ซินเดอเรลล่า

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาพเขียนของกุสตาฟ โดเร เรื่อง Cendrillon

ซินเดอเรลล่า (อังกฤษ: Cinderella; ฝรั่งเศส: Cendrillon) เป็นเทพนิยายปรัมปราที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงทั่วทั้งโลก มีการดัดแปลงเป็นรูปแบบต่าง ๆ มากมายกว่าพันครั้ง[1] เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเด็กกำพร้าผู้หนึ่งที่อยู่ในอุปถัมภ์ของแม่เลี้ยงกับพี่สาวบุญธรรมสองคน แต่ถูกทารุณและใช้งานเยี่ยงทาส ต่อภายหลังจึงได้พบรักกับเจ้าเมืองหรือเจ้าชายผู้สูงศักดิ์ ตำนานซินเดอเรลล่ามีปรากฏในเทพนิยายหรือนิทานพื้นบ้านประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งโลกโดยมีชื่อของตัวเอกแตกต่างกันออกไป ทว่าฉบับที่มีชื่อเสียงที่สุดเป็นของนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อ ชาร์ล แปโร ในปี ค.ศ. 1697 ซึ่งอิงมาจากวรรณกรรมของ จิอัมบัตติสตา เบซิล เรื่อง La Gatta Cenerentola ในปี ค.ศ. 1634 ในเรื่องนี้ตัวเอกมีชื่อว่า เอลลา (Ella) แต่แม่เลี้ยงกับพี่สาวใจร้ายของเธอพากันเรียกเธอว่า ซินเดอเรลล่า (Cinderella) อันหมายถึง "เอลลาผู้มอมแมม" ซึ่งกลายเป็นชื่อเรียกเทพนิยายในโครงเรื่องนี้โดยทั่วไป

ซินเดอเรลล่า ได้รับการโหวตจากเด็ก ๆ กว่า 1,200 คนจากการสำรวจโดย cinema chain UCI เป็นเทพนิยายยอดนิยมอันดับหนึ่งในดวงใจ เมื่อปี ค.ศ. 2004[2] ผลสำรวจจากกูเกิล เทรนดส์ เมื่อปี ค.ศ. 2008 ก็พบว่า ซินเดอเรลล่า เป็นเทพนิยายที่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงมากที่สุดในโลกอินเทอร์เน็ต[3]

ประวัติ[แก้]

โครงเรื่องของซินเดอเรลล่าน่าจะมีกำเนิดมาแต่ยุคสมัยคลาสสิก นักประวัติศาสตร์กรีกชื่อ สตราโบ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ จีโอกราฟิกา เล่ม 17 ตั้งแต่ราวหนึ่งร้อยปีก่อนคริสตกาล ถึงเรื่องราวของเด็กสาวลูกครึ่งกรีก-อียิปต์ผู้หนึ่งชื่อ โรโดพิส (Rhodopis) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเนื้อเรื่องที่เก่าแก่ที่สุดของซินเดอเรลล่า[4] โรโดพิส (ชื่อมีความหมายว่า "แก้มกุหลาบ") ต้องอยู่ซักเสื้อผ้ามากมายขณะที่เหล่าเพื่อนหญิงรับใช้พากันไปเที่ยวงานเต้นรำเลือกคู่ของเจ้าชายซึ่งฟาโรห์อามาซิสทรงจัดขึ้น นกอินทรีย์นำรองเท้าของเธอที่ประดับกุหลาบไปทิ้งไว้ที่เบื้องบาทของฟาโรห์ในนครเมมฟิส พระองค์ตรัสให้สตรีในราชอาณาจักรทดลองสวมรองเท้านี้ทุกคนเพื่อหาผู้สวมได้พอเหมาะ โรโดพิสสวมได้พอดี ฟาโรห์ตกหลุมรักเธอและได้อภิเษกสมรสกับเธอ ต่อมาเนื้อเรื่องนี้ปรากฏอีกครั้งในงานเขียนของเคลาดิอุส ไอเลียนุส (Claudius Aelianus)[5] แสดงให้เห็นว่าโครงเรื่องซินเดอเรลล่าเป็นที่นิยมมาตลอดยุคคลาสสิก บางทีจุดกำเนิดของตัวละครอาจสืบย้อนไปได้ถึงช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งมีสตรีในราชสำนักเธรซคนหนึ่งใช้ชื่อเดียวกันนี้ และเป็นผู้รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดีกับ อีสป นักเล่านิทานยุคโบราณ[6]

ซินเดอเรลล่าในวัฒนธรรมต่าง ๆ[แก้]

รูปปั้นซินเดอเรลล่าให้อาหารนก จากเทพนิยายกริมม์ ตั้งอยู่ที่สวน Schulenburgpark ในกรุงเบอร์ลิน สร้างขึ้นในโอกาสก่อสร้าง "น้ำพุเทพนิยาย" ในปี ค.ศ. 1970

โครงเรื่องซินเดอเรลล่าเรื่องหนึ่งคือ เย่เซี่ยน (Ye Xian) ซึ่งปรากฏในเรื่องเล่าเบ็ดเตล็ดจากโหย่วหยาง (Miscellaneous Morsels from Youyang)[7] งานเขียนของ ต้วนเฉิงจื่อ บัณฑิตจีนยุคราชวงศ์ถัง ในราว ค.ศ. 860 ในเรื่องนี้ หญิงสาวผู้น่ารักและกรำงานหนักได้เป็นเพื่อนกับปลา ซึ่งต่อมาถูกแม่เลี้ยงของนางฆ่า เย่เซี่ยนเก็บกระดูกปลาไว้ และเกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นเมื่อมันช่วยสร้างชุดที่สวยงามให้นางสวมไปงานเทศกาล ต่อมานางทำรองเท้าหลุดขณะรีบเร่งกลับ พระราชาจึงได้พบนางและตกหลุมรักนาง

ยังมีเทพนิยายอีกเรื่องหนึ่งคือ แอนน์ เดอ เฟอร์นันเดซ (Anne de Fernandez) นิทานของอินโด-มลายู ในยุคกลาง ตัวละครหลักคือแอนน์ ได้เป็นเพื่อนกับปลาพูดได้ ชื่อว่า โกลด์อายส์ (Gold Eyes) ซึ่งที่แท้เป็นแม่ของแอนน์ที่กลับชาติมาเกิด โกลด์อายส์ถูกแม่เลี้ยงของแอนน์ชื่อ ติตา วาเวย์ กับลูกสาวผู้อัปลักษณ์สองคนล่อหลอกและฆ่าตาย พวกเขากินโกลด์อายส์เป็นอาหารค่ำระหว่างที่ใช้ให้แอนน์ออกไปธุระด่วน แล้วเอากระดูกของโกลด์อายส์ให้แอนน์ดูเมื่อเธอกลับมา แม่เลี้ยงยังต้องการให้บุตรสาวของตนแต่งงานกับเจ้าชายแห่งตาลัมบันผู้อ่อนโยนและมีรูปงาม แต่เจ้าชายกลับไปหลงรักแอนน์ เดอ เฟอร์นันเดซ เจ้าชายพบรองเท้าทองซึ่งมีขนาดเล็กมาก และทำให้พระองค์ได้พบกับแอนน์ แม้ว่าพี่สาวบุญธรรมของเธอพยายามจะใส่รองเท้านั้นสักเพียงใด

ที่ประเทศญี่ปุ่น มีนิยายเก่าแก่คล้ายกับซินเดอเรลล่าเรื่องหนึ่ง ชื่อ ชูโจ-ฮิเมะ (Chūjō-hime) นางเป็นบุตรีของขุนนางชื่อ ฟูจิวาระ โนะ โตโยนาริ ในเรื่องนางหนีภัยจากแม่เลี้ยงผู้ชั่วร้ายโดยไปออกบวช ได้รับความช่วยเหลือจากภิกษุณี

ประเทศเกาหลีก็มีตำนานปรัมปราที่โด่งดังเรื่อง คงจี (Kongji) ซึ่งถูกทารุณโดยแม่เลี้ยงกับพี่บุญธรรม นางไปร่วมงานเลี้ยงเฉลิมฉลองที่จวนผู้ว่า และได้พบกับบุตรชายของท่านผู้ว่า เรื่องราวดำเนินไปคล้ายคลึงกับซินเดอเรลล่าของทางยุโรป

สำหรับนิทานพื้นบ้านไทยก็มีเรื่อง ปลาบู่ทอง ตัวละครเอกชื่อ เอื้อย เป็นบุตรคหบดีกับภริยาหลวง ซึ่งตกน้ำเสียชีวิตแล้วมาเกิดเป็นปลาบู่คอยดูแลบุตรสาว ภริยาน้อยของคหบดีหรือแม่เลี้ยงของเอื้อยมีบุตรสาวสองคนชื่อ อ้าย กับ อี่ ทั้งหมดใช้งานเอื้อยเยี่ยงทาส เมื่อเห็นเอื้อยพูดคุยกับปลาบู่ทองในสระ ก็จับปลาบู่มาฆ่าเสีย เกล็ดปลาบู่ฝังดินกลายเป็นต้นมะเขือ แม่เลี้ยงก็ทำลายต้นมะเขือ ผลมะเขือฝังดินเติบใหญ่กลายเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทอง ทำให้พระเจ้าพรหมทัตมาพบเพราะเสียงลมพัดใบโพธิ์ไพเราะ แล้วรับเอื้อยไปอยู่ในวัง

นิทานซินเดอเรลล่าของยุโรปที่เก่าแก่ที่สุดคือเรื่อง La Gatta Cenerentola หรือ "The Hearth Cat" ปรากฏในหนังสือเรื่อง "อิล เพนตาเมอโรน" ("Il Pentamerone") ของนักสะสมเทพนิยายชาวอิตาลี จิอัมบัตติสตา เบซิล (Giambattista Basile) ในปี ค.ศ. 1634 ซินเดอเรลล่าชุดนี้เป็นโครงเรื่องพื้นฐานของซินเดอเรลล่าในยุคต่อ ๆ มาของ ชาร์ลส แปร์โรลต์ นักเขียนชาวฝรั่งเศส รวมถึงพี่น้องตระกูลกริมม์ ชาวเยอรมัน

ซินเดอเรลล่า ของ ชาร์ลส แปร์โรลต์ ในปี ค.ศ. 1697 นับเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด เนื่องมาจากการเพิ่มเติมรายละเอียดปลีกย่อยมากมายในเทพนิยาย เช่น ผลฟักทอง นางฟ้าแม่ทูนหัว และรองเท้าแก้ว เชื่อว่าเขาเปลี่ยนคำจากตำนานเดิมว่า "vair" (ขนสัตว์) เป็น "verre" (แก้ว) ซึ่งทำให้พี่บุญธรรมของซินเดอเรลล่าไม่อาจสวมรองเท้าแก้วให้พอดีได้

นอกจากนี้ยังมีซินเดอเรลล่าของ เจค็อบกับวิลเฮล์ม กริมม์ (พี่น้องตระกูลกริมม์) ซึ่งประพันธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็นับเป็นชุดที่มีชื่อเสียงมากเช่นกัน เด็กสาวในเรื่องนี้ชื่อว่า แอนน์ เดล ทาโคล หรือ แอนน์แห่งทาโคลบัน ใช้ชื่อตำนานว่า Aschenputtel ผู้มาช่วยเด็กสาวไม่ใช่นางฟ้าแม่ทูนหัว แต่เป็นผลจากคำอธิษฐานต่อต้นไม้วิเศษซึ่งงอกงามขึ้นบนหลุมฝังศพของแม่ของเธอ ในเรื่องนี้ พี่เลี้ยงของแอนน์สามารถหลอกเจ้าชายได้โดยการตัดปลายเท้าของตนเพื่อให้สามารถสวมรองเท้าได้ แต่เจ้าชายก็ทราบเรื่องในภายหลัง เมื่อนกพิราบสองตัวจิกลูกตาของพวกนาง ทำให้กลายเป็นขอทานตาบอดไปตลอดชีวิต

ตำนานปรัมปราของชาวเคลติกในสก็อตแลนด์ มีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ Geal, Donn, and Critheanach พี่เลี้ยงทั้งสองในตำนานเคลติกมีชื่อว่า Geal และ Donn ส่วนซินเดอเรลล่าในตำนานนั้นมีชื่อว่า Critheanach

เนื้อเรื่องย่อ (จากฉบับของแปโร)[แก้]

ซินเดอเรลล่ากับนางฟ้าแม่ทูนหัว ภาพวาดของ โอลิเวอร์ เฮอร์ฟอร์ด อิงจากเทพนิยายของแปร์โรลต์

ซินเดอเรลล่าเดิมมีชื่อว่า เอลล่า (Ella) เป็นบุตรสาวของเศรษฐีผู้มั่งมี มารดาของเธอเสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเล็ก เป็นเหตุให้บิดาของเอลล่าจำใจแต่งงานใหม่กับคุณหญิงผู้หนึ่งซึ่งเป็นหม้ายและมีลูกสาวติดมาสองคนเพราะอยากให้เอลล่ามีแม่ ไม่นานนักหลังจากนั้น เศรษฐีผู้เป็นบิดาก็เสียชีวิต ทำให้ธาตุแท้ของแม่เลี้ยงปรากฏขึ้น นางกับลูกสาวใช้งานเอลล่าราวกับเป็นสาวใช้ และใช้จ่ายทรัพย์ที่เป็นของเอลล่าอย่างฟุ่มเฟือย ที่ร้ายกว่านั้น ทั้งสามยังเปลี่ยนชื่อของเอลล่า เป็น ซินเดอเรลล่า ที่แปลว่า สาวน้อยในเถ้าถ่าน เพราะพวกนางใช้งานเอลล่าจนเสื้อผ้าขาดปุปะมอมแมมไปทั้งตัวนั่นเอง

ซินเดอเรลล่ายอมทนลำบากทำงานเรื่อยมาจนกระทั่งวันหนึ่ง มีจดหมายเรียนเชิญหญิงสาวทั่วอาณาจักรให้มาที่พระราชวังเพื่อร่วมงานเต้นรำ แต่ความหมายที่แท้จริงก็คือ พระราชา ต้องการหาคู่ครองให้กับเจ้าชายซึ่งเป็นพระโอรสองค์เดียว จึงใช้งานเต้นรำบังหน้า เมื่อรู้ข่าว ลูกสาวทั้งสองต่างพากันดีใจที่บางทีตนอาจมีโอกาสได้เต้นรำและได้แต่งงานกับเจ้าชายก็เป็นไปได้ เช่นกันกับซินเดอเรลล่า เพราะเธอใฝ่ฝันมาตลอดเวลาว่าจะได้เต้นรำในฟลอร์ที่งดงามและเป็นอิสระจากงานบ้านอันล้นมือเหล่านี้ แต่แน่นอน เมื่อเด็กสาวขอไป แม่เลี้ยงใจร้ายจึงกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานาจนซินเดอเรลล่าไม่มีชุดใส่ไปงานเต้นรำ

ซินเดอเรลล่าเสียใจมาก จึงหนีไปร้องไห้อยู่คนเดียว ทันใดนั้นนางฟ้าแม่ทูนหัวของซินเดอเรลล่าก็ปรากฏตัวขึ้นและบันดาลชุดที่สวยงามที่สุดให้ซินเดอเรลลา พร้อมกับบอกให้เด็กสาวไปงานเต้นรำ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องกลับมาก่อนเที่ยงคืน ไม่เช่นนั้นเวทมนตร์จะเสื่อมลงไปในทันที

ซินเดอเรลล่าได้ทำตามความฝัน แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือ คู่เต้นรำที่เธอก็ไม่ทราบว่าเป็นใครนั้นคือเจ้าชายนั่นเอง ทั้งสองตกหลุมรักกันทั้งที่ยังไม่รู้ชื่อเสียงเรียงนามของอีกฝ่าย แต่เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน ซินเดอเรลล่าก็รีบหนีไปโดยลืมรองเท้าแก้วเอาไว้ เจ้าชายเก็บรองเท้าไว้ได้จึงประกาศว่าจะทรงแต่งงานกับหญิงสาวที่สวมรองเท้าแก้วนี้ได้เท่านั้น

เสนาบดีได้นำรองเท้าแก้วไปตามบ้านต่าง ๆ เพื่อให้หญิงสาวทั่วอาณาจักรได้ลอง จนมาถึงบ้านแม่เลี้ยง เมื่อลูกสาวทั้งสองลองครบแล้ว นางก็โกหกว่าไม่มีหญิงสาวในบ้านอีก พร้อมทำลายรองเท้าแก้วจนแตกละเอียด ทุกคนต่างหมดหวังว่าจะไม่สามารถหาหญิงปริศนาของเจ้าชายพบ แต่สุดท้าย ซินเดอเรลล่าก็หยิบรองเท้าแก้วอีกข้างที่เก็บไว้ขึ้นมาและสวมให้กับเหล่าเสนาได้ดู ทำให้ซินเดอเรลล่าได้แต่งงานกับเจ้าชาย และมีความสุขตราบนานเท่านาน

(ข้อคิดในนิทาน: นารีมีรูปเป็นทรัพย์ แต่ความเมตตากรุณาเป็นสมบัติอันประมาณค่ามิได้ หากปราศจากความเมตตา ย่อมไม่มีสิ่งใดเป็นไปได้ ผู้มีความเมตตาย่อมสามารถทำได้ทุกสิ่ง)[8]

คุณค่าและความนิยม[แก้]

แม้โครงเรื่องเทพนิยายของซินเดอเรลล่าจะปรากฏในวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลกมาแต่เดิมในชื่อต่าง ๆ กัน แต่ฉบับที่โด่งดังที่สุดคือฉบับของ ชาร์ลส์ แปร์โรลต์ ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อ ซินเดอเรลล่า ขึ้นด้วย ซินเดอเรลล่าได้ตีพิมพ์พร้อมกับเทพนิยายเรื่องอื่น ๆ ของแปร์โรลด์ในปี ค.ศ. 1697 หลังจากนั้นก็ได้แพร่หลายและมีการแปลไปเป็นภาษาอื่น ๆ มาก โดยเฉพาะเรื่อง ซินเดอเรลล่า ถือเป็นเทพนิยายที่มีการนำไปทำซ้ำมากที่สุด[9] นักแปลผู้มีชื่อเสียงผู้หนึ่งคือ แองเจล่า คาร์เตอร์ ผู้ได้รับสมญาว่า "เจ้าแม่แห่งเทพนิยาย"[10] ได้แปลผลงานของแปร์โรลด์ไว้มากมายหลายเรื่อง ซินเดอเรลล่านับเป็นผู้บุกเบิก เรื่องราวของสตรีในเทพนิยาย[11] และพลิกแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของสตรีในวรรณกรรม รวมถึง "คุณค่า" ของสตรีซึ่งต้องมีกำเนิดมาจาก "ความดีงาม" ของเธอ[12] แม้ว่าในตอนท้าย ความสุขสบายในชีวิตของสตรียังคงต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายชายอยู่ดี (คือการได้แต่งงานกับเจ้าชาย)

ซินเดอเรลล่าในวัฒนธรรมยุคใหม่โด่งดังที่สุดด้วยฝีมือการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์การ์ตูนของ วอลท์ ดิสนีย์ ในปี ค.ศ. 1950 และได้รับยกย่องว่าเป็นฉบับดัดแปลงจากฉบับของแปร์โรลต์ที่ดีที่สุด[13] ทำให้ภาพของนางฟ้าแม่ทูนหัว รถฟักทอง หนู และรองเท้าแก้ว กลายเป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักในหมู่เด็ก ๆ ทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2004 ซินเดอเรลล่า ได้รับการโหวตจากเด็ก ๆ กว่า 1,200 คนจากการสำรวจโดย cinema chain UCI เป็นเทพนิยายยอดนิยมอันดับหนึ่งในดวงใจ[2] ผลสำรวจจาก google trend เมื่อปี ค.ศ. 2008 ก็พบว่า ซินเดอเรลล่า เป็นเทพนิยายที่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงมากที่สุดในโลกอินเทอร์เน็ต[3]

การดัดแปลง[แก้]

Cendrillon ของ Jules Massenet
Cinderella (1911)

เรื่องราวของ ซินเดอเรลล่า มีการดัดแปลงไปยังสื่อต่าง ๆ มากมาย ต่อไปนี้เป็นเพียงงานดัดแปลงส่วนหนึ่งที่มีชื่อเสียง

โอเปรา[แก้]

  • Cendrillon ละครโอเปร่า 4 องก์ ของ Jules Massenet ประพันธ์ในช่วงปี ค.ศ. 1894-95 โดยเปิดการแสดงรอบแรกที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1899

บัลเล่ต์[แก้]

  • Cinderella (1893) โดย Baron Boris Vietinghoff-Scheel
  • Aschenbrödel (1901) โดย Johann Strauss II, ดัดแปลงต่อและแต่งจนจบโดย Josef Bayer
  • Das Märchen vom Aschenbrödel (1941) โดย Frank Martin
  • Soluschka หรือ Cinderella (1945) โดย Sergei Prokofiev
  • Cinderella (1980) โดย Paul Reade

ละครใบ้[แก้]

มีการนำ ซินเดอเรลล่า มาแสดงเป็นละครเวทีครั้งแรกที่โรงละคร Drury Lane กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 1904 และโรงละคร Adelphi กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 1905 ในครั้งหลังมี Phyllis Dare อายุ 14 ปี เป็นนักแสดงนำ

บทละครเวทีฉบับดั้งเดิมจะเปิดฉากแรกของเรื่องที่ในป่า อันเป็นที่ซึ่งซินเดอเรลล่าได้พบกับเจ้าชายและสหายคู่หู ชื่อ แดนดินี โดยซินเดอเรลล่าเข้าใจผิดว่าแดนดินีเป็นเจ้าชาย ส่วนเจ้าชายเป็นแดนดินี

พ่อของซินเดอเรลล่าชื่อ บารอน ฮาร์ดอัพ ตกอยู่ใต้อำนาจของลูกเลี้ยงสาวหน้าตาน่าเกลียดสองคนพี่น้อง มีคนรับใช้คนหนึ่งชื่อ บัตตอนส์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับซินเดอเรลล่า ตลอดการแสดงละคร บารอนจะถูกนายหน้าเก็บค่าเช่าบ้านคอยดูหมิ่นอยู่เรื่อย ส่วนนางฟ้าแม่ทูนหัวต้องใช้เวทมนตร์เสกรถม้า (จากฟักทอง) คนรถ (จากหนู) คนขับรถ (จากกบ) และชุดราตรีสวยงาม (จากผ้าขี้ริ้ว) สำหรับให้ซินเดอเรลล่าใช้ไปในงานเต้นรำ โดยที่เธอต้องรีบกลับมาก่อนเที่ยงคืน อันเป็นเวลาที่เวทมนตร์จะเสื่อม

ละครเพลง[แก้]

  • ซินเดอเรลล่า ละครเพลงสร้างโดย ร็อดเจอร์แอนด์แฮมเมอร์สไตน์ ออกฉายทางโทรทัศน์รวม 3 ครั้ง ได้แก่
  • ซินเดอเรลล่า ฉบับของร็อดเจอร์แอนด์แฮมเมอร์สไตน์ ยังได้ขึ้นแสดงสดบนเวทีหลายครั้ง รวมถึงคราว ค.ศ. 2005 ซึ่งได้ เปาโล มอนทัลบัน จากฉบับโทรทัศน์ปี 1997 มาร่วมแสดงด้วย

ภาพยนตร์[แก้]

ซินเดอเรลล่า กับนางฟ้าแม่ทูนหัว ของ วอลท์ ดิสนีย์

นับเป็นเวลาหลายทศวรรษที่มีการสร้างภาพยนตร์โดยดัดแปลงจากเรื่อง ซินเดอเรลล่า หรือนำโครงเรื่องไปใช้ โดยจะมีอย่างน้อย 1 เรื่องในทุก ๆ ปี ถือได้ว่าเรื่อง ซินเดอเรลล่า เป็นงานวรรณกรรมที่มีการดัดแปลงไปเป็นภาพยนตร์มากที่สุด อาจเป็นรองแต่เพียงเรื่อง แดรกคูล่า ของแบรม สโตรกเกอร์ เท่านั้น

ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง ซินเดอเรลล่า หรือเรื่องที่ใช้โครงเรื่องทำนองเดียวกันนี้ เรียงตามปีต่าง ๆ ดังนี้

  • ค.ศ. 1899 ภาพยนตร์เรื่องแรกของ ซินเดอเรลล่า ในประเทศฝรั่งเศส ผลงานของ ฌอร์ฌ เมเลียส (Georges Méliès)
  • ค.ศ. 1911 ซินเดอเรลล่า ภาพยนตร์เงียบ นำแสดงโดย Florence La Badie
  • ค.ศ. 1914 ซินเดอเรลล่า ภาพยนตร์เงียบ นำแสดงโดย Mary Pickford
  • ค.ศ. 1922 ซินเดอเรลล่า ภาพยนตร์การ์ตูนสั้น ความยาว 7 นาที ของ ลาฟ-โอ-แกรม สตูดิโอของวอลท์ ดิสนีย์ ออกฉายเมื่อ 6 ธันวาคม 1922[14]
  • ค.ศ. 1934 Poor Cinderella (ซินเดอเรลล่าที่น่าสงสาร) การ์ตูนสั้นของ Fleischer Studio นำแสดงโดย เบ็ตตี้ บูป
  • ค.ศ. 1938 Cinderella Meets Fella (ซินเดอเรลล่าพบเฟลลา) ภาพยนตร์การ์ตูนสั้นของ เมอร์รี่เมโลดี้ (Merrie Melodies)
  • ค.ศ. 1947 Cinderella (Зо́лушка) ภาพยนตร์เพลงของ เลนฟิล์มสตูดิโอ ประเทศรัสเซีย นำแสดงโดย อิราสต์ การิน และ ฟายินา ราเนฟสกายา
  • ค.ศ. 1950 ซินเดอเรลล่า ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องยาวของวอลท์ ดิสนีย์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากจนกลบตำนานซินเดอเรลล่าดั้งเดิม มีการสร้างภาคสองในปี ค.ศ. 2002 ชื่อ Cinderella II: Dreams Come True และภาคสามในปี ค.ศ. 2007 ชื่อ Cinderella III: A Twist in Time
  • ค.ศ. 1955 The Glass Slipper (รองเท้าแก้ว) แสดงโดย เลสลี่ แครอน และ ไมเคิล ไวลดิ้ง
  • ค.ศ. 1960 Cinderfella (ซินเดอเฟลล่า) เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงมากเรื่องหนึ่งเพราะตัวละครเอกกลายเป็นผู้ชาย นำแสดงโดย เจอร์รี่ ลิวอิส
  • ค.ศ. 1970 Hey Cinderella (เฮ้ ซินเดอเรลล่า) ภาพยนตร์ตลกของ จิม เฮนสัน ความยาว 60 นาที ใช้นักแสดงเป็นตัวละครหุ่นมือที่มีชื่อเสียงของจิม เฮนสัน (รวมทั้ง กบเคอร์มิท ที่มีบทสั้น ๆ อยู่ด้วย)
  • ค.ศ. 1973 Tři oříšky pro Popelku/Drei Haselnüsse für Aschenbrödel (พรสามประการของซินเดอเรลล่า) ภาพยนตร์เช็ก-เยอรมัน ซึ่งประกอบด้วยผู้แสดงจากทั้งสองประเทศ และต่างพูดภาษาชาติของตน
  • ค.ศ. 1976 The Slipper and the Rose (รองเท้ากับกุหลาบ) ภาพยนตร์เพลงของอังกฤษแสดงโดย เจมมา คราเวิน และ ริชาร์ด แชมเบอร์เลน
  • ค.ศ. 1977 ซินเดอเรลล่า ภาพยนตร์เพลงรักปนตลกของสหรัฐอเมริกา แสดงโดย เชอร์ริล "เรนโบว์" สมิธ, เบรตต์ สไมลี่ย์ และ ไซ ริชาร์ดสัน กำกับการแสดงโดย ไมเคิล พาทาคี
  • ค.ศ. 1978 Cindy (ซินดี้) ภาพยนตร์สร้างสำหรับออกฉายทางโทรทัศน์
  • ค.ศ. 1989 Hello Kitty's Cinderella ภาพยนตร์อนิเมะอย่างสั้น นำแสดงโดย เฮลโล คิดตี้ ออกฉายในประเทศญี่ปุ่น ต่อมาได้ออกฉายในสหรัฐอเมริกาในชุดซีรีส์ของ เฮลโล คิตตี้ และผองเพื่อน
  • ค.ศ. 1990 If The Shoe Fits ภาพยนตร์ร่วมสมัยสร้างจากโครงเรื่อง ซินเดอเรลล่า ในประเทศฝรั่งเศส แสดงโดย ร็อบ โลว์ และ เจนนิเฟอร์ เกรย์
  • ค.ศ. 1994 ซินเดอเรลล่า สร้างโดย เจ็ตแล็กโปรดักชั่นส์ และจัดจำหน่ายโดย กู้ดไทมส์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ วางจำหน่ายเป็นวิดีโอ
  • ค.ศ. 1997 ซินเดอเรลล่า ภาพยนตร์โทรทัศน์ของ ร็อดเจอร์แอนด์แฮมเมอร์สไตน์ แสดงโดย แบรนดี้ และ วิทนีย์ ฮูสตัน
  • ค.ศ. 1998 Ever After ภาพยนตร์รักโรแมนติกที่อ้างว่า ซินเดอเรลล่าเป็นเรื่องจริงซึ่งพี่น้องกริมม์ได้รู้จักจากบุตรหลาน เหตุการณ์เกิดในประเทศฝรั่งเศสยุคก่อนการปฏิวัติ ในเรื่องนี้ผู้ที่มาช่วยซินเดอเรลล่าจนได้พบกับเจ้าชายคือ ลีโอนาโด ดาวินชี นำแสดงโดย ดรูว์ แบร์รีมอร์ แองเจลิกา ฮูสตัน และ ดักเรย์ สก๊อต
  • ค.ศ. 2000 ซินเดอเรลล่า ภาพยนตร์ประเทศอังกฤษ สร้างให้เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 แสดงโดย แคธลีน เทอร์เนอร์
  • ค.ศ. 2004 A Cinderella Story ภาพยนตร์รักวัยรุ่นสมัยใหม่ แสดงโดย ฮิลารี ดัฟฟ์ และ แชด ไมเคิล เมอร์เรย์
  • ค.ศ. 2004 Ella Enchanted ภาพยนตร์แนวตลกขบขันดัดแปลงจากนวนิยายของ เกล คาร์สัน เลไวน์ ที่ใช้ชื่อเดียวกัน โดยมี แอนน์ แฮททาเวย์ แสดงเป็น เอลล่า และ ฮิว แดนซี่ แสดงเป็นเจ้าชายชาร์มองต์
  • ค.ศ. 2007 Happily N'Ever After ภาพยนตร์การ์ตูนล้อเลียนเทพนิยาย เหตุการณ์กลับตาลปัตรเมื่อแม่เลี้ยงใจร้ายเข้าไปในปราสาทพ่อมดผู้ควบคุมตาชั่งความดี-ความชั่ว ของเทพนิยายทั้งหลาย สร้างโดยแวนการ์ดแอนิเมชั่นโปรดักชั่นส์ กำกับการแสดงโดย พอล เจ. โบลเจอร์

รายการโทรทัศน์[แก้]

  • ดิอิเล็กทริกคอมพานี สร้างละครล้อเลียนเรื่อง ซินเดอเรลล่า โดยมี จูดี้ เกราบาร์ต แสดงเป็น ซินเดอเรลล่า และ ริต้า โมเรโน แสดงเป็นแม่เลี้ยงใจร้าย
  • รายการ Faerie Tale Theatre สร้างจากเทพนิยายเรื่องต่าง ๆ ออกอากาศระหว่างปี ค.ศ. 1982 - 1987 รวมถึงเรื่อง ซินเดอเรลล่า โดยมี เจนนิเฟอร์ บีลส์ แสดงนำ
  • ราวปี 2004-2005 มีละครโทรทัศน์เรื่อง Floricienta ออกฉายในอาร์เจนตินา โคลัมเบีย และเม็กซิโก กับเรื่อง Floribella ฉายในโปรตุเกส บราซิล และชิลี โดยใช้โครงเรื่อง ซินเดอเรลล่า มาดัดแปลง[15]
  • ต่อมาในปี 2007 ละครโทรทัศน์อีกเรื่องหนึ่งออกฉายในเม็กซิโก ชื่อ Lola...Erase Una Vez เป็นละครวัยรุ่นที่สร้างจากโครงเรื่อง ซินเดอเรลล่า และ Floricienta
  • ซีรีส์การ์ตูนของดิสนีย์ ชุด DuckTales แปลงเรื่อง ซินเดอเรลล่า ไปเป็น Scroogerello (ตัวละครเอกของซีรีส์ชื่อ Scrooge) ออกอากาศเมื่อ 25 กันยายน ค.ศ. 1987
  • Cinderella Monogatari (シンデレラ物語, Shinderera Monogatari?) การ์ตูนชุดหรืออนิเมะ ความยาว 26 ตอน ออกอากาศในประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1996 สร้างโดย ทัตสึโนโกะ โปรดักชั่น
  • ระหว่างปี 1987-1989 มีรายการทีวีซีรีส์แบบแอนิเมชัน ของประเทศญี่ปุ่น ชุด เทพนิยายคลาสสิกของกริมม์ (Grimm's Fairy Tale Classics) ซึ่งมีเรื่อง ซินเดอเรลล่า รวมอยู่ด้วย
  • ในละครทีวีชุด Coronation Street ซึ่งเป็นละครที่โด่งดังและออกอากาศยาวนานที่สุดในประเทศอังกฤษ มีตอนพิเศษตอนหนึ่งซึ่ง แฟรงกี้ บอลด์วิน แสดงเป็น ซินเดอเรลล่า แดนนี บอลด์วิน แสดงเป็นเจ้าชาย พ่อเลี้ยงใจร้ายแสดงโดยแจ็ค ดัคเวิร์ธ พี่สาวบุญธรรมแสดงโดย รอย ครอปเปอร์ และ นอร์ริส โคล ส่วนนางฟ้าแม่ทูนหัวแสดงโดย เบฟ อันวิน และมี เฟร็ด เอลเลียต เป็นเทวดาพ่อทูนหัว
  • ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ในละครตลก (sitcom) เรื่อง The Charmings มีตอนหนึ่งที่ซินเดอเรลล่ามาเยือน และพยายามแย่งเจ้าชายของสโนว์ไวท์
  • ละครชุด Fairy Tales ของสถานีโทรทัศน์บีบีซี ออกอากาศในปี ค.ศ. 2008 ได้ดัดแปลงเนื้อเรื่อง ซินเดอเรลล่า ให้ทันสมัยกับเหตุการณ์ปัจจุบัน
  • ปี 2010 สถานีโทรทัศน์ KBS ของประเทศเกาหลีใต้ ได้ผลิตละครโทรทัศน์เรื่อง Cinderella’s Sister โดยนำพี่สาวของซินเดอเรลล่ามาเป็นตัวเอกของเรื่อง เป็นเรื่องราวของซินเดอเรลล่าในยุคสมัยใหม่ พี่สาวซินเดอเรลล่าแสดงโดย มุนกึนยอง ส่วนซินเดอเรลล่าแสดงโดย ซอวู
  • ปี 2013 ละครโทรทัศน์ ซินเดอเรลล่ารองเท้าแตะ (ประเทศไทย) นำแสดงโดย เป้ อารักษ์ มิน พีชญา ณัฏฐวุฒิ อิศรางกูร ณ อยุธยา สเตฟานี เลอร์ช

หนังสือ[แก้]

ปกหนังสือ Ella Enchanted ของ เกล คาร์สัน เลวีน ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ใช้ชื่อเดียวกัน นำแสดงโดยแอนน์ แฮททาเวย์ และฮิว แดนซี

รายชื่อหนังสือบางส่วนที่เกี่ยวข้องหรืออยู่บนโครงเรื่องของซินเดอเรลล่า

  • Bound โดย Donna Jo Napoli
  • Chinese Cinderella โดย Adeline Yen Mah
  • Cinderalla โดย Junko Mizuno
  • Cinder โดย Marissa Meyer นวนิยายเล่มแรกในหนังสือแนวไซไฟ ชุดไตรภาค The Lunar Chronicles (ใช้ชื่อไทยว่า: ปกรณัมแดนจันทรา โดยสำนักพิมพ์ Muse Piblishing) ในเรื่องนี้เอายุคสมัยอนาคตมาดัดแปลงใหม่ เนื้อหาเกี่ยวกับหลินซินเดอร์ ช่างเครื่องอันดับหนึ่งของเมืองนิวเป่ยจิงและได้พบกับเจ้าชายรูปงาม โดยขอนางเต้นรำ ตอนแรกนางปฏิเสธ แต่เมื่อน้องสาวบุญธรรมของตนป่วยและติดเชื้อมาก ทำให้นางจึงไปงานเต้นรำแทนน้องสาวบุญธรรมของตน
  • Confessions of an Ugly Stepsister โดย Gregory Maguire
  • Ella Enchanted โดย Gail Carson Levine ในเรื่องนี้ เอลล่าตกอยู่ใต้คำสาปตั้งแต่เกิด ทำให้เธอต้องเชื่อฟังคำสั่งทุกอย่าง เนื้อหาเกี่ยวกับงานเต้นรำเพิ่งปรากฏในช่วงท้าย ๆ ของเรื่อง ส่วนมากจะเกี่ยวกับการที่เอลล่าพยายามหนีให้พ้นคำสาป เจ้าชายในเรื่องนี้ได้พบกับเอลล่าก่อนถึงงานเต้นรำ แต่จำเธอไม่ได้เพราะเธอปลอมตัว
  • Cinderellis and the Glass Hill โดย Gail Carson Levine
  • I was a Rat! or The Scarlet Slippers โดย ฟิลิป พูลแมน
  • Bella at Midnight โดย Diane Stanley
  • Just Ella โดย Margaret Peterson Haddix
  • Ludwig Revolution โดย คาโอริ ยูกิ ในเวอร์ชันนี้ เท้าของซินเดอเรลล่าใหญ่เกินไปใส่รองเท้าไม่ได้ ตัวเอกในเรื่องจึงให้เธอยืมรองเท้าไปใส่แทน (เปรียบเป็นนางฟ้าแม่ทูนหัว) งานเต้นรำในเรื่องไม่ได้จัดขึ้นเพื่อหาหญิงสาวมาเป็นเจ้าสาวของเจ้าชาย แต่จัดขึ้นเพื่อหาตัวหญิงเท้าโตที่ทำให้กิ้งก่าสุดรักของเจ้าชายตาย
  • Nine Coaches Waiting โดย Mary Stewart
  • Politically Correct Bedtime Stories โดย James Garner ในเวอร์ชันนี้ ชุดราตรีของซินเดอเรลล่าเป็นชุดที่ "ทำจากไหมที่ขโมยมาจากหนอนไหมลึกลับ" พวกผู้ชายต่างฆ่าฟันกันเพื่อชิงตัวเธอ ในตอนท้าย ผู้หญิงมีอำนาจเหนือในการปกครอง และออกกฎหมายให้ผู้หญิงได้สวมเสื้อผ้าที่อบอุ่นและเหมาะสมเท่านั้น
  • The Ash Girl โดย Timberlake Wertenbaker
  • The Egyptian Cinderella โดย Shirley Climo (ผสมเรื่องในตำนานอียิปต์เกี่ยวกับ โรโดพิส และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของอียิปต์ลงไปด้วย)
  • The Glass Slipper โดย Eleanor Farjeon
  • The Persian Cinderella โดย Shirley Climo
  • Phoenix and Ashes โดย Mercedes Lackey
  • When Cinderella Falls Down Dead โดย Joshua Gabe และ Grayian Phoenix เวอร์ชันนี้ ซินเดอเรลล่ามาอยู่ในร่างหญิงสาวในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21
  • Witches Abroad โดย Terry Pratchett

เพลง[แก้]

มีบทเพลงมากมายที่แต่งขึ้นเกี่ยวกับ ซินเดอเรลล่า หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างเพลงที่มีชื่อเสียงมีดังนี้

อ้างอิง[แก้]

  1. แจ็ค ซิปส์, The Great Fairy Tale Tradition: From Straparola and Basile to the Brothers Grimm, น. 444, ISBN 0-393-97636-X
  2. 2.0 2.1 Cinderella named 'top fairytale' จาก BBCnews.co.uk เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-01-18
  3. 3.0 3.1 Cinderella Most Popular Fairy Tale on Net, storynory.com, เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-01-18
  4. "The Egyptian Cinderella"
  5. ไอเลียน, "Various History", 13.33
  6. Herodot, "The "Histories", 2.134-135
  7. Modern Chinese Cinderella in Jiang Hu เก็บถาวร 2006-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (PDF) เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-01-18
  8. Perrault: Cinderella; or, The Little Glass Slipper
  9. "BOOKS, LITERATURE: "Mufaro's Beautiful Daughters" (Steptoe) and "Cinderella" (Brown)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-05. สืบค้นเมื่อ 2009-01-19.
  10. The Fairy Tales of Charles Perrault by Angela Carter จาก guardian.co.uk, The Observer, เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-01-19
  11. "Cinderella" by Charles Perrault ; pictures by Susan Jeffers ; retold by Amy Ehrlich.[ลิงก์เสีย] A Book Reviewed, เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-01-19
  12. Perrault's Durable Myth Cinderella: WestCiv Female Role Model Propaganda
  13. "Cinderella" Movies Reviewed by bbc.co.uk เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-01-19
  14. "วิดีโอการ์ตูนสั้นเรื่อง ซินเดอเรลล่า ของ ลาฟ-โอ-แกรม ดิสนีย์ (1922)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-21. สืบค้นเมื่อ 2008-05-03.
  15. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-11. สืบค้นเมื่อ 2008-05-09.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]