เจ้าฟ้าหญิงมกุฎราชกุมารีมณีไลย
เจ้าฟ้าหญิงมณีไลย | |
---|---|
มกุฎราชกุมารีแห่งลาว | |
ประสูติ | 29 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว |
พระราชสวามี | สมเด็จเจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง องค์มกุฎราชกุมาร |
พระบุตร | เจ้าชายสุลิวง เจ้าชายทันยะวง เจ้าชายสิลานะวง เจ้าชายอนุลาดวง เจ้าหญิงมะนีโสมพัน เจ้าหญิงสะหวีนาลี เจ้าชายมะนีลามา |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ล้านช้างร่มขาว |
พระชนก | องค์เสด็จเจ้าฟ้าชายคำพรรณปัญญา |
พระชนนี | หม่อมชาวเมืองปากลาย |
ราชวงศ์ล้านช้างหลวงพระบาง |
---|
|
เจ้าฟ้าหญิงมณีไลย มกุฎราชกุมารีแห่งลาว (ลาว: ເຈົ້າຟ້າຍິງມະນີໄລ ມຸງກຸຕຣາຊກຸມາຣີ) หรือ เจ้ามะนีไล สว่าง (ประสูติ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2484 —) หรือที่ชาวหลวงพระบางรู้จักในชื่อ "เจ้าป้า"[1] พระวรชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง องค์มกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรลาว
พระประวัติ
[แก้]เจ้าหญิงมณีไลย ประสูติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ณ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว มีพระนามเดิมว่า มณีไลย ปัญญา เป็นพระธิดาในองค์เสด็จเจ้าฟ้าชายคำพรรณปัญญา กับหม่อมชาวเมืองปากลายไม่ปรากฏนาม[2] โดยพระชนกของพระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ กับหม่อมคำหล้า[2] เจ้าหญิงมณีไลยทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนประถมหลวงพระบาง และโรงเรียนลิเซปาวี ในนครหลวงพระบาง และได้ศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ[2]
อภิเษกสมรส
[แก้]เจ้าหญิงมณีไลยได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง องค์มกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา กับพระอัครมเหสีคำผูย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2505[2] มีพระโอรส-ธิดาด้วยกัน 7 พระองค์ เป็นพระโอรส 5 พระองค์ และพระธิดา 2 พระองค์ ได้แก่
- เจ้าชายสุลิวง (สุริวงศ์, ประสูติ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 —) ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ลาวองค์ปัจจุบัน สมรสกับเจ้าจันทร์ศุกร์ สุขธารา[3] ปัจจุบันประทับในฝรั่งเศส[1]
- เจ้าชายทันยะวง (ธัญวงศ์, ประสูติ 17 เมษายน พ.ศ. 2507 —) สมรสกับสาทุเจ้าหญิงมาลิกา คำม้าว ปัจจุบันประทับในสหรัฐอเมริกา
- เจ้าหญิงมะนีโสมพัน (มณีโสมพรรณ, ประสูติ พ.ศ. 2508 —) สมรสกับเสด็จเจ้าชายไชยคำพรรณ ปัญญา พระมาตุลา (พี่ชายของพระมารดา) ปัจจุบันประทับในออสเตรเลีย
- เจ้าหญิงสะหวีนาลี (ฉวีนารี, ประสูติ พ.ศ. 2510 —) สมรสกับนายสันติ อินทะวง มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 2 คน ปัจจุบันประทับในลาว
- เจ้าชายสิลานะวง (ประสูติ พ.ศ. 2512 —) ปัจจุบันประทับในสหรัฐอเมริกา
- เจ้าชายมะนีลามา (มณีลามา, ประสูติ พ.ศ. 2519 —) สมรสกับสตรีสัญชาติเวียดนาม ปัจจุบันประทับในลาว
- เจ้าชายอนุลาดวง (อนุราชวงศ์, ประสูติ พ.ศ. 2521 —) ปัจจุบันประทับในลาว
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
[แก้]ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 พระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาทรงสละราชบัลลังก์ ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 1 อาทิตย์ โดยฝ่ายปะเทดลาวได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองเหล่าพระราชวงศ์ทรงถูกส่งไปจองจำที่ค่ายสัมมนาในแขวงหัวพัน ทางภาคเหนือของประเทศ ภายในค่ายสัมมนาคือค่ายกักกันสร้างความยากลำบากสำหรับเหล่าพระราชวงศ์ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง องค์มกุฎราชกุมาร พระภัสดาของพระองค์ได้เสด็จสวรรคตลงเสียก่อนที่ศูนย์สัมมนาหมายเลข 5 เมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2524 ต่อมาพระนางคำผูยก็สิ้นพระชนม์ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2524 สิริพระชนมายุ 69 พรรษา ภายในค่ายสัมมนาที่หมู่บ้านสบฮาว[4] ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2521 หรือ พ.ศ. 2527 ไม่แจ้งชัดนัก แต่ประชาชนบางส่วนเชื่อว่าสิ้นพระชนม์เนื่องจากการขาดสารอาหาร[5] ส่วนพระองค์เองก็ทรงตกระกำลำบากอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า "ซิ่นขาดคาขา"[5] แต่พระองค์ก็รอดพ้นเหตุการณ์ดังกล่าวมาได้
เหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลง
[แก้]หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้ว ทางการจึงได้มีการปล่อยตัวให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติที่เมืองหลวงพระบางแต่ก็มีผู้คอยสอดแนมทุกฝีก้าวอยู่เสมอ[1] พระโอรสของพระองค์สองพระองค์ คือ เจ้าสุลิวงและเจ้าทันยะวง ได้หนีออกจากประเทศลาว โดยเจ้าสุลิวงทำทีเป็นแจ้งกับทางการว่า ไม่สบายต้องไปรักษาที่เวียงจันทน์ เจ้าหน้าที่ก็ยอม พอถึงเวียงจันทน์ก็ติดต่อบรรดาอดีตเจ้านายเก่าของลาวให้พระโอรสพาข้ามแม่น้ำโขง โดยการนั่งเรือออกจากเวียงจันทน์ในเวลาค่ำคืน ถึงฝั่งไทยหลังจากสอบสวนกันเรียบร้อยแล้วก็มีคนพาไปหลบซ่อนตัวในที่ปลอดภัยก่อนที่ส่งต่อไปยังฝรั่งเศส[1] และเป็นผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ลาวคนปัจจุบัน[1]
ในปัจจุบันเจ้าหญิงมณีไลยทรงดำเนินชีวิตเยี่ยงสามัญในบ้านหลังเล็กในเมืองหลวงพระบาง[1][5] และชาวหลวงพระบางเองก็เรียกขานพระองค์ว่า "เจ้าป้า"[1] ทรงมีร้านอาหาร คือ ร้านสกุณา ที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงพระบาง[6] ทรงมีโอกาสพบปะพระโอรสธิดาได้ไม่บ่อยครั้งนัก เนื่องจากลูกหลานไปประทับต่างประเทศเสียส่วนใหญ่ ประกอบกับพระองค์ไม่สะดวกที่จะเดินทางออกจากลาว อย่างมากพระองค์ก็เสด็จมาพบแพทย์ของโรงพยาบาลในจังหวัดอุดรธานีเป็นครั้งคราวเท่านั้น[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 "'สุริวงศ์ สว่าง' รัชทายาทไร้บัลลังก์เพรียกหาประชาธิปไตยในฝัน!". สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ในเนชั่นสุดสัปดาห์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-21. สืบค้นเมื่อ 2010-11-3.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 "The Khun Lo Dynasty". Royalask.com. สืบค้นเมื่อ 2010-11-6.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "คิดฮอดเมืองลาว – I miss Laos. บทผนวก/จบ (6)". BlogGang.com. สืบค้นเมื่อ 2010-11-5.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Osborne, Milton (September 20, 2003). "Bamboo Palace".
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "สิ้นสุดของเจ้าลาว". Pantip.com. สืบค้นเมื่อ 2010-11-3.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "หลวงพระบาง มรดกโลก". MrBackpacker.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-22. สืบค้นเมื่อ 2010-11-6.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
ก่อนหน้า | เจ้าฟ้าหญิงมกุฎราชกุมารีมณีไลย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระอัครมเหสีเจ้าหญิงคำผูย | ผู้อ้างสิทธิในตำแหน่ง สมเด็จพระราชินีอัครมเหสีแห่งราชอาณาจักรลาว (พ.ศ. 2521-2524) |
เจ้าจันทร์ศุกร์ สุขธารา |