ธงชาติปากีสถาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธงชาติปากีสถาน
ชื่ออื่น Sabz Hilali Parcham (ธงเขียวมีเดือนเสี้ยว), Parcham-e-Sitāra-o-Hilāl (ธงเดือนเสี้ยวและดาว)
การใช้ ธงราชการและธงกองทัพ
สัดส่วนธง 2:3
ประกาศใช้ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2490 (76 ปี)
ลักษณะ ธงรูปดาวและจันทร์เสี้ยวสีขาวบนพื้นสีเขียว ที่ด้านคันธงมีแถบสีขาว
ออกแบบโดย ไซเอ็ด อาเมียร์ อุดดิน เก็ดวาอี
ธงชาติฯในรูปแบบอื่น
การใช้ ธงเรือราษฎร์
สัดส่วนธง 2:3
ลักษณะ ธงพื้นแดง มีรูปธงชาติที่มุมธงด้านคันธง
ธงชาติฯในรูปแบบอื่น
การใช้ ธงนาวี
สัดส่วนธง 1:2
ลักษณะ ลักษณะอย่างธงชาติ แต่ขยายขนาดให้ยาวขึ้น

ธงชาติปากีสถาน มีลักษณะเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ภายในแบ่งเป็น 2 ส่วนตามแนวตั้ง ตอนต้นพื้นสีขาว กว้างเป็น 1 ใน 4 ส่วนของความยาวธง ส่วนที่เหลือเป็นพื้นสีเขียว ภายในมีรูปพระจันทร์เสี้ยวและดาวห้าแฉกสีขาว ธงนี้ออกแบบโดย ไซเอ็ด อาเมียร์ อุดดิน เก็ดวาอี (Syed Amir uddin Kedwaii) โดยอาศัยต้นแบบจากธงสันนิบาตมุสลิม (Muslim League) สภาแห่งชาติปากีสถานได้ประกาศให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติ[1] เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2490 ก่อนหน้าการประกาศเอกราชจากบริติชราชในวันถัดมา[2][3][4] ในเพลงชาติปากีสถาน ได้กล่าวถึงธงชาติไว้ในชื่อ "ธงเดือนเสี้ยวและดาว" (ภาษาอูรดู: Parcham-e-Sitāra-o-Hilāl)

พื้นสีเขียวในธงชาติ หมายถึงศาสนาอิสลาม อันเป็นศาสนาของชนส่วนใหญ่ในประเทศ แถบสีขาวที่ต้นธง หมายถึงศาสนาอื่น ๆ ของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในปากีสถาน[5] รูปพระจันทร์เสี้ยวที่กลางธงหมายถึงความก้าวหน้า ส่วนดาวห้าแฉกสีขาวคือแสงสว่างและความรู้[5] ความหมายของธงโดยรวมจึงหมายถึงศาสนาอิสลาม โลกอิสลาม และสิทธิของชนกลุ่มน้อยผู้นับถือศาสนาอื่น[6] ธงชาติปากีสถานจะใช้ประดับในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ของแต่ละปี เช่น วันสาธารณรัฐ (23 มีนาคม) และวันเอกราช (14 สิงหาคม) เป็นต้น

เดิมธงชาติปากีสถานออกแบบโดย มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้ก่อตั้งประเทศปากีสถาน ลักษณะเป็นธงพื้นสีเขียว กลางธงมีรูปจันทร์เสี้ยวและดาวสีขาว ใช้ในสันนิบาตมุสลิมทั่วอินเดีย (All-India Muslim League) ในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของเป้าหมายในการตั้งรัฐเอกราชของชาวมุสลิม แถบสีขาวได้ถูกเพิ่มเข้ามาในภายหลังเมื่อปากีสถานประกาศเอกราชในปี พ.ศ. 2490 เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ

แบบธง[แก้]

รายละเอียดของแบบธงชาติปากีสถานที่ถูกต้อง ซึ่งได้รับการรับรองจากสภาแห่งชาติปากีสถาน มีดังนี้[1]

"(ธงชาติปากีสถานเป็น) ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นสีเขียวเข้ม ยาว 3 ส่วน กว้าง 2 ส่วน มีแถบแนวตั้งสีขาวประดับไว้ที่ด้านคันธง ในพื้นสีเขียวมีรูปจันทร์เสี้ยวและดาวห้าแฉกสีขาวอยู่ตรงกลาง ความกว้างของแถบสีขาวเป็น 1 ใน 4 ส่วนของ (ความยาว) ธง และอยู่ติดกับคันธง ส่วนที่เหลือ 3 ใน 4 ส่วนเป็นพื้นสีเขียวเข้ม สำหรับสัดส่วนของรูปจันทร์เสี้ยวและดาวมีดังนี้:
ให้วาดเส้นทแยงมุมจากมุมบนขวาของรูปสีเหลี่ยมสีเขียวมายังมุมล่างซ้ายของรูปนั้น จากนั้นกำหนดจุด 'A' และจุด 'B' ลงบนเส้นดังกล่าว จุด 'A' มีระยะห่างจากมุมขวาบนและมุมซ้ายล่างของพื้นสีเขียวเท่ากัน ซึ่งก็คือตรงจุดกึ่งกลางรูปดังกล่าวพอดี ส่วนจุด 'B' ให้มีระยะห่างจากมุมขวาบนของรูปสี่เหลี่ยมสีเขียวเป็น 13/20 ส่วนของความกว้างธง วาดวงกลมจากจุด 'A' และจุด 'B' โดยรัศมีวงกลมแต่ละวงนั้นยาว 1.1/4 ส่วนของความกว้างธง การวาดรูปดังกล่าวจะเป็นการสร้างรูปจันทร์เสี้ยวขึ้น สัดส่วนของรูปดาวห้าแฉกนั้น กำหนดขึ้นโดยการวาดวงกลมความกว้าง 1/10 ส่วนของความกว้างธง รูปดังกล่าวจะล้อมรูปดาวห้าแฉกนี้ไว้ ตำแหน่งรูปดาวนั้นให้ปลายด้านหนึ่งหันไปตามแนวเส้นทแยงมุมที่ตำแหน่งของโค้งใหญ่ของรูปจันทร์เสี้ยว เมื่อเสร็จแล้วให้ลบเส้นทแยงมุมออก"

อนึ่ง กระทรวงมหาดไทยของปากีสถานยังได้กำหนดขนาดธงสำหรับใช้ในกรณีต่างๆ ไว้ดังนี้

  • สำหรับใช้ในพิธีการ ใช้ธงขนาด 21" x 14", 18" x 12", 10' x 6 2/3" หรือ 9" x 6 1/4"
  • สำหรับใช้ประดับอาคาร ใช้ธงขนาด 6" x 4" หรือ 3" x 2"
  • สำหรับใช้ในรถยนต์ ใช้ธงขนาด 12" x 8"
  • สำหรับใช้ตั้งโต๊ะ ใช้ธงขนาด 10 1/4" x 8 1/4"

การชักธงชาติในโอกาสสำคัญ[แก้]

วันที่ การชักธง เหตุผล[7]
23 มีนาคม เต็มเสา (ไม่ลดธง) วันประกาศรับรองข้อตกลงเมืองลาฮอร์ (พ.ศ. 2483) และวันก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลาม (พ.ศ. 2499)
21 เมษายน ครึ่งเสา วันคล้ายวันเสียชีวิตของมูฮัมหมัด อิกบาล (Muhammad Iqbal) กวีแห่งชาติปากีสถาน (พ.ศ. 2481)
14 สิงหาคม เต็มเสา วันเอกราช (พ.ศ. 2490)
11 กันยายน ครึ่งเสา วันคล้ายวันเสียชีวิตของมูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (Muhammad Ali Jinnah) บิดาแห่งประเทศปากีสถาน (พ.ศ. 2491)
16 ตุลาคม ครึ่งเสา วันคล้ายวันเสียชีวิตของลิอาควัต อาลี ข่าน (Liaquat Ali Khan) นายกรัฐมนตรคนแรกของประเทศ (พ.ศ. 2494)
25 ธันวาคม เต็มเสา วันคล้ายวันเกิดของมูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (พ.ศ. 2419)
กรณีอื่นนอกเหนือจากนี้รัฐบาลจะกำหนดเป็นคราว ๆ ไป

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Pakistan Flag specification: Resolution Passed by Constituent Assembly". Pakistani.org. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
  2. "Parliamentary History". National Assembly of Pakistan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-24. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
  3. "Parliamentary History of Pakistan" (PDF). Parliamentary Division, Government of Pakistan. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
  4. "Legislative Assembly of Sind under the Pakistan (Provincial Constitution) Order, 1947". Provincial Assembly of Sindh. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-15. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
  5. 5.0 5.1 "Pakistan flag". Ministry of Information and Broadcasting, Government of Pakistan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-05. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
  6. "Basic Facts". Ministry of Information and Broadcasting, Government of Pakistan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-27. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
  7. "Pakistan Flag". Ministry of the Interior, Government of Pakistan. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]