เปลี่ยน ภาสกรวงศ์
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
เปลี่ยน ภาสกรวงศ์ | |
---|---|
เกิด | 8 ธันวาคม พ.ศ. 2390 |
เสียชีวิต | 11 ธันวาคม พ.ศ. 2454 (64 ปี) |
สัญชาติ | สยาม |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้แต่งตำราแม่ครัวหัวป่าก์ |
คู่สมรส | เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) |
บุตร | นายราชาณัตยานุหาร (พาสน์) เจ้าจอมพิศว์ ในรัชกาลที่ 5 |
บิดามารดา | นายสุดจินดา (พลอย ชูโต) นิ่ม สวัสดิ์-ชูโต |
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม ตรงกับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2390[1] เป็นธิดาของนายสุดจินดา (พลอย ชูโต) บุตรจมื่นศรีสรรักษ์ (ถัด) มารดาของท่านชื่อนิ่ม เป็นธิดาของพระยาสุรเสนา (สวัสดิ์ ชูโต) (น้องจมื่นศรีสรรักษ์ (ถัด)) กับคุณหญิงเปี่ยม ซึ่งเป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) (เรียกกันโดยทั่วไปว่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) ดังนั้นท่านผู้หญิงเปลี่ยนจึงมีศักดิ์เป็นเหลนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ด้วยเปลี่ยนได้รับการศึกษาอบรมตามแบบกุลธิดาสมัยก่อน ซึ่งเกี่ยวกับการดูแลกิจการบ้านเรือน และโดยเหตุที่ท่านเป็นสตรีที่ฉลาด มีอุปนิสัยรักความประณีต อีกทั้งมีความคิดริเริ่มที่ดี ท่านจึงได้พากเพียรศึกษา ฝึกฝน และปรับปรุงการประกอบอาหารหวานคาว ฝีมือการปรุงอาหารของท่าน เป็นที่เลื่องลือทั่วไปว่าเป็นหนึ่งไม่มีสอง เป็นที่ชื่นชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อีกทั้งท่านยังริเริ่มการประดิษฐ์อาหารและขนมให้ดูน่ารับประทาน เช่น การประดิษฐ์ "ลูกชุบ" ขึ้นถวายเจ้านาย ซึ่งยังเป็นที่นิยมจนถึงขณะนี้ นอกจากนี้ท่านยังได้รวบรวมและเรียบรวมตำราอาหารหวานคาวทั้งของไทยและของต่างชาติขึ้นไว้ คือตำรา "แม่ครัวหัวป่าก์" ซึ่งนับว่าเป็นตำรากับข้าวเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทย[2] โดยมีเจ้าจอมพิศว์ ในรัชกาลที่ 5 ธิดาของท่านเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตำราอาหารเล่มนี้ยังใช้เป็นแบบอย่างอยู่จนทุกวันนี้ นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ท่านผู้หญิงยังมีฝีมือในการแกะสลักผักและผลไม้ รวมทั้งการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง ดอกไม้สด และดอกไม้ขี้ผึ้งอบหอม ส่วนฝีมือในการเย็บปักถักร้อยของท่านก็เป็นเยี่ยมเช่นกัน งานปักชิ้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปถึงต่างประเทศ คือ งานปักรูปเสือ ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และงานชิ้นสำคัญนี้ได้ร่วมประกวดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่างานปักของท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้รับรางวัลชนะเลิศของโลก ได้รับเงินรางวัลเป็นมูลค่าหลายพันดอลลาร์สหรัฐ รางวัลนี้นำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่ตัวท่านและวงศ์ตระกูล แต่ที่สำคัญคือเป็นเกียรติคุณอย่างยิ่งของประเทศชาติ
ท่านผู้หญิงเปลี่ยนสมรสกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) บุตรคนสุดท้องของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ กับหม่อมอิน ตามหลักฐานที่ปรากฏทั้งสองมีบุตรธิดารวม 5 คน คือ เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (เพ่ง) เจ้าจอมพิศว์ ในรัชกาลที่ 5 นายราชาณัตยานุหาร (พาสน์) พัฒน์ ได้เป็นหม่อมของเจ้านายท่านหนึ่ง พวง ได้เป็นภรรยาของพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นสตรีที่มีสำนึกในหน้าที่ กล่าวคือ นอกจากการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวของท่านจนเป็นที่ยกย่องชื่นชมแล้ว ท่านยังมีผลงานที่ได้ปฏิบัติด้วยความตั้งใจมั่น และด้วยความเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมอันนับว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในชีวิตของท่านอีกด้วย กล่าวคือในปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องพรมแดนที่ฝั่งแม่น้ำโขง ผลของการกระทบกระทั่งกลายเป็นการสู้รบ เนื่องจากฝ่ายฝรั่งเศสส่งกองทัพเรือมาปิดอ่าว ในการสู้รบครั้งนั้นปรากฏว่ามีราษฎรและทหารทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนไม่น้อย ท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้เล็งเห็นความทุกข์ยากของทหารและราษฎรเหล่านั้น จึงได้ดำริว่า น่าจะมีองค์กรสักองค์กรหนึ่งเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ ดังนั้นท่านจึงได้ชักชวนบรรดาสตรีชั้นสูงทั้งหลายให้มาร่วมมือกันโดยท่านได้นำความกราบทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้ทรงรับเป็น "ชนนีผู้บำรุง" ขององค์การนี้[3]
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็ทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก พระราชดำริว่า องค์กรนี้เป็นองค์กรการกุศล เหมือนอย่างประเทศตะวันตกที่เคยมีมาแล้ว จึงทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มสตรีอาสาสมัครนี้ทำการเรี่ยไร ได้เงินทั้งสิ้น 444,728 บาท ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าอันมหาศาลสำหรับสมัยนั้น เงินที่ได้ทั้งหมดนี้ใช้ไปในการซื้อยาเพื่อรักษาผู้บาดเจ็บจากการสู้รบ โดยส่วนหนึ่งใช้ในการเดินทางไปเยี่ยมเยียน และช่วยเหลือครอบครัวทหารและพลเรือนที่ออกปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ด้วย
การปฏิบัติภารกิจของกลุ่มสตรีอาสาสมัครที่มีท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นผู้นำเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู๋หัว จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งสมาคมการกุศลในปี พ.ศ. 2436 โดยพระองค์ทรงพระกรุณาลงพระนามาภิไธยจัดตั้ง สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีทรงเป็น "สภาชนนี" พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ทรงดำรงตำแหน่ง "สภานายิกา" พระองค์แรก และท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ มีตำแหน่งเป็นเลขานุการิณี งานสำคัญของสภาอุณาโลมแดงแห่งสยามนี้คือ การจัดส่งยา อาหาร เสื้อผ้า และเครื่องใช้ต่าง ๆ ไปช่วยบำรุงทหารในสนามรบ ซึ่งสภาฯ ได้ดำเนินการเป็นผลดีจนกระทั่งการสู้รบได้ยุติลง นับว่าเป็นการทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในการช่วยบำบัดทุกข์ให้แก่ทหารและพลเรือน เป็นการร่วมมือทั้งกำลังกาย กำลังใจและกำลังทรัพย์ในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์อย่างดียิ่ง สภาอุณาโลมแดงแห่งสยามนี้ ต่อมาคือ สภากาชาดสยาม และเปลี่ยนชื่อเป็น สภากาชาดไทย ได้เข้าเป็นสมาชิกสภากาชาดสากล เมื่อปี พ.ศ. 2463
ท่านผู้หญิงเปลี่ยนถูกคนเมาบริเวณกรมอู่ทหารเรือใช้มีดดาบฟันจนเป็นแผลฉกรรจ์ อาการสาหัสจนถึงแก่อนิจกรรม[1]เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ร.ศ. 130[4](ตรงกับปี พ.ศ. 2454) สิริอายุได้ 64 ปี 3 วัน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2443 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายใน)[5]
- พ.ศ. 2451 - เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 3 (จ.ป.ร.3)[6]
- พ.ศ. 2453 - เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 3 (ว.ป.ร.3)[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ฉัตรชัย ว่องกสิกรณ์ (7 พฤษภาคม 2560). "โศกนาฏกรรมชีวิต ของ แม่ครัวหัวป่าก์ ถูกทหารเรือ (?) ทำร้ายจนตาย". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ตำรากับข้าวเล่มแรกของไทย[ลิงก์เสีย]. จากเว็บไซต์ 88db.com สืบค้นเมื่อ 20-02-57
- ↑ ข้อมูลประวัติโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เก็บถาวร 2012-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 20-02-57
- ↑ "ข่าวตาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 28 (0 ง): 2050. 17 ธันวาคม ร.ศ. 130. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2561.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลพระจุลจอมเกล้า แลถวายบังคมพระบรมรูป http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2442/034/498.PDF เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25 (39): 1153. 27 ธันวาคม พ.ศ. 2451. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2019-06-23.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัตยุบัน ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 (0ง): 3100. 19 มีนาคม พ.ศ. 2453.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help)