เตียวตัด
เตียวตัด (จางต๋า) | |
---|---|
張達 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
อาชีพ | นายทหาร |
เตียวตัด (จางต๋า) | |||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 張達 | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 张达 | ||||||
|
เตียวตัด หรือชื่อในภาษาจีนกลางว่า จาง ต๋า (จีนตัวย่อ: 张达; จีนตัวเต็ม: 張達; พินอิน: Zhāng Dá) เป็นนายทหารของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน เดิมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเตียวหุยขุนพลของรัฐจ๊กก๊ก ในปี ค.ศ. 221 เตียวตัดร่วมมือกับฮอมเกียงในการลอบสังหารเตียวหุย จากนั้นแปรพักตร์ไปเข้าด้วยง่อก๊ก แต่ไม่ทราบชะตากรรมในภายหลังของเตียวตัด
บันทึกประวัติศาสตร์
[แก้]บันทึกประวัติศาสตร์บรรยายเหตุการณ์ลอบสังหารเตียวหุยโดยฮอมเกียงและเตียวตัดโดยสังเขป เหตุจูงใจของการลอบสังหารอาจเป็นเพราะทั้งสองคนถูกเตียวหุยลงโทษอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ ก่อนหน้านี้เล่าปี่มักจะตักเตือนเตียวหุยว่าการลงโทษทหารอย่างรุนแรงจะสร้างปัญหายุ่งยากในภายหลัง แต่เตียวหุยเพิกเฉยต่อคำเตือน
ในฤดูหนาว เดือน 7 ของศักราชเจี๋ยงบู๋ (章武 จางอู่) ปีที่ 1 (ค.ศ. 221) เล่าปี่นำทัพยกเข้าโจมตีง่อก๊ก เตียวหุยนำกองกำลังของตนออกจากลองจิ๋ว (阆中 ล่างจง) เตรียมจะไปยังกังจิว (江州 เจียงโจฺว) ก่อนออกเดินทางเตียวตัดและฮอมเกียงผู้ใต้บังคับบัญชาของเตียวหุยได้สังหารเตียวหุยและนำศีรษะของเตียวหุยไปเข้าสวามิภักดิ์ต่อซุนกวน[1] บันทึกทางประวัติศาสตร์ไม่มีการะบุถึงฮอมเกียงและเตียวตัดหลังจากเหตุการณ์นี้
ในนิยายสามก๊ก
[แก้]ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊กมีเล่าเรื่องที่ฮอมเกียงและเตียวตัดลอบสังหารเตียวหุยอย่างละเอียด ตามเนื่องเรื่องในนิยายสามก๊ก หลังกวนอูพ่ายแพ้และหนีไปที่เป๊กเสีย (麥城 ไม่เฉิง) แล้วถูกซุนกวนจับประหารชีวิต เตียวหุยต้องการไว้ทุกข์ให้กวนอู จึงสั่งให้เตียวตัดและฮอมเกียงเตรียมธงขาว เกราะขาว และม้าขาวสำหรับทหารทั้งหมดภายใน 3 วัน เตียวตัดและฮอมเกียงขอผ่อนผันเวลา แต่เตียวหุยไม่อนุญาตทั้งยังสั่งให้นำทั้งสองคนไปโบยทำโทษและคาดโทษว่าจะประหารชีวิตหากเตรียมของไม่เสร็จตามกำหนด เตียวตัดและฮอมเกียงจึงตัดสินใจจะชิงสังหารเตียวหุยก่อน จึงลอบเข้าไปสังหารเตียวหุยขณะกำลังเมาหลับสนิท ตัดศีรษะเตียวหุยและนำไปเข้าสวามิภักดิ์กับง่อก๊ก[2][3] ภายหลังเมื่อเล่าปี่ยกทัพบุกง่อก๊ก ซุนกวนต้องการประนีประนอมจึงส่งตัวเตียวตัดและฮอมเกียงไปให้เล่าปี่ เตียวเปาบุตรชายของเตียวหุยจึงสังหารทั้งคู่เสีย[4][5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ (...羽善待卒伍而骄於士大夫,飞爱敬君子而不恤小人。先主常戒之曰:“卿刑杀既过差,又日鞭挝健儿,而令在左右,此取祸之道也。”飞犹不悛。先主伐吴,飞当率兵万人,自阆中会江州。临发,其帐下将张达、范彊杀飞,持其首,顺流而奔孙权。...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
- ↑ สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 81.
- ↑ "สามก๊ก ตอนที่ ๖๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ June 8, 2023.
- ↑ สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 83.
- ↑ "สามก๊ก ตอนที่ ๖๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ June 8, 2023.
- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ).
- ล่อกวนตง (ศตวรรษที่ 14). สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้).