ไกรฤกษ์ นานา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไกรฤกษ์ นานา
เกิด24 เมษายน พ.ศ. 2500 (67 ปี)
กรุงเทพมหานคร
สัญชาติไทย
ศิษย์เก่า
อาชีพอาจารย์, นักวิชาการ, คอลัมนิสต์

ไกรฤกษ์ นานา (เกิด 24 เมษายน พ.ศ. 2500 -) เป็นนักวิชาการอิสระ นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักเขียน คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ศิลปะวัฒนธรรมของมติชน ไกรฤกษ์มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุโรป ประวัติผู้นำยุโรป นโยบายการเมืองระหว่างประเทศ พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในยุคสมัยจักรวรรดินิยมต่อราชอาณาจักรสยามและประเทศเพื่อนบ้าน ในรัชกาลที่ 4-8[1]

ก่อนหน้าที่ไกรฤกษ์จะมาทำงานเป็นนักเขียนและนักวิชาการอิสระ เขาเคยทำงานเป็นผู้จัดการแผนกทัวร์ยุโรปบริษัท เอ็มดีทัวร์ แอนด์ ทราแวล เป็นเวลาหลายปี ทำให้มีความเชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ยุโรปโดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษ ไกรฤกษ์จึงได้เริ่มศึกษาและค้นคว้าหาหลักฐานเอกสารเก่าของสยามและบันทึกของฝรั่งเศสต่อสยามในยุคสมัยจักรวรรดินิยม รัชกาลที่ 4-8[2] และได้แต่งหนังสือหลายเล่มที่ได้ใช้ประสบการณ์และหลักฐานทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รวมถึงภาพเก่าที่หาดูได้ยากจากการรวบรวมไว้ตลอดระยะเวลารวม 30 ปี มาตีพิมพ์สู่สาธารณะที่รู้กันดีเช่น พระมหากษัตริย์โลกไม่ลืม[3] เป็นต้น

ประวัติ[แก้]

ไกรฤกษ์ นานา เกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2500 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นหลานของบุตรคนที่ 13 รุ่นที่ 4 ทายาทตระกูลนานา จบการศึกษาระดับชั้นมูลจนถึง ม.ศ.4 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ เลขประจำตัว 22856 (AC 2516) แล้วศึกษาต่อยังคณะการจัดการการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Management) จาก วิทยาลัยเธอร์ร็อกแอนด์บาซิลดอน ประเทศอังกฤษ (เกียรตินิยม) จนได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพการท่องเที่ยว และศึกษาปริญญาโทจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (เกียรตินิยมอันดับ 2) ภายหลังจบการศึกษาได้ไปทำงานกับบริษัท เอ็ม. ดี. ทัวร์ แอนด์ ทราแวล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยเขาถือว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแผนกทัวร์ยุโรปคนแรกของบริษัท ซึ่งในสมัยนั้นมีเพียง 2 บริษัทเท่านั้น[4]

ไกรฤกษ์มีความสนใจในวิชาประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ครั้นเรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โดยได้รับแรงบันดาลใจมากจากหนังสือดรุณศึกษาของภราดา ฟ. ฮีแลร์ เมื่อได้มาทำงานด้านการท่องเที่ยวในยุโรป เขาจึงได้เริ่มค้นคว้า ศึกษาและเริ่มสะสมเอกสารโบราณเกี่ยวกับประเทศสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ทำให้ในเวลาต่อมาได้ออกมาทำงานเป็นนักวิชาการอิสระ และคอมลัมนิสต์ของมติชน ไกรฤกษ์ได้แต่งหนังสือเล่มแรกคือ "พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก" เมื่อปี พ.ศ. 2546[5][6] และยังคงมีผลงานต่อเนื่องในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมและศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ

ผลงานตีพิมพ์[แก้]

  • หน้าหนึ่งในสยาม ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์
  • ค้นหารัตนโกสินทร์ สิ่งที่เรารู้อาจไม่ใช่ทั้งหมด
  • เบื้องหลังสัญญาเบาริ่งและประวัติภาคพิสดารของ Sir John Bowring
  • ไขปริศนาประเด็นอำพราง ในประวัติศาสตร์ไทย
  • ค้นหารัตนโกสินทร์ 2: เทิดพระเกียรติ 100 ปี วันสวรรคตรัชกาลที่ 5
  • ค้นหารัตนโกสินทร์ 4 สิ่งที่เรารู้ อาจไม่ใช่ทั้งหมด
  • 500 ปีสายสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส
  • การเมืองนอกพงศาวดารรัชกาลที่ 5 (เสด็จประพาสยุโรป)
  • สยามที่ไม่ทันได้เห็น (พิมพ์กระดาษอาร์ตมัน 4 สี)
  • พระมหากษัตริย์โลกไม่ลืม เล่ม 1
  • พระมหากษัตริย์โลกไม่ลืม เล่ม 2
  • สยามกู้อิสรภาพตนเอง
  • กรณีประชวรจนถึงสวรรรคตและพระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายในรัชกาลที่ 5
  • ปิยมหาราชานุสรณ์ (ปกแข็งปกอ่อน)
  • ร้อยภาพ ร้อยแผ่นดิน ร้อยปีแห่งวันสวรรคต สมเด็จพระปิยมหาราช : King Chulalongkorn's Centenary Memorial (ปกแข็ง)
  • พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก

อ้างอิง[แก้]

  1. "ไกรฤกษ์ นานา" พาทัวร์ท่องประวัติศาสตร์ ตามรอย "พระพุทธเจ้าหลวง" ณ ถิ่นพระนคร ในแบบแอนิเมชั่น, มติชนออนไลน์ .สืบค้นเมื่อ 11/09/2558
  2. "ไกรฤกษ์ นานา" พาทัวร์ท่องประวัติศาสตร์ ตามรอย "พระพุทธเจ้าหลวง" ณ ถิ่นพระนคร ในแบบแอนิเมชั่น, มติชนออนไลน์ .สืบค้นเมื่อ 11/09/2558
  3. พระมหากษัตริย์โลกไม่ลืม : 1 ภาพเล่าเรื่องรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ครั้งแรก พ.ศ. 2440, SE-ED .สืบค้นเมื่อ 11/09/2558
  4. หน้าหนึ่งในสยาม ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์, มติชน, 2556, หน้าประวัติผู้แต่ง .สืบค้นเมื่อ 16/03/2559
  5. ไกรฤกษ์ นานา : จากการท่องเที่ยวสู่ประวัติศาสตร์, IseeHistory .สืบค้นเมื่อ 11/09/2558
  6. ไกรฤกษ์ นานา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ประพันธ์สาส์น .สืบค้นเมื่อ 11/09/2558