ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระเจ้ารูด็อล์ฟที่ 1 แห่งเยอรมนี"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Movses-bot (คุย | ส่วนร่วม)
r2.6.5) (โรบอต เพิ่ม: eu:Rodolfo I.a Habsburgokoa
พุทธามาตย์ ย้ายหน้า สมเด็จพระเจ้ารูดอล์ฟที่ 1 แห่งเยอรมนี ไปยัง [[พระเจ้ารูดอล์ฟที่ 1 แห่ง...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:05, 21 พฤษภาคม 2555

พระเจ้ารูดอล์ฟที่ 1
แห่งเยอรมนี
Rudolph I of Germany
พระมหากษัตริย์แห่งเยอรมนี

สมเด็จพระเจ้ารูดอล์ฟที่ 1 แห่งเยอรมนี
ราชวงศ์ ฮับส์บูร์ก
ครองราชย์ ค.ศ. 1273 - 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1291
ประสูติ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1218
สวรรคต 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1291
กษัตริย์เยอรมัน

พระเจ้ารูดอล์ฟที่ 1 แห่งเยอรมนี (อังกฤษ: Rudolph I of Germany) (1 พฤษภาคม ค.ศ. 121815 กรกฎาคม ค.ศ. 1291) (เยอรมัน: Rudolph of Habsburg) รูดอล์ฟทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาวโรมันระหว่างปี ค.ศ. 1273 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1291 พระองค์ทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมีอิทธิพลให้ราชวงศ์ฮับส์บูร์กเป็นราชวงศ์ชั้นนำในบรรดาราชวงศ์เยอรมันต่าง ๆ ในยุคกลาง และทรงเป็นสมาชิกของราชวงศ์ฮับส์บูร์กองค์แรกที่ได้รับดัชชีออสเตรียและดัชชีสติเรีย ซึ่งเป็นดินแดนที่จะกลายมาอยู่ภายใต้การปกครองของฮับส์บูร์กต่อมาอีกกว่า 600 ปี และเป็นสองรัฐที่เป็นหลักของประเทศออสเตรียปัจจุบัน

ชีวิตเบื้องต้น

รูดอล์ฟเป็นโอรสของอัลเบรชท์ที่ 4 เคานต์แห่งฮับส์บูร์ก และ เฮ็ดวิกบุตรีของอุลริค เคานต์แห่งคีบูร์ก เกิดที่ปราสาทลิมบูร์กในไบร์สเกา เมื่ออัลเบร็คท์ที่ 4 เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1239 รูดอล์ฟก็ได้ดินแดนของตระกูลในอัลซาซและอาร์เกา ในปี ค.ศ. 1245 รูดอล์ฟสมรสกับเกอร์ทรูดบุตรสาวของบวร์คฮาร์ดที่ 3 เคานต์แห่งโฮเฮนบูร์ก ซึ่งทำให้รูดอล์ฟกลายเป็นบริวารสำคัญของดัชชีชวาเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชชีรากฐาน (stem duchy) ของเยอรมัน

รูดอล์ฟทรงไปมาหาสู่กับราชสำนักของพระราชบิดาทูลหัวจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อย่างสม่ำเสมอ ความจงรักภักดีของพระองค์ต่อจักรพรรดิและพระเจ้าคอนราดที่ 4 แห่งเยอรมนีพระราชโอรสเป็นผลทำให้ได้รับพระราชทานดินแดนเป็นรางวัล แต่ในปี ค.ศ. 1254 รูดอล์ฟทรงถูกคว่ำบาตรโดยสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 4 เพราะทรงสนับสนุนพระเจ้าคอนราด ระหว่างที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีปัญหาขัดแย้งทางการเมืองกับพระสันตะปาปา ขณะนั้นพระเจ้าคอนราดทรงปกครองราชอาณาจักรซิซิลีและทรงต้องการที่จะวางรากฐานทางอำนาจทางตอนเหนือของอิตาลีโดยเฉพาะในลอมบาร์ดี ส่วนสถาบันพระสันตะปาปาผู้ทรงมีรัฐต่าง ๆ อยู่ระหว่างสองบริเวณดังกล่าวก็เกิดความระแวงถึงการขยายอำนาจที่อาจจะมีผลต่อความมีอิทธิพลเหนืออาณาจักรเหล่านี้

เรืองอำนาจ

ความระส่ำระสายในเยอรมนีหลังจการล่มสลายของราชวงศ์โฮเฮนชเตาเฟินเปิดโอกาสให้รูดอล์ฟเพิ่มดินแดนเข้ามาในปกครอง พระชายาของพระองค์ก็ทรงเป็นทายาทของพระปิตุลาฮาร์ทมันน์ที่ 4 เคานท์แห่งคีบวร์ก เมื่อฮาร์ทมันน์สียชีวิตโดยไม่มีทายาทในปี ค.ศ. 1264 รูดอล์ฟก็ยึดเคาน์ตีคีบูร์ก ความขัดแย้งที่รูดอล์ฟมีชัยกับบิชอปแห่งชตรัสส์บูร์กและบาเซิลก็ยิ่งเป็นการเพิ่มดินแดนและความมั่งคั่งให้แก่รูดอล์ฟด้วย รวมทั้งชื่อเสียง หลังจากนั้นรูดอล์ฟก็ยังได้ดินแดนเพิ่มเติมจากบิดาในบริเวณที่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์และอัลซาซปัจจุบัน

ความมีอิทธิพลและความมั่งคั่งที่ได้มาทำให้รูดอล์ฟกลายเป็นเจ้าผู้ครองรัฐผู้มีอำนาจมากที่สุดในเยอรมนีตะวันตกเฉียงใต้ ในบริเวณที่ดัชชีชวาเบียสลายตัวลง ซึ่งทำให้บรรดารัฐบริวารมีอิสระขึ้นมา ในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1273 เมื่อเจ้าผู้ครองรัฐต่าง ๆ มาประชุมกันที่แฟรงก์เฟิร์ตเพื่อจะเลือกตั้งพระมหากษัตริย์องค์ใหม่หลังจากการเสด็จสวรรคตของริชาร์ด เอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์ รูดอล์ฟก็ได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่เมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1273 เมื่อมีพระชนมายุได้ 55 พรรษา การที่ได้รับเลือกเป็นผลมาจากการสนับสนุนของพระเชษฐาเขยฟรีดริชที่ 3 เบอร์เกรฟแห่งเนิร์นแบร์กและโฮเฮนโซลเลิร์น การสนับสนุนของอัลเบรชท์ที่ 2 ดยุคแห่งแซกโซนี (วิตเต็นแบร์ก) และของลุดวิกที่ 2 ดยุกแห่งบาวาเรีย เป็นเสียงที่ได้มาจากการซื้อโดยการหมั้นดยุคทั้งสองคนกับลูกสาวของตนเอง การสนับสนุนนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าออตโตคาร์ที่ 2 แห่งโบฮีเมียผู้เป็นพระนัดดาของฟิลิปแห่งชวาเบีย ผู้เป็นอีกผู้หนึ่งที่หาเสียงในการเลือกตั้งเป็นพระมหากษัตริย์แทบจะเป็นผู้หาเสียงผู้เดียวโดยไม่มีผู้สนับสนุน

พระมหากษัตริย์แห่งเยอรมนี

รูดอล์ฟทรงเข้าพิธีราชาภิเษกที่มหาวิหารอาเคินเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1273 เพื่อเป็นการแลกกับการยอมรับโดยพระสันตะปาปารูดอล์ฟก็ยอมสละพระราชสิทธิในกรุงโรม ในดินแดนของพระสันตะปาปา และซิซิลี และทรงสัญญาว่าจะนำสงครามครูเสด แม้ว่าจะได้รับการประท้วงจากพระเจ้าออทโทคาร์ที่ 2 แห่งโบฮีเมีย สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 10 ไม่เพียงแต่จะทรงยอมรับการครองราชย์ของรูดอล์ฟว่าเป็นไปโดยชอบธรรมแต่ยังทรงหว่านล้อมให้พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งคาสตีล (พระนัดดาอีกองค์หนึ่งของฟิลิปแห่งชวาเบีย) ผู้ทรงได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์แห่งเยอรมนีในปี ค.ศ. 1257 ต่อจากเคานต์วิลเฮล์มที่ 2 แห่งฮอลแลนด์ให้สนับสนุนด้วย ซึ่งทำให้รูดอล์ฟได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเหนือกว่าทายาทโฮเฮนชเตาเฟินที่เคยรับใช้ด้วยความภักดีก่อนหน้านั้น

ในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1274 ราชสภาเยอรมัยในเนิร์นแบร์กก็อนุมัติว่าดินแดนที่ถูกยึดไปหลังจากการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิฟรีดริชต้องได้รับการคืนมา และพระเจ้าออทโทคาร์ที่ 2 ต้องมาปรากฏตัวต่อสภาในฐานะที่ไม่ทรงยอมรับพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ พระเจ้าออทโทคาร์ทรงปฏิเสธที่จะปรากฏพระองค์และไม่ทรงยอมคืนมณฑลออสเตรีย สติเรีย คารินเทีย และ คาร์นิโอลา ที่พระองค์ทรงอ้างสิทธิโดยทางพระชายาองค์แรกผู้ทรงเป็นทายาทของบาเบ็นแบร์ก และยึดมาเป็นของพระองค์เองในระหว่างความขัดแย้งกับทายาทของบาเบนแบร์กคนอื่น แฮร์มันน์ที่ 6 มาร์กราฟแห่งบาเดิน รูดอล์ฟค้านสิทธิในการครองดินแดนของออตโตคาร์โดยสิทธิการเป็นสามีของทายาทบาเบนแบร์ก และทรงประกาศว่าจังหวัดต่างๆ เหล่านั้นกลับมาเป็นของราชบัลลังก์เยอรมันเพราะขาดทายาทที่เป็นชาย (ซึ่งเป็นพระราชนโยบายที่ขัดกับพระราชกฤษฎีกาทายาทรอง (Privilegium Minus) ที่ออกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 ในปี ค.ศ. 1156 ที่อนุญาตให้ดินแดนตกไปเป็นของสตรีได้)

พระเจ้าออทโทคาร์ทรงถูกแบน และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1276 เยอรมันก็ประกาศสงครามต่อพระองค์ หลังจากที่ทรงหว่านล้อมให้ไฮน์ริชที่ 1 ดยุกแห่งบาวาเรียใต้ผู้สนับสนุนออตโตคาร์หันมาเข้าข้างพระองค์แล้ว รูดอล์ฟก็บังคับให้พระเจ้าออทโทคาร์คืนสี่มณฑลให้กับสำนักงานแผ่นดินในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1276 หลังจากนั้นรูดอล์ฟก็ทรงพระราชทานโบฮีเมียให้กับออตโตคาร์ และทรงยกพระราชธิดาให้กับพระราชโอรสของออตโตคาร์เวนสเลาส และทรงนำขบวนเสด็จเข้ากรุงเวียนนาอย่างผู้ได้รับชัยชนะ

แต่ทางพระเจ้าออทโทคาร์ก็ทรงมีปัญหาในข้อปฏิปัติของสนธิสัญญา และหันไปสร้างพันธมิตรกับประมุขในดินแดนโปแลนด์บางกลุ่ม และกับเจ้าเยอรมันบางพระองค์ที่รวมทั้งอดีตพันธมิตรของรูดอล์ฟไฮน์ริชที่ 1 ดยุกแห่งบาวาเรียใต้ ในการต่อต้านรูดอล์ฟก็ไปสร้างพันธมิตรกับพระเจ้าลาดิสเลาสที่ 4 แห่งฮังการี และทรงพระราชทานสิทธิให้แก่ประชาชนชาวเวียนนาเพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1278 กองทัพของทั้งสองฝ่ายก็ปะทะกันบนฝั่งแม่น้ำมาร์ชในยุทธการเดิร์นครุทและเยเดนชปีเก็น (Battle of Dürnkrut and Jedenspeigen) ที่ออตโตคาร์ทรงได้รับความพ่ายแพ้และทรงถูกสังหาร โมราเวียถูกปราบปรามให้อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลผู้แทนของรูดอล์ฟ ทิ้งให้คุนิกุนดา สมเด็จพระราชินีนาถแห่งโบฮีเมีย (Kunigunda, the Queen Regent of Bohemia) ครอบครองแต่เพียงดินแดนรอบกรุงปราก

จากนั้นรูดอล์ฟก็หันความสนใจไปยังดินแดนออสเตรียและมณฑลที่ติดกันที่ได้รับมาอยู่ในพระราชอำนาจ พระองค์ทรงใช้เวลาหลายปีในการวางรากฐานของพระราชอำนาจ แต่ทรงประสบกับอุปสรรคในการแต่งตั้งพระญาติพระวงศ์ให้ไปสืบครองดินแดนเหล่านั้น แต่ในที่สุดก็ทรงได้รับชัยชนะ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1282 รูดอล์ฟก็ทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรสอัลเบรชท์ และ รูดอล์ฟ เป็นดยุกแห่งออสเตรียและดัชชีสติเรีย ซึ่งเป็นการวางรากฐานทางอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก

ในปี ค.ศ. 1286 รูดอล์ฟก็ทรงยกดัชชีคารินเทียให้กับพ่อตาของอัลเบรชท์ไมน์ฮาร์ด

ทางด้านตะวันตกในปี ค.ศ. 1281 รูดอล์ฟก็บังคับให้ฟิลิป เคานต์แห่งพาลาไทน์แห่งเบอร์กันดี ให้ยกดินแดนบางส่วนให้แก่พระองค์ และทรงบังคับให้ประชาชนชาวเบิร์นส่งส่วยที่ยุติลงตามที่ได้ตกลงกันก่อนหน้านั้น ในปี ค.ศ. 1289 รูดอล์ฟก็เดินทัพไปบังคับให้ผู้สืบครองต่อจากฟิลิปออตโตที่ 4 แสดงความสวามิภักดิ์

ในปี ค.ศ. 1281 พระอัครมเหสีองค์แรกก็สิ่นพระชนม์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1284 รูดอล์ฟก็เสกสมรสกับอิสซาเบลแห่งเบอร์กันดีธิดาของฮิวจ์ที่ 4 ดยุคแห่งเบอร์กันดี

รูดอล์ฟไม่ทรงประสบความสำเร็จกับการรักษาความสงบภายในเยอรมนี พระองค์ทรงออกพระราชประกาศเพื่อการรักษาความสงบสุขในบาวาเรีย, ฟรังโคเนีย และ ชวาเบีย และหลังจากนั้นเยอรมันทั้งหมด แต่ก็ไม่ทรงมีพระราชอำนาจ พระราชทรัพย์ หรือพระราชประสงค์ในการดำเนินนโยบายเท่าใดนัก นอกจากการออกเดินทางไปทำการปราบปรามในทูริงเกียครั้งหนึ่ง

ในปี ค.ศ. 1291 รูดอล์ฟพยายามหาวิธีให้พระราชโอรสอัลเบรชท์ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์เยอรมัน แต่เจ้าผู้ครองรัฐต่าง ๆ ทรงปฏิเสธว่าไม่สามารถจะสนับสนุนการมีพระมหากษัตริย์สองพระองค์ได้ แต่เหตุผลที่แท้จริงอาจจะมาจากการเกรงอำนาจของฮับส์บวร์กที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

การทำร้ายชาวยิว

ในปี ค.ศ. 1286 รูดอล์ฟก็เริ่มดำเนินนโยบายการเบียดเบียนชาวยิวโดยประกาศว่าชาวยิวเป็น "servi camerae" (ข้าของพระคลัง) ที่เท่ากับว่าชาวยิวหมดเสรีภาพทางการเมือง ชาวยิวที่รวมทั้งราไบแมร์แห่งโรเทนบวร์กพยายามหนีออกจากเยอรมนีแต่ไปถูกจับที่ลอมบาร์ดีและนำกลับมาขังไว้ที่อัสซาซ กล่าวกันว่ามีผู้พยายามรวบรวมเงินเป็นจำนวนมาก (23,000 มาร์ค) เพื่อไถ่ตัว แต่งราไบแมร์ไม่ยอมเพราะเกรงว่าจะเป็นแบบฉบับให้มีการจับตัวราไบอื่นๆ เรียกค่าไถ่ ราไบแมร์เสียชีวิตเจ็ดปีหลังจากที่ถูกคุมขัง สิบสี่ปีหลังจากที่เสียชีวิตอเล็กซานเดอร์ เบ็น ชโลโมก็จ่ายเงินไถ่ร่างและนำไปฝังที่มาฮาราม[1]

บั้นปลาย

รูดอล์ฟเสียชีวิตที่สเปเยอร์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1291 และร่างถูกฝังไว้ภายในมหาวิหารชไปเยอร์ แม้ว่าจะมีครอบครัวใหญ่แต่ผู้ที่มีชีวิตยืนกว่ารูดอล์ฟก็มีแต่อัลเบรชท์ผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอัลเบรชท์ที่ 1 แห่งเยอรมนี

อ้างอิง

Public Domain บทความนี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติChisholm, Hugh, บ.ก. (1911). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. {{cite encyclopedia}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)

ข้อมูลเพิ่มเติม