วัดแก้วพิจิตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดแก้วพิจิตร
พระอภัยวงศ์ พระประธานในพระอุโบสถวัดแก้วพิจิตร
แผนที่
ที่ตั้งถนนแก้วพิจิตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี (ชนิดสามัญ)
นิกายธรรมยุต
พระพุทธรูปสำคัญพระอภัยทาน(พระอภัยวงศ์)
พระห้ามสมุทร
พระพุทธรัตนสุวรรณ
ความพิเศษพระอุโบสถศิลปะขอม จีน ไทย ยุโรป
เวลาทำการ07.00-18.00 น.
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดแก้วพิจิตร พระอารามหลวง ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง เขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรีห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 2 กิโลเมตร และตั้งอยู่บนถนนแก้วพิจิตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี

ประวัติ/สถาปัตยกรรม[แก้]

วัดเก่าแก่สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2422 โดยนางประมูล โภคา (แก้ว ประสังศิต) ภรรยาของขุนประมูลภักดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2461 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้สร้าง พระอุโบสถ เพิ่มเติม มีลักษณะทาง สถาปัตยกรรมภายนอก และการตกแต่งภายในอาคาร ผสมผสานระหว่างศิลปะไทย จีน ยุโรป และ ขอม อาคาร ที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ ที่ฝาผนังด้านนอกมีภาพปูนปั้นตัวละคร ในเรื่องรามเกียรติ์ มีเสาแบบกรีก ด้านนอกหัวเสาเป็นแบบโครินเธียล ฯลฯ

พระประธานปางอภัย[แก้]

พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวาหงายในปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้น มีแค่ตัวอย่างเดียว อันได้แก่หลวงพ่ออภัยวงศ์ พระประธานในพระอุโบสถวัดแก้วพิจิตร อำเภอเมืองฯ จังหวัดปราจีนบุรี พระพุทธรูปองค์นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงออกแบบ ประทานเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) เป็นพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างระดับบั้นพระองค์ พระหัตถ์ขวา หงายออกในปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้นและวางที่พระชานุ ครองจีวรห่มดองเป็นริ้วแบบ เหมือนจริง การที่พระพุทธรูปองค์นี้แสดงปางประทานอภัยก็น่าจะให้สอดคล้องกับสกุลของผู้สร้าง คือ อภัยวงศ์ และเนื่องด้วยว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ออกแบบ จึงไม่มีพระพุทธรูปในลักษณะ ดังกล่าวก่อนหน้านี้

วัดประจำสกุล อภัยวงศ์[แก้]

วัดนี้ถือเป็นวัดประจำสกุล อภัยวงศ์ โดยคู่กับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยวัดนี้เป็นที่บรรจุอังคารของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)และอังคารของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์)อยู่ใต้ฐานของพระอภัยวงศ์ โดยจะเป็นหน้าที่ของคนในสกุลที่จะมาบำเพ็ญกุศลแก่บุพการี โดยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีจะทรงเสด็จบำเพ็ญกุศลพระราชทานแก่พระชนก และ พระอัยกาในบางวาระ และสืบต่อมาถึงสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีที่จะมาบำเพ็ญกุศลพระราชทานแก่ขรัวตาและเจ้าคุณทวด

สถานกุศลในสองราชนารี เพชรรัตน-สุวัทนา[แก้]

ในขณะที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวียังทรงดำรงพระชนมชีพ จะทรงเสด็จพระดำเนินมาทรงถวายผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ในทุกๆปี และเมื่อทรงประชวรก็ทรงมีพระพินัยกรรมให้อัญเชิญฉัตรที่สุมพระอัฐิมากางกั้นถวายพระอภัยวงศ์ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีก็ทรงถวายผ้าพระกฐินและทรงพระราชานุญาตให้เชิญพระฉายาลักษณ์ ของ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีจากวังรื่นฤดีมาประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ และจะเสด็จบำเพ็ญพระกุศลอุทิศแก่พระบุพการีสายเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นประจำทุกปี แม้ขณะประชวรก็ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์มาแทน

จัดถวายเป็นพระกุศล[แก้]

ทางวัดจะจัดการบำเพ็ญกุศลถวายพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในทุกวันที่

  • 15 เมษายน วันประสูติของพระองค์
  • 10 ตุลาคม วันสิ้นพระชนม์ของพระองค์

ถวายสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีในทุกวันที่

  • 24 พฤศจิกายน วันประสูติของพระองค์
  • 27 กรกฎาคม วันสิ้นพระชนม์พระองค์

บรรณานุกรม[แก้]