ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระสังฆราช วัดสวรรคเจดีย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระสังฆราช วัดสวรรคเจดีย์
สมเด็จพระสังฆราชกรุงศรีอยุธยา
ดำรงพระยศพ.ศ. 2309 - 2310
ก่อนหน้าสมเด็จพระสังฆราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ถัดไปสมเด็จพระสังฆราช (ดี) (สมัยกรุงธนบุรี)
สถิตวัดสวรรคเจดีย์
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2310

สมเด็จพระสังฆราช วัดสวรรคเจดีย์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา สถิต ณ วัดสวรรคเจดีย์

ประวัติ

[แก้]

ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 หน้า 146[1] กล่าวไว้ว่า

“ในกรุงเทพมหานครในเดือน ๘ นั้น สมเด็จพระสังฆราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นั้นอาพาธลงดับสูญ ทรงพระกรุณาให้แต่งศพใส่พระโกศไว้ จึงโปรดให้เลื่อนพระเทพมุนี วัดกุฎีดาว ซึ่งเข้ามาอยู่ ณ วัดสวรรคเจดีย์นั้นขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช อยู่ได้หกเจ็ดเดือนก็อาพาธดับสูญลงอีก โปรดให้ใส่พระโกศไว้เป็นสองพระโกศ ยังมิได้ปลงพระศพทั้งสองศพด้วยศึกยังติดพระนครอยู่”

สำหรับเหตุผลที่ทรงสถาปนาพระเทพมุนี วัดกุฎีดาว เป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น น่าจะเป็นเพราะพระเทพมุนีเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่เป็นที่เคารพนับถือของพระบรมวงศานุวงศ์ ที่สำคัญคือมีคุณูปการต่อกรุงศรีอยุธยาและมีอายุกาลมากที่สุดในหมู่พระราชาคณะ ดังความ [2]ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 หน้า 125-126 กล่าวไว้ว่า

“ในเพลาเย็นวันนั้น พระราชาคณะห้ารูป คือ พระธรรมโคดม วัดธรรมิกราชหนึ่ง พระธรรมเจดีย์ วัดสวนหลวงศพสวรรค์หนึ่ง พระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์หนึ่ง พระเทพมุนี วัดกุฎีดาวหนึ่ง พระเทพกระวี วัดรามาวาสหนึ่ง แต่พระเทพมุนีนั้นมีวัสสามากกว่าทั้งนั้น เข้ามาพร้อมกันอยู่ ณ ทิมสงฆ์ ครั้งเพลาประมาณ  ทุ่มเศษ จึงมีพระราชบัณฑูรให้มานิมนต์เข้าไป ณ พระตำหนักสวนกระต่าย ตรัสอาราธนาพระราชาคณะทั้งห้ารูป     มีพระเทพมุนีเป็นประธาน ให้ไปว่ากล่าวเล้าโลมเจ้าสามกรมให้มาสมัครสมานสโมสรสามัคคีรสด้วยกันตามพระราชโอวาทตรัสสั่งไว้ และพระราชาคณะทั้งห้าไปเจรจาถึงสองกลับ จนเพลาดึกสามยามเศษจะใกล้รุ่ง เจ้าสามกรมจึงมาเฝ้ากระทำสัตย์ถวายทั้งสามพระองค์”

นอกจากนี้ หนังสือโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 2 หน้า 434 กล่าวไว้ว่า[2]

“วัดสวรรคเจดีย์ต้องเป็นวัดในพระนคร เมื่อตรวจดูรายชื่อวัดที่ใกล้เคียงกันก็มี วัดสวนหลวง วัดสบสวรรค์หรือวันสวนหลวงสบสวรรค์ วัดสุวรรณาวาส และวัดสุวรรณเจดีย์ วัดสุดท้ายนี้ใกล้เคียงกันมากอยู่หลังวัดราชบูรณะ มีเจดีย์ทรงระฆังองค์ใหญ่ที่เป็นประธาน วัดอาจจะเป็นวัดนี้ก็ได้

ดังนั้น จึงสันนิฐานว่า วัดสุวรรณเจดีย์ที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา วาสุกรีนี้น่าจะเป็นวัดเดียวกันกับวัดสวรรคเจดีย์ ซึ่งเคยเป็นพระอารามอันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช และน่าจะเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา เพราะภายหลังพระเทพมุนี วัดกุฎีดาว มรณภาพราว 2-3 เดือนจึงเกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (พระเทพมุนี มรณภาพราวเดือน 2-3 ปีกุน พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ในวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310)

อ้างอิง

[แก้]
  1. กรมศิลปากร. (๒๕๕๑). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม ๒. กรุงเทพฯ: จี เอ เมริท.
  2. 2.0 2.1 กรมศิลปากร. (๒๕๔๘). พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. นครปฐม: นครปฐมการพิมพ์.
ก่อนหน้า สมเด็จพระสังฆราช วัดสวรรคเจดีย์ ถัดไป
สมเด็จพระสังฆราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
สมเด็จพระสังฆราชกรุงศรีอยุธยา
(พ.ศ. 2309 - 2310)
สมเด็จพระสังฆราช (ดี)
(สมัยกรุงธนบุรี)