มัสยิดโรม

พิกัด: 41°56′5.17″N 12°29′42.8″E / 41.9347694°N 12.495222°E / 41.9347694; 12.495222
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มัสยิดแห่งโรม
Moschea di Roma
ศาสนา
ศาสนาศาสนาอิสลาม
นิกายซุนนี
ที่ตั้ง
ที่ตั้งปาริโอลี โรม ประเทศอิตาลี
มัสยิดโรมตั้งอยู่ในโรม
มัสยิดโรม
ที่ตั้งในโรม
พิกัดภูมิศาสตร์41°56′5.17″N 12°29′42.8″E / 41.9347694°N 12.495222°E / 41.9347694; 12.495222
สถาปัตยกรรม
สถาปนิกนำโดยเปาโล ปอร์โตเกซี
ประเภทมัสยิด
เสร็จสมบูรณ์ค.ศ. 1994
ค่าก่อสร้าง40 ล้านยูโร
ลักษณะจำเพาะ
ความจุ12,000
โดม1
หอคอย1
ความสูงหอคอย43 เมตร

มัสยิดโรม (อิตาลี: Moschea di Roma) เป็นมัสยิดในปาริโอลี โรม ประเทศอิตาลี และเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกตะวันตกในแง่ของพื้นที่ใช้สอย[1] ด้วยขนาด 30,000 ตารางเมตร (320,000 ตารางฟุต) ซึ่งสามารถรองรับความจุได้ 12,000 คน[2] รวมถึงเป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมอิสลามประจำอิตาลี (อิตาลี: Centro Culturale Islamico d'Italia)

มัสยิดนี้ร่วมก่อตั้งโดยมุฮัมมัด ฮัสซาน เจ้าชายแห่งอัฟกานิสถานผู้ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ และชายา[3] ภายใต้การสนับสนุนด้านการเงินโดยสมเด็จพระราชาธิบดีฟัยศ็อล บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด, ราชวงศ์ของซาอุดีอาระเบีย, ผู้อารักขามัสยิดศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง และประเทศบังกลาเทศโดยประธานาธิบดี ฮุสเซน มูฮัมหมัด เอร์ชาท การก่อสร้างดำเนินตามผลงานออกแบบที่ควบคุมกำกับโดยเปาโล ปอร์โตเกซี โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น พอล ที่สอง เสด็จมาทรงร่วมประกอบพิธีเปิดมัสยิดด้วย การก่อสร้างและวางแผนใช้เวลารวมกว่าสิบปี นับตั้งแต่สภานครโรมได้บริจาคที่ดินใน ค.ศ. 1974

เมื่อครั้งประกาศก่อสร้างมัสยิดได้มีผู้ต่อต้านการก่อสร้างอยู่จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น พอล ที่สอง ได้ประกอบพิธีขอพระพรจากพระเจ้าให้คุ้มครองและช่วยเหลือในโครงการก่อสร้างมัสยิด เสียงต่อต้านก็ค่อย ๆ จางลง อีกหนึ่งข้อถกเถียงในการก่อสร้างคือความสูงของหออะซานที่มีหลายภาคส่วนกังวลว่าอาจสูงจนกระทบต่อภูมิทัศน์ของนครโรม ต่อมาจึงลดความสูงลงจนเตี้ยกว่าโดมของมหาวิหารนักบุญปีเตอร์ในวานิกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สถาปัตยกรรม[แก้]

โครงสร้างของมัสยิดนั้นสร้างขึ้นโดยคำนึงความกลมกลืนกับภูมิทัศน์สีเชียวโดยรอบ และผสมผสานการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบมอเดิร์นกับเส้นโค้งที่ปรากฏอยู่ทั่วทั้งมัสยิด การออกแบบยังเน้นให้เกิดแสงและเงาที่กลมกลืนเพื่อให้เกิดบรรยากาศของความสงบ วัสดุก่อสร้างหลัก เช่น ตราเวร์ติโน กับก็อตโต ช่วยให้เกิดความรู้สึกของสิ่งปลูกสร้างแบบธรรมเนียมในโรม การตกแต่งภายในใช้สีอ่อนและออกแบบสร้างให้สอดคล้องกับแนวคิดของ "อัลลอฮ์คือแสงสว่าง" พื้นปูด้วยพรมเปอร์เซีย

โถงหลักของมัสยิดสามารถจุผู้เข้ามาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้มากสุด 2,500 คน และด้านบนเป็นส่วนแกลเลอรี (ระเบียง) ที่สงวนไว้สำหรับศาสนิกชนสตรีเท่านั้น เพดานของโถงหลักเป็นโดมหลักของมัสยิดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เมตร ห้อมล้อมด้วยโดมขนาดย่อยอีก 16 โดม นอกจากนี้ในมัสยิดยังประกอบด้วยห้องเรียน หอประชุม ห้องสมุด พื้นที่พบปะ และพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ

อ้างอิง[แก้]

  1. Stefan Grundmann (1996). The Architecture of Rome. Edition Axel Menges. p. 384. ISBN 978-3-930698-60-8.
  2. Paolo Portoghesi; Marco Casamonti; Alessandra Coppa; Moreno Maggi (2002). "La Moschea di Roma : Paolo Portoghesi" (Interview). Milan: F. Motta. ISBN 88-7179-375-7.
  3. "Mosque of Rome - My Halal Life". My Halal Life (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 25 มีนาคม 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 มีนาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2018.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]