ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประตูทางเข้าค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี สะกดด้วยอักขรวิธีสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า "ค่ายสมเด็ดพระนารายน์มหาราช"

ในปี พ.ศ. 2485 จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย ได้ยกร่างและประกาศใช้อักขรวิธีไทยแบบใหม่ขึ้น เพื่อให้การสะกดคำในภาษาไทยกะทัดรัดและลดความซ้ำซ้อนของตัวอักษรลง อย่างไรก็ตาม เมื่อจอมพล แปลก พ้นจากตำแหน่งในปลายปี พ.ศ. 2487 นโยบายต่าง ๆ ของจอมพล แปลก ได้ถูกยกเลิก ซึ่งรวมถึงอักขรวิธีไทยดังกล่าวด้วย รวมระยะเวลาการบังคับใช้อักขรวิธีของคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยประมาณ 2 ปี 3 เดือน

ประวัติ

[แก้]

เมื่อประเทศไทยถูกดึงเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามายังประเทศไทย และขณะเดียวกันนั้นก็ได้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่า ภาษาไทยนี้ยากมาก ทั้งการอ่าน เขียน พูด จึงขอให้เปิดโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น และบังคับให้คนไทยเรียนภาษาญี่ปุ่น เหมือนคนจีนในเกาะไต้หวัน ทั้งๆที่ภาษาญี่ปุ่นมีความยุ่งยากทั้งในส่วนไวยกรณ์ การเขียน (มีตัวอักษรถึงสามประเภท) และการออกเสียง (ซึ่งตัวจีนตัวหนึ่งออกเสียงได้หลายแบบ) มากกว่าภาษาไทยหลายเท่า

จอมพล แปลก จึงเรียกประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปรึกษาหารือเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไข เมื่อตกลงกันได้แล้ว จึงแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย ประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งสิ้น 29 คน เปลื้อง ณ นคร และทวี ทวีวรรธนะ อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

คณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยมีแนวทางส่งเสริมภาษาไทย 4 แนวทางคือ

  1. ส่งเสริมการศึกษาหลักและระเบียบภาษาไทย อย่างที่เรียกว่าภาษาศาสตร์
  2. ส่งเสริมการแต่ง ทั้งในวิธีร้อยแก้ว และร้อยกรอง ซึ่งรวมเรียกว่าวรรณคดี
  3. ส่งเสริมให้มีการวิจารณ์วรรณคดี
  4. จัดตั้งสมาคมวรรณคดี เพื่อจะได้เป็นแหล่งที่เพาะความรู้ภาษาไทย และโฆษณาภาษาไทย

คณะกรรมการดังกล่าวช่วยกันยกร่างเรื่องการปรับปรุงตัวอักษรไทยเสนอจอมพล แปลก และจอมพล แปลก เห็นชอบด้วย จึงลงนามในประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่อง การปรับปรุงอักสรไทย[1] เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 โดยให้เหตุผลว่า "ตัวสระและพยัญชนะของภาสาไทยมีอยู่หลายตัวที่ซ้ำเสียงกันโดยไม่จำเป็น ถ้าได้งดไช้เสียบ้างก็จะเป็นความสดวกไนการสึกสาเล่าเรียกภาสาไทยไห้เป็นที่นิยมยิ่งขึ้น"

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประกาศให้ใช้เลขสากล (เลขอาหรับ) แทนที่เลขไทย เพื่อความสะดวกในการติดต่อทั่วไป และเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว[2]

หลังจากจอมพล แปลก พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ในวันถัดมานั้น ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ออกประกาศยกเลิกการใช้อักขรวิธีดังกล่าว และการใช้เลขสากล[3] ส่งผลให้กลับไปใช้อักขรวิธีไทยแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้ใช้มาจวบจนถึงปัจจุบัน และแม้ว่าจอมพล แปลก จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491 จอมพล แปลก ก็มิได้นำอักขรวิธีดังกล่าวกลับมาใช้อีก

อนึ่ง สาเหตุหลักของการที่อักขรวิธีไทยของคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยนั้นไม่ได้รับความนิยม คือ การขัดต่อความรู้สึกของประชาชน และความเคยชินกับอักษรไทยแบบเดิม[4]

การเปลี่ยนแปลง

[แก้]

งดใช้

[แก้]
  • สระ: ใ, ฤ, ฤๅ, ฦ, ฦๅ
  • พยัญชนะ: ฃ, ฅ, ฆ, ฌ, ฎ, ฏ, ฐ , ฑ, ฒ, ณ, ศ, ษ, ฬ

เปลี่ยนแปลงอักษร

[แก้]

ตัวอักษร ญ ให้คงไว้ แต่ตัดเชิง (ั) ออกเสีย เป็น ญ

หลักเกณฑ์

[แก้]
  • คำที่เคยใช้สระ ใ (ไม้ม้วน) ให้ใช้ ไ (ไม้มลาย) แทน
  • คำที่เคยใช้สระ ฤ ฤๅ ให้ใช้ ร (เรือ) ประกอบสระตามกรณีที่ออกเสียงภาษาไทย เช่น
    • ฤ ใน พฤกษา → รึ → พรึกสา
    • ฤ ใน ฤกษ์ → เริ → เริกส์
    • ฤ ใน ฤทธิ์ → ริ → ริทธิ์
    • ฤๅ → รือ
  • คำที่เคยใช้สระ ฦ ฦๅ ให้ใช้ ล (ลิง) ประกอบสระตามกรณีที่ออกเสียงในภาษาไทย เช่น
    • ฦา → ลือ
  • คำที่เคยใช้พยัญชนะ ฆ (ระฆัง) ใช้ ค (ควาย) แทน เช่น
    • เฆี่ยน → เคี่ยน
    • ฆ้อง → ค้อง
  • คำที่เคยใช้ ฌ (เฌอ) ใช้ ช (ช้าง) แทน
  • คำที่เคยใช้พยัญชนะวรรค ฎ (ชฎา) ให้ใช้พยัญชนะวรรค ด (เด็ก) แทน โดยลำดับคือ
    • ฎ (ชฎา) → ด (เด็ก) เช่น
      • ชฎา → ชดา
      • กฎหมาย → กดหมาย
    • ฏ (ประฏัก) → ต (เต่า) เช่น
      • ประฏัก → ประตัก
    • ฐ (ฐาน) → ถ (ถุง) เช่น
      • ฐาน → ถาน
      • รัฐ → รัถ
    • ฑ (มณโฑ) ในกรณีที่อ่านเป็นเสียง ด ให้ใช้ ด (เด็ก)
      • บัณฑิต → บันดิต
    • ฑ (มณโฑ) ในกรณีที่อ่านเป็นเสียง ท ให้ใช้ ท (ทหาร)
      • ไพฑูรย์ → ไพทูรย์
    • ฒ (ผู้เฒ่า) ให้ใช้ ธ (ธง) เช่น
      • วัฒนธรรม → วัธนธัม
    • ณ (เณร) ให้ใช้ น (หนู) เช่น
      • ธรณี → ธรนี
  • คำที่เคยใช้พยัญชนะ ศ ษ ให้ใช้ ส แทน เช่น
    • ประกาศ → ประกาส
    • ราษฎร → ราสดร
  • คำที่เคยใช้พยัญชนะ ฬ (จุฬา) ให้ใช้ ล (ลิง) แทน เช่น
    • จุฬาลงกรณ์ → จุลาลงกรน์
  • คำที่มิได้มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ให้เขียนตามระเบียบคำไทย เช่น
    • บรร (ร หัน) → บัน เช่น
      • บรรจุ → บันจุ
    • ควร → ควน
    • เสริม → เสิม
    • เจริญ → จเริน
    • สำคัญ → สำคัน
    • ทหาร → ทหาน
    • กระทรวง → กระซวง

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงอักสรไทย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. May 29, 1942. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-09-13. สืบค้นเมื่อ February 21, 2016.
  2. "ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการไช้เลขสากลเปนเลขไทย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. November 24, 1942. สืบค้นเมื่อ February 21, 2016.
  3. "ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงตัวอักสรไทย และการไช้เลขสากลเปนเลขไทย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. November 9, 1944. สืบค้นเมื่อ February 21, 2016.
  4. กฤษณา เกษมศิลป์. รอยต่อประวัติศาสตร์. หน้า 35. สำนักพิมพ์วงษ์สว่าง.[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]

แหล่งข้อมูล

[แก้]