พระเจ้าคนุตมหาราช
พระเจ้าคนุตมหาราช | |
---|---|
![]() พระสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าคนุตมหาราช จากหนังสือ "ลิเบอร์ วิเต" (Liber Vitae) ค.ศ. 1031 | |
กษัตริย์แห่งอังกฤษ | |
ครองราชย์ | ค.ศ. 1016 – ค.ศ. 1035 |
ราชาภิเษก | ค.ศ. 1017 ในนครลอนดอน |
ก่อนหน้า | พระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 2 |
ถัดไป | พระเจ้าฮาโรลด์ แฮร์ฟุต |
กษัตริย์แห่งเดนมาร์ก | |
ครองราชย์ | ค.ศ. 1018 – ค.ศ. 1035 |
ก่อนหน้า | พระเจ้าฮารัลด์ที่ 2 |
ถัดไป | พระเจ้าฮาร์ธาคนุต |
กษัตริย์แห่งนอร์เวย์ | |
ครองราชย์ | ค.ศ. 1028 – ค.ศ. 1035 |
ก่อนหน้า | พระเจ้าโอลาฟที่ 2 |
ถัดไป | พระเจ้ามักนุสผู้ทรงธรรม |
คู่อภิเษก | |
พระราชบุตร |
|
ราชวงศ์ | นีทลินกา |
พระราชบิดา | พระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ด |
พระราชมารดา | ไม่ทราบ อาจจะเป็น สเวโตสลาวาแห่งโปแลนด์, ซิกริด หรือ กันฮิลด์[a] |
ประสูติ | ประมาณ ค.ศ. 990[1] |
สวรรคต | 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1035 ชาฟท์สบรี ดอร์เซต ราชอาณาจักรอังกฤษ |
ฝังพระศพ | มินส์เตอร์เก่า วินเชสเตอร์ ปัจจุบันพระอัฐิอยู่ที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์ วินเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ |
ศาสนา | คริสต์ศาสนา[2][3] |
พระเจ้าคนุตมหาราช[4] (อังกฤษ: Canute the Great หรือ Cnut the Great; นอร์สเก่า: Knútr inn ríki; นอร์เวย์: Knut den mektige; สวีเดน: Knut den Store; เดนมาร์ก: Knud den Store) หรือ คานุต ทรงเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1016 เดนมาร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1018 และสวีเดนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1028 พระองค์เริ่มต้นชีวิตวัยหนุ่มด้วยการเป็นนักรบชาวไวกิงและกลายเป็นผู้ปกครองของจักรวรรดิที่ในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดประกอบด้วยอังกฤษ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และส่วนหนึ่งของสวีเดน
พระเจ้าคนุตรุกรานอังกฤษในปี ค.ศ. 1013 ร่วมกับพระราชบิดา พระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ด กษัตริย์แห่งเดนมาร์ก หลังการสวรรคตของพระเจ้าสเวนในปี ค.ศ.1014 พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นกษัตริย์โดยกองกำลังไวกิง คานุตปราบพระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 2 ผู้ทนทานที่แอชชิงดัน ในเขตมณทลเอสเซกซ์ ในปี ค.ศ. 1016 พระองค์กับพระเจ้าเอ็ดมันด์ตกลงแบ่งอังกฤษออกจากกัน พระเจ้าคนุตได้ปกครองเมอร์เซียและนอร์ทัมเบรียจนกระทั่งพระองค์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ของอังกฤษทั้งหมดหลังการสวรรคตของพระเจ้าเอ็ดมันด์ พระองค์สืบสันตติวงศ์เป็นกษัตริย์แห่งเดนมาร์กต่อจากพระเชษฐา ฮารัลด์ ในปี ค.ศ. 1018 ทรงบังคับให้พระเจ้าแมลคอล์มถวายความจงรักภักดีด้วยการรุกรานสก็อตแลนด์ในช่วงราวปี ค.ศ.1027 และพิชิตนอร์เวย์ในปี ค.ศ. 1028 พระเจ้าฮาโรลด์ แฮร์ฟุต พระราชโอรสพระองค์โตทรงปกครองอังกฤษต่อจากพระองค์
ภายใต้การปกครองของพระเจ้าคนุต การค้าของอังกฤษเจริญรุ่งเรืองขึ้น และพระองค์ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวอังกฤษจากการส่งทหารกลับเดนมาร์ก ทว่าจักรวรรดิทะเลเหนือของพระองค์อันประกอบด้วยเดนมาร์ก อังกฤษ และนอร์เวย์ก็ล่มสลายลงไม่นานหลังจากการสวรรคตของพระองค์ พระอัฐิของพระองค์อยู่ที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์
การพระราชสมภพและสิทธิ์ในราชบัลลังก์[แก้]
พระเจ้าคนุตทรงเป็นพระราชโอรสในเจ้าชายสเวน ฟอร์กเบียร์ด และเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าฮารัลด์ บลูทูท ราชวงศ์ของพระองค์เป็นผู้รวมแผ่นดินเดนมาร์กให้เป็นปึกแผ่น[5] ไม่มีข้อมูลใดบ่งบอกสถานที่หรือวันที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพ พระเจ้าฮาร์ทาคนุตที่ 1 แห่งเดนมาร์ก เทียดของพระองค์ทรงเป็นต้นราชวงศ์ ส่วนพระเจ้ากอร์มดิโอลด์ พระปัยกา (ปู่ทวด) ของพระองค์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่มีหลักฐานยืนยันทางประวัติศาสตร์ พระเจ้าฮารัลด์ บลูทูท พระอัยกาของพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ชาวสแกนดิเวียพระองค์แรกที่เข้ารีตเป็นคริสตชน
ในพงศวดารของเทตมาร์แห่งมาเซิลเบิร์ก (Thietmar of Merseburg) และ บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา (Encomium Emmae Reginae) กล่าวว่าพระราชมารดาของพระเจ้าคนุตเป็นพระราชธิดาในดยุกมิเอสโกที่ 1 แห่งโปแลนด์ แหล่งข้อมูลภาษานอร์สจากสมัยกลางตอนกลาง เช่น เฮล์มสกริงยา (Heimskringla) ของสนอร์ริ สตรูสัน (Snorri Sturluson) ก็บันทึกไว้ว่าพระราชมารดาของพระองค์เป็นเจ้าหญิงโปแลนด์เช่นกัน โดยออกพระนามว่ากันฮิลด์ และเป็นพระราชธิดาใน บรูสลาฟ (Burislav) กษัตริย์แห่งวินแลนด์ [6] เนื่องจากในซากาของชาวนอร์สล้วนบันทึกตรงกันว่า กษัตริย์แห่งวินแลนด์ มีพระนามว่า บรูสลาฟ อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้บันทึกสับสนระหว่างพระนามของพระราชบิดากับพระเชษฐาของพระนางโบเลสวัฟ อดัมแห่งเบรเมิน (Adam of Bremen) เขียนไว้ใน เกสตา ฮัมมาเจนเนซิส เอคาเลซิส พอนทิฟิคุม (Gesta Hammaburgensis ecclesiae pontificum) ว่าพระราชมารดาของพระเจ้าคนุตคืออดีตราชินีแห่งสวีเดน ผู้เป็นพระมเหสีในพระเจ้าอีริค ผู้ชนะและพระราชมารดาในพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุง[7] เฮล์มสกริงยา และซากาฉบับอื่นก็มีการบันทึกว่าพระเจ้าสเวนอภิเษกกับราชินีม่ายแห่งสวีเดนจริง แต่พระนางไม่ได้เป็นพระราชมารดาของพระเจ้าคนุต และทรงมีพระนามว่า ซิกริดผู้ทรนง ซึ่งพระเจ้าสเวนทรงอภิเษกสมรสด้วยหลังจาก กันฮิลด์ เจ้าหญิงชาวสลาฟที่ได้ให้กำเนิดพระเจ้าคนุตสิ้นพระชนม์ลง[8] ทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับชาติกำเนิดและจำนวนพระมเหสีของพระเจ้าสเวนได้รับการเสนอ (ดูเพิ่มที่บทความซิกริดผู้ทรนงและกันฮิลด์) แต่พงศวดารของอดัมเป็นเพียงแหล่งเดียวที่บันทึกว่าพระเจ้าคนุตและพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุงทรงมีพระราชมารดาพระองค์เดียวกัน สันนิษฐานกันว่านี้อาจจะเป็นข้อผิดพลาดของอดัมเอง และพระเจ้าสเวนทรงมีพระมเหสีสองพระองค์ คือเจ้าหญิงชาวสลาฟและราชินีม่ายแห่งสวีเดน พระเจ้าคนุตทรงมีพระเชษฐาหนึ่งพระองค์ คือ พระเจ้าฮารัลด์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
หลักฐานเล็กน้อยเกี่ยวกับพระเจ้าคนุตขณะทรงพระเยาว์สามารถพบได้ใน แฟลร์ทิยาร์ลบก (Flateyjarbók) แหล่งข้อมูลจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งกล่าวถึงช่วงเวลาที่พระองค์ได้รับการอบรมวิชาการทหารจากธอร์เคล[9] น้องชายของซิเกิร์ด ยาร์ลแห่งดินแดนปรัมปราจอมสบอร์ก (Jomsborg) และผู้นำของชาวจอมส ที่ฐานที่มั่นไวกิงบนเกาะวอลลิน (Wolin) นอกชายฝั่งพอเมอเรเนีย ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับวันพระราชสมภพของพระองค์ แม้แต่งานเขียนร่วมสมัยอย่างเช่น พงศาวดารเทตมาร์ และ บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา ก็ไม่ได้กล่าวถึง ในกลอนคนุตดราพา (Knútsdrápa) โดยสเคล (skald) โอตรา สตาฟตี (Óttarr svarti) ซึ่งมีวรรคหนึ่งกล่าวว่าพระเจ้าคนุต "มีพรรษาไม่มากนัก" (of no great age) เมื่อพระองค์ออกศึกครั้งแรก[10] กลอนยังกล่าวถึงการศึกที่อาจจะเป็นการเปรียบเปรยถึงการรุกรานอังกฤษของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดและการจู่โจมเมืองนอริช ในปี ค.ศ. 1003/04 หลังเหตุการณ์การสังหารหมู่วันเซนต์ไบรซ์ (St. Brice's Day massacre) ซึ่งชาวเดนส์ถูกสังหารโดยชาวอังกฤษใน ค.ศ. 1002 หากพระเจ้าคนุตได้ทรงติดตามพระราชบิดาไปในศึกครั้งนี้ด้วย พระองค์จึงอาจจะทรงเสด็จพระราชสมภพใน ค.ศ. 990 หรืออย่างเร็วที่สุดคือ ค.ศ. 980 หากไม่ได้ทรงติดตามพระราชบิดาไปด้วย และวรรคของกลอนดังกล่าวหมายถึงการศึกครั้งอื่น เช่น การพิชิตอังกฤษของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดใน ค.ศ. 1013/14 พระองค์อาจจะทรงเสด็จพระราชสมภพประมาณ ค.ศ. 1000[11] มีประโยคหนึ่งจากผู้สรรเสริญ (Encomiast) (ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา) กล่าวว่าชาวไวกิงทั้งหมด "ถึงวัยผู้ใหญ่" (of mature age) ภายใต้ "กษัตริย์" คนุต
คำบรรยายพระลักษณ์ของพระเจ้าคนุตตามที่ปรากฏใน คนุตลินกาซากา (Knýtlinga saga) จากคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีดังนี้:
พระเจ้าคนุตทรงมีพระวรกายที่สูงและกำยำ ทรงมีพระลักษณ์ที่หล่อเหลา ยกเว้นเสียแต่ตรงพระนาสิก (จมูก) ซึ่งมีลักษณะแคบ อยู่สูง (จากพระพักตร์) และค่อนข้างงุ้ม ทรงมีพระฉวี (ผิว) งาม และทรงมีพระเกศา (ผม) หนา พระเนตรของพระองค์ดีกว่าคนทั้วไป สายพระเนตรของพระองค์นั้นทั้งหล่อเหลาและเฉียบคม— คนุตลินกาซากา[12][13]
ข้อมูลเกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระเจ้าคนุตมีไม่มาก จนกระทั่งทรงได้เป็นส่วนหนึ่งในกองทัพของพระราชบิดาในการพิชิตอังกฤษในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1013 อันเป็นช่วงสำคัญที่สุดในการปลันสะดมของชาวไวกิง ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ หลังจากการขึ้นฝั่งที่ฮัมเบอร์ (Humber)[14]อังกฤษตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวไวกิงอย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงปลายปีนั้นพระเจ้าแอเธลเรดผู้ไม่พร้อม ก็ทรงเสด็จหนีไปยังดัชชีนอร์ม็องดี ทิ้งให้พระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดได้อังกฤษไปครอง ในช่วงฤดูหนาวพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดก็ทรงเริ่มสร้างฐานพระราชอำนาจในอังกฤษ ขณะที่พระเจ้าคนุตทรงได้รับหน้าที่ดูแลกองเรือและฐานทัพที่เกนส์เบอโร
พระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดทรงเสด็จสวรรคตหลังจากครองราชย์ได้ไม่นานในวันระลึกพระแม่มารีและพระเยซู (Candlemas) (ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1014)[15] เจ้าชายฮารัลด์ พระราชโอรสองค์โตจึงขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเดนมาร์กต่อจากพระองค์ ในขณะที่ชาวไวกิงและราษฏรในบริเวณเดนลอว์ลงมติเลือกพระเจ้าคนุตเป็นกษัตริย์อังกฤษโดยทันที[16] แต่ขุนนางชาวอังกฤษไม่เห็นด้วย สภาวิททันจึงได้ทูลเชิญพระเจ้าแอเธลเรดกลับมาจากนอร์ม็องดี ไม่นานนักพระเจ้าแอเธลเรดก็ทรงนําทัพขับไล่พระเจ้าคนุต ซึ่งทรงหลบหนีไปพร้อมกับกองทัพของพระองค์และตัวประกันจำนวนหนึ่ง ซึ่งต่อมาถูกทรมาณระหว่างเดินทางและสุดท้ายก็ถูกทิ้งไว้ที่ชายฝั่งของเมืองแซนด์วิช[17] หลังจากนั้นพระเจ้าคนุตจึงได้เสด็จไปพบกับพระเจ้าฮารัลด์ที่ 2 พระเชษฐา และทรงเสนอให้ทรงปกครองร่วมกัน แต่พระเจ้าฮารัลด์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย[16] พระเจ้าฮารัลด์ทรงยื่นข้อเสนอใหม่ให้แก่พระเจ้าคนุตเป็นผู้บังคับปัญชากองกำลังรุกรานอังกฤษระลอกใหม่ โดยมีข้อแม้ว่าพระเจ้าคนุตจะต้องสละสิทธิ์ในราชบัลลังก์เดนมาร์ก[16] อย่างไรก็ดี พระเจ้าคนุตก็สามารถรวบรวมเรือเพื่อใช้ในการรุกรานได้สำเร็จ[17]
การพิชิตอังกฤษ[แก้]
โบเลสวัฟที่ 1 ผู้กล้าหาญ ดยุกแห่งโปแลนด์ (ภายหลังทรงได้รับการราชาภิเษกเป็นกษัตริย์) พระราชมาตุลา (ลุงฝ่ายแม่) ของพระเจ้าคนุตได้ให้พระองค์ยืมทหารชาวโปลจำนวนหนึ่ง[18] ซึ่งอาจจะเป็นข้อตกลงที่ทรงให้ไว้กับพระเจ้าคนุตและพระเชษฐาเมื่อคราวที่ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จไปรับพระราชมารดากลับเดนมาร์กในฤดูหนาว พระนางทรงถูกขับไล่จากราชสำนักหลังจากพระเจ้าสเวนทรงอภิเษกสมรสใหม่กับซิกริดผู้ทรนงพระมเหสีม่ายของพระเจ้าอีริค ผู้ชนะแห่งสวีเดนในปี ค.ศ. 995 การอภิเษกสมรสดังกล่าวได้สร้างพันธมิตรระหว่างพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุง กษัตริย์แห่งสวีเดนพระองค์ใหม่กับราชวงศ์เดนมาร์กในขณะนั้น[18] เดนมาร์กจึงได้สวีเดนมาเป็นพันธมิตรในการรุกรานอังกฤษ อีกหนึ่งพันธมิตรของพระเจ้าคนุตคือ อีริค โฮกุนนาร์สัน (Eiríkr Hákonarson) เอิร์ลแห่งเลด ผู้ปกครองร่วมแห่งนอร์เวย์กับพี่ชายต่างมารดา สเวน โฮกุนสัน (Sweyn Haakonsson) และมีความเกี่ยวดองกับราชวงศ์เดนมาร์กด้วย นอร์เวย์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์กมาตั้งแต่หลังยุทธการโซลเวเดอร์ (Battle of Svolder) ในปี ค.ศ. 999 ในระหว่างที่อีริคไปร่วมทัพของพระเจ้าคนุต โฮกุน ผู้เป็นบุตรชายของเขาเป็นผู้แทนในการปกครองนอร์เวย์ร่วมกับสเวน
ในหน้าร้อนของปี ค.ศ. 1015 กองเรือของพระเจ้าคนุตก็เริ่มออกเดินทางไปยังอังกฤษพร้อมกับไพร่พลประมาณ 10,000 นาย ด้วยกองเรือจำนวน 200 ลำ[19] กองทัพของพระองค์ถือเป็นการรวมตัวของชาวไวกิงจากทั่วสแกนดิเนเวีย กองกำลังของพระองค์จะเผชิญหน้ากับฝ่ายอังกฤษภายใต้การนำของพระเจ้าเอ็ดมันด์ผู้ทนทานในสมรภูมิรบอันดุเดือดไปอีกกว่าสิบสี่เดือน
การขึ้นฝั่งในเวสเซกซ์[แก้]
พงศวดารปีเตอร์บะระ อันเป็นหนึ่งในพงศาวดารชุด บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน บันทึกไว้ว่าในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 1015 "[พระเจ้าคนุต] ทรงมาถึงแซนด์วิช และทรงแล่นเรือผ่านเคนต์และเวสเซกซ์ จนกระทั่งพระองค์ทรงมาถึงปากแม่นํ้าโฟรม และขึ้นฝั่งที่ดอร์เซต วิลต์เชอร์และซัมเมอร์เซต"[20] เป็นจุดเริ่มต้นของการทัพขนาดมหึมาที่สุดนับตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช[17] บทสรรเสริญราชินีเอ็มมาได้บรรยายเกี่ยวกับกองเรือของพระองค์ไว้ดังนี้:
ณ ที่นั้นมีโล่หลากชนิด ซึ่งทำให้ท่านเชื่อได้ว่าไพร่พลจากนานาชนชาติได้มาถึงยัง ณ ที่แห่งนี้...หัวเรือเป็นประกายด้วยทองคำ แร่เงินสะท้อนแสงไปตามเรือหลายรูปทรง....ใครเล่าจะกล้าเชิดหน้าขึ้นมามองเหล่าราชสีห์ของศัตรู ต่างสั่นกระทาด้วยกลัวความระยับของทองคำและเหล่านักรบผู้น่าครันครามด้วยใบหน้าอันเรียบนิ่ง....เรือของพวกเขานำพามาซึ่งความตาย แลแตรของพวกเขาระยิบไปด้วยทอง ใครเล่าจะไม่รู้สึกหวั่นเกรงกษัตริย์ผู้มีกองทัพเช่นนี้? มิหนำซ้ำ กองกำลังนี้มิมีไพร่พลใดที่เป็นทาสหรือผู้ที่เคยเป็นทาส ไม่มีคนซาติกำเนิดตํ่าต้อย ไม่มีไพร่พลที่อ่อนแอด้วความชราของอายุ ด้วยพวกเขาทั้งหมดต่างเป็นผู้มีชาติตระกูล แลแข็งแรงด้วยกำลังวังชาของคนวัยหนุ่ม ชำนาญการต่อสู้ทุกแขนงแลการเรือ พวกเขาเคลื่อนที่ด้วยความเร็วยิ่งกว่าพลทหารม้า— อิโครนัม เอ็มมา เรจีนา[21]
เวสเซกซ์ซึ่งถูกปกครองโดยราชวงศ์ของพระเจ้าแอเธลเรดมาเป็นเวลานานยอมจำนนกับกองกำลังของพระเจ้าคนุตในปลายปี ค.ศ. 1015 ดั่งเช่นที่ยอมจำนนกับกองกำลังของพระราชบิดาของพระองค์เมื่อสองปีก่อนหน้า[17] ณ จุดนี้ เอ็ดริก สโตรนา (Eadric Streona) เอลโดแมนแห่งเมอร์เซีย ได้แปรพักตร์จากฝ่ายของพระเจ้าแอเธลเรดไปพร้อมกับเรือ 40 ลำ รวมถึงลูกเรือจำนวนหนึ่ง และเข้าไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้าคนุต[22] ผู้แปรพักตร์อีกคนได้แก่ธอร์เคล ผู้นำของชาวจอมสซึ่งเคยต่อสู้กับกองกำลังของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดให้กับฝ่ายอังกฤษ[17]—สาเหตุของการแปรพักตร์สามารถพบได้ใน จอมสไวกิงซากา (Jómsvíkinga saga) ซึ่งกล่าวถึงการถูกโจมตีของทหารรับจ้างชาวจอมสบอร์กในอังกฤษ โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตนั้นมีเฮนนิงค (Henninge) น้องชายของธอร์เคลรวมอยู่ด้วย[23] หากเรื่องที่บันทึกไว้ใน แฟลร์ทิยาร์ลบก นั้นเป็นความจริงที่ว่าพระเจ้าคนุตทรงได้รับการอบรมจากธอร์เคล มันจะสามารถอธิบายสาเหตุที่พระเจ้าคนุตทรงรับเขาเข้ามาในกองทัพของพระองค์ได้ กองเรือจำนวน 40 ที่เอ็ดริกนำมาด้วย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกองเรือของเขตเดนลอว์[23] แท้จริงแล้วอาจจะเป็นของธอร์เคล[24]
การรุกขึ้นเหนือ[แก้]
เมื่อถึง ค.ศ. 1016 กองกำลังไวกิงได้ข้ามแม่น้ำเทมส์และเร่งรุดหน้าไปยังวาร์วิคเชอร์ ในขณะที่ความพยายามต้านทานการรุกรานของเจ้าชายเอ็ดมันด์ไม่สัมฤทธิ์ผล—นักบันทึกพงศาวดาร (Chronicler) กล่าวว่ากองทัพอังกฤษพากันแยกย้ายเพราะไม่ได้พบกษัตริย์หรือประชาชนชาวลอนดอน[17] การโจมตีในช่วงกลางฤดูหนาวโดยพระเจ้าคนุตสร้างความเสียหายไปทั่วตอนเหนือของเมอร์เซียตะวันออก การระดมพลอีกครั้งหนึ่งทำให้ชาวอังกฤษรวมตัวกันได้ และคราวนี้พระเจ้าเอเธล์เรดก็ทรงเสด็จมาตรวจกองทัพด้วยตัวพระองค์เอง กระนั้น "มันก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก" พระเจ้าเอเธล์เรดทรงเสด็จกลับลอนดอนด้วยความกลัวว่าพระองค์กำลังจะถูกทรยศ[17]ในขณะที่เจ้าชายเอ็ดมันด์เสด็จไปทางเหนือเพื่อไปร่วมทัพกับอูห์เรด เอิร์ลแห่งนอร์ทธัมเบรีย แล้วจึงมุ่งหน้าไปยังสแตฟฟอร์ดเชอร์ ชาร์ปเชอร์และเชชเชอร์ ในเมอร์เซียตะวันตก[25] ทั้งสองอาจจะต้องการไปยังคฤหาสน์ของเอ็ดริก สโตรนา การที่พระเจ้าคนุตทรงเข้ายึดครองนอร์ทัมเบรีย บีบให้อูห์เรดต้องกลับไปยอมแพ้ต่อพระเจ้าคนุต[26] พระองค์อาจจะเป็นผู้ส่งเธอร์บรันชาวโฮล (Thurbrand the Hold) อริชาวนอร์ทัมเบรียของอูห์เรดไปสังหารเขากับผู้ติดตาม อีริค โฮกุนนาร์สัน เป็นไปได้ว่าเมื่อถึงจุดนี้ กองกำลังชาวสแกนดิเวียจึงเริ่มเข้ามาสบทบกับกับพระเจ้าคนุต[27] และบรรดายาร์ล (เอิร์ล) ผู้กรำศึกได้ถูกส่งไปปกครองนอร์ทัมเบรีย
เจ้าชายเอ็ดมันด์ยังคงประทับอยู่ในลอนดอน โดยทรงตั้งทัพอยู่ที่หลังกำแพงเมืองลอนดอน และทรงได้รับการเลือกเป็นกษัตริย์หลังจากพระเจ้าเอเธล์เรดสวรรคตในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1016
การล้อมกรุงลอนดอน[แก้]

พระเจ้าคนุตเสด็จกลับไปทางทิศใต้ และกองทัพเดนมาร์กก็เริ่มทําการแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยกองแรกทําหน้าที่ไล่ตามพระเจ้าเอ็ดมันด์ ซึ่งสามารถตีฝ่าไพร่พลออกไปได้ก่อนที่พระเจ้าคนุตจะเข้าปิดล้อมกรุงลอนดอน พระเจ้าเอ็ดมันด์ทรงหลบหนีไปยังมณฑลเวสเซกซ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระราชอำนาจของกษัตริย์อังกฤษมาแต่ครั้งโบราณ ในขณะที่อีกกองหนึ่งทําหน้าที่ล้อมรอบกรุงลอนดอนไว้ พร้อมกันนั้นก็มีมีการสร้างกําแพงกั้นนํ้า (dikes) ขึ้นที่ทางเหนือและทางใต้ของตัวเมือง อีกทั้งยังมีการขุดคูนํ้าเลาะผ่านทางชายฝั่งแม่นํ้าเทมส์ไปจนจรดทิศใต้ เพื่อสะดวกต่อการล่องเรือยาว (longships) ขึ้นไปขัดขวางการสื่อสารของฝ่ายอังกฤษ
มีการปะทะเกิดขึ้นที่เพนเซลวูด (Penselwood) ในมณทลซัมเมอร์เซต โดยสันนิฐานว่าเนินในป่าเซลวูด (Selwood Forest) เป็นสมรภูมิของทั้งสองฝ่าย[28] การรบพุ่งเกิดตามมาที่เชอร์สตัน ในมณทลวิลต์เชอร์ การต่อสู้กินเวลาสองวันแต่ไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด[29]
พระเจ้าเอ็ดมันด์สามารถกู้กรุงลอนดอนกลับคืนมาได้อยู่ระยะหนึ่ง ทรงผลักดันและตีกองทัพเดนมาร์กจนแตกพ่ายไปหลังทรงข้ามแม่นํ้าเทมส์ที่เบรนท์ฟอร์ด [28] แต่ก็ทรงเสียไพร่พลเป็นจํานวนมากเช่นกัน พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยล่าถอยไปยังเวสเซกซ์เพื่อเกณฑ์ไพร่พลใหม่ ชาวเดนส์เข้าปิดล้อมกรุงลอนดอนอีกครั้ง แต่หลังจากที่ไม่ประสบความสําเร็จในการรุกคืบ พวกเขาจึงล่าถอยไปยังเคนต์ โดยมีการต่อสู้เกิดขึ้นบ้างประปราย ซึ่งลงเอยด้วยการรบที่ออตฟอร์ด (Otford) ต่อมา เอ็ดริก สโตรนาแปรพักตร์กลับไปเข้ากับพระเจ้าเอ็ดมันด์อีกครั้ง[30] พระเจ้าคนุตจึงตัดสินพระทัยล่องเรือไปทางเหนือของแม่นํ้าเทมส์ ทรงเสด็จขึ้นฝั่งที่เอสเซกซ์ และทรงเดินทางไปจนถึงแม่นํ้าออร์เวลล์ (River Orwell) เพื่อเข้าปลันสะดมมณทลเมอร์เซีย[28]
การยึดกรุงลอนดอนด้วยสนธิสัญญา[แก้]
ในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1016 กองกําลังของชาวเดนส์ถูกโจมตีโดยกองทัพของพระเจ้าเอ็ดมันด์ ระหว่างที่ฝ่ายเดนส์กําลังล่าถอยไปที่เรือ อันนําไปสู่ยุทธการแอชชิงดัน (Battle of Assandun) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นที่แอชชิงดอน (Ashingdon) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่แอชดอน (Ashdon) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเอสเซกซ์ ระหว่างการชุลมุนนั้นเอง เอ็ดริก สโตรนา ซึ่งอาจจะแกล้งทําอุบายแปรพักตร์เพื่อลวงฝ่ายอังกฤษ ได้ทําการถอยทัพออกจากสนามรบ ทําให้ฝ่ายอังกฤษพ่ายแพ้อย่างราบคาบ[31] พระเจ้าเอ็ดมันด์เสด็จหนีไปทางตะวันตก พระเจ้าคนุตทรงไล่ตามพระองค์ไปจนถึงกลอสเตอร์เชอร์ ซึ่งอาจจะมีการสู้รบเกิดขึ้นอีกที่บริเวณป่าดีน (Forest of Dean) เนื่องจากพระเจ้าเอ็ดมันด์ได้ทําการผูกมิตรกับผู้นําบางส่วนของชาวเวลส์[28]
บนเกาะใกล้หมู่บ้านเดียร์เฮสต์ (Deerhurst) พระเจ้าคนุตและพระเจ้าเอ็ดมันด์ผู้บาดเจ็บ ทรงเสด็จมาพบกันเพื่อเจรจาเงื่อนไขสงบศึก ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันว่าจะใช้แม่น้ำเทมส์เป็นตัวแบ่งเขตแดน โดยฟากเหนือแม่นํ้าขึ้นไปจะตกเป็นของชาวเดนส์ ในขณะที่ฟากทางใต้ รวมไปถึงกรุงลอนดอน จะยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายอังกฤษ ดินแดนทั้งสองจะถูกรวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้พระเจ้าคนุตเมื่อพระเจ้าเอ็ดมันด์เสด็จสวรรคต ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน ไม่กี่สัปดาห์หลังจากสนธิสัญญาได้รับการลงนาม แหล่งข้อมูลบางชิ้นกล่าวว่าพระเจ้าเอ็ดมันด์ถูกลอบปลงพระชนม์ กระนั้นสาเหตุการสวรรคตของพระองค์ก็ไม่เป็นที่แน่ชัด[32] ชาวเวสต์แซกซอนยอมรับเจ้าชายคนุตเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่โดยดี[33] พระองค์ได้รับการราชาภิเษกโดยไลฟิง อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี (Lyfing, Archbishop of Canterbury) ที่กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 1017 [34]
กษัตริย์แห่งจักรวรรดิทะเลเหนือ[แก้]
พระเชษฐาของคานุต ฮารัลด์ กษัตริย์แห่งเดนมาร์ก สวรรคตในปีค.ศ.1018 และคานุตได้สืบสันตติวงศ์เป็นกษัตริย์แห่งเดนมาร์ก สองปีต่อมาคานุตเริ่มอ้างสิทธิ์ในนอร์เวย์ พระองค์ยึดครองและส่งพระโอรส สเวน และพระสนม เอลฟ์จิฟู ไปบริหารปกครอง หลังการรุกรานสก็อตแลนด์ แมลคอล์มที่ 2 กษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์ยอมรับคานุตเป็นเจ้าเหนือหัว และในยุค 1020 คานุตอ้างพระองค์ว่าเป็น "กษัตริย์แห่งอังกฤษทั้งหมด และแห่งเดนมาร์ก และแห่งนอร์เวย์ และบางส่วนของสวีเดน" คานุตกังวลพระทัยกับการเป็นเอกภาพทางการเมืองในอังกฤษจึงทรงรื้อถอนบะระที่สร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องอังกฤษตอนใต้จากไวกิงในเดนลอว์ เข้าใจกันว่ากำแพงป้องกันและคูน้ำที่คริกแลด ลิดฟอร์ด แคดบรีใต้ และวอร์แฮมถูกทำลายด้วยเหตุผลเดียวกัน
การสวรรคตและการล่มสลายของจักรวรรดิ[แก้]
พระเจ้าคานุตสวรรคตในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1035 ที่ชาฟท์สบรีในดอร์เซ็ต พระชนมพรรษาราว 40 พรรษา และถูกฝังที่มหาวิหารวินเชสเตอร์ ในวินเชสเตอร์ อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรเวสเซ็กซ์ของชาวแซ็กซันและเป็นเมืองที่พระองค์เคยอาศัยอยู่
โชคร้ายที่โอรสของคานุตไม่สามารถทำได้เช่นพระบิดา หลังการสวรรคตของพระองค์ อาณาจักรแองโกลสแกนดิเนเวียก็เริ่มสลาย โอรสของเอลฟ์จิฟู แฮโรลด์ ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษแต่สวรรคตในปีค.ศ.1040 ต่อมาฮาร์ธาคนุตปกครองได้เพียงสองปีก่อนสวรรคตเช่นกัน
ไม่มีพระราชบุตรของคานุตพระองค์ใดที่มีทายาท โอรสของเอ็มม่ากับเอเธลเร็ด เอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ จึงเสด็จกลับจากนอร์ม็องดีเพื่อสืบทอดบัลลังแห่งอังกฤษในปีค.ศ.1042
การอภิเษกสมรสและพระราชบุตร[แก้]
- เอลฟ์จิฟูแห่งนอร์แธมตัน
- สเวน คนุตสัน กษัตริย์แห่งนอร์เวย์
- แฮโรลด์ผู้เท้าไว กษัตริย์แห่งอังกฤษ
- เอ็มม่าแห่งนอร์ม็องดี
- ฮาร์ธาคนุต กษัตริยแห่งเดนมาร์กและอังกฤษ
- กุลฮิลด้าแห่งเดนมาร์ก อภิเษกสมรสกับจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
หมายเหตุ[แก้]
- ↑ พระราชมารดาของพระเจ้าคนุตยังคงเป็นหัวข้อถกเถียงในวงการประวัติศาสตร์ บางทฤษฎีบอกว่าคือพระนางกันฮิลด์แห่งเว็นเด็น อีกทฤษฎีบอกพระนางไม่มีตัวตนหรือขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือ นักพงศวดารยุคกลาง เทตมาร์แห่งมาเซิลเบิร์ก (Thietmar of Merseburg) และ อดัมแห่งเบรเมิน (Adam of Bremen) บันทึกไว้ว่าพระเจ้าคนุตทรงเป็นพระราชโอรสในเจ้าหญิงโปแลนด์ ผู้เป็นพระราชธิดาในดยุกมิเอสโกที่ 1 แห่งโปแลนด์ และพระขนิฐาในพระเจ้าโบเลสวัฟที่ 1 ผู้กล้าหาญ พระองค์อาจจะมีพระนามว่า "สเวโตสลาวา" (Świętosława) (ดูเพิ่มที่: ซิกริด สตอราดา): ซึ่งถูกเชื่อมโยงเข้ากับการที่มีทหารโปแลนด์ร่วมกองทัพของพระองค์เมื่อครั้งการพิชิตอังกฤษ และพระนามของพระขนิฐาของพระองค์ซึ่งเป็นภาษาสลาฟ สามารถเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Santslaue Encomiast, Encomium Emmae, ii. 2, p. 18; Thietmar, Chronicon, vii. 39, pp. 446–47; Trow, Cnut, p. 40. Lawson 2010 เขียนไว้ว่าไม่มีผู้ใดทราบพระนามของพระนาง
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ Somerville & McDonald 2014, p. 435.
- ↑ Adam of Bremen, Gesta Daenorum, scholium 37, p. 112.
- ↑ Lawson, Cnut, p. 121
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 149
- ↑ Trow, Cnut, pp. 30–31.
- ↑ Snorri, Heimskringla, The History of Olav Trygvason, ch. 34, p. 141
- ↑ Adam of Bremen, History of the Archbishops of Hamburg-Bremen, Book II, ch. 37; see also Book II, ch. 33, Scholion 25
- ↑ Snorri, Heimskringla, The History of Olav Trygvason, ch. 91, p. 184
- ↑ Trow, Cnut, p. 44.
- ↑ Douglas, English Historical Documents, pp. 335–36
- ↑ Lawson, Cnut, p. 160.
- ↑ Trow, Cnut, p. 92.
- ↑ John, H., The Penguin Historical Atlas of the Vikings, Penguin (1995), p. 122.
- ↑ Ellis, Celt & Saxon, p. 182.
- ↑ William of Malms., Gesta Regnum Anglorum, pp. 308–10
- ↑ 16.0 16.1 16.2 Sawyer, History of the Vikings, p. 171
- ↑ 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 17.6 Lawson, Cnut, p. 27
- ↑ 18.0 18.1 Lawson, Cnut, p. 49.
- ↑ Trow, Cnut
- ↑ Garmonsway, G.N. (ed. & trans.), The Anglo-Saxon Chronicle, Dent Dutton, 1972 & 1975, Peterborough (E) text, s.a. 1015, p. 146.
- ↑ Campbell, A. (ed. & trans.), Encomium Emmae Reginae, Camden 3rd Series vol. LXXII, 1949, pp. 19–21.
- ↑ G. Jones, Vikings, p. 370
- ↑ 23.0 23.1 Trow, Cnut, p. 57.
- ↑ Lawson, Cnut, p. 161
- ↑ Lawson, Cnut, p. 28.
- ↑ Anglo-Saxon Chronicles, pp. 146–49.
- ↑ Trow, Cnut, p. 59.
- ↑ 28.0 28.1 28.2 28.3 Lawson 2004, p. 28.
- ↑ Anglo-Saxon Chronicles, pp. 148–50
- ↑ Anglo-Saxon Chronicles, pp. 150–51
- ↑ Anglo-Saxon Chronicles, pp. 151–53
- ↑ Anglo-Saxon Chronicles, pp. 152–53; Williams, A., Æthelred the Unready the Ill-Counselled King, Hambledon & London, 2003, pp. 146–47.
- ↑ Stenton 1971, p. 393.
- ↑ Lawson 2004, pp. 82, 121, 138.
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระเจ้าคานุต
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- พระเจ้าคนุตมหาราช
- พระเจ้าคนุตมหาราช (Knud) : จากไวกิงสู่พระมหากษัตริย์อังกฤษ
- Vikingworld - พระเจ้าคนุตมหาราช (Knud den Store)
- พระเจ้าคนุตมหาราช: จักรพรรดิเหนือ
- Time Team - ใครคือพระเจ้าคนุตมหาราช
- พระเจ้าคนุตมหาราช (At Find A Grave)
- พระเจ้าคนุตมหาราช (Online Encyclopedia)
- กษัตริย์แห่งอังกฤษ: กษัตริย์เดนมาร์กแห่งอังกฤษ
- King Canute
- King Cnut (Canute) (1016 - 1035)
- Canute (Knud) The Great
ก่อนหน้า | พระเจ้าคนุตมหาราช | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 2 | ![]() |
![]() กษัตริย์แห่งอังกฤษ (ราชวงศ์นีทลินกา) (ค.ศ. 1016 – ค.ศ. 1035) |
![]() |
พระเจ้าฮาโรลด์ แฮร์ฟุต |
พระเจ้าฮารัลด์ที่ 2 | ![]() |
![]() กษัตริย์แห่งเดนมาร์ก (ราชวงศ์นีทลินกา) (ค.ศ. 1018 – ค.ศ. 1035) |
![]() |
พระเจ้าฮาร์ธาคนุต |
พระเจ้าโอลาฟที่ 2 | ![]() |
![]() กษัตริย์แห่งนอร์เวย์ (ค.ศ. 1028 – ค.ศ. 1035) |
![]() |
พระเจ้ามักนุสผู้ทรงธรรม |