อี ฮวัง
อี ฮวัง | |
ชื่อเกาหลี | |
---|---|
ฮันกึล | 이황 |
ฮันจา | 李滉 |
อาร์อาร์ | I Hwang |
เอ็มอาร์ | Yi Hwang |
นามปากกา | |
ฮันกึล | 퇴계 |
ฮันจา | 退溪 |
อาร์อาร์ | Toegye |
เอ็มอาร์ | T'oegye |
ชื่อสุภาพ | |
ฮันกึล | 경호 |
ฮันจา | 景浩 |
อาร์อาร์ | Gyeongho |
เอ็มอาร์ | Kyŏngho |
ชื่อมรณกรรม | |
ฮันกึล | 문순 |
ฮันจา | 文純 |
อาร์อาร์ | Munsun |
เอ็มอาร์ | Munsun |
อี ฮวัง (เกาหลี: 이황; 1501 – 1570) ชื่อรอง คย็องโฮ (เกาหลี: 경호) เป็นนักปราชญ์ลัทธิขงจื้อใหม่ (Neo-Confucianism) คนสำคัญของเกาหลีในสมัยราชวงศ์โชซอน[1] แนวคิดและผลงานของอี ฮวัง นั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการนักปราชญ์ลัทธิขงจื๊อใหม่ของอาณาจักรโชซอนนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สิบหกเป็นต้นมา ทั้งยังเป็นบุคคลร่วมสมัยกันกับนักปราชญ์ลัทธิขงจื๊ออีกคนของเกาหลีอย่าง อี อี
ประวัติ
[แก้]อี ฮวังนั้นเกิดเมื่อ ค.ศ. 1501 ในรัชสมัยขององค์ชายยอนซัน ที่เมืองอันดง จังหวัดคย็องซังเหนือ เกาหลีใต้ในปัจจุบัน อี ฮวังเกิดในตระกูล ยังบัน ระดับล่าง บิดาคือ อีชิก (เกาหลี: 이식 李埴) เป็นขุนนางท้องถิ่น เมื่อ ค.ศ. 1533 อี ฮวังเดินทางมายังเมืองฮันยางเพื่อเข้าศึกษาในราชวิทยาลัยซองกยุงกวาน เพื่อเข้าทำการสอบควากอ (จอหงวนของเกาหลี) โดยเข้าเป็นศิษย์ของคิมอินฮุ (เกาหลี: 김인후 金麟厚) นักปราชญ์ขงจื้อใหม่คนสำคัญอีกคนหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อสอบควากอผ่านได้สำเร็จเมื่อ ค.ศ. 1534 จึงเข้ารับราชการในสมัยของพระเจ้าจุงจง
อี ฮวังนั้นเป็นสมาชิกของนักปราชญ์กลุ่ม ซาริม (เกาหลี: 사림 士林) หรือกลุ่มที่ต่อต้านการปกครองของขุนนางกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในราชสำนักขณะนั้น อี ฮวังได้รับอิทธิพลจากนักปราชญ์กลุ่มซาริมต่างๆเช่น โชกวางโจ (เกาหลี: 조광조 趙光祖) ซึ่งถูกประหารชีวิตไปในข้อหากบฏเมื่อ ค.ศ. 1519 เมื่อเริ่มแรกอี ฮวังรับราชการอยู่ในฮงมุนกวาน อันเป็นหน่วยงานที่คอยตรวจสอบการทำงานของขุนนางผู้ใหญ่ อี ฮวังรับราชการในราชสำนักในรัชสมัยของพระเจ้าจุงจง พระเจ้าอินจง และพระเจ้ามยองจง อยู่เป็นเวลาประมาณยี่สิบปี จนกระทั่งค.ศ. 1545 เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ปราชญ์ปีอึลซา (เกาหลี: 을사사화 乙巳士禍) ยุนวอนฮย็อง (เกาหลี: 윤원형 尹元衡) พระเชษฐาของพระพันปีมุนจองและพระปิตุลาของพระเจ้ามยองจงเถลิงอำนาจขึ้นในราชสำนัก มีขุนนางฝ่าย ซาริม หลายคนรวมทั้ง อี แฮ (เกาหลี: 이해 李瀣) น้องชายของอี ฮวัง ต่างได้รับผลกระทบถูกลงโทษจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้อี ฮวังเกิดความเบื่อหน่ายในการเมืองราชสำนักและการฉ้อราชย์บังหลวง จึงลาออกจากราชการกลับไปยังบ้านเกิดของตนที่เมืองอันดงเมื่อ ค.ศ. 1549
เมื่อกลับมาอยู่บ้านเกิดที่เมืองอันดงแล้ว อี ฮวังใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาค้นคว้าหลักปรัชญาของลัทธิขงจื้อใหม่ โดยเฉพาะสำนักของจูซื่อ (Zhu Xi) ซึ่งอี ฮวังยึดมั่นเป็นอย่างมาก และในระหว่างนี้อี ฮวังได้ผลิตผลงานเกี่ยวกับหลักปรัชญาขงจื้อขึ้นมาหลายเล่ม ใน ค.ศ. 1560 อี ฮวังริเริ่มการจัดตั้งและก่อสร้างสำนักปราชญ์โทซัน หรือ โทซันซอวอน (เกาหลี: 도산서원 陶山書院) ขึ้นที่เมืองอันดงบ้านเกิด ไว้เพื่อเป็นสำนักศึกษาสำหรับนักเรียนและนักปราชญ์ขงจื้อรุ่นใหม่ เพื่อสร้างคนดีมีคุณธรรมเข้ารับราชการในราชสำนัก เมื่อยุนวอนฮย็องถูกประหารชีวิตไปในค.ศ. 1565 พระเจ้ามยองจงทรงพยายามรวบรวมขุนนางฝ่ายซาริมกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง พระเจ้ามยองจงทรงร้องขอให้อี ฮวังกลับไปรับราชการอยู่หลายครั้ง แต่ทุกครั้งอี ฮวังดำรงตำแหน่งเพียงเวลาไม่นานนัก และทูลลาออกกลับบ้านเกิด
ใน ค.ศ. 1568 อี ฮวังแต่งหนังสือเรื่อง แผนภูมิทั้งสิบเกี่ยวกับหลักคุณธรรม ("Ten Diagrams on Sage Learning" เกาหลี: 성학십도 聖學十圖) ถวายพระเจ้าซอนโจ ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นผลงานที่สำคัญที่สุดของอี ฮวัง และในปี ค.ศ. 1569 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมพิธีการ (เกาหลี: 이조판서 禮曹判書) แต่อี ฮวังอยู่ในตำแหน่งไม่นานนักและกลับสู่บ้านเกิดเช่นเดิม อี ฮวังถึงแก่กรรมที่เมืองอันดงบ้านเกิดของตนเมื่อปี ค.ศ. 1570 อายุ 69 ปี
สิ่งสืบทอด
[แก้]พระเจ้าซอนโจทรงอุปถัมป์โทซันซอวอนใน ค.ศ. 1575 และให้มีการสร้างจนเสร็จสิ้น สำนักปราชญ์โทซันเป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญแห่งหนึ่งของเกาหลีในสมัยโชซอนและดึงดูดนักเรียนจากทั่วภูมิภาคยองนัม เรียกแนวความคิดและหลักปรัชญาของอี ฮวังว่า สำนักยองนัม (เกาหลี: 嶺南學派) ใน ค.ศ. 1605 องค์ชายควางแฮทรงยกย่องอี ฮวังโดยสร้างศาลเพื่อกราบไหว้บูชาอี ฮวังขึ้นในซองกยุงกวาน ศิษย์ของอี ฮวังต่างเข้าไปมีบทบาทในราชสำนักเช่น ยู ซองลยอง หลักปรัชญาและผลงานของอี ฮวังเป็นที่ยึดถือของนักปราชญ์และขุนนางในสมัยต่อมา โดยเฉพาะฝ่ายตะวันออกหรือ ทงอิน และฝ่ายใต้หรือ นัมอิน ในสมัยต่อมา
Toegyero ถนนใจกลางโซล ตั้งชื่อตามเขา[2]และมีการใส่ภาพของเขาในธนบัตร 1,000 วอน[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Daehwan, Noh. "The Eclectic Development of Neo-Confucianism and Statecraft from the 18th to the 19th Century," เก็บถาวร มิถุนายน 14, 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Korea Journal. Winter 2003.
- ↑ (ในภาษาเกาหลี) Toegyero[ลิงก์เสีย] at Doosan Encyclopedia
- ↑ (ในภาษาเกาหลี) The new 1,000 won bill, Maeil Business News, 2006-01-17. Retrieved 2010-07-08.
บรรณานุกรม
[แก้]- Daehwan, Noh (Winter 2003). "The Eclectic Development of Neo-Confucianism and Statecraft from the 18th to the 19th Century". Korea Journal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-14.