เวทีมวยนานาชาติรังสิต

พิกัด: 13°58′45″N 100°37′01″E / 13.979222°N 100.617083°E / 13.979222; 100.617083
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนามมวยนานาชาติเวทีมวยรังสิต
แผนที่
ที่อยู่ประเทศไทย
ที่ตั้ง323 ถนนพหลโยธิน, ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 12130
พิกัด13°58′45.2″N 100°37′01.5″E / 13.979222°N 100.617083°E / 13.979222; 100.617083
ที่จอดรถมีให้บริการ
เจ้าของอำนวย เกษบำรุง
ผู้ดำเนินการสนามมวยรังสิต
ชนิดเวทีมวยไทย และโปรโมเตอร์
ประเภทศิลปะการต่อสู้
รูปร่างสนามสี่เหลี่ยมจัตุรัส
การก่อสร้าง
ปีที่ใช้งานพ.ศ. 2505–ปัจจุบัน
ผู้รับเหมาหลักทรูสปอร์ต

เวทีมวยรังสิต หรือ เวทีมวยนานาชาติรังสิต (อังกฤษ: Rangsit International Boxing Stadium)[1] เป็นสนามมวยที่มีชื่อเสียง ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี[2] เวทีมวยแห่งนี้ ใช้เป็นสถานที่จัดการแข่ง ทั้งมวยไทยผ่านรายการถ่ายทอดสด[3][4] รวมถึงการแข่งมวยสากลในระดับนานาชาติ[5]

โดยในช่วงระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ ได้มีนักมวยที่ผ่านการแข่ง ณ สนามแห่งนี้ ไปสร้างชื่อเสียงอยู่เป็นจำนวนมาก[6]

ประวัติ[แก้]

สนามมวยรังสิต สร้างขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2505 โดยประสิทธิ์ อุไรรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีในสมัยนั้น เพื่ออนุรักษ์กีฬามวยไทย ต่อมา อำนวย เกษบำรุง ซึ่งเป็นเจ้าของค่ายมวยหลายแห่ง มีความต้องการจัดการแข่ง จึงมาขอเช่าสถานที่ โดยมีแนวคิดในการนำนักมวยจากที่ต่าง ๆ มาแข่งกัน ซึ่งการแข่งครั้งแรก เก็บค่าผ่านประตูได้กว่า 6,400 บาท จากต้นทุนในการจัดไม่ถึง 3,000 บาท จากนั้นได้มีการจัดเรื่อยมา และมีผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นในแต่ละนัด

ปี พ.ศ. 2505 นี้เอง ได้มีการเปิดประมูลสนามมวย ซึ่งอำนวย เกษบำรุง ชนะการประมูลด้วยเงิน 20,000 บาท และได้ทำการปรับปรุงสนามมวย รวมทั้งจัดการแข่งทุกสัปดาห์

สนามมวยรังสิต ได้ทำการย้ายสถานที่มาแล้ว 5 ครั้งเนื่องด้วยเป็นสถานที่เช่าทั้งหมด โดยครั้งแรกอยู่ที่ตลาดรังสิต ริมคลองรังสิต

พ.ศ. 2509 ย้ายไปโรงงานกระสอบ (ตรงข้ามโรงกษาปณ์ในปัจจุบัน) โดยใช้เงินลงทุน 160,000 บาท

ครั้งที่ 3 ย้ายไปบริเวณประปารังสิต (หน้าตลาดรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน)

ครั้นในปี พ.ศ. 2513 ก็ย้ายไปยังตลาดรังสิต โดยมีสัญญาเช่า 10 ปี

และเมื่อหมดสัญญาเช่า อำนวย เกษบำรุง ได้ทำการซื้อที่ดินติดถนนพหลโยธิน ตรงข้ามด่านชั่ง เป็นพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งสนามมวยรังสิตในปัจจุบัน และได้ทำการเปิดอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2528[ต้องการอ้างอิง]

เดิมในปี พ.ศ. 2558 สถิติผู้เข้าชมที่เวทีมวยแห่งนี้เฉลี่ยต่อนัด อยู่ที่ 400 คน กระทั่งปี พ.ศ. 2559 จากการประกบคู่มวยต่างศึก ต่างสาย ส่งผลให้มีผู้เดินทางมาเข้าชมต่อนัดเฉลี่ยที่ 700 คน[7]

กิจกรรมเพื่อสังคม[แก้]

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558 ทางสนามมวยได้จัดหาเงินเพื่อช่วยเหลือสถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ สำหรับการสร้างตู้ยาม[8]

เหตุการณ์สำคัญ[แก้]

เดือนเมษายน พ.ศ. 2558 เกิดกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีเข้าจับกุมนักพนันที่สนามมวย 86 ราย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเจ้าของสนามได้ออกมาแย้งว่ามีใบอนุญาต เช่นเดียวกับสนามมวยมาตรฐานทุกแห่ง[6] และได้มีการนำเงิน 425,000 บาทมาเพื่อประกันตัวออกไป[8][9]

การตอบรับ[แก้]

เวทีมวยนานาชาติแห่งนี้ได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกด้านบรรยากาศที่โอ่โถง การแยกโซนสำหรับกองเชียร์ที่เห็นได้ชัดเจน มีเครื่องปรับอากาศเปิดตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เวทีมวยแห่งนี้มีข้อเสียอยู่บ้างคือ สถานที่จอดรถที่มีอยู่จำกัด[7]

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

เวทีมวยนานาชาติรังสิต ยังใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง อาทิ ในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการถ่ายทำผลงาน มวยไทย Fight แหลก ที่นำแสดงโดยเจสัน ยัง[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. ขุนเดี่ยวชนะแต้มพนมรุ้งเล็กที่รังสิต - เดลินิวส์
  2. รปภ.ผูกคอตายปริศนาในค่ายมวยดังย่านรังสิต - คมชัดลึก
  3. 'ปืนกล-รณชัย'!! - SMMSPORT.com[ลิงก์เสีย]
  4. ช่อง 5 จัดมวยไทยทุกอาทิตย์ลงวิกรังสิต-เปิดหัว 15 ม.ค. - มติชน
  5. "สะท้านเมืองเล็ก-วันชนะ"เก็บชัยคว้าแชมป์ยอดมวยโลก WBC - ข่าวสด
  6. 6.0 6.1 บุกเวทีรังสิต! จับ 86 เซียนพนัน มวยสดเลิก เล่นมวยตู้ต่อ - thairath.co.th
  7. 7.0 7.1 “มวยดีวิถีไทย” มวยตู้ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาครองใจแฟนมวย - SMMSPORT.com[ลิงก์เสีย]
  8. 8.0 8.1 บุกสนามมวยรังสิต จับนักพนันกว่า 85 คน - กรุงเทพธุรกิจ
  9. ตร.บุกจับนักพนันในสนามมวยรังสิตเกือบ 100 ราย : INN News[ลิงก์เสีย]
  10. “เจสัน ยัง” อึดโครต! โดดขึ้นสังเวียนโชว์พลังหมัด - Manager Online - ผู้จัดการ[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°58′45″N 100°37′01″E / 13.979222°N 100.617083°E / 13.979222; 100.617083