ไกเซอร์ (ธรณีวิทยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไกเซอร์ในไอซ์แลนด์
การปะทุของไกเซอร์ในรูปของไอน้ำ ทำให้สามารถมองเห็นรุ้งกินน้ำได้ ที่แคสเซิลไกเซอร์ในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน

ไกเซอร์ (อังกฤษ: geyser) หรือ กีเซอร์ (ภาษาอังกฤษแบบบริติช)[1] คือลักษณะของน้ำพุร้อนปล่อยกระแสน้ำร่วมกับไอน้ำออกมาเป็นระยะ ๆ ไม่สม่ำเสมอ การเกิดของไกเซอร์ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะทางอุทกธรณีวิทยา ซึ่งสามารถพบได้เพียงไม่กี่แห่งในโลก จึงจัดได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาดูได้ยากชนิดหนึ่ง ไกเซอร์มักจะตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณภูเขาไฟที่ยังสามารถระเบิดได้อยู่และได้รับผลจากแม็กมาในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย โดยทั่วไปแล้วที่ความลึกประมาณ 2.2 กิโลเมตร (6,600 ฟุต) จะเป็นบริเวณที่ผิวน้ำพบกับหินร้อน และด้วยเหตุนี้เองทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น ภายใต้ความดันใต้พื้นผิวโลกจนทำให้เกิดปรากฏการณ์ไกเซอร์ที่ปลดปล่อยกระแสน้ำรุนแรง ร่วมกับไอน้ำออกมาได้

ลักษณะและการทำงาน[แก้]

ไกเซอร์เป็นลักษณะทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นชั่วคราว โดยอายุของไกเซอร์จะมีอายุเพียงไม่กี่พันปีเท่านั้น ไกเซอร์โดยปกติแล้วมักเกิดบริเวณร่วมกับภูเขาไฟ ในขณะที่น้ำเดือด ผลจากแรงดันทำให้ดันน้ำขึ้นมาตามท่อนำส่งน้ำพุร้อนขึ้นมาตามแนวดิ่งสู่ผิวโลก รูปแบบของไกเซอร์จะมีลักษณะ 3 ประการทางธรณีวิทยาที่มักพบภูมิประเทศที่มีภูเขาไฟร่วมด้วย ดังนี้

ความร้อนสูง

ไกเซอร์จะได้รับความร้อนจากหินหนืดใต้ผิวโลก และในหลักตามความเป็นจริงแล้วไกเซอร์จะต้องการความร้อนสูงจากหินหนืดที่อยู่ติดกับแหล่งที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำก่อนที่จะปล่อยน้ำเดือดออกสู่ผิวโลก เพื่อให้น้ำเดือดและมีแรงดันน้ำสู่ผิวโลกได้

น้ำ

น้ำที่ปล่อยมาจากไกเซอร์ต้องมาจากน้ำใต้ดินที่ผ่านความลึก และต้องผ่านการเพิ่มความดันภายใต้แผ่นเปลือกโลก

ระบบการลำเลียงน้ำ

ระบบการลำเลียงน้ำร้อนจะรวมถึงแหล่งที่เก็บน้ำระหว่างที่เกิดการเดือดอีกด้วย ไกเซอร์มักจะวางตัวตามแนวเดียวกับแนวรอยเลื่อน ระบบการลำเลียงน้ำเกิดจากการเกิดรอยแตกและรูพรุน หรือช่องว่าง และการหดตัวของช่องว่าง หรือรูพรุนเหล่านั้นก็จะทำให้เกิดแรงดันก่อนเกิดการปะทุออกของน้ำออกสู่ภายนอก

สุดท้ายแล้วอุณหภูมิที่ด้านล่างของไกเซอร์จะมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับจุดเดือด ไอน้ำและฟองที่เกิดจากการเดือดของน้ำ จะเดินทางขึ้นสู่ผิวน้ำตามท่อลำเลียงน้ำ ในขณะที่มีการระเบิดออกจากท่อลำเลียงน้ำ น้ำร้อนบางส่วนล้นออกมาและกระเด็นไปรอบ ๆ ทำให้มีการลดความดันของน้ำที่อยู่ด้านล่างลงได้ จากการปล่อยความดันออกในอุณหภูมิที่สูงมากทำให้บางส่วนออกมาในรูปของไอน้ำ

การปะทุของไกเซอร์[แก้]

การปะทุของไกเซอร์มีลักษณะคล้ายคลึงกับการปะทุออกของน้ำพุร้อน ที่เกิดจากน้ำผิวดินซึมลงไปใต้ดินจนกระทั่งได้พบกับหินที่ถูกทำให้ร้อนโดยหินหนืด ความร้อนภายในโลกจึงทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น แล้วนำพากลับขึ้นไปสู่ผิวโลกผ่านรอยแตกของหิน และรูพรุนในหิน

ประเภทของไกเซอร์[แก้]

เฟาน์เทนไกเซอร์ที่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน
โคนไกเซอร์ที่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน

สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. Fountain geysers จะปะทุออกมาจากสระน้ำ
  2. Cone geysers จะปะทุออกมาจากกรวยที่ปล่อยน้ำออก

ไกเซอร์ในระบบสุริยะจักรวาล[แก้]

ไกเซอร์บนดวงจันทร์ของดาวเนปจูน ชื่อไทรทัน

ไกเซอร์จะไม่ค่อยพบในดวงดาวอื่น ๆ ในระบบสุริยะ อย่างไรก็ตามก็พบปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่คล้าย ๆ กับไกเซอร์เรียกว่า “ภูเขาไฟน้ำแข็ง” (cryovolcano) โดยลักษณะที่พบจะมีการระเบิดของน้ำเย็นและมีแก๊สออกมาตามท่อนำส่งน้ำ สามารถพบได้บนดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีอย่างยูโรปา ดวงจันทร์ไทรทันของดาวเนปจูนและดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์ก็มีปรากฏการณ์แบบเดียวกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "geysey". Cambridge English Dictionary. สืบค้นเมื่อ July 22, 2022.
  • Schreier, Carl (2003). Yellowstone's geysers, hot springs and fumaroles (Field guide) (2nd ed.). Homestead Pub. ISBN 0-943972-09-4

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]