เอ็ดวัด มุงก์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอ็ดวัด มุงก์
เอ็ดวัด มุงก์
เกิด12 ธันวาคม ค.ศ. 1863(1863-12-12)
โอดาลส์บรืก เลอเติน สหราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์
เสียชีวิต23 มกราคม ค.ศ. 1944(1944-01-23) (80 ปี)
ออสโล นอร์เวย์
สัญชาตินอร์เวย์
มีชื่อเสียงจาก
ผลงานเด่น
ขบวนการ

เอ็ดวัด มุงก์ (นอร์เวย์: Edvard Munch; 12 ธันวาคม ค.ศ. 1863 – 23 มกราคม ค.ศ. 1944) เป็นศิลปินชาวนอร์เวย์ที่โด่งดังมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นทั้งจิตรกรและช่างภาพพิมพ์ไม้ ภาพพิมพ์หิน และภาพพิมพ์กัดกรด เขาเป็นหนึ่งในศิลปินลัทธิสัญลักษณ์นิยม และได้รับการกย่องให้เป็นคนสำคัญในการพัฒนาลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ในเยอรมนีและยุโรปกลาง

ผลงานของมุงก์สะท้อนความทุกข์ยากและความขัดแย้งต่าง ๆ ในชีวิต ความทรงจำที่โหดร้ายในวัยเด็กและแผลในจิตใจทำให้เขาแสดงทัศนคติเรื่องความรัก สุรา และความเลวร้ายของชีวิตลงในผลงาน ภาพของเขามักแสดงปัญหาสังคมและความกังวลของมนุษย์

มุงก์โด่งดังในเยอรมนีทันทีที่ผลงานของเขาร่วมแสดงในนิทรรศการ Verein Berliner Künstler ในปี ค.ศ. 1892 เพราะภาพของเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกคัดค้าน อย่างไรก็ตามเขาใช้ชีวิตและทำงานในประเทศเยอรมนีเป็นเวลาหลายปีเขาจึงมีชื่อเสียงและอิทธิพลเป็นอย่างมากในวงการศิลปินชาวเยอรมัน

ประวัติ[แก้]

วัยเด็กและครอบครัว[แก้]

เอ็ดวัด มุงก์ เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1863 ในเลอเติน เทศบาลชนบทแห่งหนึ่งในนอร์เวย์ บ้านของเขาเป็นฟาร์มตั้งอยู่ในหมู่บ้านโอดาลส์บรืก เอ็ดวัดเป็นบุตรชายคนที่สองของนาง Laura Catherine Bjølstad กับ Christian Munch นายแพทย์ประจำกองทหาร เขาเป็นลูกหลานตระกูลเก่าแก่แห่งนอร์เวย์ บรรพบุรุษของเขามีชื่อเสียงโด่งดังจากความสามารถแขนงต่าง ๆ อย่างยาค็อป มุงก์ จิตรกร, Johan Storm Munch หัวหน้าบาทหลวง, Andreas Munch กวี และ Peter Andreas Munch นักประวัติศาสตร์และนักเขียนแนววิทยาศาสตร์

เอ็ดวัดมีพี่น้องทั้งหมด 5 คน คือ Johanne Sophie (ค.ศ. 1862) พี่สาวคนโต และน้องของมุงก์อีกสามคนคือ Peter Andreas (ค.ศ. 1865), Laura Catherine (ค.ศ. 1867) และ Inger Marie (ค.ศ. 1868) ทั้งโซฟีพี่สาวและเอ็ดวัดมีพรสวรรค์ทางด้านศิลปะ น้องสาวของพวกเขาคนหนึ่งเป็นจิตเภทตั้งแต่ยังเด็กและในบรรดาพี่น้องทั้งห้าคนนี้มีเพียงคนเดียวที่ได้แต่งงาน แต่ก็เสียชีวิตหลังจากงานแต่งของเธอเพียงไม่กี่เดือน

ครอบครัวของมุงก์ต้องย้ายที่อยู่ไปตามเมืองต่าง ๆ ตามหน้าที่การงานของพ่อ ใน ค.ศ. 1864 พวกเขาย้ายไปเมืองคริสเตียเนีย (ออสโลในปัจจุบัน) ที่นี้เป็นที่ที่เอ็ดวัดได้ฝึกฝนทักษะทางศิลปะของเขา แต่หลังจากที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ได้เพียง 4 ปี แม่ของเอ็ดวัดก็เสียชีวิตด้วยโรควัณโรค ตามมาด้วยโซฟีพี่สาวใน ค.ศ. 1887ในขณะที่เธออายุได้เพียง 15 ปี

ภาระเลี้ยงดูลูก ๆ ทุกคนตกเป็นของคริสเตียนผู้เป็นพ่อและ Karen Bjolstad ป้าของเอ็ดวัด แม้ว่าคริสเตียนจะเป็นแพทย์ประจำกองทหารแต่ก็มีรายได้ไม่มากนัก ภาวะทางเศรษฐกิจในครอบครัวไม่สู้ดีนัก มีความเป็นอยู่อย่างขัดสน แต่คริสเตียนยังคงให้ลูก ๆ รับฟังคำสั่งสอนของเขา และด้วยความที่คริสเตียนเป็นลูกที่กตัญญู เขาจึงได้สอนลูก ๆ ให้มีความกตัญญูเช่นกัน เมื่อเขาจะตำหนิลูก เขาจะกล่าวถึงแม่บนสรวงสวรรค์

การศึกษาและแรงบันดาลใจ[แก้]

หลังจากการจากไปของแม่ เอ็ดวัดและพี่น้องได้รับการเลี้ยงดูจากป้า ป้าของเอ็ดวัดมองเห็นพรสวรรค์ทางด้านศิลปะในตัวเขา เธอสนับสนุนให้เขาเป็นศิลปิน และเป็นคนซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ในการวาดรูปให้ เอ็ดวัดเริ่มวาดภาพสิ่งที่เขาสนใจ เมื่ออายุได้ 13 ปี เขาเริ่มรู้จักกลุ่มศิลปินในสมาคมศิลปะที่พึ่งจัดตั้งใหม่ ที่นั้นเองเขาได้เห็นผลงานมากมายโดยเฉพาะภาพทิวทัศน์บก (landscape) เอ็ดวัดเริ่มจากการวาดภาพเลียนแบบและเริ่มใช้สีน้ำมัน

พ่อของเอ็ดวัดต้องการให้เขาเป็นวิศวกร ดังนั้นเขาจึงจำเป็นต้องสมัครเข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิค ใน ค.ศ. 1879 สุขภาพร่างกายของเอ็ดวัดได้กลายมาเป็นอุปสรรคในการเรียนด้วยความต้องการอยากเป็นจิตรกร เขาจึงตัดสินใจลาออกแม้ว่าพ่อของเขาจะรู้สึกไม่พอใจนักก็ตาม คริสเตียนไม่ต้องการให้ลูกของเขาเป็นจิตรกร เพราะพวกจิตรกรชนชั้นกลางสมัยนั้นเป็นจิตรกรไส้แห้ง อีกทั้งผลงานยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก เอ็ดวัดลาออกในปีถัดมาและเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างจริงจัง พ่อของเขาแม้จะตำหนิเขาอยู่เสมอ แต่กระนั้นก็ยังให้เงินค่ากินอยู่แก่เขาไม่ขาด จนกระทั่งคริสเตียนได้ฟังคำวิจารณ์เรื่องรูปภาพของเอ็ดวัด จากคำบอกเล่าของญาติคนหนึ่ง Edvard Diriks ที่เป็นจิตรกรแนวประเพณีนิยม คริสเตียนทำลายภาพชิ้นหนึ่งที่เป็นภาพเปลือยและยืนกรานว่าจะไม่สนับสนุนเงินที่ใช้ในการทำงานศิลปะแก่เอ็ดวัดอีกต่อไป พ่อของเขายิ่งโกรธมากขึ้นหลังจากทราบว่าเขาคบกับ Hans Jaeger หนึ่งในผู้นิยมอนาธิปไตยอย่างสุดโต่ง เขาเชื่อในลัทธิทำลายล้างและคิดว่าความตายคือการปลดปล่อยอิสระสูงสุด ความคิดเหล่านั้นส่งผลต่อทัศนะของเอ็ดวัดมาก

หลังจากปีที่เอ็ดวัดลาออกจากวิทยาลัยเทคนิค เอ็ดวัดสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะและการออกแบบแห่งเมืองคริสเตียเนีย (the Royal school of Art and Designe of Christiania) ใน ค.ศ. 1881 เป็นสถาบันที่ยาค็อป มุงก์ บรรพบุรุษของเขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งโรงเรียนแห่งนี้ ที่นั้นเองเอ็ดวัดได้เรียนเทคนิคทางด้านศิลปะแขนงต่าง ๆ กับศิลปินชาวนอร์เวย์คนสำคัญ ๆ เขาได้เรียนวิชาประติมากรรมกับ Julius Middelthun และวาดภาพแนวธรรมชาตินิยม (naturalism) กับ Christian Krohg

ใน ค.ศ. 1882 เอ็ดวัดและเพื่อนอีกหกคนรวมเงินกันเช่าสตูดิโอเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง และผู้ที่ให้คำปรึกษาพวกเขาคือ Christian Krohg อาจารย์ของพวกเขา ผู้ถนัดวาดภาพแนวธรรมชาตินิยม งานเขียนของมุงก์ช่วงต้น ๆ จึงได้แรงบัลดาลใจจากเขาและได้รับอิทธิพลจากลัทธิธรรมชาตินิยมเป็นอย่างมาก

ค.ศ. 1885 เอ็ดวัดได้รับทุนการศึกษาจาก Frits Thaulow ได้เดินทางไปปารีส ในช่วงเวลาสามสัปดาห์สั้น ๆ เขาจึงได้ไปเห็นผลงานอันน่าประทับใจและเป็นแรงบันดาลใจแกเขา หลังจากกลับมาออสโล เขาก็เริ่มต้นทำงานชุดหลักของเขา ในปีเดียวกันนั้นเอ็ดวัดวาดภาพโซฟีพี่สาวของเขา ช่วงเวลานั้นผลงานของเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น

ในปี ค.ศ. 1886 เขาวาดภาพชุด เดอะซิกไชลด์ ในภาพแสดงความคิดของเอ็ดวัดเรื่องความตายของน้องสาวของเขา ในปีนั้นเอง เอ็ดวัดทำงานชุดนั้นเสร็จสิ้น ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1889 เอ็ดวัดจัดนิทรรศการขนาดใหญ่เพื่อแสดงงานเดี่ยวของเขาที่เมืองคริสเตียเนีย จากงานนี้เขาได้รับรางวัลส่งผลให้เขามีโอกาสได้รับทุน

ในฝรั่งเศส[แก้]

ระหว่าง ค.ศ. 1889–1892 เอ็ดวัด มุงก์ได้รับทุนของรัฐทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส มุงก์มาถึงปารีสในช่วงเทศกาลงานนิทรรศการโลก เขาอยู่ร่วมกับศิลปินชาวนอร์เวย์อีกสองคน และจะกลับไปนอร์เวย์เฉพาะในช่วงฤดูร้อน

มุงก์ได้ศึกษางานกับเลอง บอนา จิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้มีความชำนาญด้านการวาดภาพบุคคล แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เขากลายมาเป็นแรงผลักดันอย่างมากให้แก่งานศิลปะของมุงก์ ในเวลานั้นเป็นช่วงเฟื่องฟูของศิลปะแนวใหม่ที่ต่อต้านลัทธิสัจจะนิยม มุงก์แสดงให้เห็นถึงการต่อต้านนี้จากคำพูดที่ว่า "กล้องถ่ายภาพไม่สามารถเทียบได้กับแปรงและผ้าใบได้" มุงก์รับเอาแนวทางวิธีการและเทคนิคการสร้างผลงานรูปแบบใหม่ของเขาจากแรงบันดาลที่ได้จากศิลปินที่มีชื่อเสียงในฝรั่งเศสอย่างปอล โกแก็ง, ฟินเซนต์ ฟัน โคค, อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก ทั้งจากลัทธิประทับใจและจากลัทธิประทับใจยุคหลัง หลังจากนั้นก็สนในงานศิลปะแนวใหม่และการออกแบบ แม้ผลงานของเขาจะบรรยายบรรยากาศและสถานที่ทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามมุงก์ตั้งใจที่จะเน้นศิลปะที่สื่อความน่ากลัวของอารมณ์

ฤดูใบไม้ร่วงแรกหลังจากมาถึงปารีส มุงก์ได้รับแจ้งข่าวการตายของพ่อ ความเหงา ความเศร้าโศกครั้งนั้นได้รับการถ่ายทอดลงในภาพ ไนต์ (ค.ศ. 1890) ภาพคนที่โดดเดี่ยวในเงามืดภายในห้องอันมืดมิด มุงก์เดินทางกลับนอร์เวย์และกู้เงินก้อนหนึ่งได้จากนักสะสมงานศิลปะชาวนอร์เวย์ แต่ความหดหู่ ท้อแท้ โดดเดี่ยว และกดดันถาโถมมาที่เขาจนเขาเองไม่อยากจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว

ระหว่างช่วงที่อยู่ในฝรั่งเศส ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1890 มุงก์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเป็นเวลาสองเดือน เพราะต้องพักรักษาตัวจากไข้รูมาติก ในช่วงเวลานั้นภาพวาดของเขา 5 ภาพในออสโลถูกทำลายเพราะไฟไหม้

ช่วงเวลาในฝรั่งเศส มุงก์ได้สร้างผลงานไว้มากมาย เป็นช่วงเริ่มร่างภาพ เสียงกรีดร้อง และสร้างผลงานอีกหลาย ๆ ภาพตามลัทธิประทับใจ แต่ใช้ความประทับใจภายในจิตใจไม่ใช่เพียงทางสายตา

ในเยอรมนี[แก้]

ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1892 มุงก์ออกแสดงงานในที่ต่าง ๆ งานนิทรรศการครั้งหนึ่งมุงก์ได้รับเชิญไปแสดงงานร่วมกับศิลปินในสมาคมศิลปะแห่งเบอร์ลินที่จัดขึ้นที่นั่น ผู้เข้าชมและศิลปินหัวเก่าต่างวิพากษ์วิจารณ์งานของเอ็ดวัด มุงก์จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว ผลงานของเขาถูกต่อต้านจากกลุ่มผู้ชมและกรรมการ ในที่สุดก็ถูกเรียกร้องให้ยกเลิกการแสดงภาพครั้งนั้นหลังจากจัดแสดงมาได้เพียงหนึ่งอาทิตย์ เพราะผู้คนในยุคที่ศิลปะลัทธิประทับใจกำลังเฟื่องฟูไม่เข้าใจความจริงในมุมด้านมืดของชีวิต พวกเขาเห็นว่าภาพของมุงก์เป็นภาพที่น่ากลัว ไม่เจริญหูเจริญตา และมีความรุนแรง ซึ่งอันที่จริงมุงก์ต้องการปลดปล่อยความรู้สึกเจ็บปวดของเขาออกมาทางงานศิลปะ กลุ่มคนที่เข้าใจงานของเขาจะเห็นว่างานของมุงก์ไม่ใด้เป็นเพียงงานศิลปะแต่เป็นความรู้สึกของชายคนหนึ่ง เอ็ดวัด มุงก์จึงเรียกได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญต่อลัทธิสำแดงพลังอารมณ์เยอรมันสมัยใหม่ เขาเข้าร่วมกลุ่มเบลาเออไรเทอร์ กลุ่มศิลปินที่มักถ่ายทอดงานศิลปะด้วยอารมณ์เศร้าหมอง

จากเรื่องอื้อฉาว มุงก์กลับมีชื่อเสียงโด่งดังในเบอร์ลิน เขาจึงตัดสินใจที่จะพำนักจะอยู่ที่นี้ซักระยะหนึ่ง เขาเข้าร่วมกลุ่ม Literati การรวมตัวของกลุ่มศิลปินและปัญญาชนในสแกนดิเวเนีย ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1893 มุงก์ได้แสดงผลงาน 6 ภาพ ซึ่งต่อมาภาพทั้งหกได้ถูกขนานนามว่าภาพชุด The Frieze of Life มุงก์ได้ถ่ายทอดความรู้สึกเสียใจ ความเครียด ความเศร้า และความเจ็บปวดลงในงานเขาเช่นเดิม ภาพชุดนี้เป็นดั่งบทกวีเกี่ยวกับชีวิต ความรัก และความตาย เนื้อหาของภาพบรรยายบรรยากาศที่แสดงอารมณ์เศร้าและเจ็บปวด เช่นภาพ The Strom, Moonlight และ Starry Night เรื่องความรักอย่าง Rose and Amelie, Vampire และเรื่องความตาย Death in the Sickroom

ระหว่าง ค.ศ. 1892–1908 มุงก์เดินทางไปมาระหว่างปารีสกับเบอร์ลินอยู่เสมอ ที่เบอร์ลิน มุงก์เริ่มต้นเรียนรู้และทำงานภาพพิมพ์ จาก Auguste Clot เพื่อนช่างพิมพ์ผู้มีชื่อเสียง เอ็ดวัดเริ่มเป็นที่รู้จักในผลงานรูปแบบใหม่ของเขาทั้งภาพพิมพ์กัดกรด ภาพพิมพ์หิน และภาพพิมพ์ไม้ มุงก์ทำงานวาดภาพพิมพ์ชื่อ The Mirror และยังทำงานภาพพิมพ์ลอกแบบผลงานจิตรกรรมเดิมที่เคยวาดไว้ เช่นภาพชุด The Frieze of Life

ค.ศ. 1895 น้องชายของเขาก็ได้จากไปอีก มุงก์ต้องประสบกับความสูญเสียอีกครั้ง เมื่อเขารู้สึกโดดเดี่ยว เขาจึงออกเดินทางไปเรื่อย ๆ แต่ก็อยู่ในออสโล, นอร์เวย์, เยอรมนี และปารีสเป็นหลัก

ความสำเร็จและวิกฤตในชิวิต[แก้]

ช่วงต้นของศตวรรษใหม่ มุงก์โด่งดังและมีชื่อเสียงจากผลงานของเขา ใน ค.ศ. 1902 มุงก์ผิดหวังจากความรัก เขายิงปืนใส่นิ้วมือข้างซ้ายและเสียมันไป แต่ในปีนั้นเองมุงก์ได้พบกับ Dr. Max Linde ชายที่ซื้อผลงานของเขาและเขียนหนังสือเกี่ยวกับตัวมุงก์ ในปีนั้นถือเป็นปีที่มุงก์มีงานและชีวิตวุ่นวายมากที่สุดปีหนึ่ง จากงานชุด The Frieze of Life ที่เคยถูกต่อต้านในเบอร์ลิน แต่กลับมาจัดแสดงอีกครั้งพร้อมกับความสำเร็จ และในปีนั้นมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพของมุงก์อีกถึง 22 ครั้ง สองปีถัดมาเป็นปีที่มุงก์เลือกเดินทางสำคัญทางหนึ่ง มุงก์ได้เซ็นสัญญากับชาวเบอร์ลิน Bruno Casirer เป็นสัญญาที่ทำให้เขาสามารถขายผลงานในเยอรมนีได้ จากภาพ The Fight และ The Uninvited Guest ที่มุงก์ได้วาดใน ค.ศ. 1905 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งของเขาและเพื่อน Ludvig Karsten พวกเขาทะเลาะกันรุนแรง

ค.ศ. 1908 จากภาวะความเครียดและผลจากพิษสุรา มุงก์กลายเป็นคนวิกลจริตจนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการทางประสาท ต้องรักษาโดยการช๊อดไฟฟ้าและกลับมาหายดี แต่บุคลิกภาพของมุงก์กลับเปลี่ยนไป หลังจากกลับมาที่นอร์เวย์ใน ค.ศ. 1909 ผลงานทางศิลปะของเขาเปลี่ยนแนวทางไปอย่างมาก มุงก์สนใจหัวข้อเรื่องธรรมชาติ ภาพวาดขาดความรู้สึกลึกซึ้ง เป็นเพียงภาพภาพหนึ่งที่ขาดชีวิตและความรู้สึก แต่ด้วยความกดดันที่น้อยลงงานของเขามีสีสันมากขึ้น

แม้กระนั้นในปีถัดมา มุงก์จัดนิทรรศการสำคัญ ซึ่งแสดงงานจิตรกรรมจำนวนนับร้อยและภาพพิมพ์อีกกว่าสองร้อยภาพ รวมถึงภาพวิวทิวทัศน์และภาพคนขนาดเท่าจริง

ใน ค.ศ. 1915 เป็นครั้งที่สามของมุงก์ที่ได้ร่วมแสดงผลงานในงานนิทรรศการศิลปะในสหรัฐ ครั้งนั้นงานนิทรรศการจัดขึ้นที่แซนแฟรนซิสโก เมุงก์ได้รับรางวัลเหรียญทองสำหรับงานประเภทภาพพิมพ์ ความสำเร็จในครั้งนั้นเพียงพอที่จะแก้ปัญหาทางการเงินของเขาได้

ณ กรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1917 หนังสือชื่อ Edvard Munch ได้ตีพิมพ์ส่งท้องตลาด รวบรวมเอาผลงานระหว่างการเดินทางไปที่ต่าง ๆ ของมุงก์ แม้จะกระจายไปทั่วโลก มีงานนิทรรศการหลาย ๆ ครั้งและครั้งที่รวบรวมผลงานครอบคลุมมากที่สุด ได้จัดขึ้นที่หอศิลป์แห่งชาติประจำกรุงเบอร์ลิน รวมภาพวาดสีน้ำมันกว่า 223 ภาพ

บั้นปลายชีวิต[แก้]

น้องสาวของเขาเสียชีวิตจากเขาไปอีกคนใน ค.ศ. 1926 ช่วงปี ค.ศ. 1930 ผู้อุปถัมภ์มุงก์ชาวเยอรมันหลายคนจบชีวิตจากความโหดเหี้ยมของพรรคนาซี ในปีนั้นเองความโชคร้ายได้เข้ามาถึงตัวเขาเช่นกัน สิ่งเลวร้ายที่สุดทำดวงตาของเขามีปัญหา และอาการยังกำเริบเรื่อย ๆ ตลอดช่วงชีวิตที่เหลือของเขา เพียงหนึ่งปีถัดมา เขาต้องรับมือกับความเหงาที่มาหาเขาไม่หยุดหย่อน การจากไปของป้าที่เคยเลี้ยงดูเขาหลังจากแม่ของเขาตายและสนับสนุนเขาให้เป็นศิลปินตั้งแต่นั้นมา ได้ซ้ำเติมความทุกข์แก่เขามากขึ้นไปอีก

ระยะเวลาช่วงยี่สิบปีสุดท้ายของชีวิตอันโดดเดี่ยว มุงก์อาศัยอยู่อย่างง่ายในที่พักของเขาเองใน Ekely ใกล้เมืองออสโล ผลงานในช่วงนี้มักเกี่ยวกับชีวิตในชนบท ท้องทุ่ง และฟาร์ม ในการแสดงงานที่พิพิธภัณฑ์แห่งเยอรมนี ภาพของมุงก์ได้แสดงทั้งหมด 8 ภาพ แต่สองภาพในนั้นถูกวิจารณ์อย่างแรง ภาพถูกยึดและขายไป โดยเฉพาะระหว่างช่วง ค.ศ. 1930 ถึง 1940 พวกนาซีตีตราผลงานของมุงก์ว่าเป็นงานศิลปะที่เสื่อมเสียและย้ายผลงานของมุงก์ออกจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเยอรมนีไปถึง 82 ชิ้น

ช่วงปี ค.ศ. 1940 นอร์เวย์ถูกโจมตีโดยกลุ่มนาซีของเยอรมนี มุงก์ต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวง ขณะนั้นเขาอายุได้ 76 ปี และวาดภาพเก็บสะสมไว้จนแทบจะเต็มถึงชั้นสองของบ้าน แต่ถูกนาซียึดไปถึง 71 ภาพ อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นสุดสงครามภาพเหล่านั้นก็ค่อย ๆ กลับคืนสู่นอร์เวย์ด้วยการซื้อของเหล่านักสะสม แต่มี 7 ภาพหายสาบสูญไป ในจำนวนที่พบเจอและถูกเก็บไว้อย่างดีคือภาพ เสียงกรีดร้อง และ The Sick Child

23 มกราคม ค.ศ. 1944 เพียงไม่ถึงครึ่งเดือนหลังจากวันครบรอบวันเกิดของเขา เอ็ดวัด มุงก์จากไปอย่างสงบ เขาได้ทำพินัยกรรมมอบผลงานของเขาทั้งหมดแก่เมืองออสโล มีจำนวน ภาพวาดสีน้ำมันทั้งหมด 1,008 ภาพ, ผลงานภาพพิมพ์รวม 15,391 ภาพ, ภาพร่างและภาพสีน้ำรวม 4,443 ภาพและงานประติมากรรมของเขาอีก 6 ชิ้น

แม้ว่าร่างของมุงก์จะจากไปแล้ว แต่จิตวิญญาณของเขายังคงฝังรากลึกอยู่ในงานศิลปะและผลงานจำนวนมากที่มุงก์ได้ทิ้งไว้ ใน ค.ศ. 1963 มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ที่แสดงงานชิ้นยอดเยี่ยมของเขาทั้งหมด รวมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชื่อ The Munch-Museet

ผลงาน[แก้]

เสียงกรีดร้อง เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของมุงก์และเป็นหนึ่งในภาพจิตรกรรมที่คนจดจำมากที่สุดรูปหนึ่งในกระแสศิลปะสำแดงพลังอารมณ์ มุงก์วาดภาพด้วยสีสันที่ฉูดฉาดและรูปแบบง่าย ๆ แต่สื่อได้ถึงจิตวิญญาณ แสดงอารมณ์ด้วยภาพใบหน้าที่เจ็บปวด

มุงก์ได้เขียนคำอธิบายรูปนี้ไว้ว่า "ขณะที่ผมเดินอยู่บนท้องถนนกับเพื่อนทั้งสองในตอนพระอาทิตย์อัสดง ทันใดนั้นท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีแดงดุจเลือด ผมหยุดนิ่งและโน้มตัวไปยังขอบรั้ว รู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อยที่ไม่อาจบรรยายได้ เปลวเพลิงสีเลือดทอดข้ามฟยอร์ดสีดำ เพื่อนของผมยังคงเดินต่อไป ผมยังคงอยู่เบื้องหลัง สั่นสะท้านด้วยความกลัว ทันใดนั้นผมก็ได้ยินเสียงกรีดร้องอันไม่มีที่สิ้นสุดของธรรมชาติ" เสียงกรีดร้อง (ค.ศ. 1893)

เสียงกรีดร้อง ประกอบด้วยผลงานทั้งหมด 4 ชิ้น เป็นงานจิตรกรรม (เขียนใน ค.ศ. 1893, 1895 และ 1910) และภาพพิมพ์หิน (ค.ศ. 1895) ฉบับที่วาดใน ค.ศ. 1910 ถูกลักลอบขโมยไปใน ค.ศ. 2004 และพบอีกครั้งใน ค.ศ. 2006 ภาพยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ภาพวาดฉบับ ค.ศ. 1895 ขายไปในงานประมูลภาพเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 ที่ผ่านมา ด้วยราคา 119,922,500 ดอลลาร์สหรัฐ