หม่อมน้อย ศิริวงศ์ ณ อยุธยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

น้อย ศิริวงศ์ ณ อยุธยา
คู่สมรสสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
บุตรสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
บิดามารดา
  • บุศย์ (บิดา)
  • แจ่ม (มารดา)
ญาติพระยารัตนจักร (ทวด)

หม่อมน้อย ศิริวงศ์ ณ อยุธยา หรือ พระชนนีน้อย[1][2] เป็นหม่อมในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ และเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี[1][2][3] เป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชปัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

หม่อมน้อยท่านนี้เป็นหม่อมคนละท่านกับหม่อมน้อย ชุมสาย ณ อยุธยา บุตรีของพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี)[4] กับท่านผู้หญิงอิน[5] ที่เป็นอดีตหม่อมในกรมหมื่นมาตยพิทักษ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นหม่อมในกรมขุนสีหราชวิกรม

ประวัติ[แก้]

หม่อมน้อย ศิริวงศ์ ณ อยุธยา เกิดในครอบครัวชาวสวนย่านบางเขน ญาติฝั่งมารดาเป็นอำมาตย์เชื้อสายมอญ[1] เป็นธิดาคนเล็กทั้งหมดสามคนของนายบุศย์ ชาวบางเขน[6] กับมารดาชื่อแจ่ม ซึ่งเป็นบุตรีของม่วง สุรคุปต์ ธิดาพระยารัตนจักร (หงส์ทอง สุรคุปต์)[1][2] หม่อมน้อยมีพี่สาวสองคน คือ อิ่ม และเอม[7]

ครอบครัวของหม่อมน้อยมีความสนิทสนมกับเจ้านาย เช่น สามีคนที่สองของเอม (พี่สาวของหม่อมน้อย) ที่ชื่อแตง เป็นจางวางในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์[7] ส่วนญาติฝั่งมารดาที่ถวายตัวรับราชการฝ่ายใน ได้แก่ เจ้าจอมมารดาป้อม ในรัชกาลที่ 1, เจ้าจอมเพ็ง ในรัชกาลที่ 2 และเจ้าจอมเอม ในรัชกาลที่ 2 เป็นพี่สาวของม่วง และมีศักดิ์เป็นยายของหม่อมน้อย[8] ส่วนพระยารัตนจักร (หงส์ทอง สุรคุปต์) ทวดของหม่อมน้อย รับราชการเป็นเจ้ากรมอาทมาฎ (หมู่ทหารสืบข่าวข้าศึก) ในกองมอญอาสาหกเหล่า[2]

หม่อมน้อยเข้ารับราชการเป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาทรัพย์[9] ประสูติกาลพระธิดาเพียงพระองค์เดียวคือหม่อมเจ้ารำเพย ศิริวงศ์ ที่ต่อมารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรส-ธิดาสี่พระองค์ หนึ่งในนั้นคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[10][11]

หม่อมน้อยถึงแก่อนิจกรรมเมื่อใดไม่ปรากฏ ทราบแต่เพียงว่าหม่อมเจ้ารำเพย พระธิดา ทรงกำพร้าพระชนกและชนนีมาแต่ทรงพระเยาว์ก่อนได้รับการอุปการะจากสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ซึ่งเป็นพระปิตุจฉา[2]

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บำรุงสาสน์. 2530, หน้า 41
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 เอนก นาวิกมูล. เจ้านาย ขุนนาง. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ. 2555, หน้า 31-32
  3. "MonSudies.com - พระยารัตนจักร (หงส์ทอง)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-14. สืบค้นเมื่อ 2012-06-27.
  4. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ : เจริญกิจ, 2535, หน้า 175
  5. เรือนไทย - ประวัติพระยาราชมนตรี (ภู่)
  6. เจ้าจอมมารดาวาดในรัชกาลที่ ๕ “หนึ่งในผู้ดีแปดสายแรก” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
  7. 7.0 7.1 ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฉบับสมบูรณ์ (ภาคจบ). พิมพ์ครั้งที่ 2. นครหลวงฯ : รุ่งวัฒนา. 2515, หน้า 288-289
  8. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฉบับสมบูรณ์ (ภาคจบ). พิมพ์ครั้งที่ 2. นครหลวงฯ:รุ่งวัฒนา. 2515, หน้า 286-287
  9. กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ "วังหลวง". กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2549. 304 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-941-205-2
  10. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, พ.ศ. 2547. หน้า หน้าที่. ISBN 974-272-911-5
  11. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-222-648-2