ฟาโรห์เทฟนัคต์ที่ 2
เทฟนัคต์ที่ 2 | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
สเตฟินาเตส | |||||||||||
ตราประทับของฟาโรห์เมนอิบเร[1] ซึ่งตามข้อสันนิษฐานคิทเช่น พระองค์อาจจะเป็นฟาโรห์เทฟนัคต์ที่ 2 จากโบโลญญา รหัสหมายเลข เคเอส 2670 | |||||||||||
ฟาโรห์ | |||||||||||
รัชกาล | 695 – 688 ปีก่อนคริสตกาล | ||||||||||
ก่อนหน้า | อัมเมริส? (ในฐานะข้าหลวงแห่งซาอิส) | ||||||||||
ถัดไป | เนคาอูบา | ||||||||||
| |||||||||||
พระราชบุตร | เนคาอูบา, เนโคที่ 1 | ||||||||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ก่อนหน้าราชวงศ์แห่งซาอิส |
เทฟนัคต์ที่ 2 (กรีกโบราณ: Στεφινάτης Stephinátēs, Στεφινάθις Stephináthis; ละติน: Stephinates, Stephinathis) เป็นผู้ปกครองชาวอียิปต์โบราณของเมืองซาอิส ในช่วงต้นศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล พระองค์ได้รับการยอมรับว่าเป็นสมาชิกในช่วงแรกของ "ราชวงศ์ก่อนหน้าของราชวงศ์แห่งซาอิส"[2] ซึ่งสถาปนาขึ้นก่อนหน้าราชวงศ์ที่ยี่สิบหกแห่งอียิปต์
พระราชประวัติ
[แก้]ส่วนใหญ่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับเทฟนัคต์ที่ 2 จากหนังสือแอกิปเทียกาของแมนิโธ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระนามว่า สเตฟินาเตส จากงานเขียนของแมนิโธ เซ็กตุส จูลิอุส แอฟริกานุส ได้ให้ฟาโรห์สเตฟินาเตสเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ที่ยี่สิบหก ในขณะที่ยูเซบิอุส นักประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่งได้จัดวางตำแหน่งให้ อัมเมริส "ชาวนิวเบีย" ไว้ก่อนหน้าพระองค์ ในทั้งสองกรณี นักประวัติศาสตร์ทั้งสองระบุว่าฟาโรห์สเตฟินาเตสทรงครองราชย์ยาวนานถึง 7 ปี[3]
ในปี ค.ศ. 1917 ฟลินเดอร์ส เพตรี ได้เป็นคนแรกที่ได้โต้แย้งว่า "สเตฟินาเตส" น่าจะเป็นภาษากรีกโบราณที่ใช้แทนพระนาม เทฟนัคต์ ในภาษาอียิปต์ และเป็นครั้งแรกที่เรียกผู้ปกครองพระองค์นี้ว่า "เทฟนัคต์ที่ 2" เพื่อแยกแยะพระองค์ด้วยจากผู้ปกครองที่มีพระนามเดียวกัน โดยผู้ปกครองคนดังกล่าวมีฐานะเป็นประมุขผู้ยิ่งใหญ่แห่งตะวันตก ผู้ซึ่งเมื่อหลายทศวรรษก่อนหน้าได้มีการปะทะกันกับฟาโรห์ปิเยจากราชวงศ์ที่ยี่สิบห้าแห่งคุช และต่อมาได้ขึ้นเป็นฟาโรห์ทรงพระนามว่า เชปเซสเร เทฟนัคต์ (ที่ 1) ซึ่งทรงเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ที่ยี่สิบสี่แห่งซาอิสที่ขึ้นมาปกครองในระยะเวลาสั้นๆ[4]
เค็นเน็ธ คิตเช่นได้ตั้งสมมติฐานว่า ฟาโรห์เทฟนัคต์ที่ 2 อาจจะเป็นพระญาติของฟาโรห์บาเคนราเนฟ ซึ่งเป็นพระราชโอรสและผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์ของฟาโรห์เทฟนัคต์ที่ 1 ซึ่งอาจจะทรงถูกสังหารโดยฟาโรห์เซบิตกู และหลังจากนั้นอัมเมริส ข้าหลวงที่ซื่อสัตย์ก็เข้ามาครองตำแหน่งแทนที่ ดังนั้น ตามที่คิตเช่นได้ตั้งสมมติฐาน ฟาโรห์เทฟนัคต์ที่ 2 ทรงฟื้นฟูราชวงศ์แห่งซาอิสได้สำเร็จ และทรงปกครองตั้งแต่ 695 ถึง 688 ปีก่อนคริสตกาล[3] จากนั้นพระญาติอีกพระองค์หนึ่งพระนามว่า เนเคปซอส ในภาษากรีกก็ทรงสืบทอดพระราบัลลังก์จากพระองค์และในภาษาอียิปต์พระองค์จะมีพระนามว่า เนคาอูบา ซึ่งเป็นไปได้ว่าตราประทับสคารับจำนวนมากที่ปรากฏข้อมูลมาถึงช่วงเวลาดังกล่าว และปรากฏพระนามครองราชย์ที่ไม่ทราบที่มา คือ เมนอิบเร และอิร์อิบเร ก็เป็นพระนามของฟาโรห์เทฟนัคต์ที่ 2 และฟาโรห์เนคาอูบาตามลำดับ[4]
ในปี ค.ศ. 2011 คิม ไรฮอล์ท ได้เสนอว่า ฟาโรห์เทฟนัคต์ที่ 2 เป็นพระราชบิดาของฟาโรห์เนโคที่ 1 ในช่วงเวลาต่อมา ซึ่งอ้างตามบันทึกปาปิรุสจากเทบตูนิสที่ได้บันทึกว่า ฟาโรห์เนโคที่ 1 เป็นพระราชโอรสของฟาโรห์พระนามว่า เทฟนัคต์ โดยฟาโรห์ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ฟาโรห์เทฟนัคต์ที่ 2[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Jaeger, B. (1993). Les scarabées à noms royaux du Museo civico archeologico de Bologna. N°114
- ↑ Kitchen, Kenneth A. (1996). The Third Intermediate Period in Egypt (1100–650 BC). Warminster: Aris & Phillips Limited. ISBN 0-85668-298-5., revised Table 4
- ↑ 3.0 3.1 Kitchen, op. cit., § 116
- ↑ 4.0 4.1 Kitchen, op. cit., § 117
- ↑ Ryholt, Kim (2011). "King Necho I son of king Tefnakhte II". ใน Feder, F.; Morenz, L.; Vittman, G. (บ.ก.). Von Theben nach Giza. Festmiszellen für Stefan Grunert zum 65. Geburtstag. Göttinger Miszellen Beihefte 10. pp. 123–127.