การขยายตัวของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัฐสมาชิกในปัจจุบัน

การขยายตัวของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกระบวนการซึ่งขยายสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการรับรัฐสมาชิกใหม่เข้ามา กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อสมาชิกก่อตั้งห้าประเทศ ที่ได้ลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2510 นับตั้งแต่นั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เพิ่มเป็นสิบประเทศ โดยประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมกับอาเซียนคือ ประเทศกัมพูชา ใน พ.ศ. 2542 ปัจจุบัน การเจรจารับเข้าเป็นสมาชิกกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนกับสองรัฐ ได้แก่ ประเทศปาปัวนิวกินี[1][2] และประเทศติมอร์-เลสเต[3]

เกณฑ์[แก้]

เกณฑ์สมาชิกภาพ[แก้]

หนึ่งในเกณฑ์สมาชิกภาพ คือ สมาชิกตามที่มุ่งหวังนั้นจะต้องตกลงลงนามหรือเข้าร่วมกับสนธิสัญญา แถลงการณ์และความตกลงทั้งหมดในอาเซียน เริ่มตั้งแต่ที่ระบุไว้ในปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 และที่เพิ่มเติมและพัฒนาขึ้นในสนธิสัญญา แถลงการณ์และความตกลงของอาเซียนในกาลต่อมา ความกังวลร่วมกันอย่างหนึ่งซึ่งจะต้องหยิบยกขึ้นผ่านการเจรจา คือ ความสามารถของสมาชิกที่คาดหวังในการเข้าร่วมกับเขตการค้าเสรีอาเซียน และการจัดการความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นทั้งหมด อีกหนึ่งวิธีกำหนดเป้าหมายของสมาชิกที่มุ่งหวังที่สำคัญคือ การเข้าร่วมในการประชุมอาเซียนและการมีส่วนร่วมในโครงการความร่วมมือต่าง ๆ[4]

ปฏิญญากรุงเทพฯ มิได้วางเงื่อนไขสมาชิกภาพใด นอกเหนือไปจากว่าประเทศนั้นจะต้องตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐทั่วไป อาเซียนไม่มีเกณฑ์สมาชิกภาพที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของรัฐบาล ระบบและทิศทางของอุดมการณ์ นโยบายเศรษฐกิจหรือระดับการพัฒนา หากมีเกณฑ์ดังกล่าวมากำหนดสมาชิกภาพแล้ว องค์การความร่วมมือในภูมิภาคจะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้องค์การดังกล่าวมีความหลากหลาย[5] และเพื่อจะได้รับการยอมรับเป็นรัฐสมาชิกอาเซียน รัฐนั้นจะต้องมีสถานเอกอัครราชทูตอยู่ในทุกประเทศสมาชิกในปัจจุบันของกลุ่ม[6]

เกณฑ์การได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์[แก้]

เจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนได้ตกลงใน พ.ศ. 2526 ว่า สถานะผู้สังเกตการณ์ "ควรมอบให้เฉพาะกับรัฐที่มีศักยภาพเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนที่เป็นไปตามเกณฑ์สมาชิกภาพอาเซียน" โดยมีเกณฑ์ข้อหนึ่งระบุว่า "มีเพียงรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนได้"[5]

เกณฑ์การเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก[แก้]

การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum, ARF) เวทีอภิปรายพหุภาคีในหมู่ประเทศเอเชียแปซิฟิก มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเจรจาและการปรึกษาระหว่างประเทศ ทั้งยังสนับสนุนการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและการทูตเชิงป้องกันทั่วภูมิภาค[7] เกณฑ์สมาชิกภาพสำหรับ ARF เช่นเดียวกับคู่เจรจาอื่น ๆ ระบุไว้ระหว่าง ARF ครั้งที่สองใน พ.ศ. 2539 ในกรุงจาการ์ตา รัฐมนตรี ARF รับเกณฑ์ที่ว่า ผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิก ARF ต้องเป็นรัฐอธิปไตย ซึ่งตามนโยบายจีนเดียว ชัดเจนว่าต้องไม่นับรวมไต้หวัน พวกเขาต้อง "ปฏิบัติตามและเคารพการตัดสินใจและแถลงการณ์ที่ ARF กระทำไว้แล้วอย่างเต็มที่" เกณฑ์ดังกล่าวเน้นว่า สมาชิกอาเซียนมีส่วนใน ARF "โดยอัตโนมัติ"[5]

การขยายตัวในอดีต[แก้]

a map
การขยายตัวของอาเซียนตั้งแต่ ค.ศ. 1967-1999

สมาชิกผู้ก่อตั้ง[แก้]

อาเซียนถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศของห้าประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ประชุมกันที่พระราชวังสราญรมย์ อันเป็นที่ตั้งของกระทรวงการต่างประเทศของไทยในกรุงเทพมหานคร ณ ขณะนั้น และลงนามปฏิญญาอาเซียน ซึ่งรู้จักกันมากกว่าในชื่อ ปฏิญญากรุงเทพ โดยรัฐมนตรีทั้งห้า ได้แก่ อดัม มาลิกจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นาร์ซิโซ รามอสจากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ อับดุล ราซัก ฮุซเซนจากมาเลเซีย เอส. ราชารัตนัมจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ และถนัด คอมันตร์จากราชอาณาจักรไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งองค์กร[8]

การขยายตัวแรก[แก้]

ใน พ.ศ. 2519 ประเทศปาปัวนิวกินีในเมลานีเซีย ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์[9]

กลุ่มอาเซียนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเมื่อประเทศบรูไนเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2527 เพียงแค่หนึ่งสัปดาห์หลังได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปีเดียวกัน[10]

ส่วนประเทศเวียดนามได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ใน พ.ศ. 2536 และได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 7 ในวันที่วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2538[11]

ลาว พม่า และกัมพูชา[แก้]

สมาชิกสามประเทศล่าสุดของอาเซียนยื่นคำขอเข้าร่วมกลุ่มในคริสต์ทศวรรษ 1990

ประเทศลาวเป็นผู้สังเกตการณ์อาเซียนในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน (AMM) ครั้งที่ 25 ที่จัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2535 ครั้งที่ 28 ที่กรุงบันดาร์เซอรีเบอกาวัน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมสะหวาด เล่งสะหวัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของลาว ได้กล่าวว่า เขาปรารถนาจะเห็นลาวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนใน พ.ศ. 2540 โดยความปรารถนาดังกล่าวได้แสดงในจดหมายขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของลาว ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539[4]

ประเทศกัมพูชาได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ที่ AMM ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบันดาร์เซอรีเบอกาวัน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 อึง ฮวด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือนานาชาติของกัมพูชา ได้ยื่นคำขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในจดหมายลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2539 เช่นเดียวกับลาว กัมพูชาปรารถนาจะเข้าร่วมกับอาเซียนใน พ.ศ. 2540[4]

ส่วนประเทศพม่า โอนจอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพม่า เข้าร่วม AMM ครั้งที่ 27 ณ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2537 และครั้งที่ 28 ณ กรุงบันดาร์เซอรีเบอกาวัน พ.ศ. 2538 ในฐานะแขกของรัฐเจ้าภาพ ระหว่างการประขุม AMM ครั้งที่ 28 พม่าเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยื่นคำขอสถานะผู้สังเกตการณ์อาเซียน

ต้านชเว นายกรัฐมนตรีพม่า พร้อมด้วย คำไต สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว และสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เข้าร่วมการประชุมกับหัวหน้ารัฐบาลอาเซียนระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 5 ณ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เขาแสดงความหวังว่า พม่าจะได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์อาเซียนในการประชุม AMM ครั้งถัดไป คือครั้งที่ 29 ที่จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ใน พ.ศ. 2539[4]

คณะกรรมการความมั่นคงอาเซียน (ASC) ก่อตั้งคณะทำงานว่าด้วยสมาชิกภาพของกัมพูชาและลาวเพื่อพิจารณาประเด็นทั้งหมดภายใต้ขอบเขตของ ASC ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการสำหรับและของสมาชิกที่คาดหวังทั้งสองประเทศในการเข้าร่วมกับอาเซียน วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 คณะทำงานจุดการประชุมกับเลขาธิการของกรมอาเซียนลาวในกรุงจาการ์ตา[4]

ในการประชุม AMM ครั้งที่ 29 พม่าได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าได้ปรึกษากับอาเซียนและเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2539 รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าได้ยื่นคำขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของพม่าอย่างเป็นทางการ ทั้งยังได้แสดงความปรารถนาว่าพม่าจะเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนภายใน พ.ศ. 2540 พร้อมกัมพูชาและลาว[4]

ASC ได้ขยายอำนาจของคณะทำงานที่กำลังศึกษาสมาชิกภาพของกัมพูชาและลาวให้รวมสมาชิกภาพของพม่าด้วย[4] ลาวและพม่าได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 เป็นลำดับที่ 8 และ 9 ตามลำดับ กัมพูชาเองก็มีกำหนดเข้าร่วมพร้อมกับลาวและพม่าเช่นกัน แต่ถูกเลื่อนออกไปเพราะการต่อสู้ทางการเมืองภายในประเทศ ภายหลังได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 10 เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542 หลังรัฐบาลมีเสถียรภาพมั่นคงแล้ว[12][13]

ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1990 กลุ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับแรงขับเคลื่อนให้บูรณาการมากขึ้น ใน พ.ศ. 2533 มาเลเซียเสนอให้จัดตั้งความร่วมมือทางเขตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (EAEC)[14] ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกอาเซียนขณะนั้น เช่นเดียวกับประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยมีเจตนาเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของสหรัฐในความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เช่นเดียวกับในภูมิภาคเอเชียโดยรวม[15][16] อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวล้มเหลว เพราะได้รับเสียงคัดค้านอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น[15][17] แม้จะล้มเหลว รัฐสมาชิกยังคงทำงานเพื่อบูรณาการต่อไปและอาเซียนบวกสามถูกจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2540

ใน พ.ศ. 2535 แผนอัตราศุลกากรพิเศษที่เท่ากัน (Common Effective Preferential Tariff - CEPT) มีการลงนามเป็นกำหนดการภาษีศุลกากรและมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันของภูมิภาคเป็นฐานการผลิตที่ขับเคลื่อนตลาดโลก กฎหมายดังกล่าวอาจเป็นเสมือนกรอบของเขตการค้าเสรีอาเซียน หลังจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 มาเลเซียก็รื้อฟื้นข้อเสนอขึ้นมาอีกครั้งในการประชุมที่เชียงใหม่ หรือรู้จักกันในชื่อ มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ ซึ่งเรียกร้องบูรณาการที่ดียิ่งขึ้นระหว่างเศรษฐกิจอาเซียนเช่นเดียวกับประเทศอาเซียนบวกสาม[18]

การขยายตัวในอนาคต[แก้]

  รัฐสมาชิก
  รัฐที่มีโอกาสได้รับสถานะสังเกตการณ์: ประเทศบังคลาเทศและประเทศฟีจี

รัฐสังเกตการณ์[แก้]

ปาปัวนิวกินี[แก้]

ประเทศปาปัวนิวกินี เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ก่อนหน้าประเทศสมาชิกอาเซียนที่มิได้เป็นสมาชิกก่อตั้งเสียอีก ข้อเท็จจริงที่ว่าปาปัวนิวกินีเป็นประเทศนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ เพราะการรับรองปาปัวนิวกินีมีก่อนการใช้บังคับการตัดสินใจใน พ.ศ. 2526 ซึ่งจำกัดให้เฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นจึงจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มภูมิภาคได้

ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตาใน พ.ศ. 2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของปาปัวนิวกินี คิลรอย จีเนีย ได้แสดงความปรารถนาของปาปัวนิวกินีในการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน โดยเสนอว่าปาปัวนิวกินีจะขอเป็นสมาชิกประเภทสมทบถาวรของอาเซียน[19] นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี ไมเคิล โซมาร์ ชี้ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศฟิลิปปินส์ใน พ.ศ. 2552 ว่า ประเทศของเขาพร้อมและสามารถเติมเต็มข้อกำหนดสมาชิกภาพในการรวมกลุ่มภูมิภาค[20]

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นอุปสรรคขวางกั้นการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของปาปัวนิวกินี แม้จะตั้งอยู่ไม่ห่างจากกรุงจาการ์ตา อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน มากไปกว่าตอนเหนือของประเทศพม่า แต่ในทางภูมิศาสตร์ ปาปัวนิวกินีมิใช่ส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือทวีปเอเชีย เมื่อปาปัวนิวกินีได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์เมื่อ พ.ศ. 2519 อาเซียนก็ได้รับรองว่าปาปัวนิวกินีมีภูมิภาคทางการเมืองและเศรษฐกิจเดียวกันกับสมาชิกอาเซียน ทั้งยังเชื่อมโยงกันทางภูมิศาสตร์ เพราะปาปัวนิวกินีกินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของเกาะนิวกินีอันมีขนาดใหญ่ ซึ่งอีกครึ่งของเกาะเป็นที่ตั้งของจังหวัดปาปัวและปาปัวตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย นับแต่นั้นปาปัวนิวกินีก็รอคอยนาน 35 ปีที่จะกลายเป็นสมาชิกเต็มตัว

ติมอร์-เลสเต[แก้]

เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 ประเทศติมอร์-เลสเตได้ยื่นคำร้องขอเป็นสมาชิกอาเซียน[21] ซึ่งเป็นท่าทีที่ได้รับการสนับสนุนจากอินโดนีเซีย[22]

ติมอร์-เลสเตซึ่งได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2545 ได้เข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ นับแต่ พ.ศ. 2546 ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2548 ทำให้เป็นประเทศที่ 25 ที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ประธานาธิบดีติมอร์-เลสเต ฌูแซ รามุช-ออร์ตา หวังว่าจะได้รับสมาชิกภาพก่อน พ.ศ. 2555[23]

รัฐที่มีโอกาสสังเกตการณ์[แก้]

บังกลาเทศ[แก้]

ประเทศลาวสนับสนุนให้ประเทศบังกลาเทศเข้ามาเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในอาเซียนเมื่อ พ.ศ. 2554[24]

ฟีจี[แก้]

ประเทศฟีจีได้แสดงความสนใจที่จะได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์อาเซียน ใน พ.ศ. 2554 ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวว่าเขาได้แจ้งต่อประธานาธิบดีฟีจี แฟรงก์ ไบนิมารามา ว่าเขาจะสนับสนุนให้พิจารณาคำขอนี้ในช่วงที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน[25]

รัฐที่แสดงความสนใจ[แก้]

ศรีลังกา[แก้]

เริ่มแรกประเทศศรีลังกาได้รับเชิญให้เข้าร่วมอาเซียนในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 อย่างไรก็ตามประเทศดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากอาเซียนเป็นฝ่ายสนับสนุนตะวันตก และศรีลังกาเองก็ดำเนินนโยบายไม่เข้าแนวร่วม[26][27] นอกจากนี้ยังมีการคัดค้านจากประเทศสิงคโปร์ในเรื่องความไม่มั่นคงภายในประเทศจากความตึงเครียดระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์หลักของศรีลังกา[28] ความสนใจจากภายในประเทศปรากฏชัดในเวลาต่อมาและพยายามเข้าร่วมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2524[29][30][31] ใน พ.ศ. 2550 ศรีลังกาเป็นหนึ่งใน 27 ประเทศที่เข้าร่วม ARF[32]

รัฐที่ถูกกล่าวถึง[แก้]

ออสเตรเลีย[แก้]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระของสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย แนะนำว่าประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ควรเข้าร่วมอาเซียนใน พ.ศ. 2567[33] ใน พ.ศ. 2561 ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วีโดโด ได้ระบุว่าระหว่างการให้สัมภาษณ์กับแฟร์แฟกซ์มีเดีย ว่า ออสเตรเลียควรจะเข้าร่วมองค์กรด้วย[34] ใน พ.ศ. 2559 พอล คีตติง อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้แนะนำให้ออสเตรเลียเข้าร่วมอาเซียน[35]

มองโกเลีย[แก้]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 โรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่าประเทศมองโกเลียและประเทศตุรกีแสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วมอาเซียน จากนั้นก็ระบุอีกว่าเขาจะผลักดันให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ เห็นพ้องด้วยกัน[36]

นิวซีแลนด์[แก้]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระของสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย แนะนำว่าประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ควรเข้าร่วมอาเซียนใน พ.ศ. 2567[33]

ปาเลา[แก้]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์แนะนำว่าประเทศปาเลามีศักยภาพพอที่จะเข้าร่วมในอาเซียนอย่างมีนัยยะ จากนั้นเขาก็โต้แย้งว่าสหรัฐควรพยายามเกลี้ยกล่อมให้ประเทศไทยผลักดันสถานะผู้สังเกตการณ์ให้กับปาเลาในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน[37]

ตุรกี[แก้]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 โรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่าประเทศมองโกเลียและประเทศตุรกีแสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วมอาเซียน จากนั้นก็ระบุอีกว่าเขาจะผลักดันให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ เห็นพ้องด้วยกัน[36]

อ้างอิง[แก้]

  1. Papua New Guinea asks RP support for Asean membership bid Retrieved 2009-07-08
  2. Somare seeks PGMA's support for PNG's ASEAN membership bid เก็บถาวร 2010-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved 2009-07-08
  3. East Timor ASEAN Bid Retrieved 2006-07-28
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 Preparations for the Membership of ASEAN Retrieved 2011-05-14
  5. 5.0 5.1 5.2 Severino, Rodolfo (2006) Southeast Asia in search of an ASEAN community: insights from the former ASEAN secretary-general, Institute of Southeast Asian Studies.
  6. Aquino to back East Timor's bid for ASEAN membership เก็บถาวร 2012-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved 2011-05-14
  7. About Us เก็บถาวร 2013-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ASEAN Regional Forum official website เก็บถาวร 2013-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 12 June 2006.
  8. Bernard Eccleston, Michael Dawson, Deborah J. McNamara (1998). The Asia-Pacific Profile. Routledge (UK). ISBN 0-415-17279-9.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  9. "ASEAN secretariat". ASEAN. 23RD JULY 1999. สืบค้นเมื่อ 12 January 2009. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  10. "Background Note:Brunei Darussalam/Profile:/Foreign Relations". United States State Department. สืบค้นเมื่อ 6 March 2007.
  11. "Vietnam in ASEAN : Toward Cooperation for Mutual Benefits". ASEAN Secretariat. 2007. สืบค้นเมื่อ 28 August 2009.
  12. Carolyn L. Gates; Mya Than (2001). ASEAN Enlargement: impacts and implications. Institute of Southeast Asian Studies. ISBN 981-230-081-3.
  13. "Statement by the Secretary-General of ASEAN Welcoming the Kingdom of Cambodia as the Tenth Member State of ASEAN : 30 April 1999, ASEAN Secretariat". ASEAN Secretariat. 2008. สืบค้นเมื่อ 28 August 2009.
  14. East Asia Economic Caucus. ASEAN Secretariat. Retrieved 14 March 2007.
  15. 15.0 15.1 Asiaviews.org, Whither East Asia? Retrieved 14 March 2007.
  16. UNT.edu, Asia's Reaction to NAFTA, Nancy J. Hamilton. CRS - Congressional Research Service. Retrieved 14 March 2007.
  17. IHT.com, Japan Straddles Fence on Issue of East Asia Caucus. International Herald Tribune. Retrieved 14 March 2007.
  18. "Regional Financial Cooperation among ASEAN+3". Japanese Ministry of Foreign Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-09. สืบค้นเมื่อ 29 September 2008.
  19. OPENING STATEMENT BY H.E. AMBASSADOR LEONARD LOUMA SPECIAL ENVOY OF THE PAPUA NEW GUINEA GOVERNMENT
  20. Papua New Guinea asks RP support for Asean membership bid
  21. McGeown, Kate (2011-03-04). "East Timor applies to join Asean". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2012-03-27.
  22. Dua, Nusa (2012-03-27). "I have my own view, SBY tells PM Lee Hsien Loong". Jakarta Post. สืบค้นเมื่อ 2012-03-27.
  23. "Timor's key concern: preparing for ASEAN membership". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-17. สืบค้นเมื่อ 2012-08-09.
  24. "Lao to back Bangladesh for getting observer status of ASEAN". The News Today. 2011-06-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-13. สืบค้นเมื่อ 2012-08-06.
  25. "Indoensia Backs Fiji's ASEAN Bid". Fiji Sun. April 7, 2011.
  26. David M. Malone; C. Raja Mohan; Srinath Raghavan, บ.ก. (23 July 2015). The Oxford Handbook of Indian Foreign Policy. Oxford University Press. p. 455. ISBN 9780191061189.
  27. V. Suryanarayan (December 27, 2011). "Sri Lanka: Fresh Insights On Attempts To Join ASEAN – Analysis". Eurasia Review.
  28. "Singapore's Rajaratnam prevented Sri Lanka joining ASEAN – The Nation". Asian Tribune. August 7, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-31. สืบค้นเมื่อ 2021-05-27.
  29. Mervyn De Silva (May 31, 1981). "Sri Lanka: Operation ASEAN". India Today.
  30. Charan D. Wadhva; Mukul G. Asher, บ.ก. (1985). ASEAN-South Asia Economic Relations. p. 341. ISBN 9789971902988.
  31. "Let Us Join ASEAN". Daily News. December 1, 2016.
  32. "Sri Lanka becomes the 27th participant to join ASEAN Regional Forum (ARF)". Ministry of Foreign Affairs Sri Lanka. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-08. สืบค้นเมื่อ 2021-05-27.
  33. 33.0 33.1 Dobell, Graeme. "Australia as an ASEAN Community partner". Australian Strategic Policy Institute. สืบค้นเมื่อ 15 March 2018.
  34. Grigg, Angus (15 March 2018). "Indonesian President Jokowi wants Australia in ASEAN, said free trade deal is close". Australian Financial Review. สืบค้นเมื่อ 15 March 2018.
  35. Karp, Paul (10 November 2016). "Paul Keating calls for more independent Australian foreign policy after US election". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 15 March 2018.
  36. 36.0 36.1 "Turkey, Mongolia could join ASEAN: Duterte". Gulf Times. 16 May 2017. สืบค้นเมื่อ 19 June 2019.
  37. Walsh, Michael (18 June 2019). "Rethinking Palau's Place in the Free and Open Indo-Pacific". The Diplomat Magazine. สืบค้นเมื่อ 19 June 2019.