เว่ย์ จื่อฟู
เว่ย์ จื่อฟู | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
จักรพรรดินีแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก | |||||||||
ดำรงพระยศ | 128–91 ปีก่อนคริสตกาล | ||||||||
ก่อนหน้า | พระนางเฉิน เจียว (陳嬌) | ||||||||
ถัดไป | พระนางช่างกวาน (上官) | ||||||||
สวรรคต | 91 ปีก่อนคริสตกาล ฉางอาน | ||||||||
คู่อภิเษก | จักรพรรดิฮั่นอู่ | ||||||||
พระราชบุตร |
| ||||||||
| |||||||||
พระราชมารดา | นางเว่ย์ (衛媼) |
เว่ย์ จื่อฟู (จีนตัวย่อ: 卫子夫; จีนตัวเต็ม: 衛子夫; พินอิน: Weì Zǐfū; เสียชีวิต 91 ปีก่อนคริสตกาล) เมื่อเสียชีวิตแล้วได้ชื่อว่า เซี่ยวอู๋ซือหฺวังโฮ่ว (孝武思皇后) และ เว่ย์ซือโฮ่ว (衛思后) เป็นราชนารีจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นพระมเหสีพระองค์ที่สองขององค์ชายหลิว เช่อ (劉徹) ซึ่งเสวยราชย์เป็นจักรพรรดิฮั่นอู่ (汉武帝) และสถาปนานางเป็นจักรพรรดินีมเหสีเรียก หฺวังโฮ่ว (皇后) นางดำรงตำแหน่งหฺวังโฮ่วถึง 38 ปี และมีชีวิตสมรสอยู่กับจักรพรรดิฮั่นอู่ยาวนานถึง 49 ปี นับเป็นหฺวังโฮ่วที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานเป็นลำดับที่สองในประวัติศาสตร์ รองจาก หวัง สีเจี่ย (王喜姐) พระมเหสีของจักรพรรดิว่านลี่ (萬曆) ที่อยู่ในตำแหน่ง 42 ปี อนึ่ง เว่ย์ จื่อฟู ยังเป็นพระมารดาขององค์ชายหลิว จฺวี้ (劉據) รัชทายาทของจักรพรรดิฮั่นอู่ เป็นพี่สาวของขุนพลเว่ย์ ชิง (衛青) เป็นป้าของขุนพลฮั่ว ชฺวี่ปิ้ง (霍去病) กับฮั่ว กวาง (霍光) และเป็นพระเปตามไหยิกา (แม่ปู่) ขององค์ชายหลิว ปิ้งอี่ (劉病已) ผู้ซึ่งต่อมาเป็นจักรพรรดิฮั่นเซฺวียน (汉宣帝)
ภูมิหลังของครอบครัวและชีวิตช่วงต้น
[แก้]เว่ย์ จื่อฟู เกิดในชนชั้นต่ำต้อย เป็นบุตรคนที่สี่และคนสุดท้องของครอบครัวซึ่งเป็นทาสติดที่ดิน มารดาเป็นหญิงรับใช้ในตำหนักขององค์หญิงผิงหยาง (平陽公主) พระพี่นางของจักรพรรดิฮั่นอู่ ส่วนบิดาคงจะเสียชีวิตในช่วงที่นางเกิด มีบันทึกน้อยมากเกี่ยวกับสมาชิกส่วนใหญ่ในตระกูลของนาง นางมีน้องชายร่วมมารดา คือ เว่ย์ ชิง ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์นอกสมรสระหว่างมารดาของนางกับขุนนางชั้นผู้น้อยคนหนึ่งในตำหนักองค์หญิงผิงหยาง โดยถือกำเนิดไม่ช้าไม่นานหลังจากที่นางเกิด ครั้งที่นางยังเยาว์ นางได้รับคัดเลือกเข้าเป็นหญิงขับร้องในตำหนักขององค์หญิงผิงหยาง ที่ซึ่งนางได้รับการฝึกฝนด้านระบำรำฟ้อนและศิลปะสี่ด้านที่เรียกว่า สี่ศิลป์ (四藝)[1]
การได้พบกับจักรพรรดิฮั่นอู่และได้เป็นพระมเหสี
[แก้]จักรพรรดิฮั่นอู่เสด็จขึ้นเสวยราชย์ขณะพระชนม์ได้ 16 ชันษา หลังจากนั้นไม่นาน ก็ทรงเริ่มระหองระแหงกับพระมเหสีที่เพิ่งเสกสมรสด้วย คือ พระนางเฉิน เจียว (陳嬌) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับจักรพรรดิฮั่นอู่เอง และมีพระชนม์มากกว่าจักรพรรดิฮั่นอู่ราว 8 ชันษา ทั้งนี้ การเสกสมรสของทั้งสองเป็นไปเพื่อสร้างพันธมิตรทางการเมืองระหว่างพระนางหวัง จื้อ (王娡) พระมารดาของจักรพรรดิฮั่นอู่ กับองค์หญิงใหญ่กว่านเถา (館陶長公主) พระมารดาของพระนางเฉิน เจียว ซึ่งเป็นพระเจ้าป้า (พี่สาวของพระบิดา) ของจักรพรรดิฮั่นอู่ โดยเจรจาสมรสกันมาตั้งแต่จักรพรรดิฮั่นอู่ยังมีพระชนม์เพียง 6 ชันษา และบรรลุความตกลงกันได้แต่ครั้งที่จักรพรรดิฮั่นอู่ทรงได้ตำแหน่งรัชทายาทแล้วสักระยะ อย่างไรก็ดี ความที่พระนางเฉิน เจียว ไม่ทรงสามารถประทานพระโอรสให้แก่จักรพรรดิฮั่นอู่ได้สักที แม้เวลาจะผ่านไปแล้วหลายปี เป็นเหตุให้ชีวิตรักของทั้งสองพระองค์จืดจางลง และหลังจากการปฏิรูปที่จักรพรรดิฮั่นอู่ทรงริเริ่มเมื่อ 140 ปีก่อนคริสตกาลนั้นล้มไม่เป็นท่าเพราะพระนางโต้ว (竇) ผู้เป็นพระอัยยิกา ความอยู่รอดทางการเมืองของจักรพรรดิฮั่นอู่ก็ยิ่งต้องอาศัยการวิ่งเต้นสนับสนุนขององค์หญิงกว่านเถา พระมารดาของพระนางเฉิน เจียว มากขึ้น ทำให้จักรพรรดิฮั่นอู่จำต้องตามพระทัยพระนางเฉิน เจียว ซึ่งมีพระอุปนิสัยเสียและเอาแต่พระทัย เป็นเหตุให้ความตึงเครียดระหว่างจักรพรรดิฮั่นอู่กับพระนางเฉิน เจียว ยิ่งทวีขึ้นตามลำดับ
ในฤดูใบไม้ผลิเมื่อ 139 ปีก่อนคริสตกาล จักรพรรดิฮั่นอู่เสด็จไปทรงประกอบพิธีประจำปี ณ ป้าช่าง (灞上) แล้ว ก็ทรงใช้โอกาสนั้นเสด็จไปทรงเยี่ยมองค์หญิงผิงหยาง ผู้เป็นพระพี่นาง ซึ่งมีพระตำหนักอยู่ใกล้เคียง องค์หญิงผิงหยางทรงประพฤติตามอย่างองค์หญิงกว่านเถา โดยทรงจัดหาหญิงสาวมาถวายเป็นนางสนมกำนัลบ้าง เพื่อจะได้วางรากฐานทางการเมืองของพระนางเอง หญิงสาวที่ทรงจัดหามานั้นมาจากชนชั้นรากหญ้า แต่ไม่มีเว่ย์ จื่อฟู อยู่ในนั้นด้วย หญิงเหล่านี้ไม่เป็นที่ประทับใจของจักรพรรดิฮั่นอู่ แผนการขององค์หญิงผิงหยางจึงไม่เป็นไปด้วยดี เมื่อทรงเห็นว่า พระอนุชาทรงเบื่อหน่ายกับการคัดเลือกหญิงสาว พระนางจึงทรงเรียกคณะนางระบำในตำหนักมาฟ้อนรำถวาย เว่ย์ จื่อฟู เป็นหนึ่งในบรรดานางระบำนั้น และรูปโฉมอันงดงามของนางเป็นที่ต้องพระทัยของจักรพรรดิ องค์หญิงผิงหยางจึงทรงให้เว่ย์ จื่อฟู ตามไปถวายงาน ณ เรือนรับรอง ที่ซึ่งจักรพรรดิทรงได้เสียกับนาง และประทานทองคำพันชิ้นให้แก่พระพี่นางเป็นรางวัล องค์หญิงผิงหนางก็ถวายเว่ย์ จื่อฟู ต่อจักรพรรดิเป็นการตอบแทน จักรพรรดิฮั่นอู่ทรงนำเว่ย์ จื่อฟู กลับไปฉางอานราชธานี พร้อมนำเว่ย์ ชิง ลูกพี่ลูกน้องของนาง กลับไปทำหน้าที่เลี้ยงม้าต้นด้วย
เมื่อพระนางเฉิน เจียว ทรงทราบว่า พระสวามีทรงนำหญิงสาวกลับมาด้วย ก็ทรงวางแผนจะทำให้จักรพรรดิฮั่นอู่ทรงเลิกล้มพระทัยที่จะให้หญิงนั้นอยู่ในวังเป็นพระชายา เป็นผลให้เว่ย์ จื่อฟู ถูกส่งไปเป็นนางกำนัลในตำหนักรกร้างห่างไกล เว่ย์ จื่อฟู อยู่ที่นั่นมาปีกว่า ก็รู้สึกสิ้นหวัง จึงเข้าชื่อเป็นนางกำนัลรอการส่งตัวออกนอกวัง ซึ่งปกติเป็นกลุ่มที่อายุมากหรือหย่อนความสามารถในราชการแล้ว บังเอิญที่จักรพรรดิฮั่นอู่เสด็จมากำกับการส่งตัวนางกำนัลออกนอกวังด้วยพระองค์เอง และทอดพระเนตรเห็นนางร่ำไห้ขอกลับบ้าน ก็หวนรำลึกถึงความรักที่ทรงมีให้นางแต่ครั้งก่อน ณ เวลานี้ จักรพรรดิทรงฐานอำนาจที่แข็งแกร่งเพียงพอป็นของพระองค์เอง จึงรับสั่งให้นางอยู่ในวังต่อ หลังจากนั้นไม่นาน นางก็ตั้งครรภ์
ข่าวการมีครรภ์ของนางยังความยินดีมาสู่จักรพรรดิฮั่นอู่ ซึ่งกำลังไม่สบพระอารมณ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระนางเฉิน เจียว ทรงไม่สามารถมีบุตรได้ ประกอบกับเดิมพระราชบัลลังก์ตั้งหมิ่นเหม่อยู่บนภัยคุกคาม เนื่องด้วยการปะทะกันทางการเมืองของกลุ่มหัวโบราณที่มีพระอัยยิกาเป็นผู้นำมาตั้งแต่ช่วงการปฏิรูปเมื่อ 140 ปีก่อนคริสตกาล กับกลุ่มขุนนางที่วางแผนจะถอดพระองค์ออกจากราชสมบัติ ด้วยข้ออ้างว่า ทรงไม่สามารถมีรัชทายาทได้ แล้วจะให้หลิว อัน (劉安) เชื้อพระวงศ์ห่าง ๆ ขึ้นเสวยราชย์แทน การที่เว่ย์ จื่อฟู ตั้งครรภ์ จึงเป็นการยุติข้ออ้างดังกล่าว นอกเหนือไปจากการทำให้เว่ย์ จื่อฟู เองกลายเป็นที่โปรดปรานยิ่งกว่าพระนางเฉิน เจียว
พระนางเฉิน เจียว แค้นพระทัย แต่ทรงไม่สามารถกระทำอันตรายต่อเว่ย์ จื่อฟู ได้ เพราะนางอยู่ในความคุ้มครองของจักรพรรดิโดยตรง ส่วนองค์หญิงกว่านเถา พระมารดาของพระนางเฉิน เจียว ก็พยายามจะลักพาเว่ย์ ชิง น้องชายของเว่ย์ จื่อฟู ไปสังหาร เวลานั้น เว่ย์ ชิง เป็นนายม้าอยู่ในค่ายเจี้ยนจาง (建章營) ซึ่งเป็นค่ายของทหารรักษาพระองค์พระจักรพรรดิ และกงซุน อ๋าว (公孫敖) มิตรสหายของเว่ย์ ชิง นำกำลังเข้าไปกู้ตัวเว่ย์ ชิง ออกมาจากตำหนักองค์หญิงกว่านเถาได้ แล้วทูลถวายรายงานต่อจักรพรรดิ จักรพรรดิฮั่นอู่จึงทรงประกาศตั้งเว่ย์ จื่อฟู ขึ้นเป็นพระมเหสีที่ตำแหน่งฟูเหริน (夫人) ซึ่งรองจากตำแหน่งหฺวังโฮ่วของพระนางเฉิน เจียว และทรงตั้งเว่ย์ ชิง ควบตำแหน่งเจี้ยนจางเจี้ยน (建章監) ซึ่งเป็นนายค่ายเจี้ยนจาง, ตำแหน่งชื่อจง (侍中) ซึ่งเป็นเสนาธิการทหาร, และตำแหน่งไท่จงต้าฟู (太中大夫) ซึ่งเป็นหัวหน้าองคมนตรี ทำให้เว่ย์ ชิง กลายเป็นหนึ่งในขุนนางคนสนิทที่สุดในพระองค์ ภายหลัง เว่ย์ จื่อฟู ยังมีพระธิดาอีกสามองค์ให้แก่จักรพรรดิ ยังผลให้ความรักของจักรพรรดิตกมาอยู่ที่นางแต่ผู้เดียว
ครั้น 130 ปีก่อนคริสตกาล มีการเปิดโปงว่า พระนางเฉิน เจียว ทรงใช้คาถาอาคมทำร้ายพระชายาองค์อื่น ๆ ของจักรพรรดิ เพื่อให้จักรพรรดิทรงกลับมารักพระนาง จึงมีรับสั่งให้จาง ทาง (張湯) ขุนนางยกบัตรซึ่งผู้คนยำเกรงมาก ไปไต่สวนเป็นการใหญ่ ที่สุดแล้ว มีผู้ถูกประหารกว่า 300 คน และพระนางเฉิน เจียว เองต้องทรงถูกถอดจากตำแหน่งหฺวังโฮ่วแล้วขับออกจากพระนครฉางอันไปอยู่พระที่นั่งฉางเหมิน (長門宮) อันรกร้างกันดาร พระที่นั่งองค์นี้เดิมองค์หญิงกว่านเถาถวายต่อจักรพรรดิฮั่นอู่เป็นของกำนัลตอบแทนที่ไม่ทรงเอาเรื่องที่พระนางมีความสัมพันธ์อื้อฉาวกับต๋ง หย่าน (董偃) บุตรบุญธรรมของพระนางเอง
การเป็นหฺวังโฮ่ว
[แก้]การขับพระนางเฉิน เจียว ทำให้ตำแหน่งหฺวังโฮ่วว่างลง ครั้น 129 ปีก่อนคริสตกาล เว่ย์ ชิง น้องชายของเว่ย์ จื่อฟู นำทัพม้า 10,000 นายไปรบซฺยงหนู (匈奴) ชนะ ปีถัดมา เว่ย์ จื่อฟู คลอดพระโอรสของจักรพรรดิฮั่นอู่ คือ หลิว จฺวี้ ซึ่งเป็นพระโอรสพระองค์แรกของจักรพรรดิฮั่นอู่ ทำให้จักรพรรดิดีพระทัย และทรงสถาปนานางขึ้นเป็นหฺวังโฮ่วในปีนั้นเอง ต่อมาใน 122 ปีก่อนคริสตกาล ยังทรงสถาปนาหลิว จฺวี้ ขึ้นเป็นรัชทายาท
เมื่อเว่ย์ จื่อฟู ได้เป็นหฺวังโฮ่วแล้ว เว่ย์ ชิง ก็มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการรบกับซฺยงหนู จนเมื่อเอาชนะเจ้านายซฺยงหนูซึ่งดำรงตำแหน่งโย่วเสียนหวัง (右賢王) ได้ใน 123 ปีก่อนคริสตกาล เว่ย์ ชิง ก็ได้เลื่อนเป็นแม่ทัพใหญ่เรียก ต้าเจียงจฺวิน (大將軍) นอกจากนี้ ฮั่ว ชฺวี่ปิ้ง หลานชายของเว่ย์ จื้อฟู ยังขึ้นชื่อว่า เป็นนักกลยุทธ์ทหาร มีผลงานเป็นการชิงชัยเหนือเส้นทางเหอซีโจ่วหลาง (河西走廊) เป็นผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ใน 123 ปีก่อนคริสตกาลนั้นเอง จึงปรากฏว่า ตระกูลเว่ย์มีสมาชิกที่เป็นขุนนางสูงศักดิ์ถึงห้าคน แม้เดิมเป็นชนชั้นทาสก็ตาม ถือเป็นเกียรติยศชั้นสูงสำหรับวงศ์ตระกูล
แม้ความรุ่งเรืองของตระกูลเว่ย์จะมีสาเหตุหลักมาจากผลงานทางทหารของเว่ย์ ชิง กับฮั่ว ชฺวี่ปิ้ง แต่เว่ย์ จื่อฟู ก็มักได้รับการพิจารณาว่า เป็นเสาหลักของตระกูล สมัยนั้นมีเพลงชาวบ้านร้องขับขานกันว่า "ได้ลูกชายอย่าดีใจ ได้ลูกสาวอย่าเคืองใจ เห็นหรือไม่ เว่ย์ จื่อฟู ก็ครองทั่วหล้าได้" (生男無喜,生女無怒,獨不見衛子夫霸天下!) ความสำเร็จขนานใหญ่ของตระกูลเว่ย์นี้ทำให้จักรพรรดิราชวงศ์ฮั่นในสมัยต่อ ๆ นิยมสมรสกับสตรีตระกูลเว่ย์
มีบันทึกว่า เว่ย์ จื่อฟู เมื่อได้ดำรงตำแหน่งหฺวังโฮ่วแล้ว วางตนเรียบง่าย อ่อนโยน พยายามรักษาสมาชิกวงศ์ตระกูลให้อยู่ในลู่ในทาง แต่เมื่อเวลาผ่านไป จักรพรรดิฮั่นอู่ก็ทรงเริ่มเบื่อหน่ายเว่ย์ จื่อฟู และทรงหันไปมีสัมพันธ์กับสตรีคนอื่น ๆ แทน ในจำนวนนี้รวมถึง หวังฟูเหริน (王夫人), หลี่ฟูเหริน (李夫人) น้องสาวของหลี่ หยานเหนียน (李延年) นักดนตรีในราชสำนัก, และจ้าวเจี๋ย-ยฺหวี (趙婕妤) ผู้ให้กำเนิดหลิว ฝูหลิง (劉弗陵) ซึ่งภายหลังได้ครองราชย์เป็นจักรพรรดิฮั่นเจา (汉昭帝) กระนั้น จักรพรรดิฮั่นอู่ก็ยังทรงให้เกียรติเว่ย์ จื่อฟู และยังไว้วางพระทัยให้นางปกครองฝ่ายใน ทั้งให้หลิว จฺวี้ รัชทายาทซึ่งเป็นโอรสของนาง ได้สำเร็จราชการแผ่นดิน
ปัญหาการสืบราชบัลลังก์ และวาระสุดท้ายของเว่ย์ จื่อฟู
[แก้]เมื่อมีพระชนม์มากขึ้น จักรพรรดิฮั่นอู่ทรงระแวงจะมีผู้ใช้คุณไสยต่อพระองค์ จึงทรงให้ไต่สวนเป็นการใหญ่ ทำให้ขุนนางผู้ใหญ่หลายคนถูกประหารทั้งตระกูล ข้อหวาดวิตกเรื่องคุณไสยนี้ยังนำไปสู่ปัญหาการสืบราชสมบัติ ทั้งนี้ จักรพรรดิฮั่นอู่ทรงมีสัมพันธ์กับสตรีที่เรียก จ้าวเจี๋ย-ยฺหวี จนนางตั้งครรภ์ 14 เดือนและประสูติองค์ชายหลิว ฝูหลิง ให้แก่พระองค์ใน 94 ปีก่อนคริสตกาล อันเป็นเวลาที่พระองค์มีพระชนม์ 62 ชันษาแล้ว ทำให้พระองค์ทรงยินดียิ่งนัก การตั้งครรภ์ 14 เดือนเหมือนตำนานของพระเจ้าเหยา (堯) เป็นเหตุให้จักรพรรดิฮั่นอู่ทรงเรียกขานนางว่า เหยาหมู่เหมิน (堯母門; “ประตูแม่เหยา”) จึงเกิดข่าวลือว่า จักรพรรดิจะถอดหลิว จฺวี้ โอรสของเว่ย์ จื่อฟู ออกจากตำแหน่งรัชทายาท แล้วตั้งหลิว ฝูหลิง ขึ้นเป็นรัชทายาทแทน ไม่มีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับการสับเปลี่ยนตามข่าวนี้ แต่ผู้สนับสนุนหลิว ฝูหลิง ก็พากันวางแผนให้เกิดขึ้นจริง หนึ่งในนั้น คือ เจียง ชง (江充) ขุนนางกฎหมาย ที่ผิดใจกับหลิว จฺวี้ หลังจากจับกุมคนของหลิว จฺวี้ ในข้อหาใช้ทางหลวงโดยมิชอบ แล้วเกรงว่า หลิว จฺวี้ จะเอาคืนเมื่อขึ้นครองราชย์ อีกคนหนึ่ง คือ ซู เหวิน (蘇文) หัวหน้าขันทีของจักรพรรดิฮั่นอู่ ซึ่งเคยกล่าวหาเท็จว่า หลิว จฺวี้ กระทำชู้กับนางกำนัล
แผนการเหล่านี้นำไปสู่การจับกุมและไต่สวนเมื่อ 91 ปีก่อนคริสตกาล หนึ่งในผู้ถูกไต่สวน คือ ขุนพลกงซุน อ้าว (公孫敖) ซึ่งเป็นพี่เขยหรือน้องเขยของเว่ย์ จื่อฟู พร้อมบุตรชาย ที่สุดแล้ว ขุนพลและบุตรชายปลิดชีพตนเองในเรือนจำ ส่วนคนที่เหลือในตระกูลก็ถูกประหารสิ้น โดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ นอกจากนี้ บุคคลอื่น ๆ ในตระกูลเว่ย์ และผู้เกี่ยวข้อง เช่น เว่ย์ คั่ง (衛伉) บุตรชายคนโตของเว่ย์ ชิง ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนในการใช้คาถาอาคมในราชสำนัก และถูกประหาร ทำให้ตระกูลเว่ย์แทบจะพ้นไปจากอำนาจทางการเมือง ครั้นแล้ว เจียง ชง กับซู เหวิน ก็กล่าวหาหลิว จฺวี้ ด้วยเรื่องเวทมนตร์คาถาเช่นกัน จักรพรรดิฮั่นอู่ซึ่งเวลานั้นแปรพระราชฐานไปตำหนักฤดูร้อนในกานเฉวียน (甘泉) ทรงให้เจียง ชง กับซู เหวิน จัดการ ทั้งสองบุกค้นทั่วพระราชวัง แล้วแถลงว่า พบหลักฐานมั่นคงบ่งบอกถึงความผิดขององค์ชายหลิว จฺวี้ ฉือ เต่อ (石德) พระอาจารย์ของหลิว จฺวี้ จึงทูลแนะนำให้หลิว จฺวี้ ชิงยึดอำนาจก่อนจะถูกเล่นงาน เดิมที หลิว จฺวี้ ไม่ประสงค์จะก่อกบฏ แต่เลือกจะเดินทางไปตำหนักที่กานเฉวียนเพื่อทูลอธิบายเรื่องราว แต่เมื่อพบว่า เจียง ชง ส่งคนไปทูลตัดหน้าแล้ว หลิว จฺวี้ ก็ตกลงปฏิบัติตาม โดยปลอมราชโองการของจักรพรรดิฮั่นอู่ไปจับกุมเจียง ชง และพรรคพวกทั้งสิ้น แต่ซู เหวิน หลบหนีไปได้ จากนั้น หลิว จฺวี้ นำผู้ถูกจับกุมมารายงานต่อเว่ย์ จื่อฟู และเว่ย์ จื่อฟู เลือกสนับสนุนลูกมากกว่าสวามี จึงสั่งให้หลิว จฺวี้ นำทหารองครักษ์ของนางไปสู้กับฝ่ายตรงข้ามได้
ขณะนั้น ซู เหวิน หนีไปถึงตำหนักกานเฉวียน และทูลจักรพรรดิฮั่นอู่ว่า รัชทายาทหลิว จฺวี้ เป็นกบฏ จักรพรรดิไม่ทรงเชื่อ และทรงเรียกหลิว จฺวี้ ให้มาเข้าเฝ้าอธิบาย แต่ขันทีนำสารไม่กล้าเดินทางไปพระนครฉางอานเพื่อเรียกหลิว จฺวี้ ตามรับสั่ง และกลับไปทูลความเท็จต่อจักรพรรดิว่า หลิว จฺวี้ กำลังจะมาฆ่าพระองค์อยู่แล้ว จักรพรรดิจึงทรงให้อัครมหาเสนาบดีหลิว ชูหลี (劉屈犛) นำกำลังไปปราบกบฏ ฝ่ายหลิว ชูหลี กับฝ่ายหลิว จฺวี้ ปะทะกันกลางพระนครฉางอานกว่าห้าวัน และหลิว ชูหลี มีชัยชนะ หลิว จฺวี้ จึงหนีออกจากพระนครไปพร้อมกับบุตรชายทั้งสอง ส่วนคนอื่น ๆ ในครอบครัวถูกจับประหารทั้งหมด ยกเว้นหลิว ปิ้งอี่ หลานชายวัยหนึ่งเดือน ซึ่งถูกกักขังแทน
เมื่อปราบกบฏได้แล้ว จักรพรรดิฮั่นอู่รับสั่งให้ยึดตราประจำแหน่งหฺวังโฮ่วของเว่ย์ จื่อฟู เพื่อเตรียมถอดถอนนางออกจากตำแหน่ง เว่ย์ จื่อฟู ชิงฆ่าตัวตาย ศพของนางบรรจุโลงขนาดเล็กฝังไว้ที่ถงไป๋ (桐柏) สมาชิกคนอื่น ๆ ในตระกูลเว่ย์ถูกกำจัด และรัชทายาทหลิว จฺวี้ ถูกขุนนางท้องถิ่นที่ประสงค์ค่าหัวตามล่าไปจนมุมที่อำเภอหู (湖縣) เมื่อเห็นว่า หนีไม่พ้นแล้ว หลิว จฺวี้ ก็ฆ่าตัวตายตามมารดาไป ส่วนบุตรชายทั้งสองของหลิว จฺวี้ ถูกสังหาร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Bennet Peterson, Barbara (2000). Notable Women of China: Shang Dynasty to the Early Twentieth Century. M.E. Sharpe, Inc. p. 61.
บรรณานุกรม
[แก้]- Sima Qian, Shiji
- Ban Gu, Book of Han, vols. 6, 63, 97, Part 1
- Sima Guang, Zizhi Tongjian, vols. 17, 18, 22.
- Bennet Peterson, Barbara (2000). Notable Women of China: Shang Dynasty to the Early Twentieth Century. M.E. Sharpe, Inc.
- Joseph P Yap - Wars With the Xiongnu - A Translation From Zizhi Tongjian Chapters 4-6 AuthorHouse - 2009 ISBN 978-1-4490-0604-4