ข้ามไปเนื้อหา

เดนลอว์

พิกัด: 54°N 1°W / 54°N 1°W / 54; -1
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เดนลอว์

  • 865–954
ธงชาติเดนลอว์
อังกฤษใน ค.ศ. 878
อังกฤษใน ค.ศ. 878
สถานะสมาพันธรัฐภายใต้ราชอาณาจักรเดนมาร์ก
ภาษาทั่วไปภาษานอร์สเก่า,
ภาษาอังกฤษเก่า
ศาสนา
ประวัติศาสตร์ 
• สถาปนา
865
• ถูกพิชิต
954
ก่อนหน้า
ถัดไป
นอร์ทัมเบรีย
เมอร์เซีย
อีสต์แองเกลีย
เอสเซกซ์
จักรวรรดิทะเลเหนือ
เวสเซกซ์
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอังกฤษ

บริเวณการปกครองของเดนส์ หรือ บริเวณเดนลอว์ (อังกฤษ: Danelaw, Danelagh; อังกฤษเก่า: Dena lagu;[1] เดนมาร์ก: Danelagen) ที่บันทึกใน “พงศาวดารแองโกล-แซ็กซอน” เป็นชื่อทางประวัติศาสตร์ของบริเวณในบริเตนใหญ่ที่ปกครองด้วยกฎหมายของ “เดนส์[2] ที่อยู่เหนืออิทธิพลของกฎของแองโกล-แซ็กซอน บริเวณบริเตนใหญ่ที่อยู่ใต้การปกครองของเดนส์ในปัจจุบันอยู่ในบริเวณทางเหนือและตะวันออกของอังกฤษ ที่มาของบริเวณการปกครองของเดนส์มาจากการขยายตัวของไวกิงในคริสต์ศตวรรษที่ 9 แม้ว่าคำนี้จะมิได้ใช้ในการบรรยายบริเวณทางภูมิศาสตร์มาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11 การขยายตัวของไวกิงมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในสแกนดิเนเวียที่ทำให้นักรบไวกิงมีความจำเป็นในการไปล่าทรัพย์สมบัติในอาณาบริเวณใกล้เคียงเช่นเกาะอังกฤษ

นอกจากจะใช้ในการบรรยายบริเวณทางภูมิศาสตร์แล้ว “บริเวณการปกครองของเดนส์” ก็ยังหมายถึงชุดกฎหมายและคำจำกัดความที่ระบุในสนธิสัญญาระหว่างพระมหากษัตริย์อังกฤษสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดมหาราชและขุนศึกชาวเดนส์กูธรัมผู้อาวุโส (Guthrum the Old) ที่เขียนขึ้นหลังจากกูธรัมพ่ายแพ้ต่อพระเจ้าอัลเฟรดในยุทธการเอธาดัน (Battle of Ethandun) ในปี ค.ศ. 878

ในปี ค.ศ. 886 สนธิสัญญาอัลเฟรดและกูธรัม (Treaty of Alfred and Guthrum) ก็มีการลงนามอย่างเป็นทางการและเป็นการแบ่งเขตแดนระหว่างสองอาณาจักรบนพื้นฐานที่ว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันสันติระหว่างอังกฤษและไวกิง[3]

กฎหมายเดนส์ใช้ในการปกครองราชอาณาจักรนอร์ทธัมเบรีย และราชอาณาจักรอีสต์แองเกลีย และรวมทั้งอาณาบริเวณที่เรียกว่าห้าบะระห์ (Five Burghs) ที่รวมทั้งเลสเตอร์, น็อตติงแฮม, ดาร์บี, แสตมฟอร์ด และลิงคอล์น

ความรุ่งเรืองของบริเวณการปกครองของเดนส์โดยเฉพาะที่ยอร์วิค (ยอร์ค) ทำให้เป็นเป็นเป้าของผู้รุกรานชาวไวกิง นอกจากนั้นความขัดแย้งระหว่างเวสเซ็กซ์และเมอร์เซียก็ยังทำให้อำนาจการปกครองในบริเวณเดนส์เริ่มอ่อนตัวลง อำนาจทางการทหารที่อ่อนแอลงและความพ่ายแพ้จากการถูกโจมตีโดยไวกิงเป็นระยะ ๆ ทำให้บริเวณเดนส์ต้องมาเข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสเพื่อให้พระองค์ช่วยป้องกันดินแดนเป็นการตอบแทน บริเวณเดนส์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเดนมาร์กอีกต่อไป

ประวัติศาสตร์

[แก้]
แผนที่อังกฤษแสดงราชอาณาจักรของแองโกล-แซกซันกับอำเภอของเดน – จาก Cassell's History of England, Vol. I – anonymous author and artists

เมื่อราว ค.ศ. 800 มีคลื่นชาวนอร์สเข้ามาโจมตีชายฝั่งของบริเตนกับไอร์แลนด์ จากนั้นใน ค.ศ. 865 ชาวเดนนำกองทัพขนาดใหญ่เข้ามายังอีสต์แองเกลีย โดยมีจุดประสงค์ในการพิชิตราชอาณาจักรแองโกล-แซกซัน 4 แห่งของอังกฤษ กองทัพของผู้นำเดนมาร์กหลายคนได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างกองกำลังรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การนำของหลายคน ซึ่งรวมฮาล์ฟดัน รากนาร์สสันกับไอวาร์เดอะโบนเลสส์ ทั้งคู่ผู้เป็นพระราชโอรสในรักนาร์ โลดโบรก ผู้นำไวกิงในตำนานด้วยเช่นกัน[4] ในพงศาวดารกล่าวถึงกองทัพที่รวมกันเป็นกองทัพ Great Heathen[5] หลังทำสนธิสัญญาสันติภาพกับกษัตริย์อีสต์แองเกลียเพื่อแลกกับม้า กองทัพ Great Heathen จึงเคลื่อนไปทางเหนือ โดยยึดครองนอร์ทัมเบรียกับยอร์ก เมืองหลวงของราชอาณาจักรใน ค.ศ. 867 โดยเอาชนะทั้งออสเบิร์ตแห่งนอร์ทัมเบรีย กษัตริย์ผู้ถูกถอดถอนไม่นาน กับแอลลาแห่งนอร์ทัมเบรีย ผู้ชิงราชบัลลังก์ ชาวเดนจึงแต่งตั้งเอ็คเบิร์ตที่ 1 แห่งนอร์ทัมเบรีย (Ecgberht I of Northumbria) ชาวอังกฤษ ขึ้นครองนอร์ทธัมเบรียเป็นหุ่นเชิดแทน[6]

พระเจ้าเอเธลเรดแห่งเวสเซ็กซ์และพระอนุชาพระเจ้าอัลเฟรดก็นำกองทัพขึ้นไปปราบปรามชาวเดนส์ที่น็อตติงแฮม แต่ชาวเดนส์ไม่ยอมทิ้งป้อม พระเจ้าเบอร์เรดแห่งเมอร์เซียจึงทรงเข้าร่วมการเจรจาสงบศึกกับไอวาร์กับฝ่ายเดนส์โดยรักษาน็อตติงแฮมไว้เป็นการแลกเปลี่ยนกับการหยุดยั้งการทำลายเมอร์เซีย

ภายใต้การนำของไอวาร์เดอะโบนเลสส์ ชาวเดนส์ก็ยังคงรุกรานที่ต่าง ๆ ต่อไปใน ค.ศ. 869 โดยได้รับชัยชนะต่อพระเจ้าเอ็ดมันด์แห่งอีสต์แองเกลียและพิชิตอีสต์แองเกลียทั้งหมด[7] พระเจ้าเอเธลเรดแห่งเวสเซ็กซ์และอัลเฟรด พระอนุชา ก็ทรงกลับมาพยายามปราบปรามไอวาร์อีกโดยการโจมตีชาวเดนส์ที่เรดดิงแต่ได้รับความพ่ายแพ้ ฝ่ายเดนส์ก็ติดตามและเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 871 เอเธลเรดและอัลเฟรดก็ได้รับชัยชนะต่อเดนส์ในยุทธการแอชดาวน์ (Battle of Ashdown) ฝ่ายเดนส์ถอยหนีไปยังเบซิง (ในแฮมป์เชอร์) ที่เอเธลเรดพยายามโจมตีแต่พ่ายแพ้ ไอวาร์สามารถเอาชนะได้อีกครั้งหลังจากนั้นในเดือนมีนาคมที่ในปัจจุบันคือมาร์ตันวิลท์เชอร์

เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 871 พระเจ้าเอเธลเรดเสด็จสวรรคต อัลเฟรดขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งเวสเซ็กซ์ต่อ กองทัพของพระองค์อ่อนแอจนต้องถูกบังคับให้ส่งส่วยให้แก่ไอวาร์เพื่อรักษาความสงบกับฝ่ายเดนส์ ระหว่างนี้ฝ่ายเดนส์ก็หันขึ้นเหนือไปโจมตีเมอร์เซียไปจนถึงปี ค.ศ. 874 ทั้งไอวาร์ผู้นำของฝ่ายเดนส์และเบอร์เรดผู้นำของเมอร์เซียต่างก็เสียชีวิตในการรณรงค์ครั้งนี้ หลังจากไอวาร์แล้วกูธรัมผู้อาวุโสก็ขึ้นครองราชย์ต่อผู้ทำการรณรงค์ต่อต้านเมอร์เซียจนประสบความสำเร็จ ระหว่างนั้นฝ่ายเดนส์ก็มีอำนาจในอีสต์แองเกลีย, นอร์ทธัมเบรีย และ เมอร์เซีย เหลืออยู่แต่เวสเซ็กซ์ที่ยังต่อต้านอยู่[8]

กูธรุมกับชาวเดนเจรจาสันติภาพกับเวสเซกซ์ใน ค.ศ. 876 เมื่อพวกเขายึดครองป้อมที่แวรัมกับเอ็กซิเตอร์ พระเจ้าอัลเฟรดทรงล้อมฝ่ายเดนส์ผู้ที่จำต้องยอมจำนนเมื่อกองหนุนถูกทำลายในพายุ สองปีต่อมา กูธรุมโจมตีอัลเฟรดอีกครั้งด้วยการจู่โจมกองกำลังของพระองค์ที่พักระหว่างฤดูหนาวอยู่ที่ชิพเพ็นนัมอย่างกระทันหัน พระเจ้าอัลเฟรดทรงรอดมาได้เมื่อกองทัพเดนส์ที่เข้าโจมตีทางด้านหลังถูกทำลายโดยกองทหารที่ด้อยกว่าในยุทธการที่ Cynuit[9][10] ที่ตั้งของ Cynuit ในพื้นที่สมัยใหม่ยังเป็นที่ถกเถียง แต่ข้อเสนอแนะได้แก่ เคานทิสบรีฮิลล์ใกล้Lynmouth เดวอน, หรือปราสาท Kenwith ที่บิดิเฟิร์ด เดวอน หรือแคนนิงตันใกล้กับBridgwater ซัมเมอร์เซต[11] พระเจ้าอัลเฟรดต้องเสด็จหลบหนีอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะเสด็จกลับมาในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 878 เพื่อรวบรวมกำลังและโจมตีอูธรุมที่อีดิงตัน ครั้งนี้ฝ่ายเดนส์พ่ายแพ้และถอยหนีไปยังชิพเพ็นนัมที่พระเจ้าอัลเฟรดเข้าล้อม และในที่สุดฝ่ายเดนส์ก็ยอมแพ้ โดยข้อแม้หนึ่งที่พระเจ้าอัลเฟรดต้องการคือกูธรุมจะต้องรับศีลจุ่มเป็นคริสเตียน โดยพระองค์เองเป็นพ่ออุปถัมภ์[12]

บ้านเมืองมีความสงบอยู่จนกระทั่งปี ค.ศ. 884 เมื่อกูธรัมโจมตีเวสเซ็กซ์อีกแต่ก็พ่ายแพ้ ครั้งนี้สัญญาการสงบศึกเขียนเป็นกฎหมายระหว่างพระเจ้าอัลเฟรดและกูธรัม[13] สนธิสัญญากำหนดเขตแดนระหว่างบริเวณการปกครองของเดนส์และอนุญาตให้ชาวเดนส์ปกครองตนเองในบริเวณนั้น บริเวณการปกครองของเดนส์เป็นการรวมอำนาจของพระเจ้าอัลเฟรดในดินแดนส่วนของพระองค์และการเปลี่ยนศาสนาไปเป็นคริสเตียนต่อมาของกูธรัมก็เป็นการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ที่มีผลต่อดุลย์อำนาจของอังกฤษและเดนส์ต่อมา

เหตุผลของการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวเดนส์ในเกาะอังกฤษเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเป็นส่วนหนึ่งของสถานะการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้นของสแกนดิเนเวีย นอกจากนั้นก็เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวไวกิงไปตั้งถิ่นฐานในที่อื่น ๆ ที่รวมทั้งเฮบเบดรีส์ (Hebrides), ออร์คนีย์, หมู่เกาะฟาโร, ไอร์แลนด์, ไอซ์แลนด์, กรีนแลนด์, นอร์ม็องดี, และยูเครน[14]

แต่ฝ่ายเดนส์ก็มิได้ยุติความต้องการที่จะมีอิทธิพลในอังกฤษและระหว่าง ค.ศ. 1016 ถึง ค.ศ. 1035 ราชอาณาจักรอังกฤษก็ปกครองโดยสมเด็จพระเจ้าคานูทมหาราชเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิทะเลเหนือแห่งเดนมาร์ก ในปี ค.ศ. 1066 ก็เกิดการแก่งแย่งราชบัลลังก์อังกฤษที่เป็นผลให้ฮาราลด์ ฮาร์ดดราดา (Harald Hardrada) ยกทัพมารุกรานอังกฤษ ทรงยึดยอร์คได้แต่ต่อมาทรงพ่ายแพ้ต่อฮาโรลด์ กอดวินสันผู้ครองราชบัลลังก์อังกฤษในขณะนั้นในยุทธการแสตมฟอร์ดบริดจ์ (Battle of Stamford Bridge) แต่ฮาโรลด์ กอดวินสันก็มาพ่ายแพ้ต่อดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดีและกองทัพนอร์มันในยุทธการเฮสติงส์ (Battle of Hastings) ในซัสเซ็กซ์

บริเวณการปกครองของเดนส์ปรากฏในกฎหมายมาจนถึงต้น คริสต์ศตวรรษที่ 12 ด้วย “Leges Henrici Prime” ที่หมายถึงกฎหมายหนึ่งที่บ่งถึงการแบ่งระหว่างเวสเซ็กซ์และเมอร์เซีย

ความขัดแย้งระหว่างชาวนอร์สและชาวเดนส์ในทะเลเหนือ

[แก้]

ในช่วงเวลาระหว่างการปล้นสดมลินดิสฟาร์น (Lindisfarne) ในปี ค.ศ. 793 และการรุกรานของเดนส์ในอีสต์แองเกลียในปี ค.ศ. 865 ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเดนส์ก็ไปตั้งถิ่นฐานในที่ที่ปัจจุบันคือดับลินและต้องต่อสู้ในสงครามกับชนเผ่าไอริชหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็กลายเป็นพันธมิตรกันโดยการแต่งงานระหว่างชนสองกลุ่ม กองเรือเดนส์รุ่นต่อมาเข้ามาโจมตีกลุ่มไฮเบอร์โน-นอร์สผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้วแต่ก็พ่ายแพ้ บางตำนานกล่าวว่าไอวาร์เดอะโบนเลสส์มิได้เสียชีวิตในสงครามในเมอร์เซียแต่จมน้ำตายระหว่างการต่อสู้ในทะเลไอริช

การโจมตีอย่างรีบร้อนของเดนส์อีกครั้งต่อชนนอร์สในดับลินก่อนที่จะพยายามสร้างความแข็งแกร่งในการควบคุมชาวแซ็กซอนในอังกฤษทำให้เชื่อกันว่าการรุกรานของเดนส์มิใช่แต่เพียงเพื่อการมีอำนาจเหนือชาวแซ็กซอนในอังกฤษเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความมั่นคงในทะเลเหนือด้วย เพื่อจะใช้เป็นฐานในการต่อสู้ทางการค้ากับคู่อรินอร์เวย์ผู้ครอบครองเส้นทางการค้าขายส่วนใหญ่ในออร์คนีย์, เฮบเบดรีส์, ไอล์ออฟแมน, ไอล์ออฟไวท์ และไอร์แลนด์ ที่ใช้ในการส่งสินค้าจากทางตะวันตกเฉียงไต้ของหมู่เกาะบริติชไปยังคีวานรุส (Kievan Rus) และต่อไปยังคอนสแตนติโนเปิล และแบกแดดตามลำแม่น้ำดเนียพเพอร์ (Dnieper River) จากทะเลบอลติกไปยังทะเลดำ

เมื่อพระเจ้าแม็กนัสที่ 1 แห่งนอร์เวย์ทรงได้รับนอร์เวย์เป็นอิสระจากสมเด็จพระเจ้าคานูทมหาราช สนธิสัญญาบ่งว่าถ้าผู้ใดเสียชีวิตก่อนระหว่างพระเจ้าแม็กนัสที่ 1 และ ฮาร์ธาคานูท อีกผู้หนึ่งก็จะได้เป็นผู้ครองราชอาณาจักรของผู้ที่เสียชีวิตไป

เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพขึ้นครองราชบัลลังก์เดนส์-แซ็กซอน กองทัพนอร์สก็รวบรวมกำลังกันจากอาณานิคมของนอร์เวย์ต่าง ๆ ในหมู่เกาะบริติชเข้ามาโจมตีอังกฤษในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเพื่อสนับสนุนพระเจ้าแม็กนัส และหลังจากที่พระเจ้าแม็กนัสสิ้นพระชนม์ พระอนุชาฮาราลด์ ฮาร์ดดราดาก็อ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษ เมื่อฮาโรลด์ กอดวินสันขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ฮาราลด์ ฮาร์ดดราดาก็รุกรานนอร์ทธัมเบรียโดยการสนับสนุนของทอสติก กอดวินสัน (Tostig Godwinson) พระอนุชาของฮาโรลด์ กอดวินสัน แต่ก็ได้รับความพ่ายแพ้ต่อฮาโรลด์ กอดวินสันในยุทธการแสตมฟอร์ดบริดจ์ อาทิตย์เดียวก่อนที่ฮาโรลด์ กอดวินสันจะพ่ายแพ้ในยุทธการเฮสติงส์ต่อดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี ในปี ค.ศ. 1066

ลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับประวัติบริเวณการปกครองของเดนส์

[แก้]

ค.ศ. 800 ชาวเดนส์ก็เข้ามาโจมตีชายฝั่งหมู่เกาะบริติชเป็นระลอก ๆ และตามด้วยผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน

ค.ศ. 865 ผู้รุกรานชาวเดนส์เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอังกฤษนำโดยพี่น้องฮาล์ฟดัน รากนาร์สสันและไอวาร์เดอะโบนเลสส์ที่มาพำนักในช่วงฤดูหนาวที่ในบริเวณอีสต์แองเกลียโดยการเรียกร้องและได้รับส่วยเพื่อแลกกับความสงบชั่วคราว จากนั้นทั้งสองคนก็เดินทางขึ้นเหนือไปโจมตีนอร์ทธัมเบรียซึ่งอยู่ในระหว่างสงครามกลางเมืองระหว่างพระเจ้าออสเบิร์ตแห่งนอร์ทธัมเบรียผู้ถูกโค่นราชบัลลังก์และเอลลานอร์ทธัมเบรียผู้เป็นกบฏ ฝ่ายเดนส์ใช้ความระส่ำระสายในการเป็นโอกาสในการยึดเมืองยอร์คแล้วปล้นและเผาเมือง

ค.ศ. 867 หลังจากยอร์คเสียเมืองออสเบิร์ตและเอลลาก็หันไปเป็นพันธมิตรต่อกันและโจมตีฝ่ายเดนส์ แต่ทั้งสองคนถูกสังหารจากนั้นทางฝ่ายเดนส์ก็ตั้งชาวอังกฤษเอ็คเบิร์ตที่ 1 แห่งนอร์ทธัมเบรียขึ้นครองนอร์ทธัมเบรียเป็นหุ่นเชิดแทน การขยายอำนาจของเดนส์ทำให้พระเจ้าเอเธลเรดแห่งเวสเซ็กซ์และพระอนุชาพระเจ้าอัลเฟรดก็นำกองทัพขึ้นไปปราบ ณ ที่มั่นที่น็อตติงแฮมแต่ไม่สามารถดึงเดนส์ออกมาต่อสู้ได้ เพื่อที่จะรักษาความสงบพระเจ้าเบอร์เรดแห่งเมอร์เซียก็ยกน็อตติงแฮมให้เดนส์เป็นการแลกเปลี่ยนกับการไม่รุกรานเมอร์เซีย

ค.ศ. 869 ไอวาร์เดอะโบนเลสส์หันไปรีดค่าธรรมเนียมจากพระเจ้าเอ็ดมันด์แห่งอีสต์แองเกลียอีก

ค.ศ. 870 พระเจ้าเอ็ดมันด์ปฏิเสธ ไอวาร์รุกรานและได้รับชัยชนะต่ออีสต์แองเกลียและจับตัวพระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ฮ็อกซ์เนและสังหารพระองค์อย่างทารุณโดยควักหัวใจสังเวยเทพโอดินในประเพณีทีเรียกว่า “blood eagle” ในขณะเดียวกันก็รวมอีสต์แองเกลียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณของเดนส์ พระเจ้าเอเธลเรดและพระอนุชาพระเจ้าอัลเฟรดโจมตีเดนส์ที่เรดดิงแต่พ่ายแพ้อย่างยับเยิน ฝ่ายเดนส์ติดตาม

ค.ศ. 871 เมื่อวันที่ 7 มกราคมเอเธลเรดและอัลเฟรดก็ตั้งมั่นอยู่ที่แอชดาวน์ในอีสซัสเซ็กซ์ปัจจุบัน เอเธลเรดและอัลเฟรดไดัรับชัยชนะต่อเดนส์ ระหว่างสองฝ่ายก็เสียขุนนางเอิร์ลไปห้าคน ฝ่ายเดนส์ถอยไปตั้งตัวที่เบซิงในแฮมป์เชอร์เพียงยีสิบสามกิโลเมตรจากเรดดิง เอเธลเรดโจมตีป้อมของฝ่ายเดนส์แต่ทรงพ่ายแพ้และมาทรงพ่ายแพ้อีกครั้งที่มาร์ตันในวิลท์เชอร์ปัจจุบัน

เอเธลเรดสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 23 เมษายน อัลเฟรดขึ้นครองราชย์หลังที่ทรงครุ่นคิดว่าจะสละราชบัลลังก์เพราะสถานะการณ์อันเลวร้ายซึ่งจะยิ่งซ้ำหนักขึ้นหลังจากที่ฝ่ายเดนส์ส่งกองหนุนมาจากยุโรป ในปีนั้นก็ทรงใช้วิธีโจมตีกองกำลังย่อยของฝ่ายเดนส์ที่ตั้งอยู่ห่างจากกองหลักและขาดการสนับสนุน ทรงได้รับความสำเร็จบ้างแต่กองกำลังของพระองค์ก็เป็นกองกำลังที่อ่อนแอและเกือบแทบจะไม่เป็นกองทัพ อัลเฟรดจึงใช้วิธีติดสินบนฝ่ายเดนส์ไม่ให้มารุกราน ระหว่างที่ไม่ได้โจมตีเวสเซ็กซ์ฝ่ายเดนส์ก็หันไปโจมตีเมอร์เซียทางด้านเหนือได้สำเร็จ ระหว่างทางก็ยึดลอนดอนไปด้วย พระเจ้าเบอร์เรดแห่งเมอร์เซียพยายามต่อต้านไอวาร์แต่ก็ไม่สำเร็จจนในที่สุดก็ทรงต้องหนีไปยุโรป ระหว่างที่รณรงค์อยู่ในเมอร์เซียไอวาร์ก็เสียชีวิต กูธรัมผู้อาวุโสขึ้นครองราชย์ต่อ กูธรัมก็ได้รับชัยชนะต่อเบอร์เรดแห่งเมอร์เซียอย่างรวดเร็วและแต่งตั้งผู้ครองหุ่นขึ้นครองเมอร์เซีย เดนส์ครอบครองอีสต์แองเกลีย, นอร์ทธัมเบรีย และเมอร์เซีย ยกเว้นก็แต่เวสเซ็กซ์ที่ยังเป็นอิสระอยู่

ค.ศ. 875 ชาวเดนส์ตั้งถิ่นฐานในมณฑลดอร์เซ็ทลึกเข้าไปภายในราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์ของพระเจ้าอัลเฟรดผู้ทรงทำสัญญาสันติภาพอย่างรวดเร็วกับเดนส์

ค.ศ. 876 ฝ่ายเดนส์ฝ่าฝืนสัญญาโดยการยึดป้อมเวเร็มในดอร์เซ็ทและเอ็กซิเตอร์ในเดวอนในปี ค.ศ. 877

ค.ศ. 877 พระเจ้าอัลเฟรดล้อมเมือง ฝ่ายเดนส์รอกองหนุนจากสแกนดิเนเวียแต่กองหนุนโดนพายุและเสียเรือไปกว่าร้อยลำ ฝ่ายเดนส์จำต้องถอยกลับไปอีสต์เมอร์เซียทางตอนเหนือของอังกฤษ

ค.ศ. 878 ในเดือนมกราคมกูธรัมนำกองทัพเข้าโจมตีเวสเซ็กซ์ระหว่างที่พระเจ้าอัลเฟรดทรงพักทัพระหว่างฤดูหนาวอยู่ที่ชิพเพ็นนัม กองทัพของเดนส์อีกกองหนึ่งขึ้นฝั่งที่ทางไต้ของเวลส์และเดินทัพไปทางไต้เพื่อจะไปดักพระเจ้าอัลเฟรดถ้าทรงหนีจากการโจมตีของกูธรัม แต่ระหว่างทางกองทัพนี้ก็หยุดทัพที่เคานทิสบรีฮิลล์ที่เป็นของเอิร์ลออดดาแห่งเดวอน (Odda of Devon) เพื่อที่จะพยายามยึดป้อมที่นั่น ฝ่ายแซ็กซอนนำโดยออดดาเข้าโจมตีฝ่ายเดนส์ขณะที่กำลังนอนหลับและได้รับชัยชนะต่อกองทัพที่มีกำลังเหนือกว่าซึ่งเป็นการช่วยให้พระเจ้าอัลเฟรดทรงรอดพ้นจากการถูกบีบโดยกองทัพสองด้าน แต่พระองค์ก็ยังทรงต้องหนีจากภัยของกองทัพเดนส์ไปซ่อนตลอดฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิในซัมเมอร์เซ็ทมาร์เชส (Somerset marshes) ระหว่างฤดูใบไม้ผลิพระเจ้าอัลเฟรดก็ทรงสามารถรวบรวมกำลังและโจมตีกูธรัมที่เอธานดัน ฝ่ายเดนส์พ่ายแพ้และถอยหนีไปยังชิพเพ็นนัม ฝ่ายอังกฤษตามไปล้อมในที่สุดกูธรัมก็ยอมแพ้ ข้อแม้หนึ่งในของการยอมแพ้คือกูธรัมต้องทรงยอมเป็นคริสเตียนโดยพระเจ้าอัลเฟรดเป็นพ่ออุปถัมภ์ กูธรัมทรงยอมรับ กูธรัมย้ายกลับไปตั้งถิ่นฐานในอีสต์แองเกลียอยู่ชั่วขณะหนึ่ง

ค.ศ. 884 กูธรัมกลับมาโจมตีเค้นท์แต่พ่ายแพ้ การพ่ายแพ้ครั้งนี้นำไปสู่สนธิสัญญาระหว่างพระเจ้าอัลเฟรดและกูธรัม ที่ระบุเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์และบริเวณการปกครองของเดนส์และอนุญาตให้ชาวเดนส์ปกครองตนเองในบริเวณนั้น

ค.ศ. 902 เอสเซ็กซ์เข้าสวามิภักดิ์ต่อเอเธลโวลด์แห่งเวสเซ็กซ์ (Æthelwold of Wessex)

ค.ศ. 903 เอเธลโวลด์ปลุกปั่นให้ชนเดนส์ในอีสต์แองเกลียให้ละเมิดสัญญาสงบศึก ชนเดนส์รุกรานและทำลายก่อนที่จะได้รับชัยชนะที่ทำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้แก่ทุกฝ่าย (pyrrhic victory) ด้วยการสิ้นพระชนม์ของเอเธลโวลด์ของฝ่ายเวสเซ็กซ์และพระเจ้าเอโอห์ริคของฝ่ายเดนส์ ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสได้รวบรวมอำนาจ

911 อังกฤษได้รับชัยชนะต่อเดนส์ในยุทธการยุทธการเท็ทเท็นฮอลล์ (Battle of Tettenhall) นอร์ทธัมเบรียเข้าทำลายเมอร์เซียแต่ถูกหยุดยั้งโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด

ค.ศ. 917 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับความสันติและการพิทักษ์จากการรุกรานราชอาณาจักรเอสเซ็กซ์และราชอาณาจักรอีสต์แองเกลียก็ยอมรับเป็นประเทศราช (Suzerainty) ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด

เอเธลเฟลด (Æthelflæd) เลดี้แห่งเมอร์เซียยึดบะระห์ดาร์บี

ค.ศ. 918 บะระห์เลสเตอร์ยอมอยู่ใต้การพิทักษ์ของเอเธลเฟลด ชาวยอร์ครับเอเธลเฟลดเป็นโอเวอร์ลอร์ดแต่เอเธลเฟลดเสียชีวิตเสียก่อน ราชอาณาจักรเมอร์เซียรวมตัวกับราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์ภายใต้การปกครองของพระเชษฐาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด

ค.ศ. 919 ไวกิงนอร์เวย์ภายใต้การนำของพระเจ้าแรกนาลด์ (Rægnold พระราชโอรสของ Eadulf) จากดับลินยึดเมืองยอร์ค

ค.ศ. 920 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นที่ยอมรับให้เป็นผู้นำสูงสุดโดยพระเจ้าแผ่นดินสกอตแลนด์โดยพระเจ้าแรกโนลด์ (Rægnold พระราชโอรสของ Eadulf I of Bernicia), อังกฤษ, นอร์ส, เดนส์, นอร์ทธัมเบรีย และราชอาณาจักรสตรัธไคลด์ (Kingdom of Strathclyde)

ค.ศ. 954 เอริค บรูดแดกซ์ (Eric Bloodaxe) ถูกขับจากนอร์ทธัมเบรีย ความตายของบรูดแดกซ์เป็นการสิ้นสุดของอำนาจของไวกิงที่มีต่อบริเวณยอร์คไปถึงดับลินและเกาะต่าง ๆ

ที่ตั้ง

[แก้]
ห้าบะระและมิดแลนด์ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10[15]

บริเวณการปกครองของเดนส์โดยทั่วไปตั้งอยู่ทางเหนือระหว่างลอนดอนกับเชสเตอร์ที่ไม่รวมบางส่วนของนอร์ทธัมเบรียทางตะวันออกของเทือกเขาเพ็นไนน์ (Pennines)

เมืองห้าเมืองที่มีป้อมปราการป้องกันกลายเป็นส่วนสำคัญในบริเวณการปกครองของเดนส์: เลสเตอร์, น็อตติงแฮม, ดาร์บี, แสตมฟอร์ด และลิงคอล์น ที่ในปัจจุบันคืออีสต์มิดแลนด์ และทั้งห้าเมืองรวมกันเรียกว่า “ห้าบะระห์” (Five Burghs) “Burgh” มาจากภาษาอังกฤษเก่า “burg” ที่มาจากคกเดียวกันในภาษาเยอรมันที่แปลว่า “ปราสาท” ที่หมายถึงชุมนุมชนที่ล้อมรอบด้วยกำแพงหรือป้อม—ตั้งแต่ชุมชนเล็ก ๆ ไปจนถึงเมืองใหญ่ที่มีป้อมปราการป้องกัน คำนี้ก็วิวัฒนาการต่อไปจนมีความหมายกว้างขึ้น

ความหมายทางกฎหมาย

[แก้]

บริเวณการปกครองของเดนส์มีความสำคัญในการสร้างความสันติสุขในบริเวณข้างเคียงทั้งในบริเวณแองโกล-แซ็กซอนและไวกิง การใช้กฎหมายของเดนเป็นการสร้างอาณาบริเวณที่มีระบบกฎหมายในการปกครองที่ระบุข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างเป็นทางการเช่นการกำหนดจำนวน “ค่าชดเชยเวร์กิลด์” (weregild) ในกรณีที่มีการฆาตกรรมเป็นต้น

ความหมายทางกฎหมายหลายข้อตรงกับความหมายเช่น “wapentake” ของไวกิง ซึ่งเป็นหน่วยมาตรฐานการแบ่งดินแดนในบริเวณการปกครองของเดนส์ที่ใช้แลกเปลี่ยนกันได้กับ “ฮันเดรด” (hundred) การใช้สถานที่ประหารชีวิตและสุสานในวอล์คคิงตันโวลด์ (Walkington Wold Burials) ในอีสต์ยอร์คเชอร์ทำให้สันนิษฐานได้ว่ากฎหมายนี้ใช้ต่อเนื่องกันมา[16]

อิทธิพลของการปกครอง

[แก้]

อิทธิพลของการตั้งถิ่นฐานของสแกนดิเนเวียยังคงเห็นได้ในบริเวณอีสต์มิดแลนด์ โดยเฉพาะจากชื่อสถานที่ (British toponymy) เช่นชื่อที่ลงท้ายด้วย “by” หรือ “thorp” ที่หมายถึงว่ามี่ที่มาจากนอร์ส

ภาษานอร์สโบราณและภาษาอังกฤษเก่ายังพอที่จะเข้าใจได้บ้าง การผสมระหว่างภาษาจากบริเวณการปกครองของเดนส์ทำให้เกิดการใช้คำภาษานอร์สหลายคำในภาษาอังกฤษที่รวมทั้งคำว่า “law” เองด้วย หรือคำอื่น ๆ เช่น “sky” หรือ “window” และพหูพจน์ของบุรุษที่สาม และที่แสดงความเป็นเจ้าของเช่นในคำว่า “they” หรือ “them” หรือ “their” ภาษานอร์สโบราณยังคงมีใช้อยู่บ้างในภาษาสำเนียงท้องถิ่นทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ

สี่ในห้าบะระห์กลายมาเป็นเมืองมณฑลของ: เลสเตอร์เชอร์, น็อตติงแฮมเชอร์, ดาร์บีเชอร์ และลิงคอล์นเชอร์ ยกเว้นแสตมฟอร์ดที่อาจจะเป็นเพราะอยู่ใกล้รัทแลนด์

พันธุกรรม

[แก้]

ในปี ค.ศ. 2000 บีบีซีทำการสำรวจทางพันธุกรรมของหมู่เกาะบริติชสำหรับรายการ “เลือดของไวกิง” โดยจูเลียน ริชาร์ดส (Julian Richards) ซึ่งสรุปว่าผู้รุกรานชาวนอร์สตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในหมู่เกาะบริติชแต่ที่หนาแน่นก็เป็นบางบริเวณเช่นออร์คนีย์และเช็ทแลนด์ (Shetland)[17] แต่การสำรวจเป็นการสำรวจเฉพาะไวกิงนอร์เวย์ เพราะผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากผู้ตั้งถิ่นฐานที่เป็นไวกิงที่เป็นชาวเดนส์ไม่สามารถแยกจากผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากแองโกล-แซ็กซอนได้

ที่ตั้งที่พบทางโบราณคดี

[แก้]

ที่ตั้งที่พบทางโบราณคดีที่สำคัญ ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงบริเวณการปกครองของเดนส์มีเพียงไม่กี่แห่ง ที่ตั้งที่พบที่สำคัญที่สุดคือที่ยอร์ค ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากคำว่า “Jórvík” ในภาษานอร์สโบราณ (ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษเก่า “Eoforwic” สระประสมสองเสียง “eo” เท่ากับสระประสมสองเสียงของนอร์ส “jo”, (เสียง)ระหว่างสระ “f” ของภาษาอังกฤษเก่าออกเสียงนุ่มเช่นเดียวกับอักษร “v” ในปัจจุบัน และ “wic” ของภาษาอังกฤษเก่ามาจาก “vik” ของนอร์ส) “Eoforwic” เองก็เพี้ยนมาจากชื่อเมืองก่อนหน้านั้นที่สะกดเป็นภาษาละตินว่า “Eboracum”

ที่ตั้งที่พบทางโบราณคดีอีกที่หนึ่งคือบริเวณที่เผาศพที่ฮีธวูด (Heath Wood) ที่อิงเกิลบีในดาร์บีเชอร์

หลังฐานที่ตั้งทางโบราณคดีมิได้บ่งถึงอาณาบริเวณที่เป็นบริเวณที่เฉพาะเจาะจงทางประชากรหรือทางการค้าขายซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการระบุที่คลาดเคลื่อนของวัตถุหรือสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเป็นของแองโกล-แซ็กซอน หรือนอร์ส หรืออาจจะเป็นได้ว่าการตั้งถิ่นฐานอาจจะมีการโยกย้ายกันอย่างเสรีระหว่างบริเวณต่าง หรืออาจจะเป็นเพียงว่าหลังจากที่ลงนามตกลงกันเรื่องเขตแดนแล้วต่างฝ่ายต่างละเลยข้อตกลง

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. M. Pons-Sanz (2007). Norse-derived Vocabulary in late Old English Texts: Wulfstan's Works. A Case Study. Amsterdam: John Benjamins Publishing Company. p. 71. ISBN 978-87-7674-196-9.
  2. "The Old English word Dene ("Danes") usually refers to Scandinavians of any kind; most of the invaders were indeed Danish (East Norse speakers), but there were Norwegians (West Norse [speakers]) among them as well." Lass, Roger, Old English: A Historical Linguistic Companion, p. 187, n. 12. Cambridge University Press, 1994.
  3. "Danelaw Heritage". The Viking Network. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 February 2021. สืบค้นเมื่อ 25 September 2014.
  4. Sawyer. The Oxford Illustrated History of the Vikings. pp. 52–55 แม่แบบ:ISBN?
  5. ASC 865 – English translation at project Gutenberg เก็บถาวร 5 ตุลาคม 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 16 January 2013
  6. Flores Historiarum: Rogeri de Wendover, Chronica sive flores historiarum, pp. 298–299. ed. H. Coxe, Rolls Series, 84 (4 vols, 1841–42)
  7. Haywood, John. The Penguin Historical Atlas of the Vikings, p. 62. Penguin Books. 1995. แม่แบบ:ISBN?
  8. Carr, Michael. "Alfred the Great Strikes Back", p. 65. Military History Journal. June 2001.
  9. Abels, Richard (1998). Alfred the Great: War, Kingship and Culture in Anglo-Saxon England. Abingdon: Routledge. pp. 153–154. ISBN 0-582-04047-7.
  10. ASC 878 – English translation at project Gutenberg เก็บถาวร 5 ตุลาคม 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 9 June 2014
  11. Kendrick, T.D. (1930). A History of the Vikings. New York: Charles Scribner's Sons. p. 238. OCLC 314512470.
  12. Hadley, D. M. The Northern Danelaw: Its Social Structure, c. 800–1100. p. 310. Leicester University Press. 2000. แม่แบบ:ISBN?
  13. The Kalender of Abbot Samson of Bury St. Edmunds, ed. R.H.C. Davis, Camden 3rd ser., 84 (1954), xlv-xlvi.
  14. "The Viking expansion". hgo.se. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 May 2009. สืบค้นเมื่อ 27 March 2018.
  15. Falkus & Gillingham and Hill
  16. Buckberry, J.L.; Hadley, D.M. (2007), "An Anglo-Saxon Execution Cemetery at Walkington Wold, Yorkshire", Oxford Journal of Archaeology, 26 (3): 325, doi:10.1111/j.1468-0092.2007.00287.x, hdl:10454/677, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 October 2020, สืบค้นเมื่อ 30 August 2020 สิ่งพิมพ์เผยแพร่เข้าถึงแบบเปิด อ่านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  17. "ENGLAND | Viking blood still flowing". BBC News. 3 December 2001. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2008. สืบค้นเมื่อ 23 April 2010.

อ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]


54°N 1°W / 54°N 1°W / 54; -1