ข้ามไปเนื้อหา

หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หลวงมัศยจิตรการ เป็นอดีตนักวิชาการประมง และนักวาดภาพปลาและสัตว์น้ำเพื่อการศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในอดีต หลวงมัศยจิตรการ มีชื่อจริงว่า ประสพ ตีระนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439 ที่จังหวัดจันทบุรี เป็นบุตรของหลวงวิจิตรเจียรไน และนางเปี๊ยก เมื่อสำเร็จการศึกษาเบื้องต้นที่จังหวัดจันทบุรี บ้านเกิดแล้ว ได้เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

โดยสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนราชวิทยาลัย, โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนสวนกุหลาบ จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ได้เดินไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อศึกษาต่อด้านจิตรกรรม

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย ด้วยการเป็นผู้ช่วยของ ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ นักวิชาการประมงชาวอเมริกันที่รับราชการอยู่ยังประเทศไทย สังกัดกรมเพาะปลูก กระทรวงเกษตราธิการ จากนั้นได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปสูงขึ้น ๆ จนกลายเป็นนักวิชาการประมงอย่างเต็มตัว เป็นหัวหน้าแผนกบำรุงสมบัติในน้ำ สังกัดกรมประมง และหัวหน้าแผนกบำรุงทั่วไป และตำแหน่งสุดท้ายเป็นเจ้าพนักงานประมงประจำกรม ก่อนจะลาออกจากราชการเพื่อประกอบกิจการส่วนตัวในปี พ.ศ. 2489

ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงมัศยจิตรการ" ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญดุษฎีมาลาและเข็มศิลปวิทยา รวมทั้งได้รับเลือกเป็นภาคีสมาชิกของราชบัณฑิตยสถานทางจิตรกรรรม สำนักศิลปากรด้วย

หลวงมัศยจิตรการ ถือว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่เป็นผู้บุกเบิกวิชาการและองค์ความรู้ทางด้านการประมงเป็นผู้แรก ๆ ในประเทศไทย เช่นเดียวกับ ฮิวจ์ แมคคอร์มิค หรือ ศาสตราจารย์โชติ สุวัตถิ มีผลงานที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในการวาดภาพและระบายสีปลาและสัตว์น้ำเพื่อการศึกษาทางวิชาการจนมีชื่อเสียงเลื่องลือ ได้รับการวางตัวจากกระทรวงเกษตราธิการให้เป็นผู้เดินทางไปดูราชการและกิจการการประมงประเภทต่าง ๆ ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และฟิลิปปินส์

หลวงมัศยจิตรการ ถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ. 2508 โดยมีพิธีพระราชเพลิงศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2508[1]

นามของหลวงมัศยจิตรการ ได้รับการตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาค้อมัศยะ (Nemacheilus masyae) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กในวงศ์ปลาค้อ (Balitoridae) [2] [3] และปลาตะเพียนมัศยะ (Puntius masyai) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) โดย ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ[4]

ในปี พ.ศ. 2554 กรมประมงได้ตีพิมพ์และจัดจำหน่ายสมุดภาพ "มัศยจิตรการ" อันเป็นหนังสือรวบรวมภาพวาดของหลวงมัศยจิตรการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 เพื่อเป็นการระลึกถึงอีกด้วย[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อนุสรณ์ งานพระราชเพลิงศพ หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์) , ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ๑๗ เมษายน ๒๕๐๘
  2. "Nature Notes – บูรพากับปลาค้อทั้งแปด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-24. สืบค้นเมื่อ 2013-03-10.
  3. Nemacheilus masyae จาก IUCN (อังกฤษ)
  4. Kottelat, M. (2013): The Fishes of the Inland Waters of Southeast Asia: A Catalogue and Core Bibliography of the Fishes Known to Occur in Freshwaters, Mangroves and Estuaries. เก็บถาวร 2013-12-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Raffles Bulletin of Zoology, 2013, Supplement No. 27: 1–663.
  5. มัศยจิตรการ: Masys Chitarkarn[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]