เสียงกรีดร้อง
เสียงกรีดร้อง | |
---|---|
ศิลปิน | เอ็ดวัด มุงก์ |
ปี | ค.ศ. 1893 |
ประเภท | สีน้ำมัน, สีฝุ่นเทมเพอรา และสีชอล์กบนกระดาษแข็ง[1] |
มิติ | 91 cm × 73.5 cm (36 นิ้ว × 28.9 นิ้ว) |
สถานที่ | หอศิลป์แห่งชาติและพิพิธภัณฑ์มุงก์ ออสโล นอร์เวย์ |
เสียงกรีดร้อง (นอร์เวย์: Skrik; อังกฤษ: The Scream) หรือ เสียงกรีดร้องของธรรมชาติ (เยอรมัน: Der Schrei der Natur) เป็นภาพวาดโดยเอ็ดวัด มุงก์ จิตรกรชาวนอร์เวย์ เป็นภาพบุคคลแสดงสีหน้าหวาดกลัวอยู่ด้านหน้า ด้านหลังมีบุคคลสองคนกำลังเดินห่างออกไป และด้านบนเป็นท้องฟ้าสีแดง มุงก์วาดภาพนี้ไว้ 4 ภาพและทำภาพพิมพ์หินจำนวนหนึ่ง โดยแบบที่เป็นที่รู้จักดีเป็นภาพวาดสีน้ำมัน สีฝุ่นเทมเพอรา และสีชอล์กบนกระดาษแข็งในปี ค.ศ. 1893 ปัจจุบันได้รับการจัดแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติในกรุงออสโล[2]
มุงก์กล่าวถึงที่มาของ เสียงกรีดร้อง ในบันทึกส่วนตัวเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1892 ว่า
ผมกำลังเดินไปตามถนนกับเพื่อนสองคน ตอนนั้นดวงอาทิตย์กำลังตกดิน ทันใดนั้นท้องฟ้าก็เปลี่ยนเป็นสีแดงฉาน ผมหยุด รู้สึกหมดแรงและพิงตัวกับราวกั้น มันเหมือนมีเลือดและเปลวไฟลอยอยู่เหนือฟยอร์ดและเมืองที่ผมอยู่ เพื่อนผมเดินจากไปแล้ว แต่ผมยังอยู่ตรงนั้น ตัวสั่นเทาด้วยความวิตก และรู้สึกได้ถึงเสียงกรีดร้องที่ดังมาจากสภาพแวดล้อมนั้น[3]
มีการระบุว่าสถานที่ในภาพคือเนินเขาเอเกอบาร์ที่มองลงไปเห็นกรุงออสโลและฟยอร์ดออสโล[4] ซึ่งในช่วงเวลาที่มุงก์วาดภาพนี้ เขามาเยี่ยมน้องสาวที่ป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วที่โรงพยาบาลจิตเวชที่ตั้งอยู่ที่ตีนเขา ในปี ค.ศ. 1978 รอเบิร์ต โรเซนบลัม นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวอเมริกันเสนอว่ามุงก์อาจได้รับแรงบันดาลใจในการวาดบุคคลที่แสดงสีหน้าหวาดกลัวมาจากมัมมี่เปรูที่มุงก์เห็นในงานนิทรรศการโลกที่กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1889[5]
มีความพยายามในการอธิบายถึงสีท้องฟ้าในภาพ ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่ามาจากความทรงจำของมุงก์ที่เห็นท้องฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการปะทุของภูเขาไฟกรากะตัวเมื่อสิบปีก่อน ส่งผลให้ท้องฟ้ายามเย็นของซีกโลกตะวันตกมีสีแดงจัดนานหลายเดือน[6] ในขณะที่อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าเป็นผลมาจากเมฆมุก (nacreous cloud หรือ polar stratospheric cloud) ซึ่งเป็นเมฆที่ก่อตัวที่ชั้นสตราโตสเฟียร์และเกิดการเลี้ยวเบนของแสงจนปรากฏเป็นสีรุ้ง[7][8]
เสียงกรีดร้อง เป็นหนึ่งในผลงานที่เป็นที่รู้จักดีของมุงก์ และเป็นหนึ่งในผลงานที่ส่งผลให้เกิดกลุ่มลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20[9] สีหน้าที่แสดงถึงความหวาดวิตกและสภาพแวดล้อมที่บิดเบี้ยว ทำให้ภาพนี้มักถูกเชื่อมโยงกับความผิดปกติทางจิต[10] นอกจากนี้ยังส่งอิทธิพลต่อผลงานอื่น ๆ ในยุคหลัง เช่น หน้ากากโกสต์เฟซในภาพยนตร์ หวีดสุดขีด, ตัวละครไซเลนซ์ในซีรีส์ ดอกเตอร์ฮู และงานล้อเลียนอีกจำนวนมาก[5]
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ค.ศ. 1893, สีชอล์กบนกระดาษแข็ง อาจเป็นภาพแรก ๆ ของ เสียงกรีดร้อง ที่มุงก์วาด เนื่องจากมีการร่างองค์ประกอบในภาพ
-
ค.ศ. 1893, สีน้ำมัน สีฝุ่น และสีชอล์กบนกระดาษแข็ง อาจเป็นภาพแบบที่รู้จักดีที่สุด เคยถูกโจรกรรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 ก่อนจะตามคืนมาได้ในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ กรุงออสโล
-
ค.ศ. 1895, สีชอล์กบนกระดาษแข็ง ถูกประมูลในราคาราว 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2012 ปัจจุบันเป็นชุดสะสมส่วนตัวของเลออน แบล็ก[11]
-
ค.ศ. 1910, สีฝุ่นบนกระดาษแข็ง ภาพนี้เคยถูกโจรกรรมจากพิพิธภัณฑ์มุงก์ ในปี ค.ศ. 2004 ก่อนจะตามคืนมาได้ในปี ค.ศ. 2006
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Farthing, Stephen (2016). 1001 Paintings You Must See Before You Die. London, Great Britain: Octopus Publishing Group. p. 547. ISBN 9781844039203.
- ↑ Esaak, Shelley (May 23, 2019). "The Scream by Edvard Munch". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ August 5, 2019.
- ↑ Peter Aspden (21 April 2012). "So, what does 'The Scream' mean?". Financial Times.
- ↑ Egan, Bob. ""The Scream" (various media 1893–1910) – Edvard Munch – Painting Location: Oslo, Norway". PopSpots. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 สิงหาคม 2014.
- ↑ 5.0 5.1 Laohakul, Thamonwan (February 13, 2018). "The Scream: เสียงกรีดร้องสุดสยองภายใต้ท้องฟ้าสีเพลิง". Medium. สืบค้นเมื่อ August 5, 2019.
- ↑ Olson, Donald W.; Russell L. Doescher; Marilynn S. Olson (May 2005). "The Blood-Red Sky of the Scream". APS News. American Physical Society. 13 (5). สืบค้นเมื่อ 22 December 2007.
- ↑ Svein Fikke. "Screaming Clouds". q-mag.org. สืบค้นเมื่อ 2019-07-14.
- ↑ Case, Nathan (February 3, 2016). "Explainer: what are the 'nacreous clouds' lighting up the winter skies?". The Conversation. สืบค้นเมื่อ August 5, 2019.
- ↑ "Edvard Munch's The Scream". Khan Academy. สืบค้นเมื่อ August 5, 2019.
- ↑ "10 Things You May Not Know About "The Scream"". The British Museum Blog. March 5, 2019. สืบค้นเมื่อ August 5, 2019.
- ↑ Sooke, Alastair (March 4, 2016). "Culture - What is the meaning of The Scream?". BBC. สืบค้นเมื่อ August 5, 2019.