วัดแก้ว (จังหวัดสุราษฎร์ธานี)
อาคารเรือนธาตุแบบจตุรมุขแบบศิลปะศรีวิชัย | |
ที่ตั้ง | ภายในวัดรัตนาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
---|---|
พิกัด | 9°22′40.3″N 99°11′24.8″E / 9.377861°N 99.190222°E |
ประเภท | โบราณสถาน |
ความเป็นมา | |
วัสดุ | อิฐ |
สร้าง | พุทธศตวรรษที่ 13–18 พุทธศตวรรษที่ 18–22 |
สมัย | ศรีวิชัย อยุธยา |
วัดแก้ว เป็นโบราณสถานในสมัยศรีวิชัย ตั้งอยู่ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นโบราณสถานคู่กับวัดหลง
ลักษณะทางกายภาพ
[แก้]เจดีย์
[แก้]ลักษณะทางกายภาพของวัดแก้วเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ก่ออิฐไม่สอปูน ขัดผิวหน้าอิฐเรียบ ผังเป็นรูปกากบาท ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัสลักษณะเป็นฐานประทักษิณ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตัวอาคารเรือนธาตุเป็นอาคารทรงจตุรมุข ขนาดประมาณ 18 × 18 เมตร ถัดขึ้นมาเป็นชุดฐานบัวที่ประกอบด้วยฐานเขียง กึ่งกลางฐานเขียงค่อนไปทางด้านบนเว้นเป็นร่องและก่ออิฐเว้นช่องต่อด้วยชั้นบัวคว่ำและลูกแก้ว ถัดขึ้นไปเป็นผนังอาคารมีทางเข้า[1]
ด้านมุขทิศตะวันออก ภายในเรือนธาตุมีขนาดประมาณ 4 × 4 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน คือ พระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐ สภาพชำรุดเหลือเฉพาะหน้าตัก ขนาดกว้างประมาณ 4 เมตร ถึงส่วนบั้นพระองค์ (บั้นเอว) ส่วนหลังของพระประธานก่อติดกับผนังอาคาร ด้านซ้ายและขวาของพระประธาน มีซุ้มจรนำสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐส่วนหลังองค์พระก่อติดกับผนังอาคารเช่นเดียวกัน[1]
ด้านมุขทางด้านทิศใต้ด้านในเป็นห้องคูหาปรากฏเสาประดับกรอบประตูก่ออิฐ ด้านข้างมีซุ้มจำลองย่อส่วนจากรูปแบบอาคารจริง ประตูทางเข้าทางมุขทิศใต้มีกรอบประตู ทับหลังประตูและธรณีประตูทำจากหินปูน ความสูงของประตูประมาณ 1.6 เมตร ภายในห้องคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐสภาพชำรุด ด้านซ้ายและขวาของผนังเจาะเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐ สันนิษฐานว่าลักษณะของมุขในแต่ละด้านน่าจะมีความคล้ายกัน[1]
มุขทางด้านทิศเหนือ พบการนำพระพุทธรูปศิลาทรายแดง สมัยอยุธยาสกุลช่างไชยาเข้ามาประดิษฐานภายในมุขแทน มุขทางด้านทิศตะวันตกมีการตกแต่งผนังโดยการทำซุ้มจำลอง
ส่วนยอดของอาคารนั้นพังลงมาหมดแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นลักษณะชั้นคล้ายปราสาท เหนือชั้นเรือนธาตุทางด้านทิศใต้ปรากฏร่องรอยซัมกุฑุ ชั้นของหลังคาแต่ละชั้นน่าจะมีการประดับสถูปจำลองเนื่องจากพบสถูปจำลองทำด้วยศิลาทรายแดงหลายองค์บริเวณรอบฐาน
จากลักษณะผังของวัดแก้วมีลักษณะคล้ายจันทิกะลาสันในชวาภาคกลางกำหนดอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 แต่ลักษณะการตกแต่งภายนอกคล้ายกับปราสาทจามกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 จึงกำหนดตัวอายุของวัดแก้วอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14–15
วิหาร
[แก้]ในปี พ.ศ. 2523 ในการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร พบแนวอิฐทางด้านตะวันออกบริเวณที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นซากวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 7.5 เมตร
อาคารเรือนธาตุจตุรมุขของวัดแก้ว | ||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
โบราณวัตถุ
[แก้]โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบที่วัดแก้ว ได้แก่ พระเจ้าอักโษภยะ ปางมารวิชัยพบในซุ้มจระนำทางด้านทิศใต้ของมุขตะวันออก ประทับอยู่ทางเบื้องทิศตะวันออก ฐานพระพุทธรูปสลักเป็นรูปสิงห์ ด้านข้างฐานเท้าสัตว์ และที่เบื้องหน้าของฐานมีวัชระประดับอยู่ มีลักษณะแข็งกระด้างตามแบบศิลปะจาม กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15[2][3]: 178
พระพุทธรูปศิลาปางแสดงธรรม อยู่ในสภาพชำรุด พระเศียรและพระกรทั้งสองข้างขาดหายไป และปลายพระบาทขาด ทรงจีวรห่อคลุมบางแนบพระวรกาย ชายจีวรด้านหน้าหลังลงมาเป็นวงโค้ง ข้อพระกรทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอกัน น่าจะเป็นปางแสดงธรรม อิทธิพลศิลปะทวารวดี มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12–13 และพระพุทธรูปหินทรายแดงสมัยอยุธยาสกุลช่างไชยา[2]
ชิ้นส่วนประติมากรรมรูปมือถือดอกบัว สลักจากหินทรายสีเขียว สูง 16.5 เซนติเมตร ลักษณะเป็นมือ ข้างซ้ายกำลังถือดอกบัว ค้นพบในห้องโถงกลาง ภาพสลักชิ้นนี้อาจเป็นพระหัตถ์ซ้ายของพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา[2]
ประติมากรรมในศาสนาพราหมณ์ พบศิวลึงค์ศิลาแบบดั้งเดิม คือมีเฉพาะส่วนฐานสี่เหลี่ยม (พรหมภาคกับส่วนทรงกระบอกแบบรุทรภาค) ขนาดสูง 17 เซนติเมตร และเทวรูปพระพิฆเนศวร ขนาดเล็กประทับนั่ง สลักจากหิน ทรายแดงสององค์ สภาพค่อนข้างชำรุด องค์แรกสูง 42 เซนติเมตร และ 37 เซนติเมตรตามลำดับ อยู่ภายในห้องกลางของซากโบราณสถาน ซึ่งสภาพก่อนขุดแต่งมีดินและอิฐอัดอยู่เต็มห้อง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา[2]: 181–186
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 กรมศิลปากร. การขุดแต่งโบราณสถานวัดแก้ว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. หน่วยศิลปากรที่ 14 กองโบราณคดี กรมศิลปากร : 2522.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 นงคราญ ศรีชาย. โบราณคดีศรีวิชัย : มุมมองใหม่การศึกษาวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน. สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช : 2543.
- ↑ พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. 2523.