ห้องราฟาเอล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
“อาดัมและอีฟ” จิตรกรรมฝาผนังบนเพดานใน “ห้องเซนยาทูรา” แม้ว่างานส่วนใหญ่ในห้องราฟาเอลจะเชื่อกันว่าเป็นงานเขียนของผู้ช่วยของราฟาเอลแต่เชื่อกันว่าภาพนี้เขียนโดยราฟาเอลเอง
“เทพีแห่งความยุติธรรม”จิตรกรรมฝาผนังบนเพดานใน “ห้องเซนยาทูรา”

ห้องราฟาเอล (ภาษาอังกฤษ: Raphael Rooms หรือ Stanze di Raffaello) เป็นห้องชุดสี่ห้องภายในห้องชุดที่ประทับของพระสันตะปาปาภายในวังพระสันตะปาปาในนครรัฐวาติกัน เป็นห้องชุดที่มีชื่อเสียงจากจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนโดยราฟาเอลและผู้ช่วย จิตรกรรมฝาผนังในห้องราฟาเอลและในชาเปลซิสตินโดยไมเคิล แอนเจโลถือกันว่าเป็นงานชิ้นเอกของศิลปะเรอเนซองส์ในกรุงโรม

“ห้อง” (Stanze) ที่ใช้เรียกเดิมตั้งใจจะเป็นห้องที่ประทับของสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 พระองค์ทรงจ้างราฟาเอลผู้ขณะนั้นยังเป็นจิตรกรที่ยังหนุ่มจากเออร์บิโนและผู้ช่วยระหว่างปี ค.ศ. 1508 - ค.ศ. 1509 ให้ตกแต่งภายในห้องชุดใหม่ทั้งหมด ซึ่งอาจจะทรงประสงค์ที่จะทำให้ดีกว่าพระสันตะปาปาองค์ก่อนสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ผู้ทรงเป็นปรปักษ์ เพราะห้องเหล่านี้อยู่เหนือห้องบอร์เจีย (Borgia Apartment) ของพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์โดยตรงพอดี ห้องชุดราฟาเอลอยู่บนชั้นสามที่มีทิวทัศน์ทางด้านใต้ของลานเบลเวเดียร์ (Cortile del Belvedere)

ที่ตั้งของห้องสี่ห้องตั้งจากตะวันออกไปตะวันตกซึ่งทำให้การชมภาพจะไม่ต่อเนื่องตามหัวเรื่องที่เขียนไว้ ห้องชุดสี่ชุดได้แก่

  • “ห้องคอนแสตนติน” (Sala di Costantino)
  • “ห้องเฮลิโอโดรัส” (Stanza di Eliodoro)
  • “ห้องเซนยาทูรา” (Stanza della Segnatura )
  • “ห้องเพลิงใหม้ในเมือง” (Stanza dell'incendio del Borgo)

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาจูเลียสในปี ค.ศ. 1513 หลังจากที่ตกแต่งห้องสองห้องเสร็จแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 ก็ทรงดำเนินโครงการต่อ และหลังจากการเสียชีวิตของราฟาเอลในปี ค.ศ. 1520 จานฟรานเชสโค เพ็นนิ, จุยลิโอ โรมาโน และราฟาเอลลิโน เดล โคลเลผู้ช่วยของราฟาเอลก็เขียนภาพในห้อง “ห้องคอนแสตนติน” ต่อจนเสร็จ


แผนผัง[แก้]

แผนผังของงานมีดังนี้:

มุมมองโดยรวม (I) มุมมองโดยรวม (II) ผนังทิศตะวันออก ผนังทิศใต้ ผนังทิศตะวันตก ผนังทิศเหนือ เพดาน ชื่อและฉาก (จากซ้ายไปขวา)
ห้องเซนยาทูรา: 1. สำนักแห่งเอเธนส์, 2. คุณธรรมสามอย่าง, 3. ปุจฉาวิสัชนาเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์, 4. ภูเขาพาร์นาสสัส และ 5. เพดาน.
ห้องเฮลิโอโดรัส: 1. การขับเฮลิโอโดรัสจากวัด, 2. พิธีมิสซาที่บอลเซนา, 3. การพบปะระหว่างพระสันตะปาปาเลโอกับอัตติลา, 4. การปลดปล่อยนักบุญเปโตร และ 5. เพดาน.
ห้องเพลิงใหม้ในเมือง: 1. ยุทธการออสเตีย, 2. เพลิงไหม้ในเมือง, 3. พิธีราชาภิเษกของชาร์เลอมาญ, 4. คำสัตย์ปฏิญาณของพระสันตะปาปาลีโอที่สาม และ 5. เพดาน.
ห้องคอนแสตนติน: 1. ทิพยทัศน์ของกางเขน, 2. ยุทธการสะพานมิลเวียน, 3. จักรพรรดิคอนแสตนตินรับศีลจุ่ม, 4. จักรพรรดิคอนแสตนตินอุทิศดินแดน และ 5. เพดาน.

ห้องคอนแสตนติน[แก้]

ห้องที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสี่ห้องก็คือ “ห้องคอนแสตนติน” ภาพในห้องนี้มิได้เริ่มเขียนจนในสมัยพระสันตะปาปาจูเลียสและหลังจากราฟาเอลเสียชีวิตไปแล้ว เป็นห้องที่อุทิศให้แก่ชัยชนะของคริสต์ศาสนจักรต่อผู้นอกศาสนา จิตรกรรมฝาผนังแสดงความขัดแย้งของจักรพรรดิคอนแสตนติน เป็นงานที่เขียนโดยจานฟรานเชสโค เพ็นนิ, จุยลิโอ โรมาโน และราฟาเอลลิโน เดล โคลเล แต่เพราะมิได้เป็นงานที่เขียนโดยราฟาเอลเองจึงทำให้ไม่มีชื่อเสียงเท่าเทียมกับห้องอื่นๆ ในชุดที่ราฟาเอลลงมือเขียนเอง เพื่อแสดงความชื่นชมต่อผู้อุปถัมภ์ในห้องนี้จิตรกรจึงแทรกภาพของพระสันตะปาปาในขณะที่เขียนตั้งแต่สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7ไปจนถึงสมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 1 ภายในภาพ

“ทิพยทัศน์ของกางเขน”[แก้]

ดูบทความหลักที่ ทิพยทัศน์ของกางเขน

“ทิพยทัศน์ของกางเขน”

“ทิพยทัศน์ของกางเขน” เป็นภาพที่แสดงตำนานการปรากฏของกางเขนต่อพระพักตร์ของจักรพรรดิคอนแสตนตินเมื่อทรงเดินทัพไปเผชิญหน้ากับแม็กเซ็นเทียส บนท้องฟ้ามีคำจารึกติดกับกางเขนเป็นภาษากรีกโบราณว่า “Εν τούτω νίκα” หรือ “สัญลักษณ์นี้คือชัยชนะ”

“ยุทธการสะพานมิลเวียน”[แก้]

ดูบทความหลักที่ ยุทธการสะพานมิลเวียน

“ยุทธการสะพานมิลเวียน” เป็นภาพที่แสดงยุทธการสะพานมิลเวียน ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 312 ระหว่างจักรพรรดิคอนแสตนตินและแม็กเซ็นเทียส หลังจากที่จักรพรรดิคอนแสตนตินทรงได้รับทิพยทัศน์

“จักรพรรดิคอนแสตนตินอุทิศดินแดน”[แก้]

ดูบทความหลักที่ จักรพรรดิคอนแสตนตินอุทิศดินแดน

“จักรพรรดิคอนแสตนตินอุทิศดินแดน”

“จักรพรรดิคอนแสตนตินอุทิศดินแดน” เป็นภาพที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเอกสารปลอมที่มอบอำนาจการปกครองแก่พระสันตะปาปา

“จักรพรรดิคอนแสตนตินรับศีลจุ่ม”[แก้]

ดูบทความหลักที่ จักรพรรดิคอนแสตนตินรับศีลจุ่ม

“จักรพรรดิคอนแสตนตินรับศีลจุ่ม”

ภาพสุดท้าย “จักรพรรดิคอนแสตนตินรับศีลจุ่ม” น่าจะวาดโดยจานฟรานเชสโค เพ็นนิ แสดงให้เห็นการรับศีลจุมของจักรพรรดิคอนแสตนตินจากสมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 1 ก่อนที่จะเสด็จสวรรคต

ห้องเฮลิโอโดรัส[แก้]

ห้องถัดไปทางตะวันตกคือห้อง “ห้องเฮลิโอโดรัส” ซึ่งตั้งชื่อตามภาพเขียนในห้อง หัวใจของภาพในห้องนี้คือการปกป้องคริสต์ศาสนจักรโดยพระเยซู ภาพเขียนทั้งสี่ภาพในห้องนี้มีสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ปรากฏในทุกภาพทั้งในฐานะผู้สังเกตการณ์หรือผู้ร่วมพิธี

“การขับเฮลิโอโดรัสจากวัด”[แก้]

ดูบทความหลักที่ การขับเฮลิโอโดรัสจากวัด

“การขับเฮลิโอโดรัสจากวัด” โดยราฟาเอล

“การขับเฮลิโอโดรัสจากวัด” เป็นภาพที่ราฟาเอลแสดงฉากจาก 2 มัคคาบี (3:21-28) จากพันธสัญญาเดิม เมื่อ พระเจ้าเซลิวคัสที่ 4 ฟิโลพาทอร์แห่งซีเรีย (Seleucus IV Philopator) มีพระราชโองการให้เฮลิโอโดรัส (Heliodorus) ให้ยึดทรัพย์สมบัติของวัดแห่งเยรุซาเล็ม แต่เฮลิโอโดรัสถูกขับออกจากวัดโดยพระเจ้าที่ทรงส่งนายอาชา

“การปลดปล่อยนักบุญปีเตอร์”[แก้]

ดูบทความหลักที่ การปลดปล่อยนักบุญปีเตอร์

“การปลดปล่อยนักบุญปีเตอร์” โดยราฟาเอล

“การปลดปล่อยนักบุญปีเตอร์” แบ่งเป็นสามตอนแสดงการปลดปล่อยของนักบุญปีเตอร์จากคุกโดยเทวดาที่บรรยายในในกิจการ 12

“การพบปะระหว่างพระสันตะปาปาเลโอกับอัตติลา”[แก้]

ดูบทความหลักที่ การพบปะระหว่างพระสันตะปาปาเลโอกับอัตติลา

“การพบปะระหว่างพระสันตะปาปาเลโอกับอัตติลา”

“การพบปะระหว่างพระสันตะปาปาเลโอกับอัตติลา” เป็นภาพที่แสดงการพบปะระหว่างพระสันตะปาปาเลโอที่ 1 และอัตติลา

“ปาฏิหาริย์ที่โบลเซนา”[แก้]

ดูบทความหลักที่ ปาฏิหาริย์ที่โบลเซนา

“ปาฏิหาริย์ที่โบลเซนา”

“ปาฏิหาริย์ที่โบลเซนา” เป็นภาพที่แสดงนักบวชจากโบฮีเมียผู้ประสพปาฏิหาริย์ในพิธีศีลมหาสนิทที่โบลเซนาหลังจากที่มีความกังขาในลัทธิความเชื่อในเรื่องการแปรร่างของพระเยซู

ห้องเซนยาทูรา[แก้]

“ห้องเซนยาทูรา” เป็นห้องแรกที่ตกแต่งโดยราฟาเอล เป็นห้องที่ใช้เป็นห้องสมุดของพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ซึ่งเดิมเป็นห้องที่ประชุมทางศาลของพระสันตะปาปา จิตรกรนำความหมายของห้องทางคริสต์ศานปรัชญาและความยุติธรรมในการศาลมาแปรเป็นภาพโดยใช้สัญลักษณ์ภาพกลม (Tondo) เหนือผนังตรงกลาง หัวใจของภาพเขียนในห้องนี้คือความมีสติปัญญาในทางโลกและทางธรรมและความสัมพันธ์อันดีของความคิดเรอเนสซองซ์ในด้านมนุษยนิยมระหว่างคริสต์ศาสนจักรและปรัชญากรีก ความสำคัญของห้องอยู่ที่การใช้เป็นที่ลงนามเอกสารสำคัญต่างๆ ของพระสันตปาปา

“ปุจฉาวิสัชนาเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์”[แก้]

ดูบทความหลักที่ ปุจฉาวิสัชนาเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์

“ปุจฉาวิสัชนาเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์” โดยราฟาเอล

“ปุจฉาวิสัชนาเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์” เป็นภาพแรกที่ราฟาเอลเขียนระหว่างปี ค.ศ. 1509 ถึงปี ค.ศ. 1510 ซึ่งเป็นภาพที่ควรจะเป็นชื่อ “การชื่นชมของศีลศักดิ์สิทธิ์” ในภาพนี้ราฟาเอลสร้างภาพพจน์ของคริสต์ศาสนจักร์ที่รวมทั้งสวรรค์และโลกมนุษย์ในภาพเดียวกัน

“สำนักแห่งเอเธนส์”[แก้]

ดูบทความหลักที่ สำนักแห่งเอเธนส์

“สำนักแห่งเอเธนส์” โดยราฟาเอล

ในปลายปี ค.ศ. 1509 ราฟาเอลก็เริ่มเขียนภาพบนผนังตรงข้ามกับ ปุจฉาวิสัชนาเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ ภาพที่สองชื่อ “สำนักแห่งเอเธนส์” เป็นภาพที่แสดงสัจจะที่ได้จากการหาเหตุผลซึ่งถือกันว่าเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญที่สุดของราฟาเอล

“ภูเขาพาร์นาสสัส”[แก้]

ดูบทความหลักที่ ภูเขาพาร์นาสสัส

“ภูเขาพาร์นาสสัส” โดยราฟาเอล

ราฟาเอลเริ่มเขียนภาพนี้เมื่อต้นปี ค.ศ. 1510 เป็นภาพภูเขาพาร์นาสสัสที่เป็นที่พำนักของเทพอพอลโลผู้ล้อมรอบด้วยมิวส์และกวีจากทั้งสมัยโบราณและสมัยเดียวกับราฟาเอล

“คุณธรรมสามอย่าง”[แก้]

ดูบทความหลักที่ คุณธรรมสามอย่าง

“คุณธรรมสามอย่าง” โดยราฟาเอล

ฉากสองฉากบนผนังด้านที่สี่เขียนโดยเวิร์คช็อพของราฟาเอล บนครึ่งวงกลมเหนือภาพเป็น “คุณธรรมสามอย่าง” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1511 ที่เป็นอุปมานิทัศน์แทน “ความอดทน” “ความรอบคอบ” และ “ความพอประมาณ”

ห้องเพลิงไหม้ในเมือง[แก้]

“ห้องเพลิงไหม้ในเมือง” ตั้งชื่อตามภาพ “เพลิงไหม้ในเมือง” ที่เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงภาพสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 4ทำสัญญาณให้พระเพลิงที่เผาผลาญบริเวณหนึ่งของกรุงโรมไม่ไกลจากวาติกันนักให้หยุด ห้องนี้เตรียมไว้สำหรับเป็นห้องดนตรีของพระสันตะปาปาองค์ต่อมาจากจูเลียสคือสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 จิตรกรรมฝาผนังเป็นเหตุการณ์ในชีวิตของสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 3 และสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 4 แม้ภาพ “เพลิงไหม้ในเมือง” จะร่างโดยราฟาเอลแต่ผู้เขียนคือผู้ช่วยที่เขียนหลังจากราฟาเอลเสียชีวิตไปแล้ว

“คำสัตย์ปฏิญาณของพระสันตะปาปาลีโอที่สาม”[แก้]

ดูบทความหลักที่ คำสัตย์ปฏิญาณของพระสันตะปาปาลีโอที่สาม

“คำสัตย์ปฏิญาณของพระสันตะปาปาลีโอที่สาม” เป็นภาพที่แสดงการตั้งคำสัตย์ปฏิญาณโดยพระสันตะปาปาลีโอที่สามหลังจากที่ทรงถูกกล่าวหา

“พิธีราชาภิเษกของชาร์เลอมาญ”[แก้]

ดูบทความหลักที่ พิธีราชาภิเษกของชาร์เลอมาญ

“พิธีราชาภิเษกของชาร์เลอมาญ” โดยราฟาเอล

“พิธีราชาภิเษกของชาร์เลอมาญ” เป็นภาพที่แสดงพิธีราชาภิเษกของ พระเจ้าชาร์เลอมาญเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อค่ำวันคริสมัสต์ในปี ค.ศ. 800 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 3

“เพลิงไหม้ในเมือง”[แก้]

ดูบทความหลักที่ เพลิงไหม้ในเมือง

“เพลิงไหม้ในเมือง” โดยราฟาเอล

“เพลิงไหม้ในเมือง” เป็นภาพที่แสดงเหตุการณ์ที่บันทึกใน“หนังสือพระสันตะปาปา” (Liber Pontificalis) ถึงเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในแขวงหนึ่ง (Borgo) ของกรุงโรมในปี ค.ศ. 847

“ยุทธการออสเตีย”[แก้]

ดูบทความหลักที่ ยุทธการออสเตีย

“ยุทธการออสเตีย” โดยราฟาเอล

“ยุทธการออสเตีย” เป็นภาพที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชัยชนะของยุทธการออสเตีย (Battle of Ostia) ของสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 4ต่อซาระเซ็นในซิซิลีและทางใต้ของอิตาลีในปี ค.ศ. 849

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]