เจ้าพระยายมราช (บุนนาค ยมนาค)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยายมราช
(บุนนาค)
เกิดพ.ศ. 2319
อาณาจักรธนบุรี
เสียชีวิต4 ธันวาคม พ.ศ. 2389 (70 ปี)
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
ชื่ออื่นบุนนาคตะเฆ่ทับ
ตำแหน่งเจ้าพระยายมราช
วาระ4 ธันวาคม พ.ศ. 2389
ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนเจ้าพระยายมราช (พูน)
ผู้สืบตำแหน่งเจ้าพระยายมราช (ศุข สินศุข)

เจ้าพระยายมราช นามเดิม บุนนาค หรือ "เจ้าพระยายมราชตะเฆ่ทับ" (พ.ศ. 2319 - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2389) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยายมราชในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแม่ทัพผู้มีบทบาทสำคัญในสงครามอานัมสยามยุทธ เป็นแม่กองกำกับการสร้างวัดราชนัดดาราม และเป็นต้นสกุล"ยมนาค"

ประวัติ[แก้]

เมื่อเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อพ.ศ. 2389 สิริอายุประมาณเจ็ดสิบกว่าปี[1] จึงอนุมานว่าเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) เกิดเมื่อประมาณพ.ศ. 2319 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปรากฏครั้งแรกรับราชการเป็นพระอภัยโนฤทธิ์ หรือพระอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจซ้ายในรัชกาลที่ 3 ก่อนหน้านั้นดำรงตำแหน่งใดมาบ้างไม่ปรากฏ[2] พระอภัยโนฤทธิ์ (บุนนาค) เข้าร่วมกองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ในสงครามอานัมสยามยุทธเมื่อพ.ศ. 2377 ในยุทธนาวีที่คลองหวั่มนาว (Vàm Nao) พระอภัยโนฤทธิ์ (บุนนาค) นำกองเรือทัพหน้าเข้าโจมตีทัพเรือฝ่ายญวน แต่กองเรือที่ตามหลังพระอภัยโนฤทธิ์มานั้นไม่ยอมถอนสมอ[1]ขึ้นเพื่อแล่นเรือไปสู้กับญวน พระอภัยโนฤทธิ์เห็นว่าไม่มีกองเรือตามมาจึงถอยกลับ ยุทธนาวีที่คลองหวั่มนาวครั้งนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมาพระอภัยโนฤทธิ์ (บุนนาค) จึงได้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมพระนครบาล

เมื่อพ.ศ. 2381 เกิดกบฏหวันหมาดหลี ทัพของชาวมลายูไทรบุรีเข้าโจมตีเมืองสงขลาและปัตตานี ในพ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) และพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ยกทัพเรือออกไปช่วยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) และพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ปราบกบฏทางใต้ เมื่อทัพเรือของเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) และพระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ไปถึงเมืองสงขลาแล้ว ปรากฏว่าทัพฝ่ายกบฏไทรบุรีได้ถอยกลับไปแล้ว

ในปีพ.ศ. 2384 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่เมืองพระตะบอง ทูลขอพระราชทานตัวเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ไปช่วยราชการ[1]ที่เมืองเขมรเนื่องจากเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ล้มป่วยและกลับไปยังเมืองนครราชสีมาแล้ว[1] เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) จึงเดินทางไปช่วยราชการที่เมืองอุดง ในพ.ศ. 2385 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการให้แต่งทัพไปโจมตีคลองหวิญเต๊ (Vĩnh Tế) ที่จังหวัดอานซาง เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ร่วมกับพระพรหมบริรักษ์ (แก้ว สิงหเสนี) และนักองค์ด้วง จึงยกทัพจากเมืองอุดงเข้าโจมตีคลองหวิญเต๊และจังหวัดอานซางของเวียดนาม ทัพฝ่ายสยามสามารถเข้ายึดคลองหวิญเต๊ได้ชั่วคราว เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพเข้าประชิดเมืองโจดกหรือเจิวด๊ก (Châu Đốc) แต่ถูกทัพญวนนำโดย "องเตียนเลือก"[1]เข้าตีแตกพ่ายเจ้าพระยายมราชถูกปืนเข้าที่หน้าอกแต่ลูกปืนถูกกระดุมเสื้อ[1] เจ้าพระยายมราช พระพรหมบริรักษ์ และนักองค์ด้วงจึงล่าถอยไปอยู่ที่พนมเปญ จากนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จึงมอบหมายให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ไปสร้างป้อมปราการให้แก่นักองค์ด้วงที่เมืองอุดง[1]

เมื่อพ.ศ. 2389 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะสร้างวัดราชนัดดารามเพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีพระราชนัดดา โดยโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ค้นหาสถานที่เพื่อสร้างวัดราชนัดดาราม เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ได้เลือกสวนผลไม้ริมกำแพงพระนครด้านตะวันออก[3]เป็นสถานที่สร้างวัด เจ้าพระยายมราชเป็นแม่กองกำกับการสร้างพระอุโบสถพระวิหารและศาลาการเปรียญ[3] ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2389 มีการชักพระพุทธรูปจากพระบรมมหาราชวังอัญเชิญไปประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดราชนัดดาราม เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ประกาศแก่ราษฎรให้มาช่วยกันชักพระ ราษฎรเข้ามาช่วยกันชักพระเป็นจำนวนมาก โดยใช้ตะเฆ่ผูกกับเชือกชักลากไปและเจ้าพระยายมราชขึ้นอยู่บนตะเฆ่นั้น เมื่อถึงหัวมุมถนนเลี้ยวเจ้าพระยายมราชลงจากตะเฆ่มาควบคุมการจัดตะเฆ่เพื่อเลี้ยว เมื่อตะเฆ่เลี้ยวสำเร็จแล้ว เจ้าพระยายมราชและพนักงานกำลังผูกเชือกตะเฆ่อยู่ ราษฎรได้ยินเสียงม้าร้องเข้าใจว่าให้ลากแล้วจึงฉุดลากไป ตะเฆ่จึงแล่นมาทับเจ้าพระยายมราชและพนักงาน "เจ้าพระยายมราชมิทันจะกระโดดขึ้นตะเฆ่ ด้วยชะราถึง ๗๐ ปีเศษแล้ว ไม่ว่องไว ได้ยินเสียงเขาโห่เกรียวขึ้นก็วิ่งหลบออกมาข้างถนน พอตะเฆ่มาถึงตัวสะดุดเอาล้มลง ตะเฆ่ก็ทับต้นขาขาดข้างหนึ่งเพียงตะโพก ทนายสองคนเข้าช่วย ตะเฆ่ก็ทับเอาทนายสองคนนั้นด้วย"[1] เป็นเหตุให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ถึงแก่กรรม และเป็นที่มาของสมยานาม"เจ้าพระยายมราชตะเฆ่ทับ" ซึ่งต่อมาพระพุทธรูปองค์นี้ ได้รับพระราชทานนามว่า "พระเสฏฐตมมุนินทร์"

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามสกุลแก่นายร้อยตรีจีน ซึ่งเป็นเหลนของเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ว่า "ยมนาค" โดยคำว่า ยม มาจาก "ยมราช" ซึ่งเป็นราชทินนามของเจ้าพระยายมราช และ นาค มาจาก "บุนนาค" ซึ่งเป็นชื่อตัวของเจ้าพระยายมราช

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  2. สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 404 หน้า. หน้า 42-43. ISBN 974-417-534-6
  3. 3.0 3.1 https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000101039 โรม บุนนาค. พระพุทธรูปที่งดงามอย่างประหลาด คร่าชีวิตเจ้าพระยายมราช! ทรงยิ้มและทักทายผู้มากราบไหว้!!.