ข้ามไปเนื้อหา

เคาน์เตอร์-สไตรก์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เคาน์เตอร์-สไตรก์
ผู้พัฒนาวาล์ว คอร์ปอเรชั่น
ผู้จัดจำหน่ายวาล์ว คอร์ปอเรชั่น
Sierra Studios (อดีต)
Microsoft Game Studios (Xbox)
ออกแบบMinh "Gooseman" Le
Jess Cliffe
ชุดเคาน์เตอร์-สไตรก์
เอนจินGoldSrc
เครื่องเล่นไมโครซอฟท์ วินโดวส์, เอกซ์บอกซ์, แมคโอเอสเท็น, ลินุกซ์
วางจำหน่าย
9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
  • ไมโครซอฟท์ วินโดวส์
    • NA: 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
    • ทั่วโลก: 9 กันยายน พ.ศ. 2546 (ดิจิทัล)
  • เอกซ์บอกซ์
    • NA: 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546
    • EU: 5 ธันวาคม พ.ศ. 2546
  • แมคโอเอสเท็น, ลินุกซ์
    • ทั่วโลก: 24 มกราคม พ.ศ. 2556
แนวเกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง
รูปแบบหลายผู้เล่น, ผู้เล่นคนเดียว

เคาน์เตอร์-สไตรก์ (อังกฤษ: Counter-Strike, บ้างย่อเป็น CS) เป็นวิดีโอเกมยิงทางยุทธวิธีมุมมองบุคคลที่หนึ่ง พัฒนาโดย วาล์ว คอร์ปอเรชั่น ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากการปรับปรุงเกมฮาล์ฟ-ไลฟ์ โดย มินห์ "กูสแมน" เลอ และ เจสส์ คลิฟฟ์ เกมนี้ได้ขยายเป็นซีรีส์ตั้งแต่ออกวางจำหน่ายครั้งแรก ซึ่งปัจจุบันมี เคาน์เตอร์-สไตรก์: คอนดิชันซีโร, เคาน์เตอร์-สไตรก์: ซอร์ส, เคาน์เตอร์-สไตรก์: โกลบัลออฟเฟนซิฟ และ เคาน์เตอร์-สไตรก์ 2 ผู้เล่นแบ่งเป็นทีมต่อต้านผู้ก่อการร้ายต่อทีมผู้ก่อการร้ายในการเล่นเป็นรอบ ๆ ไป แต่ละรอบชนะโดยสำเร็จภารกิจของด่านหรือกำจัดกำลังฝ่ายตรงข้าม

เกมดังกล่าวเป็นการดัดแปลงฮาล์ฟ-ไลฟ์ที่มีผู้เล่นมากที่สุดในแง่จำนวนผู้เล่น ตามข้อมูลของเกมสปายใน พ.ศ. 2551[1] จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 แฟรนไชส์เคาน์เตอร์-สไตรก์ขายได้กว่า 25 ล้านหน่วย[2]

รูปแบบการเล่น

[แก้]

เคาน์เตอร์-สไตรก์ เป็นวิดีโอเกมยิงทางยุทธวิธีมุมมองบุคคลที่หนึ่งแบบเล่นหลายคนที่เล่นเป็นทีม โดยผู้เล่นสามารถเข้าร่วมทีมผู้ก่อการร้าย (T) หรือทีมต่อต้านผู้ก่อการร้าย (CT) หากหนึ่งทีมมีจำนวนผู้เล่นมากกว่าอีกทีม การตั้งค่าของเซิร์ฟเวอร์อาจทำการปรับสมดุลโดยอัตโนมัติ ผู้เล่นแต่ละคนจะเริ่มต้นด้วยเงิน $800 กระสุนสองแม็กกาซีน มีด และปืนพก: ปืน Heckler & Koch USP สำหรับทีมต่อต้านผู้ก่อการร้ายหรือปืน Glock 18c สำหรับทีมผู้ก่อการร้าย ผู้เล่นจะได้รับเวลาโดยทั่วไป 15 วินาทีก่อนเริ่มรอบที่เรียกว่า freeze time เพื่อซื้ออุปกรณ์ แต่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ผู้เล่นสามารถซื้ออุปกรณ์เมื่ออยู่ในเขตซื้อของทีมตนเอง ตราบใดที่รอบเกมยังไม่ดำเนินมาเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งโดยทั่วไปคือ 90 วินาที ผู้เล่นที่รอดชีวิตจะเก็บอุปกรณ์ของตนไว้สำหรับเกมถัดไป ส่วนผู้ที่เสียชีวิตจะเริ่มใหม่ด้วยปืนพกและมีด

โหมดเกม

[แก้]

ในปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์ 3 แบบ ขึ้นอยู่กับแผนที่:

  • วางระเบิด: หนึ่งในผู้ก่อการร้ายจะมีระเบิดเมื่อเริ่มรอบ วัตถุประสงค์ของผู้ก่อการร้ายคือการวางระเบิดที่ไซต์ระเบิด เช่น บอมบ์ไซต์ A หรือบอมบ์ไซต์ B และทำให้ระเบิดทำงาน ทีมที่รอดชีวิตจะชนะหากยังไม่มีการวางระเบิดและสมาชิกทั้งหมดของทีมหนึ่งถูกกำจัด ผู้ก่อการร้ายจะชนะหากระเบิดถูกวางและระเบิดทำงาน แต่ทีมต่อต้านผู้ก่อการร้ายจะชนะหากสามารถกู้ระเบิดได้ (พวกเขาสามารถซื้อชุดกู้ระเบิดเพื่อลดเวลาการกู้ได้) ทีมต่อต้านผู้ก่อการร้ายจะแพ้หากเวลาของรอบหมดลง การตายจากการระเบิดของระเบิดจะไม่นับเพิ่มในจำนวนการเสียชีวิตของผู้เล่น แผนที่ที่มีวัตถุประสงค์นี้จะเริ่มต้นด้วยคำนำหน้า "de_" (เช่น de_dust2)
  • ช่วยตัวประกัน: มีตัวประกันสี่คนตั้งอยู่ใกล้กับฐานของผู้ก่อการร้ายในแผนที่ วัตถุประสงค์ของทีมต่อต้านผู้ก่อการร้ายคือการนำตัวประกันไปยังตำแหน่งในแผนที่ที่สามารถช่วยชีวิตได้ ทีมจะชนะหากสมาชิกของทีมนั้นถูกกำจัดทั้งหมด ทีมต่อต้านผู้ก่อการร้ายจะชนะและได้รับ $2400 สำหรับตัวประกันแต่ละคนที่รอดชีวิต โดยมีเงื่อนไขว่าจำนวนตัวประกันที่ถูกช่วยเหลือต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของตัวประกันทั้งหมด ผู้ก่อการร้ายจะชนะเมื่อรอบสิ้นสุดลง แผนที่ที่มีวัตถุประสงค์นี้จะเริ่มต้นด้วยคำนำหน้า "cs_" (เช่น cs_office)
  • ลอบสังหาร: ในวัตถุประสงค์นี้ หนึ่งในสมาชิกทีมต่อต้านผู้ก่อการร้ายจะกลายเป็น VIP ซึ่งมีเกราะ 200 หน่วยและปืนพก USP มาตรฐานของทีมต่อต้านผู้ก่อการร้ายพร้อมแม็กกาซีนเสริมอีกหนึ่งแม็กกาซีน VIP ไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บปืนที่ตกอยู่ วัตถุประสงค์ของ VIP คือการไปถึงจุดอพยพ (1 จุด ส่วนใหญ่) ซึ่งจะทำให้ทีมต่อต้านผู้ก่อการร้ายชนะ ผู้ก่อการร้ายจะชนะหาก VIP เสียชีวิต ทีมต่อต้านผู้ก่อการร้ายจะชนะหากผู้ก่อการร้ายถูกกำจัดทั้งหมด ขณะที่ผู้ก่อการร้ายจะชนะหากเวลาหมด VIP ไม่ควรคาดหวังว่าจะรอดชีวิตได้โดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากทีม เนื่องจากปืนพกมีจำนวนกระสุนจำกัด แต่การมีเกราะพิเศษและปืนพกทำให้ VIP มีการป้องกันเพียงพอ

ในอดีตมีวัตถุประสงค์ที่สี่ชื่อว่า หลบหนี ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทีมผู้ก่อการร้ายต้องหลบหนีไปยังจุดหลบหนีที่กำหนดหลังจากเริ่มต้นภารกิจในพื้นที่คุ้มครอง ก่อนที่พวกเขาจะหนีไป ทีมต่อต้านผู้ก่อการร้ายต้องสังหารพวกเขา ทีมผู้ก่อการร้ายจะชนะรอบหากครึ่งหนึ่งของทีมสามารถหลบหนีได้ หลังจากเล่นครบแปดรอบ ทั้งสองทีมจะสลับบทบาทกัน หากทีมใดทีมหนึ่งกำจัดอีกทีมได้ ทั้งสองทีมจะชนะในสถานการณ์นั้น

เกมมีอาวุธอยู่สามประเภท: อาวุธระยะประชิด (มีด), อาวุธรอง (ปืนพก) และอาวุธหลัก (ปืนไรเฟิล, ปืนลูกซอง, ปืนกลหนัก และปืนกลเบา) และยังมีหมวดหมู่แยกต่างหากสำหรับอุปกรณ์ ได้แก่ เกราะและชุดกู้ระเบิด และระเบิด

การพัฒนา

[แก้]

เคาน์เตอร์-สไตรก์ เริ่มต้นในฐานะม็อดของเอนจิน GoldSrc จากเกม ฮาล์ฟ-ไลฟ์ โดย มินห์ เลอ หนึ่งในผู้ร่วมสร้างม็อด ได้เริ่มภาคการศึกษาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัย และต้องการทำผลงานในด้านการพัฒนาเกมเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งาน ในช่วงเวลาที่เรียนมหาวิทยาลัย เลอได้ทำงานพัฒนาม็อดที่ใช้เอนจิน Quake และเมื่อเขามองหาโครงการใหม่ เลจึงเลือกทดลองสิ่งใหม่ ๆ และเลือกใช้ GoldSrc ในช่วงเริ่มต้น วาล์ว ยังไม่ได้ปล่อยชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ (SDK) สำหรับ GoldSrc แต่ยืนยันว่าจะมีการปล่อยออกมาภายในไม่กี่เดือน ทำให้ เลอสามารถทำงานออกแบบตัวละครได้ในระหว่างนั้น เมื่อ SDK ของ GoldSrc พร้อมใช้งานแล้ว เลอประเมินว่าเขาใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนครึ่งในการเขียนโปรแกรมและรวมโมเดลของเขาเพื่อเปิดตัว “Beta One” ของ เคาน์เตอร์-สไตรก์ ในการพัฒนา เลอได้รับความช่วยเหลือจาก เจสส์ คลิฟฟ์ ซึ่งจัดการเว็บไซต์และชุมชนของเกม และมีเครือข่ายที่ช่วยสร้างแผนที่บางส่วนสำหรับเกมนี้ ธีมของการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายได้แรงบันดาลใจจากความสนใจส่วนตัวของเลอ ในเรื่องปืนและทหาร รวมถึงจากเกมอย่าง Rainbow Six และ Spec Ops

เลอ และ คลิฟฟ์ ยังคงปล่อยเวอร์ชันเบต้าออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรับข้อเสนอแนะ ในช่วงเริ่มแรกของเบต้าที่ปล่อยออกมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 มีผู้เล่นเพียงไม่กี่คน แต่เมื่อถึง เบต้า เวอร์ชันที่ห้า ความสนใจในโครงการนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ความสนใจในเกมดึงดูดผู้เล่นจำนวนมากมายังเว็บไซต์ ซึ่งช่วยให้ เลอ และ คลิฟฟ์ สามารถทำรายได้จากการโฆษณาบนเว็บไซต์ได้ เมื่อถึง พ.ศ. 2543 ในช่วงปล่อย Beta 5 ทั้งสองได้รับข้อเสนอจาก วาล์ว คอร์ปอเรชั่น เพื่อซื้อสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของ เคาน์เตอร์-สไตรก์ และเสนองานให้ทั้งสองคนเพื่อพัฒนาเกมต่อไป ทั้งคู่ยอมรับข้อเสนอ และในเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 วาล์ว ได้ปล่อยเวอร์ชันที่ไม่ใช่ Beta ของเกมนี้เป็นครั้งแรก ขณะที่ คลิฟฟ์ทำงานกับ วาล์ว ต่อ เลอได้พัฒนา เคาน์เตอร์-สไตรก์ 2.0 เพิ่มเติม โดยใช้เอนจิน Source ของ วาล์ว แต่หลังจาก วาล์ว ตัดสินใจเลื่อนการพัฒนาภาคต่อออกไป ในที่สุดเขาก็ออกจากบริษัทเพื่อเริ่มสตูดิโอของตนเอง

การวางจำหน่าย

[แก้]

เคาน์เตอร์-สไตรก์ วางจำหน่ายโดย Sierra Studios ซึ่งถูกบรรจุรวมกับเกมอื่น ๆ ได้แก่ Team Fortress Classic, Opposing Force multiplayer, และม็อดต่าง ๆ เช่น Wanted, Half-Life: Absolute Redemption, และ Firearms

ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2542 เว็บไซต์ Planet Half-Life ได้เปิดส่วนเฉพาะสำหรับ เคาน์เตอร์-สไตรก์ ภายในเวลาเพียงสองสัปดาห์ เว็บไซต์ได้รับผู้เข้าชม 10,000 ครั้ง และในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เบต้าสาธารณะตัวแรกของ เคาน์เตอร์-สไตรก์ ได้ถูกเผยแพร่ออกมา ตามมาด้วยการปล่อยเบต้าหลายเวอร์ชันในภายหลัง

ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2543 วาล์ว ประกาศว่าทีมพัฒนา เคาน์เตอร์-สไตรก์ ได้ร่วมมือกับ วาล์ว แล้ว และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 วาล์วได้เริ่มทดสอบเวอร์ชันของ เคาน์เตอร์-สไตรก์ สำหรับ แมคโอเอสเท็น และ ลินุกซ์ โดยการอัปเดตนี้ถูกปล่อยให้กับผู้เล้นทุกคนในเดือนเมษายน พ.ศ. 2556

ในพ.ศ. 2566 มีการปล่อยเวอร์ชันเบราว์เซอร์ที่ไม่เป็นทางการของ เคาน์เตอร์-สไตรก์ บนเว็บไซต์รัสเซียแห่งหนึ่ง

การแข่งขัน

[แก้]

เคาน์เตอร์-สไตรก์ มีการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกจัดขึ้นพ.ศ. 2544 ที่ Cyberathlete Professional League Winter Championship ภาคต่อแรกอย่างเป็นทางการคือ เคาน์เตอร์-สไตรก์: ซอร์ส ซึ่งวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2004 ตัวเกมถูกวิจารณ์จากกลุ่มผู้เล่นเชิงแข่งขันที่มองว่าเพดานทักษะของเกมนี้ต่ำกว่า เคาน์เตอร์-สไตรก์ 1.6 อย่างมาก ทำให้เกิดการแบ่งแยกในกลุ่มผู้เล่นว่าควรเล่นเกมใดในการแข่งขัน

ภาคต่อ

[แก้]

ความสำเร็จของ เคาน์เตอร์-สไตรก์ ภาคแรก ทำให้ วาล์ว พัฒนาภาคต่อหลายภาค เคาน์เตอร์-สไตรก์: คอนดิชันซีโร ถูกวางจำหน่ายพ.ศ. 2547 เคาน์เตอร์-สไตรก์: ซอร์ส ซึ่งเป็นการนำ เคาน์เตอร์-สไตรก์ ภาคแรกมาสร้างใหม่โดยใช้เอนจิน Source ของ วาล์ว ถูกวางจำหน่ายพ.ศ. 2547 หลังจากการวางจำหน่ายของ เคาน์เตอร์-สไตรก์: คอนดิชันซีโร แปดเดือน ภาคต่อถัดไปในซีรีส์ที่พัฒนาโดย Valve คือ เคาน์เตอร์-สไตรก์: โกลบัลออฟเฟนซิฟ วางจำหน่ายพ.ศ. 2556 สำหรับ ไมโครซอฟท์ วินโดวส์, แมคโอเอสเท็น, ลินุกซ์, เพลย์สเตชัน 3 และ เอกซ์บอกซ์ 360

เกมนี้ยังมีภาคแยกหลายภาคสำหรับตลาดเกมในเอเชีย ภาคแรกคือ เคาน์เตอร์-สไตรก์ นีโอ ซึ่งเป็นเกมอาร์เคดพัฒนาโดย Namco และวางจำหน่ายในญี่ปุ่นปี พ.ศ. 2547 ในปี พ.ศ. 2551 Nexon Corporation ได้เปิดตัว เคาน์เตอร์-สไตรก์ ออนไลน์ เกมเล่นฟรีที่สร้างรายได้ผ่านระบบไมโครทรานส์แอ็กชัน เคาน์เตอร์-สไตรก์ ออนไลน์ มีภาคต่อคือ เคาน์เตอร์-สไตรก์ ออนไลน์ 2 ในปี พ.ศ. 2557 และในปี พ.ศ. 2558 Nexon ได้ปล่อย เคาน์เตอร์-สไตรก์ เน็กซอน: ซอมบี้ ทั่วโลกผ่าน สตีม

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Top Mods For Half Life By Players". GameSpy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-02. สืบค้นเมื่อ 2008-06-12.
  2. Eddie Makuch (12 August 2011). "Counter-Strike: Global Offensive firing up early 2012". GameSpot. CBS Interactive Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-09. สืบค้นเมื่อ 13 August 2011.