงชาติฟิลิปปินส์ได้ถูกประกาศให้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการต่อต้านรัฐบาล ค.ศ. 1907 (Sedition Act of 1907) กฎหมายดังกล่าวนี้ต่อมาได้ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1919[7] เมื่อมีการอนุญาตให้ใช้ธงชาติฟิลิปปินส์ในเวลานั้น ผ้าสีแดงและสีน้ำเงินที่ขายตามห้างร้านขายผ้าต่างๆ ส่วนมากเป็นสีตามแบบของธงชาติสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นธงชาติฟิลิปปินส์นับตั้งแต่ ค.ศ. 1919 เป็นต้นมาจึงใช้สีแดงและน้ำเงินตามแบบธงชาติสหรัฐอเมริกา (สีน้ำเงินในธงดังกล่าวเป็นสีชนิดที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า "สีเนวีบลู") สภานิติบัญญัติฟิลิปปินส์ได้ผ่านรัฐบัญญัติเลขที่ 2928 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1920 เพื่อให้ธงชาติฟิลิปปินส์เป็นธงอย่างเป็นทางการสำหรับหมู่เกาะฟิลิปปินส์ทั้งหมด ส่วนการฉลองวันธงชาติ (Flag Day) ของฟิลิปินส์ในระยะนั้นจนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการฉลองเป็นประจำในวันที่ 30 ตุลาคมของทุกปี อันเป็นวันที่กฎหมายห้ามการใช้ธงชาติฟิลิปปินส์ได้ถูกยกเลิก

เมื่อถึงสมัยของการปกครองตนเองภายใช้ชื่อประเทศเครือรัฐฟิลิปปินส์ (Commonwealth of the Philippines) ซึ่งเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1935 ประธานาธิบดีมานูเอล เกซอน ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารเลขที่ 23 (Executive Order No. 23) ลงวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1935 เพื่อระบุลักษณะของธงในเชิงเทคนิคโดยละเอียด [7] ในข้อกำหนดต่างๆ ของกฎหมายชุดนี้ ได้มีการบัญญัติให้รูปสามเหลี่ยมที่ด้านต้นธงเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า สัดส่วนความกว้างต่อความยาวโดยรวมเป็น 1:2 ตำแหน่งมุมและองศาที่แน่นอนของรูปดวง ลักษณะทางเรขาคณิตและสุนทรียศาสตร์ของรูปดวงอาทิตย์ และการยกเลิกรูปหน้ามนุษย์ในดวงอาทิตย์ออกอย่างเป็นทางการ ทว่าแบบสีของธงที่แน่นอนนั้นหาได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายฉบับนี้ไม่ การระบุลักษณะธงเหล่านี้ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงและมีผลบังคับใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1941 ได้มีการย้ายวันธงชาติอย่างเป็นทางการจากวันที่ 30 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ฟิลิปปินส์ประกาศเอกราชครั้งแรกจากสเปนในปี ค.ศ. 1898

ธงชาติฟิลิปปินส์ได้ถูกห้ามใช้อีกครั้งเมื่อญี่ปุ่นกรีฑาทัพเข้ารุกรานและยึดครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 และถูกชักขึ้นอีกครั้งพร้อมกับการสถาปนาสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้ให้การสนับสนุน ในพิธีการซึ่งถูกจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1943 อดีตประธานาธิบดีเอมีลีโอ อากีนัลโด ได้ชักธงชาติซึ่งใช้สีเลียนแบบธงชาติคิวบาขึ้นอีกครั้ง ธงดังกล่าวยังคงถูกชักโดยให้แถบสีฟ้าอยู่ด้านบนตามปกติจนกระทั่งประธานาธิบดีโฮเซ ลอเรล ประกาศสถานะรัฐในภาวะสงครามต่อประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในปี ค.ศ. 1944 ส่วนรัฐบาลเครือรัฐฟิลิปปินส์พลัดถิ่นซึ่งลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐอเมริกา ยังคงใช้ธงชาติฟิลิปปินส์ตามสีแบบธงชาติสหรัฐอเมริกาเช่นเดิม และใช้ในลักษณะที่กลับเอาสีแดงขึ้นด้านบนนับตั้งแต่การถูกญี่ปุ่นรุกรานมาโดยตลอด ด้วยการต่อสู้ของกองกำลังผสมฟิลิปปินส์-สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1944 และการปลดปล่อยฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1945 ธงชาติฟิลิปปินส์ตามแบบสีธงของอเมริกาได้ถูกนำกลับมาใช้บนแผ่นดินฟิลิปปินส์อีกครั้ง และธงดังกล่าวนี้เองคือแบบธงที่ได้ถูกชักขึ้นในพิธีส่งมอบเอกราชจากสหรัฐอเมริกาสู่ประเทศฟิลิปปินส์ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1946

การเปลี่ยนแปลงแบบธง[แก้]

สีธง[แก้]

รัศมีดวงอาทิตย์[แก้]

ธงซึ่งใช้เป็นเครื่องหมายอำนาจการปกครองประเทศ[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Republic Act No. 8491". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-05. สืบค้นเมื่อ 2009-06-08. (archived from the original เก็บถาวร 2007-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน on 2007-12-05).
  2. "Dictionary of Vexillology:C". Flags of the World. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  3. "Philippines". Vexilla Mundi. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  4. "Flag and Anthem". The Official Website of the Republic of the Philippines. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-24. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  5. 5.0 5.1 "Flag of Philippines". CIA World Factbook. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-13. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  6. "Declaration of Philippine Independence". สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 Quezon, Manuel L. III (2002-04-02). "History of the Philippines Flag". Flags of the World. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  8. Renato Perdon (2010). Footnotes to Philippine History. Universal-Publishers. p. 38. ISBN 9781599428420.
  9. Augusto de Viana (May 28, 2008). "Where was the Filipino Flag first unfurled?". the Manila Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-24. สืบค้นเมื่อ 2008-05-28.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]