วงศ์ปลากระเบนหางสั้น
วงศ์ปลากระเบนหางสั้น | |
---|---|
ปลากระเบนโปลกาด๊อท (Potamotrygon leopoldi) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Chondrichthyes |
ชั้นย่อย: | Elasmobranchii |
อันดับใหญ่: | Batoidea |
อันดับ: | Myliobatiformes |
อันดับย่อย: | Dasyatoidea |
วงศ์: | Potamotrygonidae Garman, 1877 |
สกุล | |
วงศ์ปลากระเบนหางสั้น (อังกฤษ: Freshwater stingray, River stingray, Short-tail stingray) เป็นปลากระเบนวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวงศ์ว่า Potamotrygonidae
โดยคำว่า "Potamotrygon" เป็นภาษากรีก (Ποταμός; potamos) แปลว่า "แม่น้ำ" และภาษากรีกคำว่า "trygon" แปลว่า "ปลากระเบน"[1]
พบกระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาใต้ มีรูปร่างกลมคล้ายจานข้าวหรือแผ่นซีดี หางมีขนาดสั้นเมื่อเทียบกับปลากระเบนในวงศ์อื่น ๆ พบทั้งหมด 4 สกุล ในหลายชนิด (ดูในเนื้อหาข้างล่าง) บางชนิดหางสั้นมากจนดูขัดกับขนาดลำตัว เช่น ชนิด Paratrygon aiereba มีขนาดแตกต่างออกไปตามชนิด ตั้งแต่มีขนาดไม่เกิน 2 ฟุต เช่น ชนิด Potamotrygon hystrix ไปจนถึงขนาดหนึ่งเมตร เช่น P. motoro
มีสีสันด้านบนลำตัวและหางสวยงาม บางชนิดมีสีลำตัวเป็นสีดำ และมีลวดลายเป็นลายจุดสีขาว เช่น P. leopoldi หรือ P. henlei ในบางชนิดมีสีพื้นเป็นสีเหลือง และมีลวดลายสีดำทำให้แลดูคล้ายลายเสือ เช่น P. menchacai ทั้งนี้ลวดลายและสีสันแตกต่างออกไปตามแต่ละตัว ซึ่งในบางครั้งขึ้นอยู่กับถิ่นที่อยู่อาศัยด้วย ทำให้ในชนิดเดียวกัน ยังมีหลายสี หลายลวดลาย อีกด้วย สันนิษฐานว่าเป็นไปเพื่อใช้ในการพรางตัวกับให้กลมกลืนกับสภาพพื้นน้ำ
บริเวณโคนหางมีเงี่ยงแข็งอยู่ 2 ชิ้น ใช้สำหรับป้องกันตัว ซึ่งเงี่ยงนี้มีพิษและมีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อเยื่อของสิ่งที่ถูกแทง เคยมีมนุษย์เสียชีวิตมาแล้วจากการโดนเงี่ยงนี้แทงโดยไม่ระมัดระวังตัว เพราะเสียเลือดมาก โดยชาวพื้นเมืองในอเมริกาใต้เรียกว่า "Chucho de rio" แปลว่า "สุนัขทะเล"[2]
โดยปรกติหากินตามพื้นน้ำ ไม่ค่อยขึ้นมาหากินบนผิวน้ำนัก ในพื้นถิ่นถูกใช้เป็นอาหารและตกเป็นเกมกีฬา จากสีสันที่สวยงามและขนาดของลำตัวที่ไม่ใหญ่และหางที่ไม่ยาวเกินไปนัก จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งพบว่า ปลากระเบนในวงศ์นี้สามารถผสมพันธุ์และออกลูกได้ง่ายกว่าปลากระเบนในวงศ์อื่น สามารถผสมพันธุ์และออกลูกในตู้กระจกได้เลย โดยสามารถให้ลูกครั้งละ 4-5 ตัว ถึง 20 ตัว ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของพ่อแม่ปลาและสายพันธุ์ จึงทำให้ได้รับความนิยมมาก ในบางครั้งมีการผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อให้เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ สีสันและลวดลายใหม่ ที่ไม่สามารถระบุชื่อทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วย
ซึ่งปลากระเบนในวงศ์นี้เป็นปลาน้ำจืดทั้งหมด แตกต่างไปจากปลากระเบนในวงศ์ปลากระเบนธง ที่พบในน้ำจืดหรือน้ำกร่อยเพียงบางชนิดเท่านั้น และด้วยความที่พบการแพร่กระจายพันธุ์เฉพาะแหล่งน้ำในทวีปอเมริกาใต้เท่านั้น จึงทำให้มีการสันนิษฐานเรื่องธรณีสัณฐานของโลกว่า ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณที่เป็นทวีปอเมริกาใต้และแม่น้ำอเมซอนเคยเป็นทะเลมาก่อน ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา และปลากระเบนที่เป็นบรรพบุรุษของวงศ์นี้ก็ได้เข้ามาอยู่อาศัย และวิวัฒนาการจนสามารถอยู่ในน้ำจืดสนิทได้[3][4]
การจำแนก
[แก้]- สกุล Heliotrygon Carvalho & Lovejoy, 2011
- Heliotrygon gomesi Carvalho & Lovejoy, 2011 [5]
- Heliotrygon rosai Carvalho & Lovejoy, 2011
- สกุล Paratrygon A. H. A. Duméril, 1865
- Paratrygon aiereba Walbaum, 1792 (ปลากระเบนแอปเปิล)
- สกุล Plesiotrygon Rosa, Castello & Thorson, 1987
- Plesiotrygon iwamae Rosa, Castello & Thorson, 1987 (ปลากระเบนหางยาว)
- Plesiotrygon nana Carvalho & Ragno, 2011
- สกุล Potamotrygon Garman, 1877
- Potamotrygon amandae Loboda & M. R. de Carvalho, 2013[6]
- Potamotrygon boesemani Rosa, M. R. de Carvalho & Almeida Wanderley, 2008 (ปลากระเบนจักรพรรดิ) [7]
- Potamotrygon brachyura (Günther, 1880)
- Potamotrygon constellata (Vaillant, 1880)
- Potamotrygon falkneri Castex & Maciel, 1963
- Potamotrygon henlei (Castelnau, 1855) (ปลากระเบนเฮนไล)
- Potamotrygon humerosa Garman, 1913
- Potamotrygon hystrix (J. P. Müller & Henle, 1834) (ปลากระเบนฮิสทริค)
- Potamotrygon leopoldi Castex & Castello, 1970 (ปลากระเบนโปลกาด๊อท)
- Potamotrygon limai Fontenelle, J. P. C. B. da Silva & M. R. de Carvalho, 2014[8]
- Potamotrygon magdalenae (A. H. A. Duméril, 1865)
- Potamotrygon marinae Deynat, 2006
- Potamotrygon motoro (J. P. Müller & Henle, 1841) (ปลากระเบนโมโตโร่)
- Potamotrygon ocellata (Engelhardt, 1912)
- Potamotrygon orbignyi (Castelnau, 1855)
- Potamotrygon pantanensis Loboda & M. R. de Carvalho, 2013[6]
- Potamotrygon schroederi Fernández-Yépez, 1958
- Potamotrygon schuhmacheri Castex, 1964
- Potamotrygon scobina Garman, 1913
- Potamotrygon signata Garman, 1913
- Potamotrygon tatianae J. P. C. B. da Silva & M. R. de Carvalho, 2011
- Potamotrygon tigrina M. R. de Carvalho, Sabaj Pérez & Lovejoy, 2011 (ปลากระเบนไทเกอร์) [9]
- Potamotrygon yepezi Castex & Castello, 1970
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Potamotrygon motoro (Müller & Henle, 1841)
- ↑ "River Monsters ตอน ปลากระเบนยักษ์(พากย์ไทย) 1/5". ยูทิวบ์. 2 May 2013. สืบค้นเมื่อ 18 January 2015.
- ↑ "Freshwater Stingrays, Family Potamotrygonidae". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-12. สืบค้นเมื่อ 2010-12-02.
- ↑ River Stingrays
- ↑ De Carvalho, M.R. and N.R. Lovejoy (2011). "Morphology and phylogenetic relationships of a remarkable new genus and two new species of Neotropical freshwater stingrays from the Amazon basin (Chondrichthyes: Potamotrygonidae)". Zootaxa (2776): 13–48.
- ↑ 6.0 6.1 Loboda, T.S. & de Carvalho, M.R. (2013): Systematic revision of the Potamotrygon motoro (Müller & Henle, 1841) species complex in the Paraná-Paraguay basin, with description of two new ocellated species (Chondrichthyes: Myliobatiformes: Potamotrygonidae). เก็บถาวร 2013-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Neotropical Ichthyology, 11 (4): 693-737.
- ↑ Rosa, de Carvalho & Wanderley (2008). "Potamotrygon boesemani (Chondrichthyes: Myliobatiformes: Potamotrygonidae), a new species of Neotropical freshwater stingray from Surinam". Neotropical Ichthyology. 6 (1): 1–8.
- ↑ Fontenelle, J.P., Da Silva, J.P.C.B. & De Carvalho, M.R. (2014): Potamotrygon limai, sp. nov., a new species of freshwater stingray from the upper Madeira River system, Amazon basin (Chondrichthyes: Potamotrygonidae). Zootaxa, 3765 (3): 249–268.
- ↑ de Carvalho, Perez & Lovejoy (2011). "Potamotyrgon tigrina, a new species of freshwater stingray from the upper Amazon basin, closely related to Potamotrygon schroederi Fernandez-Yepez, 1958 (Chondrichthyes: Potamotrygonidae)". Zootaxa. 2827: 1–30.