ดอกประดู่ (เพลง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เพลงดอกประดู่)
"ลับดาบไว้พลาง ช้างบนยอดกาฟฟ์จะนำ"
ธงราชนาวีไทยโบกสะบัดบนเสากาฟฟ์
ใบและดอกประดู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในเพลง

เพลง ดอกประดู่ หรือที่นิยมเรียกกันอีกอย่างว่าเพลง หะเบสสมอพลัน เป็นบทเพลงพระนิพนธ์ใน พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เดิมเรียกชื่อว่า "Comin Thro' the Rye" ตามชื่อทำนองเพลงเดิมในภาษาอังกฤษ (เพลงนี้เป็นเพลงสก็อต เข้าใจกันว่าดัดแปลงทำนองมาจากเพลง Auld Lang Syne อีกทีหนึ่ง) แรงบันดาลใจสำคัญในการทรงนิพนธ์เพลงนี้คือเหตุการณ์วิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ซึ่งเป็นที่จดจำกันได้ดีทุกคนสำหรับคนไทยในยุคนั้น สันนิษฐานว่าทรงนิพนธ์เพลงดอกประดู่เมื่อ พ.ศ. 2448

เพลงนี้ถือเป็นเพลงสัญลักษณ์ของกองทัพเรือไทยที่คนไทยรู้จักกันดี และเป็นที่มาของการเปรียบเทียบตนเองของทหารเรือไทยว่า เป็น "ลูกประดู่" มาจนถึงทุกวันนี้

เนื้อร้อง[แก้]

หะเบสสมอ[1]พลัน ออกสันดอนไป
ลัดไปเกาะสีชัง จนกระทั่งกระโจมไฟ[2]
เที่ยวหาข้าศึก มิได้นึกจะกลับมาใน
ถึงตายตายไป ตายให้แก่ชาติของเรา

พวกเราดูรู้ เจ็บแล้วต้องจำ[3]
ลับดาบไว้พลาง ช้างบนยอดกาฟฟ์[4]จะนำ
สยาม[5]เป็นชาติของเรา ธงทุกเสาชักขึ้นทุกลำ
ถึงเรือจะจมในน้ำ ธงไม่ต่ำลงมา

เกิดมาเป็นไทย ใจร่วมกันแหละดี
รักเหมือนพี่เหมือนน้อง ช่วยกันป้องปฐพี
สยาม[5]เป็นชาติของเรา อย่าให้เขามาย่ำมายี
ถึงตายตายดี ตายในหน้าที่ของเรา

พวกเราทุกลำ จำเช่นดอกประดู่
วันไหนวันดี บานคลี่พร้อมอยู่
วันไหนร่วงโรย ดอกโปรยตกพรู
ทหารเรือเราจงดู ตายเป็นหมู่เพื่อชาติไทย

อธิบายศัพท์ในเพลง[แก้]

  1. หะเบสสมอ เป็นคำภาษาจาม แปลว่า ถอนสมอเรือ ในศัพท์ทหารเรือไทยนั้นมีคำในภาษาจามและและมลายูปนอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง เนื่องจากสมัยโบราณนั้นทหารเรือมักจะเป็นชาวจามในสังกัดกรมอาสาจาม เพราะชาวจามมีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือทะเลมาก
  2. กระโจมไฟ คือหอประภาคาร ในที่นี้หมายถึงกระโจมไฟที่แหลมงอบ ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด
  3. ท่อนนี้มีการร้องอีกอย่างหนึ่งเป็น "พวกเราจงดู รู้เจ็บแล้วต้องจำ" จะอย่างไรก็ตาม เนื้อร้องดังกล่าวล้วนเป็นการย้ำเตือนให้จดจำวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ไว้
  4. กาฟฟ์ (Gaff) คือ เสาสำหรับชักธงประจำเรือที่ตอนกลางเรือ สำหรับกรณีของทหารเรือนั้น ถ้าหากชักธงชาติสำหรับกองทัพเรือ (ธงราชนาวี) ขึ้นที่เสานี้ แสดงว่าเรือลำดังกล่าวกำลังประจำสถานีรบ ช้างบนยอดกาฟฟ์หมายถึง รูปช้างเผือกในธงราชนาวีไทย ซึ่งไม่ว่าจะมีวิวัฒนาการอย่างไรก็ตามก็จะมีรูปดังกล่าวอยู่ด้วยเสมอ
  5. 5.0 5.1 ในการบันทึกเสียงบางครั้งได้มีการเปลี่ยนคำว่า "สยาม" เป็น "ไทย" แต่ปัจจุบันใช้ว่า "สยาม" ตามต้นฉบับ

อ้างอิง[แก้]