ข้ามไปเนื้อหา

สิทธิแรงงาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สิทธิแรงงาน (Labour Rights) หมายถึงสิทธิของผู้ใช้แรงงานในความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ทั้งสิทธิทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชน เช่น อัตราค่าจ้าง จำนวนชั่วโมงการทำงาน สภาพแวดล้อมและความปลอดภัยในที่ทำงาน สิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นต้น สิทธิแรงงานมักจะได้รับการรับรองโดยการออกฎหมายว่าด้วยสิทธิแรงงาน การจำกัดชั่วโมงการทำงาน และการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

อรรถาธิบาย

[แก้]

การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิแรงงานมีพัฒนาการพร้อมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและระบบทุนนิยม โดยเริ่มจากการต่อต้านการล้อมรั้วที่ดินในอังกฤษ อังกฤษในขณะนั้นอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำการเกษตรไปเป็นพื้นที่เลี้ยงแกะซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญ ทุ่งหญ้าส่วนกลางซึ่งประชาชนมีเสรีในการใช้งานถูกล้อมให้ตกอยู่ใต้กรรมสิทธิ์เจ้าของที่ดินเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านซึ่งเคยใช้พื้นที่เหล่านี้ในการทำการเกษตรและเลี้ยงปศุสัตว์ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้เพราะพื้นที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เลี้ยงแกะเพื่อการส่งออกขนแกะ

สิทธิแรงงานได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้นในช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเปลี่ยนแรงงานทางการเกษตรเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการอุตสาหกรรม เช่น เหมืองแร่ต่างๆ โดยมีการออกกฎหมายแรงงานในอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1833 ซึ่งมีเนื้อหาในการห้ามการใช้แรงงานเด็ก กำหนดค่าแรงขั้นต่ำและจำกัดชั่วโมงการทำงานต่อวัน โดย ห้ามการใช้แรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 9 ปี เด็กที่มีอายุ 9-13 ปีทำงานได้ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง และเด็กอายุ14-18 ปีทำงานได้ไม่เกินวันละ 12 ชั่วโมง กระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรมยังได้เพิ่มแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิแรงงานเข้าไปในสิทธิมนุษยชน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่าแรงงานก็เป็นมนุษย์ ควรได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์ มิใช่ทาสในระบบแรงงานทาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นครั้งแรก รวมถึงกระแสลัทธิสังคมนิยมของคาร์ล มาร์กซ์ ได้วิพากษ์ระบบทุนนิยมซึ่งกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมว่าไม่เป็นธรรมอย่างร้ายกาจ

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation – ILO – also know as International Labour Office) ถูกจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1919 ภายใต้สันนิบาตชาติ เมื่อมีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นแทนที่สันนิบาตชาติในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง องค์การแรงงานระหว่างประเทศก็เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ และตัวสหประชาชาติเองได้กล่าวถึงสิทธิแรงงานไว้ในคำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไว้ในข้อที่ 23 และ 24 ดังนี้ (สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ)[1]

ข้อ 23

  1. ทุกคนมีสิทธิในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขอันยุติธรรม และเป็นประโยชน์แห่งการงาน และการคุ้มครองแห่งการว่างงาน
  2. ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างเท่าเทียมกันสำหรับงานเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ
  3. ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรมและเป็นประโยชน์ ที่จะให้ประกันแก่ตนเองและครอบครัวแห่งตน ซึ่งความเป็นอยู่อันคู่ควรแก่เกียรติศักดิ์ของมนุษย์ และถ้าจำเป็นก็จะต้องได้รับวิถีทางคุ้มครองทางสังคมอื่นเพิ่มเติมด้วย
  4. ทุกคนมีสิทธิที่จะจัดตั้ง และที่จะเข้าร่วมสหพันธ์กรรมกรเพื่อความคุ้มครองแห่งประโยชน์ของตน

ข้อ 24 ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและเวลาว่าง รวมทั้งจำกัดเวลาการทำงานตามสมควร และวันหยุดงานเป็นครั้งคราวโดยได้รับสินจ้าง

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย

[แก้]

นโยบายด้านการคุ้มครองและดูแลแรงงานของไทยเริ่มต้นในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยการจัดการให้ราษฎรมีงานทำนั้นเป็นหนึ่งในหลักหกประการที่ประกาศโดยคณะราษฎรอยู่แล้ว หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่กี่เดือน ในเดือนสิงหาคมได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักจัดหางาน พ.ศ. 2475 ให้เอกชนเปิดสำนักจัดหางานและเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนได้ ต่อมาในเดือนตุลาคมจึงมีการออกพระราชบัญญัติสำนักจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ. 2475 โดยรัฐเปิดสำนักงานจัดหางานให้ประชาชนเข้าใช้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม)[2]

กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ได้รับการโอนไปจัดตั้งเป็นกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมในปี พ.ศ. 2536 และเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงแรงงานในปี พ.ศ. 2545

นโยบายขององค์การการค้าระหว่างประเทศซึ่งรวมมาตรฐานสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนเข้าไปในระเบียบการค้าและตลาดสำคัญของไทย อย่างสหภาพยุโรปที่หันมากีดกันการค้าด้วยนโยบายเกี่ยวกับแรงงานสิทธิมนุษยชนแทนกำแพงภาษีทำให้ระบบกฎหมายแรงงานของไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานสิทธิแรงงานโลก หรืออีกนัยหนึ่งคือ มาตรฐานแรงงานของลูกค้า

สำหรับสิทธิแรงงานในปัจจุบันของไทย มีการออกกฎหมายเพื่อให้บริการจัดหางานและการชดเชยสำหรับผู้ว่างงาน การให้การคุ้มครองและสวัสดิการแรงงาน และการคุ้มครองในกรณีถูกเลิกจ้าง รวมถึงกฎหมายสำหรับแรงงานเด็ก แรงงานสตรี แรงงานคนพิการ การส่งเสริมและพัฒนาทักษะวิชาชีพประเภทต่างๆ เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสิทธิแรงงานนั้นเน้นไปที่การคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการแรงงาน โดยการคุ้มครองแรงงานนั้นประกอบไปด้วยการจำกัดชั่วโมงทำงานต่อวัน (ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมงหรือตามที่ตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสำหรับงานทั่วไป และไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับงานที่มีอันตราย) สิทธิในการหยุดพักระหว่างทำงาน (ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงหลังจากทำงานมาแล้ว 5 ชั่วโมง) วันหยุดประจำสัปดาห์ (ไม่น้อยกว่า 1 วัน) ตามเทศกาลประเพณี (ไม่น้อยกว่า 13 วันต่อปี) และวันหยุดพักผ่อนประจำปี การจำกัดชั่วโมงในการทำงานล่วงเวลา (ไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) การลาหยุดและลากิจประเภทต่างๆ การชดเชยในกรณีเลิกจ้าง การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ และการคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี ที่มีการคุ้มครองแรงงานเด็ก (ที่มีอายุระหว่าง 15 – 18 ปี) และสตรีว่าไม่สามารถกระทำงานประเภทใดได้บ้าง แม้ในมุมหนึ่งจะเป็นการมอบสวัสดิการพิเศษให้แก่แรงงานเหล่านี้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่าเป็นการกดทับทางเพศสภาวะของผู้ใช้แรงงาน เพราะเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าแรงงานสตรีนั้นแตกต่าง หรือ มีความไม่ทัดเทียมกับ “แรงงาน” เพศชาย ส่วนสวัสดิการแรงงานที่นายจ้างต้องจัดให้นั้น มีตั้งแต่การจัดการสถานที่ทำงาน การจัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาล และสวัสดิการเพื่อความเป็นอยู่ของลูกจ้าง เช่น จัดทำประกันสังคม สหกรณ์ออมทรัพย์ ระบบบำเหน็จบำนาญ โครงการฝึกอบรมวิชาชีพ การให้การศึกษา และจัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อสุขภาพ เป็นต้น (กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม)[3]

ปัญหาการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาท ต่อวัน ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น แม้จะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล และค่าเงินของประเทศไทยแล้ว ค่าแรงที่ 300 บาทต่อวัน แม้จะยังคงไม่เพียงพอต่อการทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่นโยบายดังกล่าวนี้กลับต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดานายจ้างที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง ที่ออกมาปฏิเสธการขึ้นค่าแรงว่าจะส่งผล และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลางจะต้องปิดกิจการลงไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่กลุ่มทุนรายใหญ่ หรือ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่เพียงแต่จะไม่ได้รับผลกระทบ กลับได้รับการลดหย่อนภาษีตามนโยบายของรัฐบาลเนื่องจากกลุ่มทุนใหญ่ จ่ายอัตราค่าจ้างแรงงานเกิน 300 บาทต่อวันอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะเมื่อคิดร่วมกับค่าทำงานล่วงเวลา

อ้างอิง

[แก้]
  1. สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.unhchr.ch/udhr/lang/eng.htm.
  2. กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.mol.go.th/anonymouse/laws เก็บถาวร 2015-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  3. กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.mol.go.th/anonymouse/laws เก็บถาวร 2015-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.