ข้ามไปเนื้อหา

พุทธศาสนิกชนเชื้อสายยิว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โซเก็ตสึ นอร์แมน ฟิสเชอร์ นักบวชเซนเชื้อสายยิว

พุทธศาสนิกชนเชื้อสายยิว หรือเรียกโดยย่อว่า จูบู (JewBu)[1] ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างจากการตีพิมพ์หนังสือ The Jew in the Lotus (พ.ศ. 2537) ของรอเจอร์ คาเมเนตซ์ (Rodger Kamenetz)[2] ใช้กล่าวถึงบุคคลที่มีเชื้อสายยิวแต่ปฏิบัติตนแบบชาวพุทธในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำสมาธิแบบธยาน หรือการสวดมนต์ บ้างก็นับถือทั้งสองศาสนา บ้างก็ถือตัวเป็นชาวยิวที่นับถือศาสนาพุทธ จนเกิดการผสมผสานความเชื่อและประเพณีเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง[3][4][5] พวกเขาต้องธำรงความเป็นยิวและพุทธในฐานะชนกลุ่มน้อยท่ามกลางสังคมที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคริสต์ศาสนิกชน[3]

ประวัติ

[แก้]

ช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวยิวในประเทศเยอรมนีหันไปนับถือศาสนาพุทธ พุทธศาสนิกชนในเยอรมนีราวหนึ่งในสามเป็นชาวยิว แต่ไม่นานหลังจากนั้น ชาวยิวในเยอรมนีถูกสังหารหรืออพยพออกนอกประเทศ ทำให้ชาวยิวที่นับถือศาสนาพุทธไม่เป็นที่พูดถึงนัก[5] หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกตะวันตกให้ความสนใจศาสนาพุทธมากขึ้น โดยเฉพาะนิกายเซน ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960–70 เป็นต้นมา เกิดปรากฏการณ์ชาวยิวในสหรัฐจำนวนไม่น้อยหันไปศึกษาและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ ด้วยมองว่าสอดคล้องกับจิตวิญญาณและวิถีชีวิตสมัยใหม่ในยุคเสรีนิยม สามารถขจัดความเครียดในชีวิตประจำวันได้[4] ชาลส์ สเตราส์ (Charles Strauss) ชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชนขณะบรรยายในการประชุมศาสนาโลกเมื่อ ค.ศ. 1893 หลังจากนั้นสเตราส์ผันตัวเป็นนักเขียนและเป็นผู้นำอธิบายศาสนาพุทธในโลกตะวันตก[6] ชาวยิวหลายคนกลายเป็นครูสอนสอนวิปัสสนาที่มีชื่อเสียง รวมทั้งก่อตั้งสมาคมและศูนย์วิปัสสนา โดยใช้ครูสอนวิปัสสนาจากไทยเป็นหลัก[7][8][9] หลังจากนั้นจึงมีการปฏิบัติตามอย่างนิกายนิจิเร็ง[10]

จากการศึกษาของเจมส์ โคลแมน (James Coleman) นักสังคมวิทยา พบว่าศูนย์ศาสนาพุทธเจ็ดแห่งในอเมริกาเหนือมีสมาชิกเป็นยิวร้อยละ 16.7 ส่วนรอเจอร์ คาเมนิตซ์ ผู้แต่งหนังสือ The Jew in the Lotus ประมาณการว่าพุทธศาสนิกชนเชื้อสายตะวันตกในสหรัฐ จำนวนร้อยละ 30 เป็นชาวยิว หรือคิดเป็นร้อยละ 2–3 ของชาวยิวทั้งหมดในสหรัฐ[3]

การปฏิบัติ

[แก้]
ลามะสูรยทาส ซึ่งเป็นชาวยิว (ซ้าย) ขณะสนทนากับลามะทิเบต

ตามบัญญัติสิบประการและกฎหมายคลาสสิกของชาวยิว (הֲלָכָה‎) ห้ามชาวยิวสักการะพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระเจ้าแห่งอิสราเอล โดยเฉพาะการโค้งคำนับ การถวายเครื่องหอม การสังเวย และการเสพสุรา[11] ทำนองเดียวกัน พวกเขาถูกห้ามมิให้เข้าร่วมหรือรับใช้ศาสนาอื่น มิเช่นนั้นจะถูกนับว่าตกศาสนา เป็นผู้ละทิ้งความเชื่อ หรือพวกบูชารูปเคารพ แต่ชาวยิวมองว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระเป็นเจ้า และการปฏิบัติตนตามพิธีกรรมของพุทธทั้งการจุดธูป การกราบ และการคำนับพระพุทธรูปในมุมมองของพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะสายเถรวาท) ถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการแสดงความเคารพ ความกตัญญู ต่อความสำเร็จและคำสอนของพระพุทธเจ้า นั่นคือการตรัสรู้และสอนธรรมะให้ผู้คนรอดพ้นจากบ่วงทุกข์และบรรลุนิพพาน

ความเชื่อร่วมกัน

[แก้]

ในประวัติศาสตร์ ศาสนายูดาห์มีการรับความเชื่อจากศาสนาอื่นที่ไม่ขัดกับพระคัมภีร์โทราห์มาปรับใช้ แต่ยังคงอัตลักษณ์ในการปฏิเสธการนับถือเทพเจ้าหลายพระองค์ และปฏิเสธการบูชารูปเคารพ[12] ผู้เชี่ยวชาญบางคนอ้างว่า พระเยซู ศาสดาของศาสนาคริสต์และสาวกเคยนับถือศาสนาพุทธ โดยมีการผสมผสานความเชื่อแบบยิวเข้ากับศาสนาพุทธ คือ อหิงสา พรหมจรรย์ การเปรียบเทียบ การคบค้ากับพวกนอกรีต แต่ยังเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวในคติยิว[13]

การกลับชาติมาเกิด

[แก้]

สำนักคิดของศาสนายูดาห์ร่วมสมัยบางสำนักเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดบนโลกมนุษย์ นอกจากจะปรากฏในพระคัมภีร์แล้ว ยังปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าพื้นบ้านอีกด้วย[14] ชาวยิวนิกายฮาซิดที่เชื่อในคำสอนจากคับบาลาห์ เชื่อว่า วิญญาณของชายิวสามารถกลับชาติมาเกิดใหม่ได้บนโลก หากชีวิตก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขในการเข้าสู่สรวงสวรรค์ได้สำเร็จ[15][16][17] นอกจากนี้บางสำนักคิดของยูดาห์เชื่อว่า การที่บุคคลต่างศาสนาเปลี่ยนไปนับถือศาสนายูดาห์ ก็เพราะชาติที่แล้วเขาเคยเป็นชาวยิวมาก่อน ดวงวิญญาณดังกล่าวอาจ "ล่องลอยไปยังชาติต่าง ๆ" หลายชั่วชีวิต จนกว่าจะหวนกลับไปนับถือศาสนายูดาห์ และบางคนพบว่าตนเองเกิดในครอบครัวที่มีบรรพชนเป็นชาวยิวที่สาบสูญ[18]

การทำสมาธิ

[แก้]

หนุ่มสาวชาวอิสราเอลจำนวนมากสนใจการทำสมาธิแบบพุทธเพื่อบรรเทาความรุนแรงหรือความขัดแย้งที่พบในชีวิตประจำวัน รวมทั้งชาวยิวในหน้าประวัติศาสตร์ก็ถูกกดขี่ข่มเหงมาช้านาน[19] ชาวยิวนิกายออร์ทอดอกซ์เริ่มทำสมาธิมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เพื่อสื่อสารกับพระเป็นเจ้า แต่ทุกวันนี้ชาวยิวปฏิรูปปรับการสมาธิด้วยความเชื่ออย่างเป็นเหตุเป็นผลขึ้น[20] ลูกหลานของชาวยิวผู้รอดชีวิตจากการพันธุฆาตในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เปิดรับคำสอนจากศาสนาพุทธเรื่องธรรมชาติของความทุกข์ และหนทางแห่งการดับทุกข์ เพื่อปลอบประโลมจิตใจ[21] นอกจากนี้ศาสนาพุทธก็ไม่ปฏิเสธการมีอยู่หรือยอมรับการมีตัวตนของพระเป็นเจ้า ชาวยิวจึงน้อมรับคำสอนนี้ได้แม้จะยังเคารพพระคัมภีร์โทราห์อยู่[22]

กรรม

[แก้]

ชาวยิวบางคนมีความเชื่อที่เรียกว่า middah k’neged middah ซึ่งใกล้เคียงกับ กรรม ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ[23] กล่าวคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว[24] เมื่อสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับคนที่ทำความดี ชาวยิวและชาวพุทธมองว่าเป็นการทดสอบศรัทธาสอดคล้องกัน[25] แต่มีมุมมองที่ต่างกันตรงที่ชาวพุทธจะมองว่าเป็นเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ขณะที่ชาวยิวจะมองว่าเกิดขึ้นตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า[26]

เบญจศีล

[แก้]

ทั้งศาสนายูดาห์และศาสนาพุทธ ต่างมีคำสอนให้เว้นจากการฆ่า การล่วงประเวณี การลักขโมย และการพูดปด ซึ่งเป็นสี่ในห้าของเบญจศีลหรือศีลห้าที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติ สอดคล้องกับบัญญัติข้อที่หก เจ็ด แปด และเก้า และสอดคล้องกับกฎของโนอาห์ข้อที่สาม สี่ ห้า และเจ็ด[27] แต่ทว่าศีลข้อที่ 5 ให้เว้นจากการดื่มสุราเมรัยสิ่งมึนเมา สอดคล้องกับพระคัมภีร์ทานัค เรื่องความมึนเมาของโนอาห์ ส่วนในสุภาษิตได้ตักเตือนว่า แอลกอฮอล์ในทางที่ผิดจะนำไปสู่ความฉิบหาย ความยากจน และบาปที่เกิดจากการขาดความยับยั้งชั่งใจ[28] กระนั้นแอลกอฮอล์บางชนิด อย่างเช่น ไวน์ ยังถูกใช้ในพิธีกรรมทางศาสนายูดาห์ และชุมชนยิวบางแห่งสนับสนุนการดื่มสุราในช่วงวันเทศกาลสำคัญ

พระโพธิสัตว์

[แก้]

ในศาสนาพุทธ เชื่อว่าพระโพธิสัตว์คือ ผู้รู้แจ้งคือที่เลือนขึ้นสู่สรวงสวรรค์เพื่อช่วยให้ผู้อื่นตรัสรู้ ชาวยิวเชื่อว่าผู้เผยพระวจนะที่ปรากฏในพันธสัญญาเดิมเป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกับพระโพธิสัตว์ของชาวพุทธ เพราะช่วยเหลือชาวอิสราเอลจากการกดขี่ข่มเหงหลังเสียชีวิตไปแล้ว ความเชื่อโยงระหว่างผู้เปยพระวจนะกับพระโพธิสัตว์นี้ เป็นที่สนใจยิ่งสำหรับชาวยิวเมสสิยาห์ที่นับถือพระเยซูในฐานะผู้เผยพระวจนะ แต่ปฏิเสธพระองค์ในฐานะพระบุตรพระเจ้าในศาสนาคริสต์ โดยได้รับอิทธิพลจากความเชื่อว่า ยอห์นผู้ให้บัพติศมา คือเอลียาห์ที่กลับชาติมาเกิด[29] นักวิชาการไบเบิลบางท่านเชื่อว่า พระเยซูทรงกลับชาติมาเกิดหลายครั้ง โดยชาติปางก่อน พระองค์เกิดเป็นพระเจ้าเมลคิซาเดก (מַלְכִּי־צֶדֶק‎) กษัตริย์ยุคก่อนอิสราเอล[30] และเชื่อว่าเกิดเป็นพระอมิตาภพุทธะ พระสงฆ์ในเอเชีย[31][32][33]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Frankel, Ellen (January 24, 2013). "5 Reasons Jews Gravitate Toward Buddhism". HuffPost. สืบค้นเมื่อ August 19, 2019.
  2. Shupac, Jodie (August 23, 2017). "The Jubu in the Lotus: Why do so many Jews become Buddhist?". Canadian Jewish News. สืบค้นเมื่อ August 19, 2019.
  3. 3.0 3.1 3.2 Sigalow, Emily (December 10, 2019). "American JewBu: Jews, Buddhists, and Religious Change". The Revealer. สืบค้นเมื่อ January 11, 2021.
  4. 4.0 4.1 Altshuler, Glen C. (February 27, 2020). "What is an American JewBu?". The Jerusalem Post. สืบค้นเมื่อ January 11, 2021.
  5. 5.0 5.1 Drescher, Frank (2012). "Jewish Converts to Buddhism and the Phenomenon of "Jewish Buddhists" ("JuBus") in the United States, Germany and Israel". Grin. สืบค้นเมื่อ January 11, 2021.
  6. The Jew in the Lotus: Jewish Identity in Buddhist India] Retrieved on June 5, 2007
  7. Joseph Goldstein
  8. Silvia Boorstein
  9. Teachers at Spirit Rock
  10. Books by Taro Gold
  11. Exodus 20:4-6
  12. Is Buddhism kosher
  13. Was Jesus Buddhist?
  14. Yonasson Gershom (1999), Jewish Tales of Reincarnation. Northvale, NJ: Jason Aronson. ISBN 0765760835
  15. Essential Judaism: A Complete Guide to Beliefs, Customs & Rituals, By George Robinson, Simon and Schuster 2008, page 193
  16. "Mind in the Balance: Meditation in Science, Buddhism, and Christianity", p. 104, by B. Alan Wallace
  17. "Between Worlds: Dybbuks, Exorcists, and Early Modern Judaism", p. 190, by J. H. Chajes
  18. Jewish Tales of Reincarnation, By Yonasson Gershom, Yonasson Gershom, Jason Aronson, Incorporated, 31 Jan 2000
  19. CJ News
  20. Jewish meditation
  21. Huff Post
  22. Jewish learning
  23. Sefaria
  24. "Jewish karma". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-27. สืบค้นเมื่อ 2022-10-23.
  25. Tablet Mag
  26. Divine providence
  27. SMP resources
  28. Proverbs 23:20
  29. Biblical reincarnation
  30. Christ's past lives
  31. Jesus as a Bodhisattva
  32. The nonwestern Jesus
  33. Brill journals